นิธิ เอียวศรีวงศ์ | กีโญตีนกับปฏิวัติฝรั่งเศส

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลายคนคงทราบแล้ว แต่ผมไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศสคือรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี่แหละครับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เสด็จไปร่วมพิธีที่สภา เพื่อสาบานตนรับตำแหน่งกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1791 หลังจากสภาแห่งชาติ (Assemblee nationale) ซึ่งแปลงร่างมาจากสภาฐานันดรที่สาม ร่างกันมาถึงกว่า 2 ปีจึงเสร็จลงในปีนั้น

ผมเพิ่งทราบเรื่องนี้ เมื่อร้านหนังสือชื่อดังต้องยุบสาขาลงบ้าง เพราะพิษโควิด จึงโละหนังสือออกขายถูก ผมพบหนังสือของ Stephen Clarke เรื่อง The French Revolution & What Went Wrong จึงซื้อมาอ่าน เพราะอยากรู้เรื่อง What went wrong พบว่าก็ไม่แปลกประหลาดอะไรกว่าที่รู้ๆ กันอยู่แล้วในเมืองไทย คือในที่สุดปฏิวัติฝรั่งเศสก็ลงเอยที่ “รัชสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว”, นโปเลียน, และจักรพรรดิอื่นๆ กว่าจะเริ่มลงตัวเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน ก็ตกในช่วงทศวรรษ 1860 ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อปารีสถูกเยอรมันยึดไปได้ในสงครามกับปรัสเซีย (1870) ใช้เวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ

คำอธิบายโดยนัยยะของ Clarke ว่าทำไมการปฏิวัติจึง went wrong ก็คือ นักปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือตามสำนวนไทยเดิมคือระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเอาไว้อย่างที่ตั้งใจแต่แรก จึงทำให้ทุกอย่างเสื่อมลงในมือของคนบ้าอำนาจหลากหลายชนิด นับตั้งแต่นักอุดมคติสุดโต่ง, นักการเมืองที่บิดเบี้ยวการเลือกตั้งมาหนุนอำนาจตน, หรือนักการทหารหลงตนเอง ก็ตาม

ผมสรุปคำอธิบายของผู้เขียนไว้จนง่ายและตื้นเกินไป รายละเอียดของหนังสือให้ความสลับซับซ้อนมากกว่านี้แยะครับ แต่ผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นคนละเรื่อง

อย่างไรก็ตาม เพราะแนวคำอธิบายเป็นไปในทำนองนี้ เรื่องของหลุยส์ที่ 16 จึงเป็นแกนเรื่องหลัก

อันที่จริงถ้าการปฏิวัติเกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จปู่ของพระองค์ (หลุยส์ที่ 15) หรือสมเด็จเทียดของพระองค์ (หลุยส์ที่ 14) การปฏิวัติฝรั่งเศสก็จะกลายเป็นการต่อสู้ของประชาชนกับทรราชย์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์อยู่บ่อยๆ เพราะในบรรดาหลุยส์ทั้งสามนั้น หลุยส์ที่ 16 เป็นบุคคลที่ห่างไกลจากภาพของ “ทรราชย์” มากที่สุด

พระองค์กลายเป็นรัชทายาทโดยบังเอิญ เมื่อพ่อและพี่ชายเสียชีวิตลงหมด จึงทำให้พระองค์กลายเป็นหลานปู่คนโต และต้องสืบราชบัลลังก์ต่อมาอย่างเลือกไม่ได้ ถูกจัดให้แต่งงานกับเจ้าหญิงแห่งออสเตรียซึ่งขณะนั้นยังเป็นอีกมหาอำนาจหนึ่งของยุโรปภาคพื้นทวีปเมื่อพระชนมายุยังน้อย (ทั้งสององค์)

