เศรษฐศาสตร์การเมือง ของสมาร์ตซิตี้ (Smart City)/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เศรษฐศาสตร์การเมือง

ของสมาร์ตซิตี้ (Smart City)

 

ปี พ.ศ.2556 (2013) เป็นต้นมา ผู้เขียนได้รับเชิญจากหน่วยงานกิจการต่างประเทศเป็นผู้เชี่ยวชาญทรงคุณวุฒิฝ่ายไทยของ Network of East Asia Thinktank-NEAT เพื่อนำเสนอกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในเวทีประชุมหลายเวที

เรื่องหนึ่งของฝ่ายไทยที่ช่วยผลักดันคือ เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (Seamless connectivity) ซึ่งทีมงานไทยนำเสนอและได้รับการตอบรับจากคลังความคิดกลุ่มนี้ ซึ่งมีผลให้ประเทศสมาชิกผลักดันแนวคิดนี้เพื่อบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค

ผู้เขียนไม่คาดคิดมาก่อนว่า NEAT และวงประชุมนี้สำคัญมาก

สังเกตว่าตัวแทนของทุกประเทศล้วนแต่เป็นชนชั้นนำทางความคิดและนโยบายที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทระดับโลก

เช่น ตัวแทนอินโดนีเซีย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตัวแทนญี่ปุ่นก็มาจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ โดยผู้สังเกตการณ์ของเขาก็เป็นระดับรองประธาน JETRO

ส่วนสิงคโปร์ หัวหน้าคณะคือ ศาตราจารย์หวัง กัง วู นักประวัติศาสตร์และเอเชียตะวันออกศึกษา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งชาติสิงคโปร์หลายแห่ง เขาเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดต่อประธานาธิบดีสิงคโปร์เกือบทุกคน ทางสิงคโปร์เสนอเรื่อง Smart City ทุกครั้งในที่ประชุมทุกที่คือ เมืองบันดุง อินโดนีเซีย โซล สาธารณรัฐเกาหลี กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และโตเกียว ญี่ปุ่น

ผมและทีมงานสงสัยมากว่า ทำไมสิงคโปร์จึงผลักดันแนวคิดเรื่อง Smart city มาอย่างต่อเนื่อง คิดว่าส่วนหนึ่งสิงคโปร์เป็น City state จะเสนออะไรได้มากกว่า ความเป็นเมือง (urbanization) ความทันสมัย (modernization) แล้วกรอบคิดเรื่อง Smart คงเป็นแค่เรื่องเท่ๆ เท่านั้น

ปรากฏว่า ผมเองเข้าใจผิดมาตลอดเรื่อง Smart City สิ่งนี้เกี่ยวพันไม่เพียงแต่เทคโนโลยี การพัฒนา ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ระบบการคมนาคม ฯลฯ เท่านั้น

แต่สัมพันธ์อย่างลึกต่อเศรษฐศาสตร์การเมืองของทุนเทคโนโลยี ทุนวัฒนธรรมและอำนาจนำของชาติมหาอำนาจ ที่แข่งขันกันในระดับโลก

ผมได้แนวมองใหม่จากงานวิชาการหลายเรื่องเกี่ยวกับ Smart City ลองอ่านดู

 

งานของศาสตราจารย์ ดร. OKAMOTO Massaki แห่งศูนย์เอเชียอาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เรื่อง Smart City in ASEAN ได้อธิบายสมาร์ตซิตี้ไม่ใช่มีแค่กรอบคิดเรื่องความยั่งยืน (sustainability) เขียวขจี (green) ทันสมัย (เท่) เทคโนโลยีดิจิตอล (digital technology)

แต่เป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองคือ การเมืองการปกครอง (governance) สิทธิพลเมือง (civil right) การมีส่วนร่วม (participation)

ส่วนเศรษฐศาสตร์เป็นเศรษฐศาสตร์ของการเสนอขายเทคโนโลยีให้เมืองต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีและรูปแบบ

สร้างสมาร์ตซิตี้ตามบรรษัทข้ามชาติ (Multinational corporation-MNC) ด้านเทคโนโลยี ก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อันมีแบบญี่ปุ่น transportation system แบบจีน surveillance system และแบบอเมริกัน electricity grid system

