โอ๊ะ โอ โอไมครอนนนนน/ทะลุกรอบ / ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ / ป๋วย อุ่นใจ

 

โอ๊ะ โอ โอไมครอนนนนน

 

เป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลกกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน (omicron)” ตัววงแตก ที่เล่นเอาซะรวนกันไปแทบทุกวงการ

เพราะในขณะที่หลายประเทศเริ่มเปิดเมือง และค่อยๆ ทยอยลดมาตรการลง หลายธุรกิจก็กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวกระเตื้องขึ้น ผู้คนเริ่มออกมากินข้าวและทำกิจกรรมนอกบ้าน บรรยากาศในเมืองเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

ข่าวการมาของโอไมครอนที่ดูเหมือนจะระบาดไปได้อย่างรวดเร็ว ขยับขึ้นแท่นสายพันธุ์เจ้าปัญหา สายพันธุ์ที่ต้องกังวล หรือ variants of concern ไปเรียบร้อยสะเทือน WHO ไปแล้วทั้งๆ ที่เพิ่งจะถูกค้นพบได้ไม่ถึงเดือน

ทำให้ทุกอย่างที่ดูกำลังจะไปได้สวยเริ่มสะดุด

หลายประเทศในยุโรปเริ่มพบผู้ติดเชื้อ ญี่ปุ่น ฮ่องกงก็หลีกไม่พ้น

บางประเทศเริ่มประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง มาตรการการกักตัวอาจจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ แวดวงเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มผันผวนอีกครั้งจากความไม่แน่นอน แล้วเราจะไปยังไงกันต่อ

หรือว่าเราจะต้องย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้น?

ภาพไวรัส SARS-CoV-2 (Wikipedia)

เรื่องราวนี้เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่กัวเต็ง ประเทศแอฟริกาใต้ เคสคนไข้เริ่มพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ชัดเจนว่ามีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้น เป็นไปได้ว่ามีอะไรซักอย่างไปกระตุ้นให้การระบาดเริ่มปะทุขึ้นอีกครั้ง

ในขณะที่ทุกคนกำลังพยายามค้นหาต้นตอของปัญหา นักวิทยาศาสตร์จากแลนเซ็ต (Lancet) ห้องปฏิบัติการเอกชนแห่งหนึ่งในแอฟริกาใต้ ได้สังเกตเห็น “สัญญาณ” แปลกๆ ในการตรวจอาร์ทีพีซีอาร์ของตัวอย่างที่ได้มาจากเชื้อระลอกใหม่

เพราะในหลายตัวอย่าง ที่ชัดเจนว่าบวกแน่ๆ การตรวจพีซีอาร์ค้นหายีนสร้างโปรตีนหนาม (spike หรือ s gene) ปกติที่ทำกันเป็นกิจวัตรกลับตรวจหาเชื้อไม่พบ

พวกเขาจึงรวบรวมตัวอย่าง แล้วส่งไปหาลำดับสารพันธุกรรมของไวรัสทั้งตัว เพื่อที่จะได้รู้ให้แน่ชัดว่าที่ตรวจไม่เจอ มันมีปัญหาอะไรกันเเน่

การตรวจหาเชื้อไม่เจอด้วยวิธีที่เรียกว่าเป็น gold standard หรือเป็นมาตรฐานของวงการ อย่างอาร์ทีพีซีอาร์นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ

และในช่วงที่อัลฟ่าระบาดใหม่ๆ อาร์ทีพีซีอาร์ก็ตรวจหามันไม่เจอคล้ายๆ แบบนี้เหมือนกัน

ภาพแสดงตำแหน่งการกลายพันธุ์ในจีโนมของไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์กลายโอไมครอน (Wikipedia)

 

หลังจากที่ได้ลำดับพันธุกรรมของไวรัสจากเคสใหม่กลับมา ทีมนักวิจัยจากแลนเซ็ตก็ถึงบางอ้อ ที่แท้ไวรัสมันกลายพันธุ์ไปแล้ว แถมเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลยด้วย

