ตุลารำลึก (11) นักศึกษารุ่น 2/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ตุลารำลึก (11)

นักศึกษารุ่น 2

 

“ไม่มีทางที่อำนาจจะเกิดจากลำกล้องกระบอกปืน อำนาจแบบนี้มันล้าสมัย อำนาจที่จะเกิดขึ้นในบ้านเราคือ [อำนาจของ] ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่อำนาจจากเสียงปืน…”

พล.ต.ยุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค

คณะทำงานของรัฐบาล (มกราคม 2524)

 

ในขณะที่ชีวิตของชาว 6 ตุลาฯ ในเรือนจำกลางบางขวางดำเนินไปตามครรลองของ “ชีวิตชาวคุก” นั้น พวกเราตระหนักดีว่าโอกาสที่จะออกไปเดินสูด “โอโซนแห่งอิสรภาพ” ของโลกภายนอก คงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยง่าย เพราะยิ่งนานวันยิ่งเห็นถึงโอกาสที่ต้องอยู่ยาว

ส่วนหนึ่งของช่วงเวลาแห่งการรอคอยในแต่ละวันจึงเป็นการ “รอข่าว” จากภายนอก โดยเฉพาะรอข่าวการเพลี่ยงพล้ำของรัฐบาล เพราะนักโทษการเมืองทุกชุดมีความเหมือนกันคือ อยากเห็นรัฐบาลที่จับพวกเขาเข้าคุกต้องสิ้นสุดอำนาจลง และถ้ารัฐบาลนั้นล้มลงแล้ว จะเป็นโอกาสที่จะปลดปล่อยผู้เห็นต่างทางการเมืองออกจากการคุมขัง เพราะรัฐบาลใหม่อาจต้องปรับนโยบายไปสู่ทิศทางใหม่

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลธานินทร์ยังมีความเข้มแข็ง และได้รับความสนับสนุนจากชนชั้นนำและกลุ่มการเมืองปีกขวาอย่างมาก จนแทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าจะมีนายทหารกลุ่มใดกล้าคิดที่จะก่อการรัฐประหารอีก

และรัฐประหาร 6 ตุลาฯ ก็เพิ่งผ่านไปไม่นานนัก แล้วใครเล่าจะกล้าสั่งเคลื่อนกำลังในตอนต้นปี 2520

 

รัฐประหารมีนาคม 2520!

การล้อมปราบขนาดใหญ่ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นำไปสู่การรัฐประหารในค่ำของวันดังกล่าว แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นมีปัญหาภายในหมู่ชนชั้นนำและผู้นำทหารอยู่พอสมควร

รัฐประหารในค่ำวันนั้นไม่ได้เกิดบนเอกภาพของฝ่ายขวา รูปธรรมของความขัดแย้งคือรัฐบาลธานินทร์ออกคำสั่งปลด พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ โดยมีเหตุผลว่า พล.อ.ฉลาดไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งในคืนวันยึดอำนาจ และมีข่าวลือค่อนข้างหนาหูว่านายทหารสายนี้เป็นอีกกลุ่มที่คิดเตรียมทำรัฐประหาร

น่าสนใจว่าถ้านายทหารกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจในค่ำวันที่ 6 แล้ว การเมืองไทยจะเดินไปในทิศทางใด แต่ในความเป็นจริงที่มักเกิดขึ้นเสมอในวันรัฐประหารคือ ใครจะตัดสินใจเปิดฉากยึดกรุงเทพฯ ก่อน เพราะหลักการพื้นฐานคือ ใครยึดก่อนย่อมได้เปรียบ

ดังนั้น เมื่อฝ่ายหนึ่งยึดไปก่อน ฝ่ายของ พล.อ.ฉลาดและกลุ่มการเมืองในสายนี้จึงตกเป็นรอง และทำให้การเคลื่อนกำลังทำได้ยากขึ้น จนต้องยุติการตัดสินใจสุดท้าย และจบลงด้วยการออกบวชในกลางเดือนตุลาคม พร้อมกับการออกเดินธุดงค์ในต่างจังหวัด

แต่แล้ว “พระฉลาด” ได้เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ และลาสิกขาอย่างกะทันหันในรุ่งเช้าของวันที่ 26 มีนาคม 2520 พร้อมกันนั้นกำลังทหารส่วนหนึ่งของกองพลทหารราบที่ 9 จากกาญจนบุรีได้เคลื่อนเข้ากรุงเทพฯ พวกเขาตัดสินใจก่อการ และเชื่อมั่นว่าเมื่อกำลังรบจากกาญจนบุรีเคลื่อนเข้ายึดพื้นที่หลักของพระนครแล้ว กำลังทหารในกรุงเทพฯ อีกส่วนจะเคลื่อนเข้าสมทบ แล้วการรัฐประหารก็ประสบความสำเร็จอย่างง่ายๆ (ตามแผน!)

