จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (29)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (29)

 

การปกครองในสมัยซ่ง (ต่อ)

นอกจากระบบทหารจากที่กล่าวมาแล้ว ในสมัยนี้ยังมีทหารรับจ้าง (มู่ปิง) อีกด้วย ทหารรับจ้างจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อทหารที่เกณฑ์ตามปกติมีไม่พอ อย่างไรก็ตาม การมีทหารรับจ้างนี้ทำให้เกษตรกรกับช่างฝีมือไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร

ส่งผลให้ทหารที่รับเข้ามามีความเป็นทหารอาชีพมากขึ้น

นับเป็นความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์การทหารของจีน แต่การมีทหารอาชีพในยุคนี้ก็มีข้อเสียเช่นกันคือ ทำให้จีนในยุคนี้มีค่าใช้จ่ายทางการทหารเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งฝีมือการสู้รบของทหารเหล่านี้ก็มิได้มีสูงแต่อย่างใด

กล่าวในทางบริหารกองทัพแล้วจะมีกฎหมายการทหารที่มีอยู่สามฉบับด้วยกัน

ฉบับแรกคือ กฎหมายว่าด้วยลำดับขั้น เป็นกฎหมายที่แบ่งทหารเป็นขั้นๆ ทหารที่มีขั้นน้อยต้องเคารพ เชื่อฟังและปฏิบัติตามทหารที่มีขั้นสูงกว่า

ฉบับที่สอง กฎหมายว่าด้วยการผลัดเปลี่ยนกองกำลังทหารรักษาวังหลวง ซึ่งมีทั้งการผลัดเปลี่ยนในส่วนเมืองชั้นนอกและชั้นใน มีการกำหนดเวลาประจำการของทหารรักษาวังหลวง โดยเมื่อครบกำหนดประจำการแล้วจะต้องมีการผลัดเปลี่ยนกองกำลัง

ฉบับที่สาม กฎหมายว่าด้วยกองกำลังท้องถิ่น กฎหมายนี้มีข้อกำหนดให้ราษฎรเข้ารับการฝึกทหาร การฝึกนี้จะมีขึ้นในช่วงที่ว่างเว้นจากการงานในทางเกษตร และเมื่อฝึกสำเร็จก็จะให้ทหารเหล่านี้ทำหน้าที่ตรวจตราความสงบเรียบร้อยในท้องถิ่นของตน

อย่างไรก็ตาม แม้จีนในยุคนี้จะมีการทหารที่เป็นระบบระเบียบ และทำให้เห็นว่า ทหารมีความสำคัญไม่น้อยต่อความมั่นคงของราชวงศ์ และตัวระบบการทหารเองก็มีความมั่นคง แต่เอาเข้าจริงแล้วกองทัพจีนในยุคนี้กลับไม่มีอำนาจจนถึงขั้นคุกคามราชวงศ์ได้

กองทัพจึงมีสถานะที่มิสู้จะโดดเด่นมากนัก

ซ้ำร้ายหากขุนศึกคนใดมีความสามารถสูง ขุนศึกคนนั้นก็จะถูกกดบทบาทลงมิให้มีความโดดเด่นขึ้นมา อาชีพทหารในยุคนี้จึงเป็นอาชีพที่สังคมดูแคลน และมีผลทำให้ทหารมีความรู้สึกต่อต้านสังคม

และเนื่องจากถูกกดบทบาทเอาไว้ ทหารในยุคนี้จึงไม่อาจก่อกบฏขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ จะมีก็แต่กบฏขนาดเล็กที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง กองทัพของจีนในยุคนี้จึงอ่อนแอ และมักพ่ายแพ้ในการศึกกับชนชาติอื่นอยู่เสมอ

การที่สถานะทางการทหารเป็นเช่นนี้ในด้านหนึ่งจึงเท่ากับว่า จีนในยุคนี้ให้ความสำคัญกับข้าราชการพลเรือนมากกว่าข้าราชการทหารนั้นเอง

 

ระบบการเงินการคลัง

การเงินการคลังในสมัยซ่งกระทำผ่านบทบาทของสำนักสมุหการคลัง สำนักนี้มีองค์กรที่ขึ้นต่ออยู่อีกสามองค์กรที่มีหน้าที่แตกต่างกันไปคือ องค์กรที่ดูแลการค้าเกลือและเหล็ก องค์กรที่ดูแลงบประมาณของจักรวรรดิ และองค์กรที่ดูแลสำมะโนประชากร

สำหรับท้องพระคลังอันเป็นของราชสำนักโดยตรงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลต่างหาก หน่วยงานนี้คือ สำนักการคลังฝ่ายใน (เน่ยคู่)

โดยตอนต้นราชวงศ์ สำนักนี้เป็นเพียงองค์กรเล็กๆ ที่ทำหน้าที่เก็บเสบียง ต่อมาจึงได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีรายการที่พึงเก็บเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

