‘โลกใบใหม่’ ในความเรียงฉลองรัฐธรรมนูญ : ถอดรหัสความฝัน ‘เยาวรุ่น’ สมัยปฏิวัติ/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘โลกใบใหม่’ ในความเรียงฉลองรัฐธรรมนูญ

: ถอดรหัสความฝัน ‘เยาวรุ่น’ สมัยปฏิวัติ

 

“ประเทศสยามของเราเจริญรุ่งเรืองมาได้ถึงเพียงนี้ก็เพราะกำลังของพลเมืองสยาม”

(สงวน โภโต, 2480)

 

ข้อความในความเรียงชนะเลิศการประกวดเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญข้างต้นเป็นผลงานของนักเรียนนักเรียนมัธยม 8 โรงเรียนอมรินทร์โฆสิต

มีพลังสัมผัสคล้ายคลึงกับข้อความในประกาศคณะราษฎรที่ว่า “ราษฎรทั้งหลายจงรู้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎรมิใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”

อันสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์แบบใหม่ภายหลังการปฏิวัติได้เป็นอย่างดี

เยาวรุ่น ลูกชาวบ้านเดินเท้าเปล่าเท้าสะเอวมองภาพพระปกเกล้าฯ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ (เครดิตภาพ ปรีดี หงษ์สต้น)

“โลกใบใหม่” : ในงานเฉลิมฉลองของพลเมือง

ไม่แต่เพียงการปฏิวัติ 2475 จะเปลี่ยนระบอบการปกครองเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทางความคิดและพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชนดังเห็นจากงานฉลองรัฐธรรมนูญทุกวันที่ 10 ธันวาคม จนกลายเป็นงานเฉลิมฉลองที่สำคัญในช่วง 2475-2484 เป็นเวลาติดต่อกันราว 10 ปีก่อนระงับไปในช่วงสงครามโลก และฟื้นคืนกลับมาจวบจนคณะราษฎรสิ้นสุดอำนาจลง

งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานรื่นเริงของพลเมืองอย่างแท้จริง เป็นเปิดพื้นที่ให้เหล่าพลเมืองเชื่อมต่อเข้ากับการปกครองระบอบใหม่ที่กำเนิดขึ้นได้ และเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ไทยเคยจัดมาและไม่เคยมีงานไหนที่ใหญ่โตขนาดนี้มาก่อนจวบต้นสงครามเย็น (ปรีดี หงษ์สต้น, 2562)

งานฉลองรัฐธรรมนูญ คือ งานรื่นเริงที่มีพลเมืองเป็นศูนย์กลาง สร้างความตื่นตัวให้กับเหล่าพลเมืองเป็นอย่างมากในการจัดงาน การสนับสนุน การบริจาค และความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของต่องานฉลองรัฐธรรมนูญนี้แตกต่างไปจากงานเฉลิมฉลองในระบอบเก่าที่ราษฎรเป็นเพียงตัวประกอบ เช่น งานนาเชนแนล เอกซฮิบิเชน หรืองานสมโภชพระนครครบร้อยปี โดยเจ้าของงานคือชนชั้นนำ เจ้านายและขุนนาง งานเอกซฮิบิเชนอื่นๆ ที่จัดโดยข้าราชการ ตลอดจนแนวคิดในการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ที่มิได้จัดขึ้นก็มุ่งเน้นความร่วมมือในการค้าการลงทุนระหว่างเครือข่ายพ่อค้ากับข้าราชการและราชสำนัก (ปรีดี หงษ์สต้น, 2562)

สำนึกแบบใหม่นำไปสู่กิจกรรมประกวดเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญในระดับเยาวชนของสำนักงานโฆษณา เพื่อสำรวจความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยในสายตาของพลเมืองพร้อมส่งเสริมการปกครองให้แพร่หลาย ในระดับมัธยมและอุดมศึกษา โดยมีรางวัลและผลงานของผู้ชนะจะได้รับการตีพิมพ์แจกในงานฉลองรัฐธรรมนูญด้วย

หัวข้อประกวดเรียงความในปีแรก (2481) ในระดับมัธยม คือ “งานฉลองรัฐธรรมนูญอำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไร?” เป็นความเรียงไม่เกิน 15 หน้า

ทั้งนี้ คณะกรรรมการตัดสินผลงานประกอบด้วยนายเดือน บุนนาค หลวงอรรถสารประสิทธิ์ นายประเสริฐ ชูรัตน์ พระราชธรรมนิเทศ และนายไพโรจน์ ชัยนาม ในระดับมัธยมมีผู้ส่ง 180 ราย