นักรัฐประหารทุกคนตระหนักดีว่า จุดชี้ขาดสุดท้ายของความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลจะเกิดได้จริง ต่อเมื่อผู้นำหน่วยทหารในกรุงเทพฯ กล้าตัดสินใจเข้าร่วมด้วย หากปราศจากการสนับสนุนของหน่วยหลักในกรุงเทพฯ แล้ว โอกาสที่ชนะใน “ยุทธการยึดเมือง” อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ในวันที่ 26 มีนาคม เมื่อกำลังของพล 9 เข้ามาถึงตัวเมืองหลวงแล้ว กลับไม่พบการเคลื่อนกำลังของหน่วยในกรุงเทพฯ

ซึ่งเท่ากับเป็นสัญญาณลบโดยตรงว่า โอกาสที่จะชนะนั้น ไม่เหมือนตอนเขียนแผน และโอกาสของความสำเร็จหมดลงทันที เมื่อกำลังทหารกรุงเทพฯ แทนที่จะออกมาร่วมการยึดอำนาจ กลับเป็นว่า พวกเขาออกมาปิดล้อม…

ใครสัญญาใคร ใครหลอกใคร ใครหักหลังใคร ยังเป็นคำถามที่ถูกทิ้งค้างไว้ในรัฐประหารที่ล้มเหลวเสมอ

แม้ต่อมาดูเหมือนว่าฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐจะยอมให้กลุ่มผู้ก่อการเดินทางลี้ภัย แต่ทุกอย่างกลับพลิกกลับไปหมดอย่างไม่คาดคิด เมื่อพวกเขาทั้งหมด (พล.อ.ฉลาดและนายทหารอีกสี่นาย) ถูกจับในขณะที่อยู่บนเครื่องบินที่กำลังเตรียมเดินทางออกนอกประเทศ

เป็นอีกครั้งที่แผนที่ถูกวางไว้ล้มลงเมื่อสถานการณ์พลิกกลับ และเปลี่ยนคณะนายทหารผู้ก่อการทั้งหมดเป็น “นักศึกษามหาวิทยาลัยบางขวาง รุ่น 2″…

รางวัลสำหรับผู้แพ้ในการยึดอำนาจย่อมหมายถึงคุกและความตาย

คำสัญญาจากผู้ชนะให้ลี้ภัยจึงเป็นเพียงกลการเมือง

ในวันรัฐประหารนั้น เป็นครั้งแรกที่พวกเราได้ฟังวิทยุเป็นครั้งแรก เพราะสำหรับผมแล้ว ฟังวิทยุครั้งสุดท้ายในคืนวันที่ 5 และฟังจากสถานีวิทยุยานเกราะ…

ในวันนั้น พี่ผู้คุมเปิดวิทยุให้พวกเราฟัง และอย่าแปลกใจที่พวกเราอาจจะไม่ยอมรับรัฐประหาร แต่ในวันนั้นไม่อาจปฏิเสธเลยว่า พวกเรากลายเป็นกองเชียร์ให้กับการยึดอำนาจ และหวังให้ทหารกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการล้มรัฐบาลขวาจัด ทั้งที่ในความเป็นจริงนึกไม่ออกว่า ถ้ารัฐประหารวันนั้นประสบความสำเร็จแล้ว การเมืองไทยจะไปในทางใด?