จนทำให้สำนักนี้ถูกพัฒนาให้มีความเป็นระบบมากขึ้นโดยมีจักรพรรดิเป็นผู้ควบคุมโดยตรง

สำนักการคลังฝ่ายในนี้มีรายรับที่สูงมาก แต่ก็มีรายจ่ายที่สูงเช่นกัน

ที่ควรกล่าวด้วยก็คือ ในส่วนที่เป็นรายจ่ายของสำนักการคลังฝ่ายในค่อนข้างสูงนั้น ก็คือรายจ่ายที่ใช้บำรุงราชสำนัก พิธีบวงสรวงนอกเมือง ยวดยานพาหนะ การดำรงชีพประจำวัน การช่วยบรรเทาสาธารณภัย และทุนสำรองของจักรวรรดิ

เนื่องจากสำนักนี้อยู่ภายใต้การดูแลของจักรพรรดิแต่เพียงผู้เดียว การใช้จ่ายของสำนักนี้จึงต้องผ่านการอนุมัติของจักรพรรดิ ทั้งนี้ โดยมีขุนนางที่ราชสำนักแต่งตั้งขึ้นมาเป็นผู้บริหาร

กล่าวกันว่า สำนักการคลังฝ่ายในนี้เป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูง และมีส่วนส่งเสริมและสร้างเสถียรภาพทางด้านวัตถุให้แก่จักรพรรดิได้เป็นอย่างดี

สำหรับการเงินการคลังส่วนท้องถิ่นในระดับแขวง มณฑล และอำเภอนั้น จะมีขุนนางที่มีตำแหน่งเฉพาะเป็นผู้รวบรวมรายได้ที่เก็บได้ส่งให้แก่ราชสำนัก และยังมีหน้าที่ในการพัฒนาการจัดเก็บเงินประเภทต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับฐานะการคลังของท้องถิ่นนั้นๆ

รวมถึงหน้าที่ในการตรวจสอบการเงินของมณฑลและอำเภออีกด้วย

อย่างไรก็ตาม รายรับโดยส่วนใหญ่ของจีนในยุคนี้จะมาจากภาษีที่นา ภาษีการค้า ภาษีที่ได้จากการขายสินค้าพิเศษ เช่น เกลือ ใบชา สุรา และสารส้ม เป็นต้น ภาษีเบ็ดเตล็ด และภาษีจากการเกณฑ์แรงงาน

ส่วนรายจ่ายจะใช้ไปกับห้าทางหลักคือ ค่าใช้จ่ายทางการทหาร (รวมทั้งในการทำสงคราม) ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดราวร้อยละ 70-80 เงินเดือนของข้าราชการ ค่าใช้จ่ายของจักรพรรดิ ค่าใช้จ่ายในพิธีกรรมการเซ่นบวงสรวงต่างๆ ของราชสำนัก และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอื่นๆ

การเงินการคลังส่วนท้องถิ่นจากที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นได้ว่า ท้องถิ่นของจีนในยุคนี้คือแหล่งที่มาของรายได้มหาศาล และสร้างความมั่งคั่งให้แก่จีนอย่างมาก จึงไม่แปลกที่จีนในยุคนี้มีฐานทางการเงินการคลังที่มั่นคงจนสามารถจ่าย “บรรณาการ” ให้แก่ศัตรูของตน

เพื่อแลกกับการไม่ต้องทำศึกถึง ทั้งที่บ่อยครั้งจีนมีกำลังที่เหนือกว่าก็ตาม

 

ระบบเสนามาตย์

อาจกล่าวได้ว่า จีนในสมัยราชวงศ์ซ่งมีการรับขุนนางและขุนศึกมากกว่ายุคก่อนหน้านี้มากมาย และถึงแม้ข้าราชการพลเรือน (เหวิน) จะมีความสำคัญมากกว่าข้าราชการทหาร (อู่) ก็ตาม แต่การรับข้าราชการทั้งสองฝ่ายก็มีจำนวนมากพอๆ กัน

จากเหตุนี้ ในช่วงต้นราชวงศ์จึงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านนี้ไม่เพียงพอ การปฏิรูปองค์กรทางด้านนี้จึงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ อยู่เสมอ จนถึงปลายสมัยซ่งเหนือจึงเข้ารูปเข้ารอย

ในยุคต้นราชวงศ์นั้น ขุนนางโดยทั่วไปจะดำรงตำแหน่งวาระละสามปี จากนั้นก็มีการปรับเวลามาเป็นสองปีบ้าง สองปีครึ่งบ้าง จนถึงสมัยซ่งใต้จึงมาจบลงที่วาระละสองปี

ในขณะที่ขุนนางในส่วนท้องถิ่นจะมีวาระละสามปี