เรียกว่าเปลี่ยนหนักขนาดที่ทำให้อาร์ทีพีซีอาร์ที่ใช้กันอยู่ที่แอฟริกาตรวจหาไม่เจอกันเลยทีเดียว

ทางแลนเซ็ตจึงรีบรายงานข้อมูลไปยังเครือข่ายการสำรวจจีโนมในแอฟริกาใต้ (Network for Genomics Surviellance, NGS-SA) อย่างเร่งด่วน

ดร.ตูลิโอ เดอ โอลิเวรา (Tulio de Oliveira) หัวหน้าทีมระบบวิจัยและนวัตกรรมการหารหัสพันธุกรรม จากมหาวิทยาลัยควาซูลูนาทาล (KwaZulu-Natal Research and Innovation Sequencing Platform, KRISP) เผยว่าทางทีมวิจัยช็อกมากเมื่อได้เห็นว่าเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้กลายพันธุ์ไปมากมายเพียงไร

ตูลิโอรีบเรียกประชุมด่วนเพื่อหาทางรับมือสถานการณ์ และโทร.รายงานตรงไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุขของแอฟริกาใต้เพื่อรายงานด่วนถึงท่านประธานาธิบดี

มีการแถลงข่าวทันทีถึงการค้นพบเชื้อสายพันธุ์กลายตัวใหม่

จากการวิเคราะห์สายวิวัฒนาการเทียบกับข้อมูลจีโนมโควิดทั้งหมดในฐานข้อมูล พวกเขาขนานนามไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า B.1.1.529

“บ้าไปแล้ว นี่น่าสะพรึงมาก ดูสายวิวัฒนาการนั่นสิ” คริสเตียน แอนเดอร์สัน (Kristian Anderson) นักวิจัยโรคติดเชื้อจากสถาบันวิจัยสคริปส์ (Scripps Research) อุทานหลังจากที่ได้เห็นลำดับการกลายพันธุ์ “ดูรายการการกลายพันธุ์นั่น …มันบ้ามาก”

และที่น่าสนใจที่สุด ก็คือการกลายพันธุ์ในไวรัสใหม่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบกระจายสุ่มๆ ไปทั่ว เพราะแม้จะพบการเปลี่ยนแปลงลำดับพันธุกรรมในหลายยีน แต่การกลายพันธุ์ส่วนใหญ่กว่า 30 จุด กระจุกตัวกันอยู่ในยีนสำหรับสร้างโปรตีนหนามของไวรัส

ตีความได้ว่าน่าจะมีอะไรสักอย่างที่ทำให้การกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามนั้นส่งผลดีต่อการอยู่รอดของไวรัส ทำให้ไวรัสที่มีการกลายพันธุ์นั้นโดดเด่นกว่าไวรัสสายพันธุ์กลายอื่นๆ มันจึงได้ระบาดผุดขึ้นมาให้เห็นได้ชัดเจนแบบนี้

 

เป็นที่รู้กันว่าโปรตีนหนามคือโปรตีนที่ไวรัสใช้ในการจดจำและเข้ายึดเกาะกับโปรตีน ACE-2 ในคน (และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) เพื่อเริ่มต้นการติดเชื้อ การกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามจึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง เพราะอาจจะเปลี่ยนพลวัตในการระบาดไปได้อย่างมหาศาล

ถ้าหนามเปลี่ยนไปจนสามารถยึดเกาะกับเซลล์คนได้แน่นขึ้น รับเชื้อไปแค่นิดเดียวก็ติดโรคได้ การติดเชื้อแพร่กระจายก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น ที่พบในโปรตีนหนามของสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า

และหากการกลายพันธุ์เกิดขึ้นใหม่นั้นเพิ่มเสถียรภาพให้โปรตีนหนาม อนุภาคไวรัสก็อาจจะทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายได้ยาวนานขึ้น

แต่ที่สำคัญที่สุด โปรตีนหนามคือเป้าหมายเบอร์หนึ่งของทั้งวัคซีนและการตรวจวินิจฉัยส่วนใหญ่ การกลายพันธุ์ในโปรตีนหนามจึงอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อแบบทะลุภูมิหรือที่เรียกว่า breakthrough infection ในคนที่ได้รับวัคซีนครบ หรือเคยติดเชื้อมาก่อนแล้ว และในกรณีของการตรวจวินิจฉัย “ผลลบปลอม”

