คนมองหนัง : 25 ปี ‘เถียน มี มี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว’ หนังโรแมนติกเรื่องสำคัญของ ‘คนจีน’

คนมองหนัง

 

25 ปี ‘เถียน มี มี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว’

หนังโรแมนติกเรื่องสำคัญของ ‘คนจีน’

 

“Comrades, Almost a Love Story” หรือในชื่อภาษาไทย “เถียนมีมี่ 3,650 วัน…รักเธอคนเดียว” เริ่มเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ในฮ่องกงเป็นครั้งแรก เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 1996

ดังนั้น เดือนพฤศจิกายน 2021 จึงถือเป็นวาระครบรอบ 25 ปีของภาพยนตร์เรื่องนี้

ในปี 1997 ผลงานของผู้กำกับฯ “ปีเตอร์ ชาน” สามารถคว้ารางวัลจากฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ ไปได้มากถึง 9 สาขา และกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์รักสุดคลาสสิคของฮ่องกง ประชาคมชาวจีน และทวีปเอเชีย อย่างยากปฏิเสธ

ช่วงปลายทศวรรษ 1990 “Comrades” (ชื่อสั้นๆ ที่ชานใช้เรียกขานหนังเรื่องนี้) ยังได้เดินทางไปตระเวนฉายในที่ต่างๆ ทั่วโลก เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1998 เขานำหนังไปฉาย ณ มหานครนิวยอร์ก และได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวชื่อ “แดเนียล อีแกน”

อย่างไรก็ตาม บทสัมภาษณ์ชิ้นดังกล่าวกลับไม่ได้รับการตีพิมพ์ลงในสื่อสหรัฐ และเพิ่งถูกนำมาเผยแพร่เป็นครั้งแรกในเว็บไซต์ “เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์” เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ในบทสัมภาษณ์อายุ 23 ปี ปีเตอร์ ชาน อธิบายกับอีแกนว่า ภาพยนตร์เรื่องเอกของเขาได้สะกดรอยชีวิตของตัวละครผู้อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนสองราย ที่โยกย้ายมายังฮ่องกง (และนิวยอร์ก)

นี่คือเรื่องราวว่าด้วยคนเหงาเปล่าเปลี่ยวสองราย ที่ต้องหลุดลอยออกจากรากเหง้าดั้งเดิมของตนเอง

ชาน (ซึ่งมีพ่อ-แม่เป็นชาวจีนอพยพ และเคยใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นในเมืองไทย ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐ แล้วลงหลักปักฐานทำงานในฮ่องกง) ยืนยันว่าสิ่งที่หนังนำเสนอไม่ใช่ “เรื่องรัก” ทำนอง “รักแรกพบ”

แต่เขาต้องการถ่ายทอดเรื่องของมนุษย์สองคนที่แชร์ประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน อันนำไปสู่สายสัมพันธ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นตามลำดับ

 

เมื่อผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันสอบถามว่าทำไมชีวิตของตัวละครผู้อยพในหนังจึงดูยากลำบากนัก?

ชานอธิบายว่าในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ชีวิตของผู้อพยพชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ฮ่องกงนั้นยากลำบากจริงๆ

ทว่าในฐานะคนทำหนัง เขาพยายามจะนำเสนอห้วงเวลา 10 ปีสุดท้าย ที่ฮ่องกงมีสถานะเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร (จากกลางทศวรรษ 1980 สู่กลางทศวรรษ 1990)

โดยจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของช่วงเวลาดังกล่าว ก็คือ การลงนามใน “ปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ” ของ “มาร์กาเรต แทตเชอร์” ซึ่งระบุว่าฮ่องกงจะถูกส่งมอบคืนให้จีน พร้อมการปกครองแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997

ความเปลี่ยนแปลงข้างต้นถูกสะท้อนผ่านวัฒนธรรมภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน ชานเล่าว่าในปลายยุค 1970 ตัวละครชาวจีนแผ่นดินใหญ่ มักถูกวาดภาพให้เป็นเพียง “ตัวตลก” หรือ “พวกบ้านนอก” ในหนังฮ่องกง หรือไม่พวกเขาก็กลายเป็น “แก๊งสเตอร์” หรือ “กลุ่มทหารรับจ้าง” ที่บุกมาก่อเหตุอาชญากรรมต่างๆ ในหนังแนวแอ๊กชั่น

เรื่องน่าตลกก็คือพอถึงกลางยุค 1990 ชาวฮ่องกงมักจะนึกถึงแต่ภาพของเหล่า “นายธนาคาร” และ “นายทุน” จากแผ่นดินใหญ่ กระทั่งชานเคยเล่นมุขอำเพื่อนๆ ว่า “จากที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ฮ่องกงได้ย้ายมาเป็นอาณานิคมของจีนเรียบร้อยแล้ว”

 

การเล่าเรื่องราวของผู้อพยพจากแผ่นดินใหญ่ นั้นส่งผลสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการคัดเลือกนักแสดงนำในหนังเรื่องนี้

ชานบอกว่าเขาเลือก “หลี่หมิง” หรือ “ลีออน ไหล” มาเป็นพระเอกของ “Comrades” ก็เพราะลีออนคือชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางอพยพเข้ามายังฮ่องกง และสามารถสร้างชื่อเสียงเป็นป๊อปสตาร์ระดับ “จตุรเทพ” ในดินแดนอาณานิคมอังกฤษได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี ในแผนการเตรียมงานขั้นแรกสุด ชานไม่ได้คาดหวังจะให้ “จางม่านอวี้” หรือ “แม็กกี้ เฉิง” มาสวมบทนางเอกของเรื่อง แม้เขาจะเชื่อมั่นว่าเธอคือนักแสดงนำหญิงที่ดีที่สุดในวงการภาพยนตร์ฮ่องกงยุคนั้นก็ตาม