อานิสงส์ของงานวิชาการดังกล่าว ผมมองว่า แทนที่สมาร์ตซิตี้จะเป็นแค่กรอบคิดด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบ ก่อสร้างเมือง เทคโนโลยี การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน มีสีเขียว

สมาร์ตซิตี้น่าจะเป็นความขัดแย้ง การแข่งขัน และการครอบงำทั้งทางเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทั้งจากชนชั้นนำของประเทศและชาติมหาอำนาจภายนอกด้วย

สิงคโปร์ผลักดันกรอบคิดเรื่องสมาร์ตซิตี้ โดยสร้างเครือข่าย ASEAN Smart Cities Network – ASCN ในปี 2018 ครั้งที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียน ซัมมิตครั้งที่ 32 ASCN เป็นแพลตฟอร์ม เพื่อความร่วมมือเพื่อเมืองต่างๆ ในอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันของการพัฒนาเมืองสมาชิกและความยั่งยืน และเลือก 26 เมืองเป็นเมืองนำร่อง ที่กระจายทั้งจากท้องถิ่นสู่ฮับระดับโลก

สิงคโปร์มีเป้าหมายเพื่อตนเองมีสถานะอำนาจเหนือ (hegemonic) เมื่อประเทศตนเป็นสมาร์ตซิตี้แล้ว และนำรูปแบบสิงคโปร์ หรือ Singapore-designed technocratic ‘smart’ solution ไปยังเมืองนำร่องอื่นๆ และเมืองอื่นๆ โดยจัดให้ technopreneur และ start-up เข้าไปในตลาดอาเซียนกว้างมากขึ้น

 

CEO ของบริษัทของรัฐบาล บริษัทสิงคโปร์มีความคุ้นเคยมากกับภูมิทัศน์สังคม-เศรษฐกิจและวัฒนธรรมระดับภูมิภาค

เมืองแบบสิงคโปร์ ที่เป็นแรงบันดาลแนวทางสำหรับโครงการสมาร์ตซิตี้ของฟิลิปปินส์คือเมือง New Clark city แต่ก็เป็นที่น่าสงสัย บริษัทสิงคโปร์สามารถแสดง อำนาจเหนือในการสร้างสมาร์ตซิตี้ ภายใต้ ASCN ได้

เมื่อวันฉลอง ASCN กรกฎาคม 2018 JETRO หน่วยงานพัฒนาของรัฐบาลญี่ปุ่นสรุป MOU กับ UNDP โครงการพัฒนาของสหประชาชาติให้สนับสนุน ASCN

4 เดือนต่อมา สหรัฐอเมริกาดำเนินการกับพันธมิตรของตนคือ US-ASEAN Smart City Partnership เมื่อพฤศจิกายน 2018

จีนก่อตั้ง Cooperation and Exchange Conference (Co-host by the Nanning Municipal Government and ASEAN-China Center) มิถุนายน 2019

และอีก 4 เดือนต่อมา ญี่ปุ่นจัดตั้ง ASEAN-Japan Smart City Network High-level Meeting

ส่วนสาธารณรัฐเกาหลี ( Republic of Korea) ออสเตรเลีย และ EU จัดตั้งกับ ASCN

นักวิชาการเห็นว่า สมาร์ตซิตี้กำกวมแต่เป็นประโยชน์หลายอย่าง ยกเว้นความยั่งยืน สีเขียว ร่วมปกครองเมือง แต่ทำไมกรอบคิดเรื่องสมาร์ตซิตี้เคลื่อนที่ไปไกลมากๆ

มีการวางแผนและสร้างสมาร์ตซิตี้ในทุกๆ เมืองทั่วโลก

และบรรษัทข้ามชาติพยายามสนับสนุนค้าขายผลิตภัณฑ์สมาร์ตต่างๆ ของตัวเอง ตราบเท่าที่อาเซียนกังวล ความเป็นเมือง และดิจิตอลไลเซชั่น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของทุกๆ ประเทศในโลก แนวคิดสมาร์ตซิตี้เกิดจากวิสัยทัศน์อนาคต 2 ปรากฏการณ์

 

