ประเทศนี้มีอันตราย/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

ประเทศนี้มีอันตราย

 

ณ สามย่านมิตรทาวน์ ในงานสัมมนา “Thailand 2022 Unlock Value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ ไร้ขีดจำกัด” ซึ่งจัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” 1 ในกูรูผู้มาบรรยายพิเศษ กล้ามากที่กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยอ่อนแอมาตั้งแต่ก่อนโควิด”

ไม่ได้ใส่ความให้ร้ายรัฐบาลหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยชี้เอาไว้ว่าการขาดดุลเงินสดของรัฐบาลคือการยืมเงินในอนาคตมายันเศรษฐกิจที่ติดลบในปัจจุบัน

ในอดีตเคยเป็นบวก หากตั้งแต่ปี 2559-2562 ติดลบ 2.7% ของจีดีพี

ดร.ศุภวุฒิเห็นว่า สถานะแบบนี้เป็นปัญหาใหญ่แน่นอน ปีที่แล้ว (2563) รัฐบาลขาดดุลงบประมาณที่ 6% ของจีดีพี และจีดีพีติดลบ 6% นั่นหมายความว่า ถ้ารัฐบาลไม่ใส่เงินเลย จีดีพีจะติดลบถึง 12%

เส้นทางข้างหน้าเห็นท่าว่าจะลำบาก!

“สภาพ” ก่อนหน้ารัฐประหารตัวเลข “คนจน” ไม่มากเท่าในวันนี้

ยังจดจำวาทกรรม “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี 2560 กันได้หรือไม่

ในงานสัมมนา “ไทยแลนด์ 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย” ดร.สมคิดกล่าวปาฐกถาว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาความยากจนของประเทศโดยตั้งเป้าหมาย คนไทยทุกคนที่ยังมีความยากจนอยู่ จะต้องหายจนให้ได้ในปีหน้า (2561)

จึงนำไปสู่คำล้อเลียน “คน-จนหมดในปีหน้า”!

ต่อมาความจริงก็ปรากฏจากตัวเลขของธนาคารโลกที่ระบุว่า อัตราความยากจนในประเทศไทยเพิ่มจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 9.8 ในปี 2561

“ความเหลื่อมล้ำ” ยิ่งนับวันจะยิ่งถ่างออกไป

คนที่เคยถูกนับว่ามีรายได้ “อยู่เหนือ-เส้นยากจน” กลับผกผันหล่นลงไป “อยู่ใต้-เส้นยากจน”

ความจริงข้อนี้ถูกตอกย้ำจากสภาพัฒน์ที่เคยรายงานเอาไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2560-2563 คนจนมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยรุนแรงน่าห่วง ผู้มีรายได้น้อยกับผู้มีรายได้มาก “ห่างกันถึง 20 เท่า”

อย่าได้โยนความผิดไปให้โควิดผู้มาใหม่ เพราะตัวเลขคนจนที่พุ่งขึ้นสูงนั้นเกิดขึ้นก่อนโควิดระบาดถึง 3 ปีนั้นสะท้อนถึงแนวคิดและการบริหารจัดการของรัฐบาลภายหลังรัฐประหารที่การแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมักกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่ “ความจน” จึงกระจายไปสู่ “คนส่วนใหญ่”

ความจนกับหนี้ครัวเรือนทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อโควิดระบาด อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถึงจุดจบ ธุรกิจภาคบริการที่ยึดโยงหยุดและล้มระเนระนาด ภาคการผลิตก็ชะงัก โรงงานปิด บางส่วนย้ายฐานผลิต เลิกจ้าง คนตกงาน ไม่มีเงินออม ไม่มีเงินดำรงชีพ เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ

ธนาคารโลกใช้คำอย่างสุภาพว่า คนไทยที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (รายได้ต่ำกว่า 5.5 เหรียญสหรัฐหรือราว 180 บาทต่อวัน) เพิ่มขึ้นจาก 4.7 ล้านคน เป็นเกือบ 10 ล้านคน

 

การพังทลายของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ชั้นฐานรากนั้นย่อมต้องมี “ที่มา”

สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยากที่จะมี “การถ่วงดุล” และ “ตรวจสอบ” ในทุกระบบ