ในขณะที่หลุยส์ไม่มีใครเป็นพลังผลักดันเพื่อให้รับภารกิจทางการเมืองในฐานะราชาเลย มารี อังตัวแนตต์ มีแม่ (มาเรีย เธเรซา) ที่คอยเขียนจดหมายมากำกับและปลุกเร้าให้รับภารกิจทางการเมืองในฐานะพระราชินีของมหาอำนาจยุโรปอันดับหนึ่งตลอดเวลา (ฝรั่งเศสมีประชากรถึง 28 ล้าน ในขณะที่รัสเซียอันกว้างใหญ่ไพศาลมีประชากรเพียง 25 ล้าน) เพราะฉะนั้นโดยบุคลิกภาพแล้ว ผมเดาว่า พระราชินีมีความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวกว่าพระองค์อย่างมาก จนทำให้พระองค์ไม่สามารถกำกับพระราชินีได้ตลอดรัชกาล

กิจกรรมที่ให้ความสุขแก่หลุยส์ 16 ที่สุดมีอยู่สองอย่าง ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครองเลย หนึ่งคือการล่าสัตว์ซึ่งทรงทำได้ดีอย่างยิ่งด้วย ทรงใช้เวลาไปในกิจกรรมนี้ทุกครั้งที่มีโอกาส หรือสร้างโอกาสขึ้นได้เอง แม้แต่ในวันที่เสด็จไปทรงเปิดสภาฐานันดร (ซึ่งทรงเรียกประชุมเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางการคลังของประเทศ) เมื่อพระราชทานพระบรมราโชวาทเสร็จ ก็รีบกลับเพื่อออกไปล่าสัตว์ในทันที

สองคือตกหลุมรักกุญแจ ทรงเป็นนักซ่อม, สร้าง, แกะ, สะเดาะ กุญแจที่เก่งเป็นเลิศคนหนึ่ง หากคณะปฏิวัติไม่บั่นเศียรด้วยกีโญตีนแล้วปล่อยให้เป็นสามัญชน พระองค์ก็สามารถหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นช่างกุญแจที่ประสบความสำเร็จได้แน่ (แต่ก็จะไม่มีกำลังไปล่าสัตว์อีก)

ดังนั้น จึงทรงไร้เดียงสาทางการเมืองขนาดที่ว่า ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 เมื่อชาวปารีสลุกขึ้นทำลายคุกบาสตีญ์ (บาสตีล) หลุยส์ทรงบันทึกอนุทินประจำวันไว้คำเดียวว่า Rien คือไม่มีอะไร… จบ

ภาพวาด การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในปี 1793 โดย Isidore Stanislas Helman วาดเมื่อ 1794 ไฟล์ public domain

ในขณะที่สมเด็จปู่และสมเด็จเทียดใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย ทั้งในชีวิตประจำวันและในการทำสงคราม แต่หลุยส์ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายกว่ากันมาก ในปลายรัชกาลเมื่อฐานะทางการคลังของประเทศตกต่ำลงจนเป็นวิกฤต ก็โปรดให้ตัดค่าใช้จ่ายอันไม่จำเป็นที่แวร์ซายส์ลง เช่นไม่ต้องเปลี่ยนเทียนที่ยังใช้ไม่หมด ไม่ให้เอาพระกระยาเสวยที่เหลือไปขายต่อ แต่ให้เอาไปเลี้ยงดูทหารรักษาพระองค์ แม้กระนั้น แวร์ซายส์ก็ยังต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาความหรูหราซึ่งสมเด็จฯ บรรพบุรุษได้สร้างเป็นขนบไว้

และดังที่ทราบกันอยู่แล้วก็คือ คนที่ต้องแบกรับภาระทางการเงินให้แก่ความฟุ่มเฟือยหรูหราทั้งของราชสำนักและตำหนักของชนชั้นสูงไว้อย่างหนักที่สุดคือสามัญชน นอกจากถูกเรียกเก็บภาษีให้รัฐแล้ว ยังต้องเสียภาษีและเบี้ยบ้ายรายทางอีกมากให้แก่ชนชั้นสูงและพระระดับมหาเถระทั้งหลาย ในขณะเดียวกันเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ก็กำลังสูญเสียที่ดิน (ทั้งที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวและเป็นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน) ให้แก่ชนชั้นสูงและมหาเถระ และที่โผล่หน้ามาใหม่คือพวกกระฎุมพีซึ่งพยายามรวบรวมที่ดินเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ให้คุ้มทุน คนพวกนี้รุ่มรวยมั่งคั่งเสียยิ่งกว่าชนชั้นสูงและเถระเสียอีก แต่ถูกกดไม่ให้มีสถานภาพที่เท่าเทียมกับชนชั้นสูง เท่ากับช่วยเพิ่มศัตรูของระบอบขึ้นอีกกลุ่มใหญ่