สมาร์ตซิตี้เป็นรูปแบบใหม่ของการปกครองเมือง โดยดิจิตอลไลเซชั่น ทั้งเมืองและการเพิ่มคุณภาพยั่งยืนของชีวิตพลเมืองทุกคน อันแตกต่างจากแนวคิด Good Governance ของชาติตะวันตกและผู้หนุนคุณค่าประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมสมาร์ตซิตี้สามารถแสดงแนวคิดเป็นกลางของมูลค่า ผ่านเทคโนโลยีดิจิตอล ที่มีตรรกะของตัวเอง อีกทั้งยังสะท้อนตรรกะทางสังคม-เศรษฐกิจอีกด้วย

ทำไมระบอบการเมืองหลายๆ ระบอบ สามารถหนุนเนื่องสมาร์ตซิตี้ได้เหมือนกัน ไม่ว่าจากระบอบประชาธิปไตยอินโดนีเซีย กึ่งอำนาจนิยมไทย ระบอบทหารเมียนมา อำนาจนิยมกัมพูชา และสังคมนิยมเวียดนาม สามารถริเริ่มสมาร์ตซิตี้ได้ทั้งนั้น ภายใต้ฉันทานุมัติก่อสร้าง ASCN ใต้ร่มอาเซียน

มากไปกว่านั้น อำนาจนิยมจีน ประชาธิปไตยอเมริกา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ได้ทำความตกลงทวิภาคีกับอาเซียน และระบบการปกครองแห่งรัฐเหล่านี้ได้จัดการให้อย่างเข้มแข็งเพื่อให้บริษัทของตนเองก่อสร้างสมาร์ตซิตี้

ทั้งจีนและญี่ปุ่นลงทุนสร้างระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (East Economic Corridor-EEC) ในเขตเมืองชลบุรีและระยองของไทย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและจีน สร้างสมาร์ตซิตี้ คือเมือง New Clark City ในฟิลิปปินส์

 

ท่ามกลางสงครามเย็นใหม่ (New Cold War)

ด้วยความขัดแย้งอย่างร้าวลึกระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร พื้นที่อาณาบริเวณจริงๆ ของสมาร์ตซิตี้ ต้องพบความยุ่งยากกับพื้นที่ของสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่าง 2 ค่ายนี้ ตามความคิดของผู้เขียน ศาสตราจารย์โอคาโมโต้ เขาเสนอว่า ทางเลือกของสมาร์ตซิตี้ คือสมาร์ตซิตี้ต้องออกจากการจัดแบ่ง (compartmentalized) รูปแบบนำของเทคโนโลยีของรัฐบาลที่บริหารเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบบสอดส่อง บริหารเมืองแบบจีน (Made-by-China ‘smart’ surveillance) ระบบการขนส่ง บริหารเมืองแบบญี่ปุ่น (Made-by-Japan ‘smart’ transportation system) ระบบ grid ผลิตกระแสไฟฟ้า บริหารเมืองแบบอเมริกัน (Made-by-the US ‘smart’ electricity grid system) ล้วนพัฒนามาในหนทางไม่มีเงื่อนไขแย้งใดๆ จากผู้บริหารเมืองต่างๆ และทุกๆ ส่วนและชิ้นส่วนของโครงสร้างพื้นฐานเมืองของเมืองที่สร้างขึ้นมาต้องสมาร์ต

แต่เขาพบว่า เมืองทั้งหมดกลับห่างไกลจากความสมาร์ต

ตอนนี้สงครามเย็นใหม่และความสำคัญของอาเซียนที่เพิ่มมากขึ้น โครงการสมาร์ตซิตี้จึงกลายเป็นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายตัวกว้างขวางทั่วทั้งระดับภูมิภาค นานาชาติและข้ามชาติ

ขอบเขตพื้นที่ที่ปั่นป่วน (disrupt) นี้ของเมืองเป็นเหตุสำคัญทำให้องค์กรที่จะเป็นสมาร์ตซิตี้ลดลง การตัดสินใจหยุดการขายทันทีและเลิกสนับสนุนโครงการสมาร์ตซิตี้ชั้นแนวหน้าเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐ เพราะความสามารถอันจำกัด โดยเฉพาะด้านงบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อการลงทุนสร้างสมาร์ตซิตี้ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19

โควิด-19 นอกจากกระทบงบประมาณก่อสร้างสมาร์ตซิตี้ พร้อมความพยายามสร้างสมาร์ตซิตี้ทั่วทุกเมืองของโลกแล้วยังกลับสร้างความปั่นป่วนต่อกรอบคิดสมาร์ตซิตี้อีกด้วย