ผลลบปลอมถือเป็น worst case scenario แย่ที่สุดที่จะจินตนาการได้ แย่ยิ่งกว่าผลบวกปลอมเสียอีก

ผลบวกปลอม คือ คนมาตรวจไม่ติดเชื้อ เเต่ผลตรวจออกมาเป็นบวก คนทีเสี่ยงก็ต้อง home isolation กักตัวเอง สกัดกั้นไม่ให้มีโอกาสเอาเชื้อไปแพร่กระจาย และหลังจากที่ผลตรวจยืนยันแล้วว่าปลอดภัย ที่จริงแล้วไม่ติดเชื้อ ก็ค่อยเลิกกักตัว ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับคนหนึ่งคน (และอาจจะเฉพาะครอบครัว)

แต่ถ้าผลตรวจเป็นผลลบปลอม อันนี้หนัก เพราะคนที่มาตรวจจริงๆ แล้วติด แต่ผลออกมาว่าไม่ติด ก็ไม่จำเป็นต้องกักตัว เที่ยวตะลุยฉุยฉายไปได้ทุกแห่งหนตามใจ ซึ่งถ้าไม่ระวัง อาจจะกลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ที่แพร่กระจายโรคไปได้ไกลกว่าที่คิด …

จึงไม่แปลกที่การค้นพบไวรัสที่กลายพันธุ์จนโปรตีนหนามเปลี่ยนไปถึงกว่าสามสิบจุดนี้จะเป็นอะไรที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับไวรัสโควิดแทบทุกคนเริ่มนั่งไม่ติด

 

บริษัทยาเจ้าดังทั้ง ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้าต่างก็ออกมาแถลงกันแล้วว่า ทางบริษัทจะรีบตรวจสอบให้ไวที่สุด ไม่น่าจะเกินสองสัปดาห์ เราก็จะรู้ว่าวัคซีนของพวกเขานั้นจะสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ดีแค่ไหน

และจะมีการพัฒนาวัคซีนสูตรใหม่ขึ้นมาเพื่อกำราบเจ้าแสบใหม่ตัวนี้เป็นการเฉพาะหรือไม่

เพื่อประเมินความร้ายกาจของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทีมของตูลิโอรีบสุ่มตัวอย่างไวรัสมาอีก 77 ตัวอย่างจากเคสที่เก็บมาในช่วงราวๆ สัปดาห์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน แล้วส่งไปหาลำดับพันธุกรรมในทันที

เป็นที่น่าตกใจ ร้อยทั้งร้อยได้กลายพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว

ด้วยผลการค้นพบที่น่าตกใจของตูลิโอและทีม แค่เพียงวันเดียวหลังจากการแถลงข่าวการเปิดตัวครั้งยิ่งใหญ่ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากแอฟริกาใต้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ไวรัสตัวใหม่นี้ขึ้นทำเนียบไวรัสสายพันธุ์กลายที่ต้องกังวล (variants of concern) เทียบชั้นตัวแสบรุ่นพี่ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า

และได้ตั้งชื่อเป็นตัวอักษรกรีกให้ว่า สายพันธ์โอไมครอน ข้ามอักษรไปสองตัว ก็คือ นู (Nu) เพราะฟังเหมือน new ที่แปลว่าใหม่ และสี (Xi) เพราะจะไปพ้องกับนามสกุลของผู้คนจำนวนมากมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดดราม่าขึ้นได้ในสังคม

แม้ว่าสายพันธุ์กลายโอไมครอนดูจะกระจายได้ไว เเละดูเหมือนจะเริ่มเข้าแทนที่เดลต้าและเบต้าในบางพื้นที่ที่ไปสุ่มตัวอย่างมา แต่ก็อย่าเพิ่งตระหนกตกใจ ตีตนไปก่อนไข้เพราะการตรวจเจอเยอะๆ แบบนี้อาจจะเกิดจากการสุ่มตัวอย่างที่ไม่ทั่วถึงก็ได้ เพราะไม่แน่ว่าตัวอย่างส่วนใหญ่อาจจะมีต้นกำเนิดมาจากคลัสเตอร์เดียวกัน