หลังรัฐประหารล้มเหลวไปแล้ว 7 วัน พล.อ.ฉลาดก็เดินทางเข้ามาอยู่ร่วมกับพวกเรา

ผมเองได้มีโอกาสคุยกับนายทหารผู้ใหญ่ท่านนี้หลายครั้ง และได้คุยอยู่ด้วยจนวาระสุดท้ายในวันที่ พล.อ.ฉลาดถูกเบิกตัวออกไปจากแดน และเป็นการเดินออกไปอย่างที่ไม่มีวันกลับคืนมา

นายทหารท่านนี้ออกไปรับฟังคำตัดสินด้วยชีวิต ซึ่งเป็นครั้งแรกในการเมืองไทยที่ผู้นำทหารของคณะก่อการจบชีวิตลงที่หลักประหารในบางขวาง

แม้ส่วนตัวผมจะไม่ได้รู้จัก พล.อ.ฉลาด แต่ก็เป็นนายทหารท่านหนึ่งที่ทำให้ผมต้องรำลึกถึงในชีวิตทางการเมือง

 

นักศึกษาใหม่

หลังจากการประหารชีวิต พล.อ.ฉลาดแล้ว ในวันเดียวกันนั้น นายทหารผู้ก่อการชุดแรก 4 นายก็เดินทางเข้าสู่แดนพิเศษ ได้แก่ พ.อ.สนั่น ขจรประศาสน์ พ.ต.อัศวิน หิรัญศิริ พ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ พ.ต.วิสิฐ คงประดิษฐ์…

น่าแปลกใจว่าพวกเขามากันตอนค่ำ เพราะปกติแล้วนักโทษจะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำช่วงกลางวันเท่านั้น เห็นได้ชัดว่าพี่ทั้งสี่มาในสภาพอิดโรย และดูจะไม่อยู่ในสภาพปกติ

เช้าวันถัดมา นักโทษทั้งหมดของแดนพิเศษจึงถูกเปิดขังออกมา และเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่าง “ผู้นำนักศึกษา” กับ “ผู้นำทหาร” แม้ในช่วงแรกๆ จะมีอาการเกร็งๆ กันอยู่บ้าง เพราะไม่เพียงจะไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัวเท่านั้น หากยังยืนในจุดที่ต่างกันทางการเมือง

แต่ด้วย “ความอุปถัมภ์ของรัฐบาล” ทำให้สองฝ่ายต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยบางขวาง วิทยาเขตแดนพิเศษ

และในสายวันนี้ พ.ต.อัศวินได้รับการเบิกตัวให้ไปกราบศพของคุณพ่อ (พล.อ.ฉลาด)… ความพ่ายแพ้ในรัฐประหารเป็นความเจ็บปวดเสมอ

แล้วชีวิตนักโทษการเมืองที่ไม่ว่าจะยืนในจุดใด เมื่อต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันในคุกแล้ว ก็ต้องเริ่มหาทางปรับตัวเข้าหากัน โดยเฉพาะพวกเราต้องทำตัวเป็นเหมือน “รุ่นพี่” ที่ต้องบอกเล่าถึงการใช้ชีวิตในคุก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกพี่ทหาร เพราะนับจากนี้เป็นการเปลี่ยนสถานภาพอย่างฉับพลัน จาก “นายทหาร” ผู้บังคับหน่วยรบที่มีอำนาจอย่างเต็มที่ แต่วันนี้กลับต้องมาเป็น “นักโทษ” ในบางขวาง…

ชีวิตในคุกไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงแต่พวกเราอยู่มาตั้งแต่กลางตุลาคม 2519 ส่วนพวกพี่เขามากันก็ต้นเมษายน 2520 แล้ว พวกเราจึงอยู่ในสภาพที่พอปรับตัวได้ สำหรับนักโทษการเมืองแล้ว คุกขังได้แค่ตัว แต่ขังความคิดไม่ได้ และขังการด่ารัฐบาลไม่ได้

เช้าวันนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพระหว่างนักศึกษาและนักการทหาร และผมต้องทำหน้าที่เป็น “ทหารเสนารักษ์จำเป็น” เพราะพี่หนั่นได้รับ “ของขวัญพิเศษ” จากการจับกุม กล่าวตรงๆ คือถูก “สหบาทา” จากทหารหลังจากที่นำตัวลงมาจากเครื่องบิน

ผมต้องคอยทายาและเอาผ้าพันรอบตัวให้ทุกวัน จนอาการต่างๆ ค่อยดีขึ้น

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม คณะนายทหารและนายตำรวจอีกหลายนายที่ร่วมการรัฐประหารถูกส่งเข้าสู่แดนพิเศษ พร้อมกับพลเรือนที่ถูกยกให้เป็นอาจารย์ผู้ใหญ่คือ คุณพิชัย วาศนาส่ง ทุกคนเดินทางมาบางขวางพร้อมกับคำตัดสินด้วยคำสั่งของคณะรัฐประหารคนละ 20 ปี

