ปริศนาโบราณคดี/’วัดอุโมงค์’ (สวนพุทธธรรม) ศิลปกรรมที่เต็มไปด้วยปัญหา ด้านการกำหนดอายุ (3)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘วัดอุโมงค์’ (สวนพุทธธรรม)

ศิลปกรรมที่เต็มไปด้วยปัญหา

ด้านการกำหนดอายุ (3)

 

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์หลายท่านลงความเห็นว่า รูปแบบของเจดีย์วัดอุโมงค์ มีลักษณะละม้ายกับเจดีย์หลายองค์ในสมัยปลายอาณาจักรพุกามเรียกกลุ่มที่เรียกว่า “อิทธิพลศิลปะลังกาในพุกาม” มี “เจดีย์ฉปัฏ” (Sapada Stupa) เป็นต้นแบบ

คำว่าเจดีย์ฉปัฏ เอานามมาจากพระภิกษุชาวพุกามรูปหนึ่งชื่อ “พระฉปัฏ” มีชีวิตในช่วงรัชสมัยของพระเจ้านรปติสิทธุ (พ.ศ.1681-1754) พระฉปัฏได้เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา เมื่อกลับมาพุกามได้นำอิทธิพลการสร้างเจดีย์แบบลังกา หรือที่เรียกกันว่า “ทรงโอคว่ำ” (ทรงระฆังลังกา) มาประยุกต์ใช้ในสถูปของพุกาม

โดยไม่ได้รับอิทธิพลของสถูปลังกามาทั้งหมดร้อยเปอร์เซนต์ ทว่ามีการเพิ่มเติมเสริมแต่ง ปรับให้เข้ากับรูปแบบเดิมที่สถาปัตยกรรมพุกามเคยวางรากฐานมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าอนิรุทธมหาราชด้วย

องค์ประกอบเจดีย์วัดอุโมงค์ในส่วนที่ละม้ายกับกลุ่มเจดีย์ฉปัฏในพุกาม (โดยที่ลักษณะเช่นนี้ไม่ปรากฏในศิลปะลังกา) ก็คือ

ประการแรก การทำฐานล่างกลม ไม่มีฐานเขียงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับ

ประการที่สอง การเจาะท้องไม้แบบเซาะร่องลึกในส่วนฐานลวดบัว ซึ่งพบว่าช่องเหล่านี้เป็นพัฒนาการมาจากศิลปะพุกามที่เคยใช้บรรจุภาพชาดก แต่ต่อมาได้ลดพื้นที่ให้ช่องเล็กลง

ประการที่สาม การใช้กลีบบัวรองรับโดยรอบฐาน ทั้งหมด 3 ช่วง คือฐานชั้นล่าง ชั้นกลาง จนถึงบัวปากระฆัง ลักษณะเป็นบัวกลีบคมซ้อนกันสองชั้นเช่นนี้ ต่อไปจะพัฒนาเป็น “บัวกลุ่ม” หรือศัพท์ทางช่างเรียก “บัวคลุ่ม”

รายละเอียดส่วนนี้ดิฉันได้กล่าวถึงบ้างแล้วในตอนที่ 1 โดยตั้งข้อสังเกตว่า รูปแบบของเจดีย์วัดอุโมงค์มีความพิเศษแปลกกว่าเจดีย์องค์ระฆังแบบลังกาที่พบทั่วไปในสุโขทัยและล้านนา ซึ่งความแปลกพิเศษนั้น คือองค์ประกอบที่พบในกลุ่มเจดีย์สายวัดฉปัฏ เจดีย์เสียนเยทนยิมา เจดีย์กาธาปาถูปปาจี นั่นเอง เพียงแต่ในตอนที่ 1 ยังไม่มีภาพประกอบของกลุ่มเจดีย์วัดฉปัฏให้ดูเปรียบเทียบ จึงขอนำภาพเจดีย์ทั้งสามองค์มาให้ดูกันในตอนนี้

เป็นดั่งนี้แล้ว ผู้อ่านย่อมมีคำถามตามมาว่า เพราะเหตุไรอิทธิพลศิลปะพุกามตอนปลายจึงมาปรากฏที่วัดอุโมงค์ด้วยเล่า ใครเป็นผู้นำมา ทำไม เมื่อไหร่ อย่างไร