ที่สำคัญการเลือกตัวอย่างไปตรวจหาลำดับพันธุกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะทำกันแค่ไม่กี่ตัวอย่างและชุดตัวอย่างที่จะส่งไปตรวจ ก็เลือกโดยคน และถ้าเป้าหมายของนักวิจัยคือ พยายามสุ่มหาให้เจอโอไมครอน ก็คงไม่แปลกที่ผลลัพธ์ออกมาจะเจอแต่โอไมครอน

เป็นความโชคดีที่ชุดตรวจอาร์ทีพีซีอาร์หลายยี่ห้อยังสามารถใช้ตรวจหาโอไมครอนเจอได้ ดังนั้น การพัฒนาการตรวจหาโอไมครอนโดยใช้พีซีอาร์ ตรวจให้กว้าง ตรวจให้ไว และตรวจให้ครอบคลุม น่าจะให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมาและน่าเชื่อถือกว่า

 

แม้หลายคนเริ่มกังวลว่า การระบาดของโอไมครอนอาจจะไม่ใช่แบบมาเล่นๆ และอาจจะระบาดจัดหนักไม่แพ้ไวรัสรุ่นพี่อย่างอัลฟ่าและเดลต้า เพราะโอไมครอนได้สะสมการกลายพันธุ์แสบๆ เอาไว้มากมาย อย่าง N501 E484 Q498 ที่ทำให้ไวรัสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ไวขึ้น และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่งขึ้น ซึ่งก็สร้างความกังวลอย่างมากว่าจะทำให้การระบาดเกิดขึ้นได้รวดเร็วและสาหัสมากยิ่งขึ้นไปด้วย

แต่ตราบใดที่ยังไม่มีผลการทดลองยืนยัน ก็คงจะบอกได้ยากว่า จริงๆ แล้วอิทธิฤทธิ์ของโอไมครอนนั้น จะแสบสันต์ซ่านทรวงเพียงไร จะติดเชื้อระบาดได้ไวขึ้นจริงหรือไม่ และจะหลบหลีกวัคซีน ทะลุภูมิได้เฉียบขาดเพียงไร อาการป่วยของผู้ติดเชื้อจะหนักขึ้นหรือเบาลง ตรงนี้ยังบอกไม่ได้

“เรายังไม่รู้เลยว่าสายพันธุ์กลายตัวใหม่นี้จะระบาดได้หนักกว่าสายพันธุ์เดลต้าจริงหรือเปล่า” เพนนี มัวส์ (Penny Moores) จากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สแรนด์ (Witwatersrand University) ในโยฮันเนสเบิร์ก ผู้อยู่เบื้องหลังการค้นพบการหลีกภูมิของสายพันธุ์กลายเบต้ากล่าว “ถ้าถามตอนนี้ บอกเลยว่ายังเร็วเกินกว่าจะฟันธงอะไรได้”

แต่ที่น่าดีใจคือ ในเวลานี้ นักวิจัยกลุ่มใหญ่ได้ทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อเร่งเพาะเลี้ยงไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจนสำเร็จแล้ว

ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามพัฒนาไวรัสเทียม (pseudovirus) เลียนแบบการกลายพันธุ์ที่พบในสายพันธุ์โอไมครอนเพื่อทดสอบและประเมินการหลบหลีกภูมิจากวัคซีน การต้านยา โอกาสป่วยหนัก และความเสี่ยงของโอไมครอนในการสร้างการระบาดใหญ่ระลอกใหม่

“เรากำลังบินไปด้วยกันด้วยความเร็วแบบวาร์ปสปีด” เพนนีกล่าว คาดว่าไม่น่าเกินอีกสองสัปดาห์ นักวิทยาศาสตร์คงจะมีคำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นของคำถามเหล่านี้

 

แต่ที่น่ากลัวคือไวรัสจะระบาดแบบวาร์ปสปีดไปก่อนหน้าที่เราจะรู้คำตอบมั้ย?