นางเอกที่ปีเตอร์ ชาน เลือกเอาไว้ ก็คือ “เฟย์ หว่อง” นักแสดง-นักร้องชื่อดัง ซึ่งมีพื้นเพมาจากแผ่นดินใหญ่ไม่ต่างจากหลี่หมิง แต่เมื่อซูเปอร์สตาร์หญิงที่มีภาพจำจากหนังเหงาๆ เท่ๆ เรื่อง “Chungking Express” ปฏิเสธจะรับบทนี้ ชานจึงหันมาหาจางม่านอวี้ทันที

ผู้กำกับฯ มากฝีมือให้เหตุผลว่า แม้แม็กกี้จะเป็นเด็กสาวชาวเมือง ผู้เกิดและเติบโตที่ลอนดอนและฮ่องกง ทว่าเมื่อเขาและทีมงานหานักแสดงนำหญิงจากจีนแผ่นดินใหญ่มาร่วมงานไม่ได้ คนที่ทุกฝ่ายจะต้องพยายามติดต่อให้มารับบทเป็นนางเอกของหนังเรื่องนี้ ย่อมหนีไม่พ้นนักแสดงหญิงที่เก่งที่สุด

แล้วแม็กกี้หรือจางม่านอวี้ก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง เธอฝากฝีมือการแสดงอันน่าประทับใจไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งยังทำงานในกองถ่ายอย่างผ่อนคลายและสนุกสนาน

 

คําถามปิดท้ายของอีแกน คือ เพลง “เถียนมีมี่” ของ “เทเรซ่า เติ้ง” หรือ “เติ้งลี่จวิน” นั้นถือเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในหนังเรื่องนี้ ชานคิดว่าคนดูชาวอเมริกันจะเข้าใจหรือตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน?

ชานอุปมาไว้อย่างเห็นภาพว่า ถ้ามีใครสักคนทำหนังเรื่อง “Comrades” ที่อเมริกา เรื่องราวก็น่าจะเกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 และหนังก็คงปิดฉากลงตรงข่าวการเสียชีวิตของ “จอห์น เลนนอน”

นั่นหมายถึงว่าสถานภาพ-ความสำคัญที่เติ้งลี่จวินมีต่อชาวจีน (ในหลายประเทศทั่วโลก) นั้นไม่ต่างอะไรจากสถานภาพ-ความสำคัญที่เลนนอนมีต่อชาวตะวันตก

ผู้กำกับฯ ฮ่องกง อธิบายให้สื่อมวลชนอเมริกันฟังว่า เติ้งลี่จวินเป็นนักร้องหญิงชาวไต้หวันที่โด่งดังในฮ่องกงและญี่ปุ่น ก่อนจะบุกเข้าไปสร้างฐานความนิยมในจีนแผ่นดินใหญ่ ณ ยุคเริ่มต้นของการปฏิรูปเศรษฐกิจช่วงปลายทศวรรษ1970

ดังนั้น เติ้งลี่จวินคือ “ซูเปอร์สตาร์ชาวจีน” คนแรกสุดของยุค “สงครามเย็น” ที่สามารถขึ้นไปขับขานบทเพลงบนทุกเวทีคอนเสิร์ต ไม่ว่าเวทีนั้นจะตั้งอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน หรือฮ่องกง

ชะตาชีวิตของยอดนักร้องหญิงก็สอดคล้องกับแก่นแกนความคิดหลักที่ “Comrades” ต้องการถ่ายทอด นั่นคือ การเคลื่อนย้าย-เดินทางจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งของ “ชุมชนชาวจีน”

 

ปีเตอร์ ชาน ยอมรับว่าคนดูหนังชาวฮ่องกงน่าจะรู้สึกผูกพันกับเติ้งลี่จวิน และอินกับบทเพลงรวมถึงข่าวการเสียชีวิตของเธอ ที่ปรากฏในภาพยนตร์มากเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน เพลง “เถียนมีมี่” ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นชื่อภาษาจีนของหนังเรื่องนี้ ก็มีเนื้อร้องอันสอดคล้องลงตัวกับตอนจบของ “Comrades” แบบพอดิบพอดี

เป็นความเหมาะเจาะลงตัว ซึ่งคนดูที่ไม่รู้ภาษาจีนอาจมิได้สัมผัสหรือตระหนักถึง

“ผมพยายามอย่างหนักที่จะแปลเนื้อร้องของเพลงใส่เอาไว้ในซับไตเติลภาษาอังกฤษ แต่ว่ามันกลับไม่เวิร์ก

“เพลงเหล่านั้นล้วนถ่ายทอดความรักออกมาอย่างเอ่อท้น ซึ่งดูยิ่งใหญ่มากเมื่อคุณได้ฟังมัน แต่พอคุณลองเขียนมันออกมาเป็นตัวอักษร สิ่งที่คุณจะได้อ่านกลับเป็นข้อความประเภท ‘โอ้ ฉันรักเธอ ฉันฝันถึงเธอ’ อะไรทำนองนี้

“เนื้อความประเภทนี้คือสิ่งที่ผู้ชมภาพยนตร์ชาวตะวันตกจะพลาดไป”

ผู้กำกับฯ “Comrades, Almost a Love Story” เปิดเผยกับนักสัมภาษณ์ชาวสหรัฐ

ที่มา

https://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3156108/comrades-almost-love-story-25-years-director-peter-chan