ปรากฏการณ์ รับเงินหมา กาเบอร์ที่ใช่/บทความพิเศษ / สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ / สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ปรากฏการณ์

รับเงินหมา

กาเบอร์ที่ใช่

 

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่เล็กที่สุด ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และยากจนที่สุด ด้วยขนาดของตำบลที่มีประชากรรวมไม่เกิน 7,000 คน มีรายได้รวมกันทั้งปีไม่เกิน 12 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละไม่ถึงหนึ่งล้านบาท มีความเป็นชนบทที่ห่างไกลความเจริญจากตัวเมือง และยังไม่พร้อมที่จะยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาล

บุคคลที่อยู่ในพื้นที่ของ อบต.จึงมีฐานะรายได้น้อย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริหาร หรือสมาชิก อบต.ในพื้นที่ในลักษณะระบบอุปถัมภ์ ต้องพึ่งพาอาศัย ต้องขอความช่วยเหลือในการติดต่อกับราชการในเรื่องราวต่างๆ มีความเกรงอกเกรงใจสูง ขอให้ช่วยอะไรก็ยากที่จะปฏิเสธ

อิทธิพลของระบอบอุปถัมภ์ และธรรมเนียมปฏิบัติของการใช้เงินเพื่อให้เลือกคนที่ต้องการ จึงควบคู่มากับการเลือกตั้งทุกครั้งทุกระดับในพื้นที่ดังกล่าว

ไม่เว้นแม้แต่เป็นญาติมิตรหรือบ้านเรือนติดกัน

เพราะเงินคือสินน้ำใจและรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้ง

แต่การเลือกตั้ง อบต. เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 กลับมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทยในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดทางภาคอีสานที่เคยได้รับการกล่าวขานว่า ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ยากจน และการซื้อเสียงเป็นตำนานที่มีอยู่มายาวนาน

แต่ในคราวนี้กลับมีพฤติกรรมการเลือกตั้งที่แตกต่างไปจากเดิม

 

ทำไมต้องเดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อเลือกตั้ง

พฤติกรรมของคนชนบทในอดีต แม้ลูกหลานมาเรียนหรือมาทำงานในเมืองหลวง ก็ยังคงชื่อในทะเบียนบ้านที่ต่างจังหวัดไว้ ด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งคือ เพื่อให้มีจำนวนเสียงในครอบครัวจำนวนมากและมีความสำคัญในสายตาของนักเลือกตั้ง

ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง คำถามพื้นฐานคือ “บ้านนี้กี่เสียง” และ กำหนดค่าตอบแทนเป็นรายหัวคูณจำนวนเงินที่จ่าย จึงเป็นสูตรสำเร็จในการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

ผู้รับเงิน คือ คนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ติดบ้านในพื้นที่ ผู้มาใช้สิทธิคือลูกหลานที่ทำงานในเมืองหลวงที่ต้องเดินทางกลับ โดยมีการบริการรับส่งสาธารณะฟรีจากผู้ซื้อเสียง

การเดินทางกลับภูมิลำเนาในวันเลือกตั้งของคนในอดีต จึงเป็นเรื่องของการกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ โดยมีคนออกค่ารถ และช่วยให้พ่อแม่ได้รับเงินจากผู้ซื้อเสียง กำนัลกลับด้วยการลงคะแนนเลือกใครสักคน หรือ พรรคสักพรรคที่เขาไม่รู้จักคุ้นเคยแต่เลือกตามตายายบอกเพราะรับเงินเขามาโดยไม่คิดว่าจะมีอะไรเสียหาย

แต่การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา การเดินทางกลับภูมิลำเนาของคนต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุงเทพฯ กลับมีลักษณะที่แตกต่าง

หนึ่ง เป็นการเดินทางกลับด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง

สอง เป็นความรู้สึกที่ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงการบริหารในท้องถิ่นหลังจากถูกแช่แข็งมากว่า 8 ปี

สาม นอกเหนือจากจะเป็นการเลือกโดยอิสระ คนหนุ่มสาวเหล่านี้ยังชักชวนคนในบ้านให้เลือกผู้สมัครที่ไม่แจกเงินซื้อเสียง โดยถือว่า คนรับส่วนคนรับ คนเลือกส่วนคนเลือก ไม่เกี่ยวข้องกัน

ตายายจะรับเงินหมา ส่วนฉันก็จะเลือกเบอร์ที่ใช่ เพื่อให้ท้องถิ่นได้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

นั่นคือ คนรุ่นใหม่เริ่มรู้แล้วว่า การเมืองนั้นส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่ และรู้ว่าหากเขาหลับหูหลับตาเลือกโดยคิดเพียงประโยชน์หลักร้อยหลักพันที่มาเสนอตรงหน้า ภาระทุกข์ยากจะตกกับครอบครัวเขาไปอีกอย่างน้อย 4 ปี

ผลการเลือกตั้งที่ออกมาซึ่งกลุ่มผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่จึงแจ้งเกิดอย่างไม่น่าเป็นไปได้ในหลายพื้นที่