เป็นไปได้ แต่การที่เราพบไวรัสสายพันธุ์นี้จำนวนมากในพื้นที่เเดียวอาจจะแสดงให้เห็นว่า อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เป็นไปได้ว่ามันอาจจะระบาดมาแล้วพักใหญ่ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร กว่าที่เราจะรู้ว่ามันคือไวรัสสายพันธุ์ใหม่

และจากการวิเคราะห์และเปรียบเทียบลำดับพันธุกรรมของไวรัสโอไมครอนทั้งหมดที่มีอยู่ในฐานข้อมูล คริสเตียนพบว่าในบรรดาไวรัสโอไมครอนที่ระบาดอยู่ในตอนนี้ก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้างแล้ว และถ้ามองจากความเหมือนความต่างก็พอจะประมาณถึงเวลาแห่งการอุบัติขึ้นของพวกมันได้คร่าวๆ ว่าน่าจะอยู่ในช่วงราวๆ ปลายกันยายน หรือไม่ก็ต้นตุลาคมที่ผ่านมา

“นั่นหมายความว่ามันระบาดได้ช้ากว่าที่เรากลัวมากนัก” คริสเตียนกล่าวอย่างมองโลกในแง่ดี

“แบบแผนการกลายพันธุ์ของมันทำให้พวกเราเริ่มกังวล แต่ในตอนนี้ เราต้องทดลองเพื่อให้เข้าใจศักยภาพของสายพันธุ์กลายนี้ เพื่อหาหนทางที่จะรับมือกับโอกาสที่จะเกิดการระบาดใหญ่” ริชาร์ด เลสเซลล์ส แพทย์โรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยควาซูลูนาทาลกล่าว

“ยังมีอะไรอีกมากที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับสายพันธุ์กลายนี้”

 

และว่ากันตามจริง ข้อมูลที่มีทั้งหมดในฐานข้อมูลที่คริสเตียนเอามาวิเคราะห์เปรียบเทียบนั้นยังถือว่าน้อยนัก หากเอาไปมองถึงจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่พบในแต่ละวัน

เมื่อพูดถึงโรคระบาด วิวัฒนาการคือสิ่งที่น่ากลัว เพราะอย่าลืมว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตราบใดที่การระบาดยังไม่สิ้นสุด

การพบโอไมครอนไม่ใช่จุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุดของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

แต่เป็นการตบหน้าฉาดใหญ่ให้เราตระหนัก เข้าใจ และไม่ประมาท

เห็นด้วยครับว่า ชุดตรวจเร็ว แรปิดเทสต์ และเอทีเค เป็นสิ่งที่ดีและควรจะมีให้ทุกคนได้ใช้ แต่ไม่สามารถเอามาใช้ทดแทนการตรวจอาร์ทีพีซีอาร์ และการสำรวจหาพันธุกรรมไวรัสที่ติดเชื้อในประเทศได้

เพราะเมื่อไหร่ที่มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่อุบัติขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้และไม่ตระหนัก ผลลัพธ์ของมันอาจจะเป็นอะไรที่สยดสยองเกินกว่าจะจินตนาการ

สำหรับตอนนี้ ชัดเจนว่าอย่างน้อย คงต้องรออีกสักสองสามสัปดาห์ กว่าที่เรื่องราวและปริศนาของสายพันธุ์กลายโอไมครอนจะเริ่มคลี่คลายและเป็นที่รู้ชัด

แต่ตอนนี้ สิ่งที่รู้อยู่แล้วแบบไม่ต้องรอ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นโควิดสายพันธุ์ไหน (รวมทั้งโอไมครอนด้วย) กลไกการระบาดก็เป็นแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้น มาตรการป้องกันเดิมๆ ที่เคยใช้แล้วได้ผลดี ก็ยังเอามาใช้กันไวรัสตัวใหม่นี้ได้ไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น

ระหว่างนี้ก็ฉีดวัคซีนให้ครบ การ์ดอย่าตก เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก และระวังรอบกายให้ดี อย่าให้มีใครมาจามใส่กันนะครับ

ขอให้ทุกคนสุขภาพดีครับ 🙂