เจดีย์ฉปัฏ ต้นแบบเจดีย์ทรงระฆังลังกาในพุกาม มีลีกษณะคล้ายเจดีย์วัดอุโมงค์

ฉบับก่อนดิฉันชวนผู้อ่านวิเคราะห์ถึงบทบาทของ “พระมหากัสสปะ” ภิกษุชาวลังกาที่ขึ้นมาจากนครศรีธรรมราช ผ่านสุโขทัย มาจำพรรษาที่เวียงกุมกาม และในท้ายที่สุดมาสร้างวัดไผ่ 11 กอ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอุโมงค์) นั้นแล้วอย่างละเอียด

หากเป็นเช่นนี้ รูปแบบศิลปะย่อมต้องเป็นเจดีย์ทรงลังกาแท้ๆ ไม่ควรสร้างด้วยศิลปะพุกาม อย่างไรก็ดี มีหลักฐานยืนยันว่า มีการบูรณะพระเจดีย์องค์เดิมของพระมหากัสสปะในชั้นหลัง อย่างน้อยที่สุด น่าจะเป็นสมัยพระญากือนา โดยพระภิกษุที่ชื่อ “พระเถรจันทร์”

พระเถรจันทร์ผู้นี้ล่ะหรือ คือผู้สร้างเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ให้เป็นรูปแบบศิลปะพุกาม หากใช่ แสดงว่าท่านต้องมีสายสัมพันธ์อันดีกับทางพุกามอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น เราต้องมาดูกันว่า พระเถรจันทร์คือใคร

เรื่องราวของท่านผู้นี้ ปรากฏอยู่ในเอกสารคัมภีร์ใบลานชื่อ “โอวาทโวหารเถรจันทร์” เขียนด้วยอักษรธัมม์ล้านนา ใช้ภาษาบาลีและไทยวน (คำเมือง) พบที่วัดป่าเหมือด ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ระบุปีที่จารคัมภีร์ ปริวรรตถอดความโดย ดร.ชัปนะ ปิ่นเงิน สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พระภิกษุรูปนี้ตอนเป็นฆราวาสมีชื่อว่า “จันทสรม” (บางสำนวนเขียนภาษาสันสกฤตเป็น “จันทศรมณ์”) อ่านแบบล้านนาว่า “จัน-ต๊ะ-สะ-ลม”

เมื่อมาบวชจึงเรียกชื่อย่อว่า “เถรจันทร์” บ้างเขียน “เถรจันท์” หรือ “เถรจันทเจ้า”

เจดีย์กาธาปาถูปาจี ทำฐานท้องไม้เซาะร่อง บัลลังก์ใหญ่เหมือนวัดอุโมงค์ (ภาพจากหนังสือเจดีย์ในศิลปะพม่า-มอญ เขียนโดย ผศ.เชษฐ์ ติงสัญชลี)

นายจันต๊ะสะลม เป็นลูกชายของ “นายบ้าน” (หัวหน้าหมู่บ้าน) เดิมอยู่แถวป่าไผ่ เมืองบัว (ฉบับวัดพันอ้นระบุว่า ลูกนายบ้านไผ่เมืองงัว (วัว) ฉบับวัดจอมคีรีระบุว่า ลูกนายบ้านใหญ่เมืองวัง) เมืองบัว/เมืองงัว นี้ อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ สันนิษฐานว่าปัจจุบันน่าจะเป็นแถวตีนพระธาตุดอยคำ บ้านแม่เหียะ

จันต๊ะสะลมมาบวชที่วัดป่าไผ่ได้ 17 ปี ก็มาอยู่ที่วัดโพธิน้อย แกวกาดเชียงใหม่ได้ 3 ปี รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล อดีตอาจารย์สาขาประวัติศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า “วัดโพธิน้อย” (อ่าน โพด-น้อย) คือวัดอุโมงค์เถรจันทร์ กลางเวียงเชียงใหม่ ที่อยู่เยื้องกับวัดดวงดี

ข้อความในคัมภีร์ใบลานฉบับนี้มีความน่าสนใจมาก เพราะได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยพระญากือนา กษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งไม่ปรากฏเรื่องราวเหล่านี้ในเอกสารชิ้นอื่นๆ

ว่าในปี พ.ศ.1931 (จ.ศ.750) พระญากือนามีศรัทธาปสาทะต่อพระเถรจันท์อย่างแรงกล้า จึงอาราธนาท่านจากวัดโพธิน้อย ให้มาพำนักอยู่ที่ “วัดอุมงค์”

