เปิดใจหัวหน้าพรรค ‘เพื่อไทย’ คนใหม่ ชื่อ ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

เปิดใจหัวหน้าพรรค ‘เพื่อไทย’ คนใหม่

ชื่อ ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’

 

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ล่าสุด เพิ่งเปิดใจให้สัมภาษณ์กับรายการ “เอ็กซ์อ๊อก Talk ทุกเรื่อง” ในช่องยูทูบมติชนทีวี

โดยบอกกล่าวถึงกระบวนการ “เปลี่ยนแปลง” หลายด้าน ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

คําถามแรกที่พิธีกรทักทายหมอชลน่าน ก็คือ การขึ้นมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยนั้นมีความท้าทายอย่างไรบ้าง?

หัวหน้าพรรคคนใหม่เล่าว่า พรรคเพื่อไทยยุคนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อตอบรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

“ถ้าเพื่อไทยไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อไทยเองจะถูกเปลี่ยนแปลง จากพรรคที่เกินร้อยอาจเป็นพรรคต่ำร้อยก็ได้”

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้น ด้วยเหตุปัจจัย เงื่อนไข สถานการณ์ต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลงด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง เมื่อประชาชนกำลังโหยหา “ประชาธิปไตยที่แท้จริง”

รวมถึงรูปแบบการสื่อสารทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล

นพ.ชลน่านยอมรับตรงไปตรงมาว่า ตนเองถูกเลือกให้มารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อรองรับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ว่าต้องทำอย่างไร พรรคเพื่อไทยจึงจะได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนในระดับ “แลนด์สไลด์” เพื่อนำไปสู่การได้รับ “อำนาจเด็ดขาด” มาเปลี่ยนแปลง “บริบททางการเมือง” ยุคปัจจุบัน

 

เมื่อถามถึง “โอกาส” ที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” และอุปสรรคที่จะขัดขวางความสำเร็จดังกล่าว

หมอชลน่านมั่นใจว่าเพื่อไทยจะคว้าชัยแบบถล่มทลายด้วย 3 เหตุผลหลัก

หนึ่ง พรรคเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังจะนำเสนอแก่ประชาชน ผ่านสารหลักซึ่งชักชวนให้ทุกคนมาร่วมเปลี่ยนแปลงด้วยกัน เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

สารข้างต้นถูกขับเน้นด้วยการรีแบรนด์ภาพลักษณ์และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการพรรค ผสานด้วยนวัตกรรมและพลังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะ “หุ้นส่วน” ของพรรค

ทุกองค์ประกอบจะส่งผลให้เพื่อไทยยังเป็นพรรคการเมืองที่มีทั้ง “อุดมการณ์” และ “นโยบาย” อันจับต้องได้

สอง พรรคเพื่อไทยมีความเป็น “องค์กรทางการเมือง” และ/หรือ “สถาบันทางการเมือง” ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรที่มีประสบการณ์ มีภูมิหลังหลากหลาย ทั้งยังมีตัวแทนพรรคกระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างน้อยก็ 132 เขต ณ ปัจจุบัน

สาม นพ.ชลน่านเชื่อในทักษะเรื่องการสื่อสารทางการเมืองของพรรค

จากเดิมที่เพื่อไทยดูจะมีจุดแข็งอยู่ตรงการสื่อสารแนวราบ หรือการสร้างเครือข่ายในพื้นที่เลือกตั้ง แต่คล้ายจะมีจุดอ่อนอยู่ที่การสื่อสารทางโซเชียลมีเดีย

แต่ในตอนนี้ ทางพรรคได้พยายามยกระดับจุดอ่อนข้อหลังให้แปรเปลี่ยนกลายเป็นจุดแข็ง

ผ่านการเปิดโอกาสให้หลายๆ คนในพรรคออกมาสื่อสารกับสาธารณะ และการเปิดโอกาสให้พรรคมี ส.ส.ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเรื่องต่างๆ (ไม่ใช่คนเดียวพูดทุกเรื่องแบบเดิม)

นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ เห็นได้จากจำนวนเอฟซีของนักการเมืองเพื่อไทยรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง ตลอดจนจำนวนของคนทั่วไปที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค

ซึ่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยประเมินว่า “สิ่งที่ทำ ได้ผลคุ้มมาก”

 

เมื่อกล่าวถึง “อุปสรรค” ต่อชัยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่านระบุถึงสองประเด็นสำคัญ

ประเด็นแรก คือ ภาวะการเมืองที่ไม่ปกติ คนมีอำนาจสามารถใช้ตัวบทกฎหมายมากลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าวันหนึ่งมีการยุบพรรคเพื่อไทยจริง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งทำให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้รับการยอมรับ

ประเด็นถัดมา คือ เรื่องของ “คู่แข่ง” ซึ่งมีทั้ง “คู่แข่ง” ที่ใช้กลไกวิธีการอย่างไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย รวมถึงพยายามซื้อใจประชาชนด้วย “การให้” ต่างๆ และ “คู่แข่ง” ที่อยู่ในซีกประชาธิปไตยด้วยกัน

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์การแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ผ่านกรอบการวิเคราะห์เรื่อง “รุ่นของประชากร”

โดยระบุว่าการทำพื้นที่ด้วยโครงการประชานิยม/ประชารัฐ เช่น “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ของฝ่ายรัฐบาล ถือเป็นการเจาะฐานประชากรรุ่น “เบบี้บูมเมอร์” ซึ่งกระทบกับฐานเสียงใหญ่ของเพื่อไทยมากพอสมควร

ขณะที่ประชากรรุ่นกลางๆ หรือ “เจนเอ็กซ์-วาย” นั้นมีจำนวนมาก และเป็นเป้าหมายของทุกพรรคการเมือง

ปิดท้ายด้วยประชากรรุ่นเยาว์หรือ “เจนแซด” ประมาณ 7 ล้านเสียง ซึ่งแม้ 20 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ หรือราว 1.5 ล้านเสียง อาจเทใจให้ “พรรคการเมืองรุ่นใหม่” ไปแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายล้านเสียงที่พร้อมจะกาเลือกเพื่อไทยหรือพรรคการเมืองอื่น

 

อีกหนึ่งประเด็นที่รายการ “เอ็กซ์อ๊อก Talk ทุกเรื่อง” ชวนหมอชลน่านสนทนา ก็คือเรื่องราวว่าด้วยบทบาทและที่ทางของ “นางแบกพรรคเพื่อไทย” ซึ่งมีบางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังทำให้คนในขบวนการประชาธิปไตยแตกแยกทะเลาะกันเอง

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเริ่มต้นด้วยการนิยามว่า “นางแบก-นายแบก” นั้นหมายถึงผู้สนับสนุนที่ทุ่มเทช่วยเหลือพรรค ผ่านการตอบโต้ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่มีต่อพรรคเพื่อไทยในโซเชียลมีเดีย

หรืออาจอธิบายได้ว่า “นางแบก-นายแบกเพื่อไทย” คือกลุ่มคนที่กำลังปกป้องของรักของหวงตามความเชื่อของตนเอง

โดยส่วนตัว นพ.ชลน่านเห็นว่า แม้บางครั้ง การสื่อสารของ “นางแบก-นายแบก” จะดูเป็นการทะเลาะโต้เถียงกับฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ อย่างรุนแรง แต่ตนถือว่านี่เป็นสีสันประเภทหนึ่ง เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่ต้องยอมรับ และเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตย

รวมทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ได้มีแค่เพียงด้านสวยสดงดงาม

อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยยังไม่เห็นว่าการกระทำต่างๆ ของเหล่า “นางแบก-นายแบก” นั้นกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของคนอื่น หรือส่งผลให้ภาพลักษณ์ของพรรคได้รับความเสียหาย

ตราบใดที่สถานการณ์เป็นเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยจะปล่อยให้ “นางแบก-นายแบก” ได้แสดงออกอย่างเต็มที่ แต่ถ้ามีการแสดงออกที่สร้างผลเสีย พรรคก็จะส่งสัญญาณสื่อสารไปยังแฟนคลับกลุ่มดังกล่าว โดยไม่พยายามเข้าไปวางแนวทางกำกับดูแลใดๆ