แนวคิดเปลี่ยน ภาคท่องเที่ยวไทย สู่วงโคจรโลกดิจิตอล เสียงหนุนแน่น แต่ผลลัพธ์ ‘รอด-ไม่รอด’ เงินทุนชี้ชะตา/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

แนวคิดเปลี่ยน ภาคท่องเที่ยวไทย

สู่วงโคจรโลกดิจิตอล เสียงหนุนแน่น

แต่ผลลัพธ์ ‘รอด-ไม่รอด’ เงินทุนชี้ชะตา

 

เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้มากขึ้นในทุกด้าน ทุกสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนบางครั้งเราก็ลืมนึกถึง เพราะเกิดความเคยชิน ทั้งที่หากมองย้อนกลับไปในอดีต จะพบว่า โลกพัฒนามาไกลมากเหลือเกิน

ซึ่งสิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ แล้วในอนาคต โลกจะเดินต่อไปอีกไกลแค่ไหน เราจะสามารถเรียนรู้ ปรับตัว และอยู่ห่วงโซ่ใดของโลกใบนี้

ทุกวันนี้ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และการผลิตสินค้าต่างๆ จากเดิมพึ่งพาแรงงานมนุษย์ เปลี่ยนเป็นเครื่องจักร และกำลังก้าวเข้ายุคพัฒนาใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ยกระดับธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น

ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมากขึ้น แข่งขันกระแสช่วงเวลาต่างๆ ที่ในอนาคตช่วงปรับเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่งเพียงระยะเวลาสั้นๆ และขยายวงกว้างมาก เชื่อมโยงข้ามกลุ่มธุรกิจ

 

ที่กำลังถูกจับตามากสุดในปัจจุบัน ไม่แค่การควบรวมธุรกิจอย่างเทคโนโลยีสื่อสารเท่านั้น

การเปลี่ยนไปของตลาดการเงินและการลงทุน ก็ถูกจับตามอง ที่แข่งขันรุนแรงกับการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงโคจร เดิมนั้นคิดจะลงทุนสินทรัพย์ การลงทุนที่นิยมถือครอง ก็จะนึกถึงตลาดหุ้น ตลาดซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเงินตรา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดทองคำ ซึ่งทุกสินทรัพย์จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมจากการมีใบแสดงสิทธิ

แต่เมื่อมีเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือเทคโนโลยีการประมวลผล และจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์เป็นส่วนๆ และนำมาร้อยต่อกันเรื่อยๆ เหมือนโซ่คล้องกันไว้

จึงเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิตอล (คริปโทเคอร์เรนซี) หรือเงินตราเข้ารหัสลับขึ้น

คริปโทเคอร์เรนซี สินทรัพย์ดิจิตอล ที่ออกแบบให้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ที่ใช้วิทยาการเข้ารหัสลับเพื่อรับประกันธุรกรรม ควบคุมการสร้างหน่วยเงินเพิ่ม และยืนยันความถูกต้องของการโอนทรัพย์ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของเงินดิจิตอล เงินทางเลือก และเงินเสมือน

แต่คริปโทเคอร์เรนซียังไม่ถูกใช้เป็นหน่วยกำหนดราคาสิ่งของที่เป็นสากล ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่รับรองให้คริปโทเป็นสกุลเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

เท่ากับว่า การทำธุรกรรมใดก็ตาม จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทย หรือต้องรับความเสี่ยงเอง

แต่ก็เริ่มเห็นบางประเทศใช้คริปโทในการแลกเปลี่ยน หรือซื้อ-ขายสินค้าและบริการมากขึ้น จึงยืนยันได้ว่า แม้คริปโทจะไม่สามารถจับต้องได้ แต่ถือว่ามีอยู่ด้วยมูลค่าในตัวเอง

 

ความชัดเจนของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เกิดวิกฤตทั้งโลก แต่สิ่งที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดคือ เทคโนโลยีไอซีที และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

แต่ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ภาคบริการ หรือการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากเราไม่สามารถพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากเท่าเดิมอีกแล้ว

แนวคิดเชื่อมโยงภาคบริการท่องเที่ยว กับคริปโทเคอร์เรนซี จึงเกิดขึ้น!!!