และจากข้อความในคัมภีร์ใบลานตอนนี้เอง ที่ทำให้เราทราบว่า เดิมวัดอุโมงค์หรืออุมงค์ เคยมีชื่อว่า “วัดไผ่ 11 กอ” ภาษาบาลีเขียนว่า “เวฬุกฏฐาราม” (เวฬุกัณฐาราม) เป็นวัดที่มีมาก่อนสมัยพระญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่

แต่คัมภีร์ใบลานฉบับนี้มิได้กล่าวถึงพระภิกษุลังกานาม “พระมหากัสสปะ” แต่อย่างใด ชื่อของพระมหากัสสปะที่มีการระบุว่าเป็นผู้มาสร้างวัดไผ่ 11 กอนั้น ปรากฏในเอกสารงานค้นคว้าของอาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง

เมื่อพระเถรจันท์มาจำพรรษาที่วัดอุมงค์ตามคำอาราธนาของพระญากือนาแล้ว คัมภีร์อธิบายต่อไปว่า พระเถรจันท์ไม่สามารถอยู่ในกุฏิสงฆ์ได้แบบพระภิกษุทั่วไป เนื่องจากมีจิตฟุ้งซ่านผิดมนุษย์ (ตำนานบางเล่มระบุว่าท่านเป็น “ผีบ้า” หมายถึงคุ้มดีคุ้มร้าย เหตุที่โดนคาถาอาคมของพวกเดียรัจฉานวิชชา) จึงเก็บตัวลับๆ ล่อๆ ต้องก่ออุโมงค์เป็นกุฏิ คล้ายจำลองถ้ำให้ท่านอยู่

เจดีย์เสียนเยทนยิมา ทำฐานบัวสองชั้นกลีบคมเหมือนวัดอุโมงค์ (ภาพจากหนังสือเจดีย์ในศิลปะพม่า-มอญ เขียนโดย ผศ.เชษฐ์ ติงสัญชลี)

พรรณนามาถึงบรรทัดนี้ สิ่งที่เราต้องตีความถอดรหัสมีหลายประเด็น

ประเด็นแรก พระเถรจันท์มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างเจดีย์องค์ใหม่ที่เป็นศิลปะแบบพุกามครอบทับเจดีย์องค์ในขนาดเล็กที่สร้างโดยพระมหากัสสปะสมัยพระญามังรายด้วยหรือไม่ หากไม่ใช่ พระภิกษุสายพุกามรูปใดเป็นผู้สร้าง และเมื่อไหร่

ประเด็นที่สอง พระเถรจันท์เป็นที่โปรดปรานของพระญากือนาอย่างมาก ทั้งๆ ที่สมัยนั้น พระญากือนาได้อาราธนา “พระมหาสุมนเถระ” จากศรีสัชนาไลย สุโขทัย มาจำพรรษา ณ วัดพระยืน ลำพูนนานถึง 3 ปี ต่อมาย้ายมาอยู่วัดสวนดอกไม้พะยอม ตั้งศาสนาพุทธนิกายเชียงใหม่ (หรือนิกายรามัญวงศ์) ขึ้น

คำถามคือ พระเถรจันท์ซึ่งอยู่ในสภาวะ “กึ่งดีกึ่งร้าย” (ผีบ้า) สังกัดคณะสงฆ์นิกายสวนดอกที่พระญากือนาทรงอุปถัมภ์ด้วยหรือไม่ หรือว่าแยกไว้เป็นเอกเทศ ให้สิทธิ์เป็นปัจเจกภิกขุไม่ต้องขึ้นตรงกับใคร ไม่ต้องร่วมสังฆกรรมกับภิกษุสายพระมหาสุมนเถระ เนื่องจากเราไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับนิกายสวนดอก เขียนถึงเรื่องราวของพระเถรจันท์เลย ทั้งๆ ที่เป็นบุคคลซึ่งพระญากือนาโปรดปราน?

ที่ตั้งคำถามเช่นนี้ เผื่อว่าเราจะช่วยกันถอดรหัสของคำว่า “รามัญนิกาย” ที่พระมหาสุมนเถระมีเส้นสายความผูกพันกับพระอาจารย์ของท่าน พระอุทุมพรมหาสวามี แห่งเมืองพัน (เมาะตะมะ) ได้บ้าง ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่บางทีพระสายรามัญนิกายนี้เอง (ซึ่งก็ยังไม่เกี่ยวข้องกับเมืองพุกามสายตรงอยู่ดี) อาจมีส่วนในการกำหนดรูปแบบศิลปะให้เจดีย์วัดอุโมงค์มีความละม้ายกับเจดีย์ในกลุ่มวัดฉปัฏได้บ้าง?

