ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : จิตรกร ผู้ถ่ายทอดความงามของแสงสีอันเย้ายวน แห่งธรรมชาติและเนื้อหนัง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในคราวนี้ขอเก็บตกศิลปินคนโปรดของผมอีกคน

เขาผู้นี้เป็นจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ ที่เป็นรอยต่อระหว่างงานศิลปะแบบดั้งเดิมและงานศิลปะแบบสมัยใหม่

เขาเป็นศิลปินที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการของศิลปะสู่ยุคสมัยใหม่

และให้แรงบันดาลใจแก่ศิลปินรุ่นหลังมากที่สุดคนหนึ่ง

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir)

จิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้เป็นศิลปินหัวหอกคนสำคัญในกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์*

ด้วยผลงานที่ถ่ายทอดความงดงามอ่อนหวานของธรรมชาติและผู้คน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความงามอันเย้ายวนของหญิงสาว

ภาพวาดของเขามีความโดดเด่นในเรื่องการใช้แสงอันสดใสเจิดจ้าและสีสันอันเอิบอิ่มชุ่มฉ่ำ

ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นในการถ่ายทอดภาพทิวทัศน์และผู้คนในอิริยาบถอันผ่อนคลาย

ไม่จงใจจัดแต่งวางท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพเปลือยของหญิงสาวเป็นหัวข้อที่เขาโปรดปรานในการวาดที่สุด

เรอนัวร์มักจะนำเสนอรายละเอียดของสีสันผ่านฝีแปรงอันอิสระที่ทำให้ตัวละครในภาพค่อยๆ กลืนเข้ากับสภาพแวดล้อม

และหลอมรวมเข้าหากันอย่างนุ่มนวล

http://art-Renoir.com

ในช่วงปลายยุค 1860 จากการฝึกวาดภาพทิวทัศน์กลางแจ้ง เขาและเพื่อนจิตรกร โฆล้ด โมเนต์ ได้ค้นพบว่าสีสันของเงานั้น แท้จริงไม่ได้เป็นสีน้ำตาลหรือดำ

หากแต่เป็นสีที่สะท้อนสีสันของสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวมัน

ซึ่งการค้นพบนี้ในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อว่า “การสะท้อนแสงพร่า” (Diffuse Reflection)

ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของเทคนิคในการวาดภาพของศิลปินรุ่นหลังเป็นอันมาก

หลักฐานจากการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันปรากฏเป็นภาพเขียนหลายชิ้นของทั้งคู่ ที่มีฉากหลังเป็นสถานที่เดียวกัน

ผลงานช่วงแรกของเรอนัวร์เป็นภาพวาดอิมเพรสชั่นนิสต์ที่บันทึกห้วงเวลาสั้นๆ ของชีวิตผู้คนที่เต็มไปด้วยแสงสีอันพร่างพราย

ภาพวาดที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดในช่วงนี้คือ Dance at Le Moulin de la Galette (Bal du moulin de la Galette), 1876 ที่แสดงถึงฉากกลางแจ้งที่เต็มไปด้วยผู้คนที่กำลังเต้นรำอยู่ในสวนบนเนินเขามงมาตร์ ใกล้กับที่เขาอาศัยอยู่

แต่หลังจากนั้นเขาก็หันเหออกจากแนวทางของกลุ่มเพื่อฝึกฝนเทคนิคใหม่ๆ ในการวาดภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพผู้หญิง

ดังเช่นภาพชุด The Bather หรือ ผู้หญิงอาบน้ำ ที่เขาทำขึ้นในช่วงปี 1884-87 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการเดินทางไปอิตาลีในช่วงปี 1881

และได้เห็นผลงานของราฟาเอลและจิตรกรชั้นครูในยุคเรอเนสซองซ์

ซึ่งยังผลให้เขาทำงานในแนวคลาสสิคมากขึ้น (สังเกตจากภาพในช่วงนั้นที่วาดเนียนจนไม่เห็นรอยฝีแปรง)

แต่อย่างไรก็ดี หลังจากปี 1890 เขาก็เปลี่ยนแนวทางในการทำงานอีกครั้ง

โดยหวนกลับมาวาดแบบเดิมด้วยรอยฝีแปรงชัดเจนแต่บางเบาและสีสันพรายพร่างที่หลอมรวมตัวละครให้กลืนไปกับสภาพแวดล้อม

