โลกรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ ‘โอไมครอน’ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่/บทความต่างประเทศ

Small toy figures are seen in front of a displayed South Africa flag and words "Omicron SARS-CoV-2" in this illustration taken, November 27, 2021. REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

บทความต่างประเทศ

 

โลกรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ ‘โอไมครอน’

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

 

เวลานี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาทำความเข้าใจโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกกันตามตัวอักษรภาษากรีก ตัวที่ 15 อย่าง “โอไมครอน” กันอย่างเร่งด่วน หลังจากมีการค้นพบการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศแอฟริกาใต้ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

หน่วยงานสาธารณสุขแอฟริกาใต้แจ้งเตือนเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนหนึ่งมีอาการที่แตกต่างออกไปจากผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ

จำนวนผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศอื่นๆ ตามมาอีกหลายประเทศ

 

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ขึ้นบัญชีให้โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน อยู่ในกลุ่ม “สายพันธุ์ที่น่ากังวล” ท่ามกลางความกังวลว่า ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนอาจจะมีความสามารถในการแพร่ระบาดและหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าโควิด-19 สายพันธุ์เดิมๆ

WHO เลือกตัวอักษรกรีกตัวที่ 15 มาเป็นตัวแทนของไวรัสโควิดต่อจากโควิด-19 สายพันธุ์ “มิว” (Mu) ซึ่งเป็นตัวอักษรกรีกตัวที่ 12 ข้ามตัวอักษรที่ 13 อย่าง “นิว” (Nu) และตัวที่ 14 อย่าง “ไซ” (Xi) ไปเลย โดยมีรายงานว่า WHO กลัวว่าอักษร “นิว” จะออกเสียงสับสนกับคำว่านิว (New) ในภาษาอังกฤษ ขณะที่ไซ (Xi) นั้นอาจทำผู้คนเข้าใจผิดกับชื่อของผู้นำจีนอย่างสีจิ้นผิง (Xi Jinping) ในภาษาอังกฤษ หากนำมาเป็นชื่อเรียกสายพันธุ์ไวรัสอาจไม่เหมาะสมเท่าไรนัก

เหตุผลที่ WHO ขึ้นบัญชีสายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการ “กลายพันธุ์” ที่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมของไวรัสได้ ซึ่งนอกจากจะแพร่ระบาดได้เร็วแล้ว ยังทำให้สามารถติดเชื้อซ้ำได้ง่ายและอาจทำให้วัคซีนที่มีอยู่เดิมใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

WHO ระบุว่า โอไมครอนมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นที่ “โปรตีนหนามแหลม” ของไวรัสมากกว่า 30 จุด มากกว่าการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในเชื้อไวรัสสายพันธุ์ “เดลต้า” ถึง 2 เท่า โดยโปรตีนหนามนี้เองที่ไวรัสใช้เกาะติดกับเซลล์มนุษย์ และเป็นโปรตีนส่วนที่วัคซีนใช้ในการ “สอน” ระบบภูมิกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกายให้รู้จักกับไวรัสเป้าหมายด้วย

ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลให้ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์กันว่าอาจทำให้ไวรัสโอไมครอนแพร่ระบาด และหลบหลีกวัคซีน หรือระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดในเวลานี้ แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมๆ จริงหรือไม่ คำตอบก็คือ “ยังไม่รู้” เพราะเวลานี้ยังคงเร็วเกินไปที่จะประเมิน

 

สําหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโอไมครอนนั้น นักระบาดวิทยาก็กำลังอยู่ระหว่างการประเมินว่าเป็นเพราะตัวเชื้อไวรัสเอง หรือเพราะปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย แต่ตัวเลขในเบื้องต้นนั้นแสดงให้เห็นว่ายอดผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนนั้น เพิ่มจำนวนขึ้นเร็วกว่าสายพันธุ์ “เดลต้า” ที่แพร่ระบาดก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับสายพันธุ์โอไมครอน ก็คือผู้ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดไปทั่วโลกอย่างเดลต้าด้วยหรือไม่?

WHO ตอบคำถามนี้ไว้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ยังไม่รู้” เพราะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ

แต่จากการเปิดเผยของแพทย์หญิง “แองเจลิเก้ โคเอตซี” แพทย์ประสบการณ์ 30 ปี ประธานแพทยสภาแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแพทย์คนแรกๆ ที่แจ้งเตือนถึงการกำเนิดขึ้นของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ระบุถึงอาการของผู้ติดเชื้อเอาไว้ว่า “ไม่ธรรมดาแต่ก็ไม่รุนแรง”

แพทย์หญิงโคเอตซีระบุว่าคนไข้รายแรกๆ จำนวนกว่า 20 รายที่พบว่า มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอเล็กน้อย มีไข้ แต่ที่แปลกออกไปก็คือไม่มีใครเลยที่สูญเสียการรับรสหรือกลิ่นเหมือนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้านี้

คนไข้กลุ่มนี้ซึ่งมีทั้งคนที่ฉีดและยังไม่ได้ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง มีอาการไม่กี่วันก็หายได้เอง และไม่มีใครป่วยหนักหรือเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงโคเอตซีระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลก็คือผลกระทบจากการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มโรคเสี่ยงนั้นยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด

 

นอกเหนือจากจากนั้น ยังมีข้อกังวลถึงการตรวจหาเชื้อทั้งแบบ RT-PCR และการตรวจแบบ ATK ซึ่งล่าสุดผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการตรวจแบบ RT-PCR นั้นยังคงตรวจเชื้อโอไมครอนพบ เนื่องจากเป็นการตรวจยีนมากกว่า 1 ยีน โอกาสที่จะตรวจไม่พบเป็นไปได้ต่ำมาก

ส่วนการตรวจแบบ ATK นั้นส่วนใหญ่จะสามารถตรวจพบได้ ซึ่งล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขของไทยออกมายืนยันว่าชุดตรวจ ATK ที่มีในไทยทั้งหมด 104 ยี่ห้อ อาจมีเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้นที่อาจตรวจไม่พบ

อีกหนึ่งความกังวลของคนทั่วโลกก็คือ การรักษาผู้ติดเชื้อที่ใช้ได้ผลกับโควิด-19 สายพันธุ์เดิมๆ นั้นจะใช้ได้ผลกับสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่

คำตอบในเวลานี้ก็คือ “ยังไม่รู้แน่ชัด” แต่ข่าวดีก็คือวิธีการรักษาแบบเดิมๆ บางอย่างตามหลักการแล้วจะต้อง “ได้ผล”

เช่น การใช้ยา “โมลนูพิราเวียร์” และ “เรมเดซิเวียร์” ที่ทำหน้าที่หยุดการแบ่งตัวของไวรัสในเซลล์ของเรา แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่โปรตีนหนาม และมีความเป็นไปได้ที่จะได้ผลกับสายพันธุ์โอไมครอนเช่นกัน

สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนที่ใช้โปรตีนหนามอย่างวัคซีนประเภทไวรัลเว็กเตอร์ และเอ็มอาร์เอ็นเอนั้น ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ายังคงเร็วเกินไปที่จะประเมิน แต่ก็ต้องเร่งศึกษากันอย่างเร่งด่วนต่อไป