มาถึงตอนนี้แดนพิเศษที่เคยมีแต่นักศึกษาเพียง 6 คน ก็ดูจะคึกคักมากขึ้น แล้วชีวิตนักโทษการเมืองทั้งสองฝ่ายที่นับจากนี้จะต้องอยู่ร่วมกัน ก็เริ่มปรับตัวเข้าหากัน โดยมีรัฐบาลธานินทร์เป็นศัตรูร่วม

และไม่มีอะไรในคุกจะสนุกเท่ากับการ “สุมหัวด่ารัฐบาล” โดยเฉพาะเมื่อพวกพี่เขากลับมาจากเยี่ยมญาติในตอนบ่ายแล้ว จะมีข้อมูลจากโลกภายนอกเข้ามาเป็นกำลังใจทุกวัน ข้อมูลบางส่วนถูกแชร์ให้พวกเรานักศึกษาได้รับทราบบ้าง

ข้อมูลของพวกพี่ๆ เป็นสถานการณ์จริงของการเมืองไทย และบ่งบอกถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพที่ก่อตัวมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2519 ไม่อาจจบลงง่ายๆ และยิ่งมาถึงจุดของการประหารชีวิต พล.อ.ฉลาดแล้ว ความสัมพันธ์ที่มีปัญหาก็ทรุดลงมากขึ้น

อีกทั้งความสัมพันธ์อีกส่วนของผู้นำรัฐบาลกับผู้นำทหารระดับกลางก็มีปัญหามากขึ้น จนนำไปสู่ความพยายามในการทำรัฐประหารอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2520 แม้ฝ่ายทหารสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ความสำเร็จก็ถูกยกเลิกในวันนั้น…

น่าคิดว่า ถ้าประกาศการยึดอำนาจในวันนั้นแล้ว ใครจะก้าวขึ้นเป็นนายกฯ และการเมืองไทยจะเดินไปทางใด

 

รัฐประหารตุลาคม 2520

ความขัดแย้งระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้นำกองทัพเป็นสัญญาณถึงอนาคตที่ไม่มั่นคงของรัฐบาล และมักก่อตัวเป็นวิกฤตในการเมืองไทยเสมอ

แต่ความแปลกในครั้งนี้คือ เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพลเรือนฝ่ายขวาจัดที่กำเนิดจากการรัฐประหารกับผู้นำทหาร แต่ทั้งสองฝ่ายความเห็นต่างในทางการเมืองหลายประการ และเป็นดังการปะทะระหว่าง “ขวาจัด” และ “ขวาปฏิรูป” ในการเมืองไทย

ในที่สุด “กลุ่มยังเติร์ก” ซึ่งเป็นนายทหารคุมกำลังรบหลักของกองทัพบกในขณะนั้นได้ตัดสินใจสำคัญอีกครั้ง รัฐประหารตุลาคม 2520 ประสบความสำเร็จ พร้อมกับปิดฉากรัฐบาลขวาจัดลง และพา พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นสู่อำนาจ แม้จะยอมให้เกียรติแก่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ให้มีชื่อเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่เขาไม่ใช่คนที่จะก้าวขึ้นเป็นนายกฯ คนต่อไป… ยุคของผู้นำทหารเก่าปิดฉากตามไปด้วย

ผลพวงของการรัฐประหารคือ การปรับทิศทางนโยบายของรัฐบาลขวาจัด เพราะในมุมหนึ่ง สงครามปฏิวัติในชนบทขยายตัวอย่างชัดเจนด้วยนโยบายขวาจัดของรัฐบาล

และในอีกมุมหนึ่ง ความขัดแย้งในสังคมขยายตัวคู่ขนานไปด้วย ทางออกเฉพาะหน้าคือ การคลี่คลายความขัดแย้งกับฝ่ายทหารด้วยการประกาศนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ก่อการมีนาคม 2520

ต่อมาในเดือนธันวาคมปีนั้น พวกพี่ๆ ก็ได้รับอิสรภาพ…

นักศึกษารุ่นสองของมหาวิทยาลัยบางขวางสำเร็จหลักสูตรเร่งรัดแล้ว

เหลือเพียงนักศึกษารุ่นแรกที่ต้องอยู่ต่อไป!