ต่างจากบรรพกษัตริย์ในราชวงศ์ หลุยส์ 16 มีสำนึกถึงความเดือดร้อนของประชาชนอย่างจริงจัง ทรงตั้งอัครมหาเสนาบดี (Ministre principal de l’etat) และเสนาบดีว่าการคลังหลายคนที่มุ่งหมายจะปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการคลัง แม้แต่เสนอโครงการเก็บภาษีอย่างเป็นธรรมด้วยพระองค์เองต่อสภาชนชั้นสูง ก็เคยทำมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะชนชั้นสูงและมหาเถระที่ได้เปรียบจากระบบไม่เห็นด้วย

จนแม้แต่ประเพณีการนับเสียงของสภาฐานันดรด้วยการนับเสียงของแต่ละสภา และเป็นต้นเหตุของการประท้วงต่อต้านจนลามเป็นการปฏิวัติไปนั้น หลุยส์ 16 กลับเสนอให้เปลี่ยนแปลงมาแต่แรก ด้วยการประชุมรวมเป็นสภาเดียว และนับเสียงจากสมาชิกหนึ่งคนเท่ากับหนึ่งเสียง แต่ก็อย่างเคยแหละครับ ขุนนางและมหาเถระไม่เห็นด้วย พระองค์ก็ถอย แต่ก็ใช้พระราชอำนาจเพิ่มจำนวนสมาชิกของสภาฐานันดรที่สามอีกเท่าตัว ทั้งๆ ที่สภานี้ก็มีสมาชิกมากกว่าอีกสองสภาอยู่แล้ว

เมื่อสภาฐานันดรที่สามไม่ยอมรับประเพณีนับคะแนนเสียงแบบเดิม พากันเดินออกไปหาที่ประชุมในห้องโถงใหญ่ของแวร์ซายส์ (และมีสมาชิกจากสภาฐานันดรที่หนึ่งและสองตามไปด้วย 114 คน) หลุยส์ควรจะอยู่เฉย เพราะเป็นไปตามความประสงค์ของพระองค์แต่ต้นแล้ว แต่ในวันรุ่งขึ้นกลับให้เจ้าหน้าที่ปิดห้องนั้น อ้างว่าพระองค์จะพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่สามสภา ทำให้สมาชิกสภาฐานันดรที่สามต้องพากันไปประชุมในโรงสนามเทนนิส และประกาศตั้งสภาแห่งชาติขึ้น

ผมคิดว่าความพยายามและล้มเหลวทั้งหมดเหล่านี้ แสดงทั้งความอ่อนแอและความยโสของหลุยส์ 16 ไปพร้อมกัน ในด้านหนึ่งไม่กล้าใช้พระราชอำนาจเผชิญกับการต่อต้านของชนชั้นสูงและมหาเถระ แต่ก็ยังถือว่าพระราชาย่อมมีอำนาจทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ ฉะนั้นถึงจะปลดเสนาบดีนักปฏิรูปออกไป ก็ตั้งคนใหม่ซึ่งมีแนวคิดปฏิรูปเข้ามาแทน จนถึงที่สุดกลับตั้งคนที่ปลดไปแล้วกลับมาก็มี ครั้นเสนาบดีเสนอแผนการปฏิรูป พระองค์ก็ไม่กล้าลงนาม หรือในกรณีสภาฐานันดร ไม่กล้าขัดใจชนชั้นสูงและมหาเถระด้วยการเปลี่ยนประเพณีการนับคะแนนเสียง แต่กลับเพิ่มสมาชิกให้แก่สภาฐานันดรที่สาม ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะถึงอย่างไรก็นับได้เพียง 1 เสียงอยู่ดี