 

ผลกระทบต่อการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคตอย่างไร

ปรากฏการณ์พฤติกรรมการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นที่เปลี่ยนไป เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่น่าสนใจและอาจสร้างความหวั่นไหวให้กับนักการเมืองรุ่นเก่า

หนึ่ง รูปแบบอุปถัมภ์เกื้อกูล ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อสม. ในพื้นที่ที่ผูกพันกับชาวบ้าน ที่เคยพึ่งพาอาศัย และตอบแทนกลับด้วยการเลือกคนที่ขอให้เลือก เริ่มเปลี่ยนแปลงไป

สอง กลไกหัวคะแนนแจกเงิน แจกของในพื้นที่แม้จะยังมีอยู่ จำนวนเงินไม่ได้ลดน้อยลง แต่การหวังผลที่ได้กลับเป็นร้อยละที่ต่ำลงอย่างน่าใจหาย

ขนาด อบต. เป็นหน่วยปกครองท้องถิ่นที่เล็กที่สุด ยากจนที่สุด มีความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่แบบอุปถัมภ์พึ่งพาอาศัยและเกรงอกเกรงใจกันมากที่สุด คนรุ่นใหม่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาแล้ว

เพราะเมื่อก่อน การประเมินความสำเร็จของพรรคคนรุ่นใหม่จะให้น้ำหนักแก่พื้นที่ที่มีความเจริญสูง เป็นเขตเมือง ประกอบด้วยคนชั้นกลางอยู่อาศัย และได้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองผ่านสื่อต่างๆ ได้โดยง่าย เช่น กรุงเทพมหานคร และส่วนที่เป็นเทศบาลเมือง เทศบาลนคร หรือในเขตอำเภอเมืองเท่านั้น

แสดงถึง อิทธิพลความคิดทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้จำกัดแค่เขตเมืองแต่กระจายลงถึงระดับท้องถิ่น

 

สิ่งที่พรรคการเมืองต้องปรับตัว

ผลของการแพ้ชนะของทีมผู้สมัคร อบต. อาจไม่มีความหมายต่อการเมืองระดับประเทศนัก แต่พฤติกรรมการเลือกตั้ง อบต.ในครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ส่งผลถึงพฤติกรรมการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อการแพ้ชนะของพรรคการเมืองที่เสนอตัวต่อประชาชนและมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง

หนึ่ง ต้องตระหนักว่า รูปแบบการได้มาซึ่งคะแนนเสียงด้วยวิธีการเดิมๆ เช่น ให้หัวคะแนนเดินตามบ้าน การจ่ายเงินรายหัวให้แก่คนเฒ่าคนแก่โดยหวังว่าจะได้คะแนนทั้งครอบครัว นอกจากจะเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย ยังเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผลสำหรับการเลือกตั้งในอนาคต

สอง สื่อทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารถึงกันในลักษณะการให้ข้อมูลทั่วไป เช่นทางเฟซบุ๊ก ทางทวิตเตอร์ ทางยูทูบ หรือในลักษณะสื่อสารกันเองภายในกลุ่ม เช่น ไลน์ เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสูง มากกว่าการสื่อสารจากคนในครอบครัวเดียวกัน

สาม การหาเสียงต้องมีนโยบาย แนวทางที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม จับต้องได้ การชูนโยบายหลวมๆ เลื่อนลอย ไม่เป็นจริง นโยบายที่เคยหาเสียง รับปากแล้วปฏิบัติไม่ได้ สามารถถูกขุดขึ้นจากอดีตมารื้อฟื้นความทรงจำของผู้คนได้โดยง่ายด้วยเทคโนโลยีที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก

สี่ คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง เลือกพรรคการเมืองจากจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องแสดงออกอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ยาวนาน ไม่ฉาบฉาย และยึดถือการรักษาคำมั่น สิ่งที่เคยพูดเคยรับปาก เคยประกาศเป็นจุดยืน หากเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาจะไม่ได้รับความเชื่อถือ

ยิ่งเลือกตั้งช้า สัดส่วนของคนรุ่นใหม่ที่อึดอัดคับข้องใจกับการเมืองแบบเก่าในปัจจุบัน ยิ่งมีมากขึ้น

ในแต่ละปีที่ผ่านมีผู้อายุครบ 18 ปี ที่เข้าสู่ระบบการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นราว 800,000-1,000,000 คน ในขณะที่คนรุ่นเก่า ผู้อาวุโส ปู่ย่าตายาย ล้วนสูงอายุขึ้น โอกาสไปใช้สิทธิเลือกตั้งในสถานการณ์โควิดยิ่งลดน้อยลง เพราะไม่อยากเสี่ยงออกนอกบ้าน

อิทธิพลทางความคิดในการกำหนดให้คนรุ่นลูกหลานต้องเลือกตามก็เสื่อมถอย เพราะเขามีความเป็นตัวของตัวเองสูง

วันนี้ เปลี่ยน อบต. วันหน้า เปลี่ยนประเทศ