ผลการพิจารณา นายสงวน โภโต นักเรียนชั้นมัธยม 8 โรงเรียนมัธยมอมรินทร์โฆสิตได้ระดับดีเยี่ยม

เยาวรุ่นและคณะราษฎร 2563

เข้าใจ “โลกใบใหม่”

ในความเรียงฉลองรัฐธรรมนูญ

ของ “เยาวรุ่น” หลัง 2475

สงวนเปิดเรียงความด้วยข้อความที่ว่า “พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย เราคงจำกันได้อย่างดีว่า งานประจำปีอันมโหฬารที่เคยปรากฏขึ้นในประเทศสยามนั้น ไม่มีงานใดที่จะครึกครื้นและปลุกตาปลุกใจมากไปกว่างานฉลองรัฐธรรมนูญ…” โดยเปรียบเทียบแล้ว ข้อความข้างต้นมีท่วงทำนองคล้ายประกาศคณะราษฎรที่ว่า “ราษฎรทั้งหลายจงรู้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎรมิใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง” อันสะท้อนให้เห็นถึงเส้นแบ่งหรือจุดตัดของโลกเก่าและโลกใหม่ในโลกทัศน์ของเขา

ย่อมเป็นไปได้ว่า สงวนในวัยมัธยมศึกษาปีที่ 8 คงมีอายุราว 18 ปี หมายความว่า เขาเกิดในช่วงปี 2463 เขามีชีวิตทันเห็นความเป็นไปในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นได้อีกว่า เขาคงได้เคยสัมผัสโลก รู้รสชาติของที่ไม่เท่าเทียมกันเมื่อครั้งระบอบเก่ามาแล้ว แม้ในระบอบเก่าจะงานประจำปีสำคัญที่จัดราชการเป็นประจำ เช่น งานฤดูหนาวที่สวนสราญรมย์ และงานกาชาด แต่งานเหล่านั้นกลับมิได้สร้างความจดจำหรือพิมพ์ใจแก่เยาวสามัญชนครั้งนั้นเลย

สะท้อนให้เห็นว่า ในความคิดของสงวน งานรื่นเริงในระบอบเก่าเป็นงานสำหรับชนชั้นสูง มีแต่เจ้าใหญ่นายโตไปร่วมงาน หาใช่งานรื่นเริงของราษฎรไม่ ไม่มีความครึกครื้นสนุกสนานและไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ คงมีแต่ชนชั้นสูง การแต่งกายประกวดประขัน แสดงความเป็นฝรั่ง และแสดงความหรูหราของผู้มาออกงาน และไม่ยิ่งใหญ่เท่า “งานประจำปีอันมโหฬาร” ในเดือนธันวาคมที่เขาพบเห็นระบอบประชาธิปไตย

ไม่เพียงเท่านั้น เขาเห็นว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญนี้มิได้จัดที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังจัดงานทุกจังหวัดด้วย เนื่องจากวันที่ 10 ธันวาคม นั้น “ทางราชการถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญของชาติ เป็นวันที่ชวนให้ระลึกว่า อำนาจอธิปไตยได้ตกเป็นของประชาชนแล้ว”

งานฉลองรัฐธรรมนูญมิได้แต่เพียงมุ่งความสนุกแต่เพียงอย่างเดียว แต่เขาชี้ชวนให้มองลึกลงไปถึงความหมายของงานนี้ เขาเล่าว่า มีงานมหรสพแทบทุกชนิดที่ทำให้ประชาชนร่าเริงบันเทิงใจ ส่วนที่เป็นศูนย์กลางของงานคือ รัฐธรรมนูญที่เป็นมิ่งขวัญ ที่วางอยู่บนพานใหญ่ ใจกลางท้องสนามหลวง ทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของรัฐธรรมนูญ

“อันได้ให้ความเจริญแก่เราชาวสยามพร้อมทั้งไตรภพ คือ อิสรภาพ เสรีภาพ และสมภาพโดยทั่วกัน”

เขาเล่าว่า ที่สวนสราญรมย์มีการประกวดแต่งร้านหลายประเภท เช่น การเผยแพร่รัฐธรรมนูญ ความสวยงาม และตลกขบขัน