แต่มันเท่กว่าที่จะยอมเฉยๆ นะครับ

ความไม่กล้าของหลุยส์ 16 นั้นเข้าใจได้ไม่ยากนะครับ กษัตริย์ที่ไหนๆ และสมัยไหนๆ ก็มีเครือข่ายทั้งนั้น และเครือข่ายคือกลุ่มคนที่สถาบันกษัตริย์มั่นใจและวางใจในความจงรักภักดี จะภักดีเพราะพ่อแม่สอนมา หรือภักดีเพราะได้ประโยชน์ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยสถานะและรายได้ของกลุ่มคนเหล่านี้ดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีสถาบันกษัตริย์ แต่เครือข่ายของราชวงศ์บูร์บงนั้นแคบลงไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่ขุนนางผู้ดีและมหาเถระ แม้แต่เหล่ากระฎุมพีที่เติบใหญ่ขึ้นก็ไม่ได้ถูกดึงมาเป็นเครือข่าย นอกจากคนที่ยอมเสียเงินมหาศาลซื้อสถานะและตำแหน่ง

ดังนั้น ในฐานะคนที่มีบุคลิก “จืด” สนิทอย่างหลุยส์ 16 พระองค์ย่อมไม่สามารถเป็นศูนย์ของแรงโน้มถ่วงที่ดึงเครือข่ายเข้าหา หรือผูกเครือข่ายไว้อย่างเหนียวแน่นเหมือนสมเด็จเทียด (หลุยส์ 14) ได้ หลุยส์ 16 จึงไม่มีวิธีอื่นที่จะรักษาเครือข่าย นอกจากยอมจำนนตามความประสงค์ของเครือข่าย

และเครือข่ายนี่แหละครับที่มีส่วนอย่างมากในการทำลายสถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสลง ทั้งก่อนและหลังปฏิวัติ รวมทั้งมีส่วนในการส่งหลุยส์ 16 ขึ้นสู่ลานกีโญตีนด้วย

ในขณะที่หลุยส์ใช้การยอมจำนนเพื่อผูกเครือข่ายไว้ มารี อังตัวแนตต์กลับกลายเป็นพลังให้ความภักดีของเครือข่ายต่อสถาบันกษัตริย์เหลือแต่ผลประโยชน์ล้วนๆ พระราชินีทรงใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนเป็นที่ลือเลื่อง ทรงทำความบาดหมางให้แก่เครือข่ายสถาบันที่มีมาแต่เดิมลงหมด แล้วสร้างเครือข่ายส่วนพระองค์ขึ้น อันล้วนแต่เป็นโก๋และกี๋ทั้งนั้น ทรงใช้ชีวิตในปาร์ตี้ที่ปารีสจนดึกดื่นเสมอ จนเกิดข่าวลือว่าพระองค์มีชู้ (ความจริงมีหรือไม่ก็ไม่แน่ ถึงไม่มีก็ดูจะหวิดๆ อยู่)

ชีวิตสุดสะวิงของพระราชินีดำเนินไปท่ามกลางความเหลื่อมล้ำอย่างหนัก และในปลายรัชสมัย ท่ามกลางความอดอยากยากแค้นของประชาชนด้วย (เช่นในปี 1788 ฝรั่งเศสประสบภัยหนาวอย่างไม่เคยเจอมาก่อน และผลิตธัญพืชได้ไม่พอ) พวกผู้ดีและกระฎุมพีเรียกพระองค์ว่า L’ Austrichienne แปลซื่อๆ คือหญิงออสเตรีย แต่เพราะมีคำว่า chienne จึงใช้เป็นสมญา คำนี้แปลว่าหมาตัวเมียและเหมือน bitch ในภาษาอังกฤษ มักใช้กันในความหมายว่า “อีดอก”