ผสมผสานกับภาพหญิงสาวที่มีเนื้อหนังอันอุดมสมบูรณ์และการโพสท่าแบบคลาสสิคอันได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะในยุคเรอเนสซองซ์

และมันก็กลายเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จที่สุดและกลายเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของเขา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพวาดที่เปิดเปลือยเนื้อหนังของหญิงสาวอย่างกระจ่างตาท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม

ตลอดชีวิตการทำงานอันยาวนานเขาวาดภาพกว่าหลายพันชิ้น ด้วยสไตล์อันอบอุ่นอ่อนโยน เปี่ยมเสน่ห์เย้ายวน

ทำให้ภาพวาดของเขาเป็นที่รู้จัก รวมถึงถูกผลิตซ้ำมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการศิลปะโลก

ช่วงบั้นปลายชีวิตเขาป่วยเป็นโรคไขข้ออักเสบอย่างรุนแรง ในปี 1907 และย้ายไปอาศัยอยู่ในฟาร์มใกล้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มีอากาศอบอุ่นกว่า

ถึงแม้เขาจะทรมานจากอาการป่วยจนเคลื่อนไหวไม่ค่อยได้และต้องนั่งอยู่ในรถเข็นเกือบตลอดเวลา

แต่เขาก็ยังคงวาดภาพต่อไป

(หลายคนคิดว่าเรอนัวร์ขยับนิ้วมือไม่ได้จนต้องผูกพู่กันติดกับนิ้วมือเพราะสังเกตจากภาพถ่ายของเขา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ในช่วงบั้นปลายเขายังจับพู่กันวาดรูปได้แม้จะเคลื่อนไหวไม่สะดวกและต้องให้คนคอยช่วยบีบสีและหยิบพู่กันใส่มือให้เขา เหตุที่เขาต้องพันผ้าไว้ที่มือดังที่เห็นในรูปก็เพื่อปกป้องผิวหนังที่อ่อนแอไม่ให้ระคายเคืองจากการจับด้ามพู่กันต่างหาก)

ในปี 1919 เรอนัวร์ได้เข้าไปเยี่ยมชมภาพเขียนของเขาในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ที่ถูกแขวนอย่างเป็นเกียรติร่วมกับเหล่าศิลปินชั้นครูในอดีต

ก่อนที่จะเสียชีวิตอย่างสงบในวันที่ 3 ตุลาคม 1919 ณ หมู่บ้านในเมืองกาเนีย ซูร์ แมร์ แคว้นพรอว็องซาลป์โกตดาซูร์

เรอนัวร์มีลูกชายสามคน

หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ฌ็อง เรอนัวร์ (Jean Renoir) นักสร้างภาพยนตร์ชื่อดังในยุคหนังเงียบจนถึงยุคหนังเสียง

ผลงานของ ฌ็อง เรอนัวร์ ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ว่าเป็นหนึ่งภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมา

และ ฌ็อง เรอนัวร์ ก็ได้รับการยกให้อยู่ในอันดับที่สี่ของผู้กำกับภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลที่จัดโดยนิตยสาร Sight & Sound

และเป็นหนึ่งในผู้กำกับฯ ที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ผลงานของเขาเป็นที่รักของผู้กำกับฯ กลุ่มคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส (French New Wave) อย่าง ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ และ ฌ็อง ลุค โกดาร์

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเรอนัวร์และลูกชายผู้นี้ว่า ด้วยความที่เรอนัวร์ผู้พ่อเป็นศิลปินเจ้าเสน่ห์ที่ท่องเที่ยวเดินทางและมีสัมพันธ์สวาทกับบรรดาสาวๆ มากหน้าหลายตา

และมักจะมีธรรมเนียมในการวาดภาพเหมือนชิ้นสุดท้ายให้กับชู้รักของเขาเป็นของขวัญจากลาก่อนที่เขาจะทิ้งเธอไป

แต่ผู้หญิงที่เรอนัวร์หลงใหลมากที่สุดคนหนึ่งนั้นกลับเป็นหญิงสาวสะคราญผมสีแดงนางหนึ่งที่ชื่อว่า อองเดร อุซส์ลิง (Andree Heuschling)