ในทางสังคมและวัฒนธรรมไทย มีต่ำ-สูง ที่พัฒนาการมาจากระบบความคิดนายกับไพร่ ในทางเศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำ

ส่วนในด้านการเมือง หากแต่ก่อนเจ้าที่ดินผู้มีศักดินานับหมื่นไร่เป็นผู้มีอิทธิพลและถือครองอำนาจ เปรียบกับปัจจุบันก็คือ “ทุน” กับ “ปืน”

ในยุคปัจจุบัน “ขาใหญ่” หรือทุนขนาดใหญ่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้นำทางการเมืองซึ่งส่วนใหญ่มีที่มาจากการรัฐประหารหรือไม่ก็เป็นผลพวงสืบเนื่องของรัฐประหาร

นายทุนใหญ่มี “อำนาจเหนือตลาด” ตลอดมา

เป็นที่รู้กันว่าโครงการใหญ่ๆ ทั้งหลายนั้นการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม “เป็นไปได้ยาก” จึงเป็นโอกาสทำให้บริษัทขนาดใหญ่จำนวน 5% สามารถยึดครองรายได้ 95%

ส่วนบริษัทอื่นๆ อีก 95% กลับมีรายรับเพียง 5%

การสู้รบในสมรภูมิธุรกิจนี้มิใช่เรื่องง่าย

 

ที่หนักไปกว่านั้นคือ “การทุจริตคอร์รัปชั่น” ซึ่งยอมรับกันเป็นการทั่วไปว่า สามารถกระทำอย่างเป็นระบบ และมีระเบียบปฏิบัติ ชัดเจน แน่นอน เป็นล่ำเป็นสัน ในทุกๆ การลงทุนนอกจากจะมีต้นทุนจริงแล้ว ยังต้องบวกต้นทุนแฝง การทำมาค้าขายที่ต้องอาศัยใบอนุญาตจะต้องมี “ค่าลงนาม” ที่แพงมาก ความไม่ซื่อสัตย์ไม่ตรงไปตรงมาเป็นเรื่องธรรมดา ใครที่สงสัยหรือฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติจะเป็น “ปฏิปักษ์” เช่นเดียวกับในทางการเมือง คนที่คิดเห็นแตกต่าง ช่างสงสัย หรือทวงถาม-เรียกร้อง ต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขคนนั้นก็จะกลายเป็น “ผู้ถูกกล่าวหา”

การบังคับใช้กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์เคร่งครัดกับฝ่ายหนึ่ง ขณะที่จะบ๋อแบ๋กับอีกฝ่ายหนึ่งกระทั่งกลายเป็นสภาพ “คนไม่เท่าเทียม”

นิติธรรม-นิติรัฐ-ธรรมาภิบาล-หรือประชาธิปไตย ตามความหมายที่สากลเข้าใจจึงไม่ตรงกับที่ประเทศไทยกำลังเป็นอยู่

ในการประเมินระดับนานาชาติโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศจึงให้คะแนน “ไทย” ลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันถูกจัดอันดับความโปร่งใสให้อยู่ที่ 101 จาก 180 ประเทศ

ในการเทียบเชิญ 110 ชาติเข้าร่วมประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยทางออนไลน์ ที่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา จัดขึ้นในวันที่ 9-10 ธันวาคมนี้ก็ไม่มีชื่อประเทศไทย

สังคมที่เต็มไปด้วยยศชั้นสถานะสูงต่ำ ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน หนี้สินท่วมหัว สัมพันธ์กับโอกาสการศึกษาและการลืมตาอ้าปาก

ทั้งหลายเป็นเหตุปัจจัยเกี่ยวโยงกัน

การดำเนินธุรกิจผูกขาดและกึ่งผูกขาด การอุปถัมภ์ การทุจริตคอร์รัปชั่น สัมพันธ์กับลัทธิอำนาจนิยมในการเมือง

ทั้งหลายเป็นปัจจัยเกื้อกูลประโยชน์แก่กัน

กล่าวทั้งในแง่โดยลำพังและโดยความสัมพันธ์กับโลกภายนอก ปัญหาที่หมักหมมและรุมเร้าทำให้ “ไทย” ตกอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง

ถึงแม้จะถือดีว่ารัฐบาลมีความมั่นคง แต่ฐานรากของประเทศสั่นคลอน!?!!