(ในภายหลังพวกสาธารณรัฐนิยม เช่น โรเบสปิแอร์ ก็มักเรียกพวกที่นิยมระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญว่า monarchien จากคำ monarchie ซึ่งแปลว่าสถาบันกษัตริย์ ความหมายแฝงของ monarchien จึงเป็น “สุนัขรับใช้ของกษัตริย์”)

Stephen Clarke ยืนยันจากหลักฐานร่วมสมัยว่า จนแม้เมื่อเกิดปฏิวัติแล้ว ชาวฝรั่งเศสก็ยังนิยมชมชอบระบอบกษัตริย์อยู่ เมื่อหลุยส์ 16 เสด็จเข้าปารีสหลังการทำลายคุกบาสตีญ์ พระองค์ได้รับการต้อนรับจากส่วนใหญ่ของชาวปารีส ด้วยการโห่ร้องถวายพระพรว่า Vive le roi อย่างกึกก้อง แม้มีการยิงปืนจนผู้ตามเสด็จบาดเจ็บบางคน ซึ่งไม่แน่ว่าเป็นการลอบทำร้ายหรืออุบัติเหตุ

พระองค์ได้รับการต้อนรับจากสภาเมืองปารีสในฐานะกษัตริย์ในวันที่ 17 กรกฎาคม 1789 เมื่อเสด็จมาถึงที่ว่าการเมือง จนถึง 1790 เมื่อมีการฉลองวันบาสตีญ์ที่ปารีสในวันที่ 14 กรกฎาคม หลุยส์ก็ได้รับเชิญให้เสด็จมาเป็นประธาน

หรือแม้แต่เมื่อชาวปารีส (ส่วนใหญ่เป็นแม่ค้าในตลาด) พากันเดินขบวนมาแวร์ซายส์เพื่อขอเข้าเฝ้า และในที่สุดก็บังคับให้พระองค์และครอบครัวต้องเสด็จไปอยู่ปารีสในวันที่ 5-6 ตุลาคม 1789 จุดมุ่งหมายเดิมของการเดินขบวนครั้งนั้นในทัศนะของ Clarke ก็คือเพื่อขออาหาร ตามประเพณีเดิมในฝรั่งเศส เพราะกษัตริย์มักมียุ้งฉางสำรองธัญพืชไว้แจกจ่ายประชาชนที่อดอยาก

แล้วเหตุใดพระองค์จึงต้องเสด็จขึ้นสู่ลานกีโญตีนในที่สุด

Clarke ยกเหตุผลให้แก่การเมืองภายใน คือการแย่งอำนาจกันระหว่างนักการเมืองสายประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข กับสายสาธารณรัฐ ในขณะที่สายสาธารณรัฐไม่อาจหากำลังสนับสนุนจากกองทัพหรือองค์กรอื่นที่มีมาแต่เดิมในฝรั่งเศสได้ จึงต้องหันมาเล่นการเมืองกระแสรุนแรงสุดโต่ง ตอบรับกับอารมณ์ของชาวปารีสที่กำลังเดือดร้อนจากเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก จึงช่วงชิงอำนาจด้วยข้อเสนอถอนรากถอนโคนอย่างสุดโต่ง จนในที่สุดก็จัดการสอบสวนความผิดของหลุยส์ 16 ในสภา และตัดสินประหารด้วยกีโญตีน