ฐานกลีบบัวซ้อนสองชั้นที่วัดอุโมงค์ เป็นศิลปะแบบพุกามตอนปลาย

ประเด็นสุดท้าย คำว่า “อุโมงค์” ที่พระญากือนามองว่าพระเถรจันท์มีความผิดปกติ ไม่สามารถจำพรรษาร่วมกับหมู่คณะรูปอื่นใดได้ ต้องมาขุดเจาะถ้ำอุโมงค์ให้อยู่แถวชายป่าชายเขาแบบลับๆ ล่อๆ นั้น เรามิอาจรู้ได้เลยว่า อุโมงค์ในสมัยพระญากือนาจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร มีทั้งหมดกี่ห้อง ขนาดใหญ่หรือเล็ก?

อุโมงค์ที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ มีทั้งหมด 6 ห้องใหญ่ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างอลังการ จะสร้างขึ้นพร้อมกันกับยุคพระเถรจันท์ด้วยล่ะหรือ?

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์สันนิษฐานว่า สมมุติว่ามีการเจาะช่องอุโมงค์เพื่อสร้างเป็นกุฏิให้พระเถรจันท์พำนักอยู่จริงแล้วไซร้ อุโมงค์กุฏิยุคแรกสร้างอาจมีขนาดเล็กเป็นแค่ช่องหรือห้องง่ายๆ สัก 1 ห้อง พออยู่ได้กระมัง คงยังไม่มีภาพจิตรกรรมเขียนสี เหตุที่นวัตกรรมการเจาะช่องอุโมงค์ขนาดใหญ่โตจำนวน 6 ช่องเช่นนี้ ควรจะเป็นผลงานการสร้างเสริมเติมต่อในสมัยพระเจ้าติโลกราช มหาราชผู้สามารถระดมนายช่างด้วยเทคโนโลยีสูงมารองรับ ได้หรือไม่

ในโคลงมังทรารบเชียงใหม่ พรรณนาเหตุการณ์ช่วงที่ชาวเชียงใหม่ถูกกวาดต้อนไปอยู่เมืองหงสาวดี เมื่อ พ.ศ.2157 โคลงบทที่ 87 พรรณนาถึงกระบวนคนเดินทางผ่านวัดอุโมงค์ว่า

ลาศรีสุเทพเจ้า จอมคีรี

ทังพระมหาเจดีย์ คล่นคล้าน

พระสิหิงค์รูปมุนี ทองเทพ ทิพย์เฮย

อุโมงค์ราชเราสร้าง เนื่องเจ้ามโหสถฯ

ข้อความในโคลงมังทรารบเชียงใหม่ กล่าวว่าวัดอุโมงค์สร้างโดยกษัตริย์เชียงใหม่ แม้ไม่ได้ระบุว่าพระองค์ไหน แต่มีสิ่งที่น่าสนใจคือ การสร้างช่องอุโมงค์นั้นเป็นการจำลองชาดกเรื่องพระมโหสถ

พระมโหสถเป็นเรื่องพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเพื่อมาสั่งสม “ปัญญาบารมี” เป็นเรื่องที่ห้าในทศชาติชาดก โดยพระมโหสถเป็นราชบัณฑิตแห่งเมืองมิถิลานคร

เนื้อหาตอนที่พระมโหสถสั่งให้ขุดอุโมงค์นั้น เกิดขึ้นในฉากการทำกลศึกเพื่อจะลักพาตัวนางปัญจาละจันที ราชธิดาของท้าวจุลนีแห่งนครปัญจาละ นำตัวมาถวายแด่พระเจ้าวิเทหราช

น่าสนใจทีเดียว ประเด็นเกี่ยวกับการเจาะช่องอุโมงค์ที่วัดแห่งนี้ ไฉนกวีจึงรจนาโดยเชื่อมโยงไปถึงการเจาะช่องอุโมงค์ของพระมโหสถ ไยจึงไม่พรรณนาในบทกวีตามประวัติความเป็นจริงว่า อุโมงค์นี้เคยเป็นที่สถิตพำนักของพระเถรจันท์?

ฐานเซาะร่องในส่วนท้องไม้ของวัดอุโมงค์ คล้ายเจดีย์กลุ่มฉปัฏในพุกาม