ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ หนุ่มเมืองจันท์ : คาถาความสำเร็จ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

คาถาความสำเร็จ

 

วันก่อน ไปร่วมงานสัมมนาของ “ประชาชาติธุรกิจ”

เขาตั้งชื่อว่า “Unlock Value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ ไร้ขีดจำกัด”

ในงานมีวิทยากรดีๆ ที่น่าฟังเยอะมาก แต่ไม่ได้ฟังเลยครับ

ต้องเตรียมตัวเป็นผู้ดำเนินรายการสัมภาษณ์คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ CEO ของ CPF

แวบเข้าไปฟังตอนท้ายช่วงคุณวัลลภา ไตรโสรัจ CEO ของบริษัท แอสเสทเวิร์คคอร์ป จำกัด (มหาชน)

เพราะต้องเตรียมขึ้นเวทีต่อจากช่วงนี้

คุณวัลลภา หรือคุณเอ๋ คือ ลูกสาวของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี

“โจ้” ธนา เธียรอัจริยะ เป็นคนสัมภาษณ์

คำถามสุดท้ายของ “โจ้” เด็ดมาก

เขาถามว่าในช่วงวิกฤต เวลาไปปรึกษาคุณพ่อ คุณเจริญสอนว่าอย่างไรบ้าง

คุณเอ๋บอกว่ามีอยู่ 4 คำที่เคยได้ยินตั้งแต่เด็ก ตอนที่กินข้าวกับคุณพ่อกับคุณแม่

คุณเจริญจะสอนว่า ถ้าเรา “อดทน” แล้วจะสำเร็จ

ถ้าเรา “นิ่ง” เราจะมีสติและปัญญา

ถ้า “เสียสละ” แล้วจะพ้นภัย

และถ้า “ร่าเริง” เราจะอายุยืน

“อดทน-นิ่ง-เสียสละ-ร่าเริง” คือ หลักการดำเนินชีวิตของคุณเจริญ

ในฐานะคนที่เคยศึกษาประวัติของคุณเจริญและเขียนหนังสือเป็นเล่มชื่อว่า “เจริญสิริวัฒนภักดี จอมยุทธ์น้ำเมา”

คุณเจริญเป็นอย่างนั้นจริงๆ

โดยเฉพาะเรื่องการอดทน และรอคอย

ตอนที่ทำธุรกิจเหล้าและเป็นหนึ่งในตำนาน “สงครามสุรา” ระหว่าง “แม่โขง” กับ “หงส์ทอง” ในอดีต

มีคนบอกว่าคุณเจริญยอมขาดทุน 10 ปี เพื่อจะมีกำไรในปีที่ 11

ปรัชญา 4 ข้อของคุณเจริญน่าสนใจมาก

โดยเฉพาะข้อสุดท้าย

“ร่าเริง”

3 ข้อแรก ผมยอมแพ้คุณเจริญ

แต่ข้อสุดท้าย กล้าท้าเดิมพันครับ

มั่นใจมาก 555

 

มาถึงช่วงที่ผมสัมภาษณ์คุณประสิทธิ์

ผมเคยเจอคุณประสิทธิ์มาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนที่ไปสถาบันพัฒนาผู้นำของซีพีที่เขาใหญ่

แต่ไม่เคยได้คุยแบบจริงจัง

พอได้คุยครั้งนี้ รู้เลยว่าคุณประสิทธิ์เก่งมาก

มีเรื่องหนึ่งที่คุยกันก่อนขึ้นเวทีแล้วผมชอบเลยขอให้เล่าบนเวทีอีกสักครั้ง

เป็น “คาถา” ที่ใช้ในการเผชิญวิกฤต

โดยเฉพาะเรื่องโควิด ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน

ท่ามกลางภาวะที่ไม่แน่นอน เรามีหลักคิดในการตัดสินใจอย่างไร

จะอยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้

แล้วจะทำอย่างไร

คุณประสิทธิ์บอกว่าหลักคิดของเขา เริ่มจากการหาข้อมูล แล้วกล้าที่จะปักธง

ไม่ต้องมั่นใจถึงขนาดลงเสาเข็ม

แต่ต้องมีทิศทางที่ชัดพอสมควร

ไม่เช่นนั้นจะวางแผนธุรกิจไม่ได้

อย่างเช่น สถานการณ์โควิดในปีหน้าเป็นอย่างไร

ดีขึ้น เท่าเดิม หรือแย่ลง

คุณประสิทธิ์เชื่อว่าจะดีขึ้น แล้วจึงกำหนดแผนธุรกิจ

ที่สำคัญทุกอย่างต้องแปรเป็นตัวเลขได้

อย่างตอนที่เขาตัดสินใจสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาให้พนักงาน