เขาเห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้เป็นการฝึกฝนให้พลเมืองของชาติมีทักษะในทางศิลปกรรม ส่วนการประกวดนางงาม เป็นการฝึกฝนให้พลเมืองรู้จักการดูแลสุขภาพร่างกายตามหลักอนามัย โน้มน้าวให้สตรีสนใจการดูแลสุขภาพตนเอง เป็นพลเมืองของชาติที่สวยงามและมีความแข็งแรงด้วย

นอกจากมีความบันเทิงแล้ว ยังมีกิจกรรมแข่งขันกีฬาต่างๆ ทั้งกีฬาทางบกและทางน้ำ เขาเห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้ทำให้การกีฬาและสุขภาพของประชาชนแข็งแรง ไม่แต่เพียงการสร้างพลเมืองให้แข็งแรงเท่านั้น แต่รัฐบาลยังส่งเสริมการเกษตรและเพาะปลูกที่มีคุณภาพด้วยการประกวดพันธุ์ข้าว การประกวดพันธุ์สัตว์ต่างๆ เช่น หมู ปลา เป็ด ไก่

เขาเห็นว่าการส่งเสริมการเกษตรเหล่านี้ช่วยให้อุตสาหกรรมของประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยย่อมส่งผลดีแก่การส่งเสริมเศรษฐกิจด้วย

เยาวรุ่นทศวรรษ 2470 กับพานรัฐธรรมนูญกลางท้องสนามหลวง 2479

ไม่มี “ชาติ คือ ประชาชน” ใน “โลกใบเก่า”

สงวนเห็นว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นการส่งเสริมให้คนไทยมีความทะเยอทะยาน ปลุกใจให้คนไทยรักชาติ เขาอุปมาเปรียบเทียบระบอบเก่าที่สิ้นสุดไปแล้วกับระบอบประชาธิปไตยว่า

“ดังจะเห็นจากตัวอย่างง่ายๆ ว่า วันหนึ่งเมื่อเราเดินไปในพระนครจะเป็นเวลาใดก็ตาม ทุกๆ สถานที่เงียบหมด ไม่มีเสียงวี่แววอะไรเลย แม้จะเป็นเวลากลางวัน เราก็จะแลไม่เห็นชนชาวสยามเดินไปมาตามสาธารณสถานหรือเอกสถานดั่งเช่นเคย ธงสยามแม้แต่ผืนเดียวก็แลไม่เห็น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เราจะรู้สึกว้าเหว่ใจเพียงใด จะไม่ทำให้เรามีความตื่นเต้นในความรักชาติเลย แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราเดินในสถานที่นั้นอีกเวลาหนึ่ง เราได้พบฝูงชนทั้งหลายเดินขวักไขว่อยู่ไปมา จะมองไปที่สถานใด แม้แต่ร้านโรงเล็กๆ ก็ยังมีธงสยามปักอยู่อย่างตระหง่านบนหลังคาเรือน บนยอดเสา แล้วก็สะบัดพลิ้วไปตามกระแสลม พร้อมทั้งได้ยินเพลงปลุกใจเหล่านี้ เราจะรู้สึกอย่างไร… ”

งานฉลองรัฐธรรมนูญนี้ เขาเห็นว่าเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ “ประชาชนโดยทั่วหน้ากัน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือคหบดี ก็มีสิทธิเสมอกัน ประชาชนที่มาชมงาน ก็มีสิทธิที่จะชมงาน ณ ที่ต่างๆ ตามความพอใจ นี่แหละเป็นการให้สิทธิเสมอภาคและเสรีภาพแก่ปวงชนทั่วไป หรือกล่าวโดยทางการเมืองว่า เป็นการส่งเสริมหลักเสมอภาคและเสรีภาพ อันเป็นหลักการปกครองประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น”

น่าสังเกตว่า สงวนเริ่มต้นเรื่อง การเดินเรื่อง การเน้นย้ำหลัก 6 ประการ ประหนึ่งเขากำลังเขียนความเรียงนี้โดยมีประกาศคณะราษฎรเป็นโครงคิดในการเขียน ดังนั้น เราจะสามารถสัมผัสถึงคำประกาศถึงความหวัง ความฝันของ “เยาวรุ่น” สมัยปฏิวัติในครั้งนั้นอย่างชัดเจน

ความเรียงฉลองรัฐธรรมนูญ 2482
นักเรียนสวนกุหลาบฯ ทศวรรษ 2480
เยาวรุ่น สตรีวิทยา ในปี 2563