เรื่องนี้ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อธิบายว่า “ภาคการท่องเที่ยวไทยมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับอนาคตในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า หากมองว่าการท่องเที่ยวยังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป”

“โดย ททท.มีแนวคิดในการสร้างนิว ทัวริสซึ่ม อีโคซิสเต็ม บนพื้นฐานการนำเทคโนโลยีและดิจิตอลเข้ามาปรับเปลี่ยนใหม่ เน้นการสร้างจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมุ่งสู่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ถือเป็นการพลิกโฉมท่องเที่ยวไทย เพราะการเข้ามาของโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงต้นทุนที่ต้องจ่าย เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น เราจึงต้องเรียนรู้เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก และก้าวไปข้างหน้าต่อให้ได้”

“เหมือน ททท.ที่มีแนวคิดก้าวเข้าไปในโลกดิจิตอลมากขึ้น ผ่านการผลักดัน และต่อยอดการใช้คริปโทในการซื้อสินค้า และบริการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ในอนาคต รวมถึงออกเหรียญดิจิตอลของ ททท. เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว”

ผู้ว่าการ ททท. อธิบายอีกว่า การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิตอลมีความสำคัญมากอย่างยิ่ง โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือโลกเสมือนจริง ที่ผู้คนต่างหลบหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงที่บิดเบี้ยว หรือการแบ่งปันสภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริงของผู้คนผ่านทางอินเตอร์เน็ต

ซึ่งในอนาคต เราอาจมีการสร้างโลกทีเอทีเวิร์ส (TATverse) ขึ้นมาก็ได้ เพื่อนำเสนอภาพการท่องเที่ยวไทยในรูปแบบใหม่

 

ขณะที่ ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการ ท่องเที่ยว (แอตต้า) ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเกิดโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา เห็นการดิ้นรนเพื่อหาทางเอาตัวรอดให้ได้

ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการไทยมีความสามารถ และเก่งในหลายเรื่อง แต่อยากให้มีการสนับสนุนจากภาครัฐมากที่สุด เพราะต้องยอมรับว่า เอกชนท่องเที่ยว มีผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อย หรือที่เป็นเอสเอ็มอีจำนวนมาก

กลุ่มนี้มีความน่ากังวลว่า จะสามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทันหรือไม่ แม้มีข้อดีที่ขนาดไม่ใหญ่ เคลื่อนตัวได้ง่าย แต่ก็เสียเปรียบในด้านเงินทุน ภาพจะแตกต่างจากเอกชนรายใหญ่ ที่มีเงินทุนหนากว่า แต่การขยับตัวลำบากกว่า เพราะมีขนาดใหญ่ และจำนวนคนมาก ทำให้ข้อเสียเปรียบและได้เปรียบมีแตกต่างกัน

สิ่งที่เหมือนกันคือ การเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยืนอยู่ให้รอด ไม่อย่างนั้นก็ต้องปิดธุรกิจลง จบกันไป

 

อีกมุมมองจาก กิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย และผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะต้องเร่งปรับตัวให้พร้อม และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

โดยต้องประเมินว่า กระบวนการใดสามารถลดการทำงานให้สั้นลงได้ ใช้คนน้อยลง และใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งเมื่อองค์กรเล็กลง พนักงานที่จะอยู่รอดต้องมีทักษะ ความรู้ในสิ่งใหม่ ทำงานได้หลายตำแหน่งมากขึ้น เพราะทักษะง่ายๆ จะถูกระบบเอไอเข้ามาทดแทน

รวมถึงต่อไปเราจะไม่สามารถอยู่รอดและเติบโตเพียงคนเดียวได้อีกแลัว จึงต้องให้ความสำคัญกับพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น ทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายให้มีมีประสิทธิภาพสูงสุด

สิ่งสำคัญคือ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป นิยมเที่ยวเป็นกลุ่มเล็กๆ แสวงหาประสบการณ์ในแหล่งท่องเที่ยวและเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น

ทำให้ผู้ประกอบการต้องนำเสนอสินค้าและบริการที่มีความพิเศษ เจาะกลุ่มตลาดเฉพาะด้าน แยกตามเชื้อชาติ วัย และความสนใจ

เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม

หรือให้นักท่องเที่ยวออกแบบทริปท่องเที่ยวของตัวเองได้ ซึ่งหัวใจหลักคือ ความปลอดภัยและสุขอนามัย ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานที่นักท่องเที่ยวคาดหวังจากผู้ประกอบการ

จากเสียงสะท้อนดังกล่าว แนวคิดถึงเวลาที่ภาคท่องเที่ยวเอง เลี่ยงไม่พ้นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกใบเดิม กับอนาคตที่ไม่เหมือนเดิม ถือเป็นอีกเรื่องท้าทายทั้งของรัฐและเอกชน!!