ต้นทุน “โมเดอร์นา” เข็มละประมาณ 1,500 บาท

เขาสั่งมา 28,000 เข็ม หรือประมาณ 40 กว่าล้านบาท

วิธีคิดของคุณประสิทธิ์ คือ เปรียบเทียบต้นทุนในการป้องกันโควิดในโรงงานของซีพีเอฟ

เขาต้องทำระบบ “บับเบิล” อย่างเข้มข้น

ต้นทุนอยู่ที่คนละ 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน

ถ้าฉีดโมเดอร์นาเข็มละ 1,500 บาท

แต่คุ้มกันได้อย่างต่ำ 6 เดือน

แค่นี้ก็คุ้มแล้ว

และถ้าป้องกันได้จริง พนักงานไม่ป่วย แรงงานไม่ขาด

คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

หลักของคุณประเสริฐ คือ ทุกเรื่องเราต้องกล้าตั้งสมมุติฐาน

กำหนดทางเลือก

แล้วต้องแปรทางเลือกให้เป็น “ตัวเลข” ให้ได้

 

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ

คือ เรื่องนวัตกรรมของซีพีเอฟ

คุณประเสริฐบอกว่าช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้คนสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น

การเลี้ยงไก่-หมูของซีพีเอฟตอนนี้มีนวัตกรรมใหม่ คือ การเลี้ยงโดยใช้ “โพรไบโอติก”

คุณประเสริฐเคยบริหาร “ซีพี-เมจิ” มาก่อน เขารู้เรื่องจุรินทรีย์จากโยเกิร์ตเป็นอย่างดี

รู้ว่ามีประโยชน์อย่างไร

ซีพีเอฟคิดค้นจุลินทรีย์ที่เหมาะสมกับสัตว์ต่างๆ

“เหมือนกับเราให้หมู ไก่กินโยเกิร์ต”

พอระบบภายในรวมถึงการย่อยอาหารดี

หมูกับไก่ก็แทบจะไม่ป่วย

เมื่อไม่ป่วยก็ใช้ยาปฏิชีวนะน้อยลง

หรือการผลิตเนื้อไก่-เนื้อหมูคุณภาพดี

เช่น ไก่เบญจา ก็มาจากการเลี้ยงไก่ด้วยข้าวกล้อง

เป็นเนื้อไก่ที่ปลอดสาร ไม่ใช้ฮอร์โมน และยาปฏิชีวนะ

หรือหมูโอชา ที่เขาแปร “จุดอ่อน” เป็น “จุดแข็ง”

เขาตั้งคำถามว่าคนกินหมูกลัวอะไรที่สุด

คำตอบคือ “ไขมัน”

เขาเลยผลิตหมูพันธุ์ใหม่ที่ไขมันมี “โอเมก้า 3” ซึ่งได้จากอาหารทะเล

วิธีการเริ่มจากคัดสรรพันธุ์หมูที่ไขมันสามารถเก็บโอเมก้า 3 ได้ดี

อาหารที่ให้กินก็เป็นพวกสาหร่าย หรืออาหารที่มีโอเมก้า 3

กลายเป็น “หมูชีวา”

คุณประเสริฐบอกว่าหมูชีวาที่เป็นหมู 3 ชั้น 100 กรัม มีโอเมก้า 3 มากกว่าที่คนต้องการใน 1 วัน

และมากกว่าปลาแซลมอนอีก

ผมตั้งข้อสังเกตว่าทำไมทั้ง “ไก่เบญจา” และ “หมูชีวา” ต้องตั้งชื่อแล้วลงท้ายด้วยสระ “อา”

ต่อไปถ้ามี “ปลา” ก็ต้องลงท้ายด้วยสระอาอีกหรือเปล่า

คุณประสิทธิ์หัวเราะ บอกว่าคงเป็นเรื่องบังเอิญ

ตอนอยู่บนเวทีคิดไม่ออกว่าถ้าเป็น “ปลา” จะให้ชื่ออะไรดีที่ลงท้ายด้วยสระอา

แต่มาคุยกันหลังจากลงเวทีแล้ว

ความคิดสร้างสรรค์ก็บังเกิด

“ผมรู้แล้วว่าถ้าเป็นปลา ควรตั้งชื่อว่าอะไร”

“อะไรครับ” คุณประสิทธิ์ถาม

“ปลาโอชา” ผมตอบ

“ย่อมาจาก ปลายุทธ์ จันทร์โอชา”

แต่ดูหน้าคุณประสิทธิแล้ว

เขาคงไม่ซื้อไอเดียนี้

 

ผมเอาเรื่องนี้มาคุยกับ “อมร”

แล้วเสนออีกทางเลือก

ไม่ต้องลงท้ายด้วย “สระอา”

“ปลาสุวรรณ”

ย่อมาจาก “ปราวิตร วงษ์สุวรรณ”

หนุ่มมรส่ายหน้าไม่เห็นด้วย

“ชื่อนี้ไม่ได้เลย”

“ทำไมล่ะ” ผมถาม

“ปลาต้องมีโอเมก้า 3 ช่วยเรื่องความจำ ปราวิตรไม่เหมาะ”

“ทำไมล่ะ” ผมถามแบบเดิม

“เพราะปราวิตร เวลาถามเรื่องอะไร เขาจะตอบอย่างเดียว” อมรเฉลย

“ไม่รุ ไม่รุ”