(ผมขอออกนอกทางตรงนี้นิดหนึ่งว่า ที่จริงกีโญตีนเป็นเครื่องประหารที่ถูกคิดขึ้นด้วยความเมตตาต่อผู้ถูกประหาร ในสังคมโบราณรวมทั้งฝรั่งเศสก่อนปฏิวัติด้วยนั้น การประหารชีวิตนักโทษประกอบด้วย ทรมาน+ประหาร+สยดสยอง ในฝรั่งเศสมีโทษประหารบางชนิดที่ใช้ม้าสี่ตัวแยกร่างของผู้ถูกประหารเป็นสี่ชิ้น หลังจากทรมานมาแล้ว กีโญตีนถูกคิดขึ้นเพื่อตัดการทรมานและสยดสยองออกไป เขาลือกันด้วยว่า สภาแห่งชาติเคยเสนอแบบจำลองกีโญตีนมาขอคำปรึกษาจากหลุยส์ 16 หลุยส์เสนอแนะว่าใบมีดควรทำเฉียง เพื่อเวลาตกลงมาตัดคอ จะได้เฉือนไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกเจ็บ – สมเป็นคำแนะนำของนักล่าสัตว์ – ถ้าเรื่องนี้เป็นความจริง หลุยส์ก็ได้ประโยชน์จากคำปรึกษาของพระองค์ด้วย จะเป็นเพราะทรงดิ้นรนหรือความตื่นเต้นของเพชฌฆาตก็ตาม เมื่อนำตัวหลุยส์ขึ้นนอนพาดเพื่อรอรับใบมีดของกีโญตีน พระศอไม่อยู่ในจุดที่จะรองรับใบมีดได้ตรง ฉะนั้นใบมีดจึงเฉือนเอาส่วนหนึ่งของพระพักตร์ไปด้วย แต่ก็เสด็จสวรรคตได้ทันทีไม่ต่างจากนักโทษคนอื่น)

แต่ในความเป็นจริง คงมีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่านี้มาก และหนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือหลุยส์ได้กลายเป็นส่วนที่โดดเด่นมากของภัยคุกคามต่อฝรั่งเศส (หรือต่อการปฏิวัติ) เช่นพยายามหนีออกนอกประเทศในมิถุนายน 1791 โดยมีกองทัพออสเตรียรอรับอยู่ชายแดน แต่ไม่สำเร็จ และยิ่งไปกว่านั้นคือการกระทำของกลุ่มชนชั้นสูงและมหาเถระซึ่งเสียผลประโยชน์ไปจากการปฏิวัติ

คนพวกนี้หันกลับมาแสดงความ “จงรักภักดี” อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งๆ ที่ก่อนการปฏิวัติ ต่างทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปที่จะช่วยสร้างความมั่นคงแก่สถาบัน … อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูเหมือนกัน เช่นมาเยี่ยมหลุยส์ที่พระราชวังตุลเลอรีส์อันเป็นที่ประทับของหลุยส์ในปารีส แต่แต่งกายชุดขาวซึ่งเป็นสีประจำราชวงศ์ ซ้ำบางคนยังติดเข็มกลัดดอกลีลี่ (ตราประจำราชวงศ์บูร์บง) มาด้วย ทั้งๆ ที่ใครๆ แม้แต่หลุยส์เองก็ยังยอมติดเข็มกลัดไตรรงค์ (แทนเสรีภาพ, เสมอภาพ, ภราดรภาพ) ส่วนที่หนีออกไปต่างประเทศแล้ว ก็เขียนจดหมายแสดงความจงรักภักดีและข่มขู่คุกคามคณะบริหารของการปฏิวัติว่าจะรวบรวมกองทัพมาช่วย (ซึ่งก็น่าจะรู้แล้วว่า จดหมายเหล่านั้นต้องถูกเปิดอ่านแน่) ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงราชวงศ์ออสเตรียร่วมกับอนุชาของหลุยส์ได้จัดกองทัพขึ้นจริง แต่ไปไม่ถึงไหนเพราะไม่มีฝีมือจะรบชนะ “กองทัพประชาชน” ของฝรั่งเศสได้

การแสดงความจงรักภักดีเหล่านี้ ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูผลประโยชน์และอภิสิทธิ์ของตนกลับคืนมา แต่ไม่มีทางจะทำอะไรได้ดีไปกว่าการใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือต่อรอง (ได้ก็ดี ไม่ได้ก็เป็นกรรมของหลุยส์) ดังนั้น ความจงรักภักดีเหล่านี้จึงมีราคาต้องจ่าย ซึ่งหลุยส์เองไม่มีทางจะจ่ายได้ นอกจากพระชนม์ชีพของพระองค์เอง