ซึ่งว่ากันว่าเป็นเหมือน “Muse” หรือ “เทพธิดาแห่งแรงบันดาลใจ” ของเรอนัวร์

เธอเป็นผู้จุดไฟสร้างสรรค์ในช่วงบั้นปลายของชีวิตของศิลปินที่กำลังง่อยเปลี้ยท้อแท้ให้กลับมาเป็นตัวของตัวเอง

และปลุกวิญญาณศิลปินและความกระหายอยากในการมีชีวิตของเขาให้ลุกโชนขึ้นมา

เธอไม่ได้ทำให้เขาแค่ลุกขึ้นมาวาดภาพอีกครั้ง แต่เขาหวนกลับมาเขียนภาพนู้ดอีกคราเลยทีเดียว

เขาพรรณนาถึงเธอให้ฌ็องลูกชายฟังว่า “ทิเชียน (จิตรกรชั้นครูในยุคเรอเนสซองซ์) คงจะบูชาเธอ ฉันยอมเสียแขนข้างหนึ่งเพื่อแลกกับหน้าอกของเธอ มันช่างเต่งตึงและกลมกลึง ถ้าจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ฉันโปรดปราน เส้นสายอันนุ่มนวลที่เอิบอาบแสงสีทองของเนื้อหนัง นั่นแหละคือทุกสิ่งทุกอย่าง”

เธอถูกส่งตัวมาหาเรอนัวร์ด้วยคำสั่งของอลีเนีย ภรรยาผู้ล่วงลับของเขา นัยว่าเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายสำหรับสามีของเธอ

แต่ว่ากันว่าเธอไปรับจ้างเป็นนางแบบให้ศิลปินสมัยใหม่ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคเดียวกันอีกคนอย่าง อองรี มาตีส (Henry Matisse) ก่อน

แต่มาตีสบอกกับเธอว่าไม่ใช่มาตีส เธอคือเรอนัวร์ (หมายความว่าเธอเหมาะสมที่จะเป็นนางแบบให้กับเรอนัวร์มากกว่า)

ท้ายที่สุดเธอก็กลายเป็นนางแบบคนสุดท้ายของเรอนัวร์

แต่ในท้ายที่สุด อองเดร อุซส์ลิง ก็กลับไปตกหลุมรักกับ ฌ็อง เรอนัวร์ ลูกชายของเรอนัวร์ผู้พ่อ และแต่งงานกันในที่สุด

และเธอผู้นี้นี่เองที่เป็นแรงดลใจสำคัญในการผลักดันให้เรอนัวร์คนลูกก้าวพ้นจากเงาของผู้เป็นพ่อจนกลายเป็นคนทำหนังที่ยิ่งใหญ่ในกาลต่อมา

นอกจากฌ็องแล้ว ลูกชายของเขาอีกสองคนอย่าง ปิแยร์ เรอนัวร์ (Pierre Renoir) ก็เป็นนักแสดง และ โคล้ด เรอนัวร์ ก็เป็นศิลปินเซรามิก

ส่วน โคล้ด เรอนัวร์ อีกคนซึ่งเป็นหลานปู่ของเรอนัวร์ และลูกชายของปิแยร์ ก็เป็นช่างถ่ายภาพภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย

สมกับที่เขาว่ากันว่า “ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” จริงๆ อะไรจริงนะเนี่ย!

อิมเพรสชั่นนิสม์* (Impressionism – ค.ศ.1874-1926) เป็นกระแสศิลปะที่เริ่มต้นขึ้นจากกลุ่มศิลปินในปารีส, ฝรั่งเศส ที่ได้รับอิทธิพลจากวิวัฒนาการทางสังคมในยุคนั้นที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสังคม การเมือง (การปฏิวัติฝรั่งเศส) ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบทฤษฎีแสงสีทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นเหตุจูงใจสำคัญที่ทำให้จิตรกรในยุคนั้นเริ่มวาดภาพด้วยการใช้ทฤษฎีแสงสีในบรรยากาศเพื่อบันทึกความประทับใจในธรรมชาติและชีวิตผู้คน

พวกเขามักวาดภาพทิวทัศน์ ผู้คนธรรมดาทั่วๆ ไป (บ่อยครั้งเป็นภาพเปลือย) แทนที่จะเป็นภาพเกี่ยวกับศาสนา เทพนิยายปรัมปรา หรือภาพของชนชั้นสูง ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดและไม่เป็นที่ยอมรับในแวดวงศิลปะ พวกเขามักวาดภาพด้วยการใช้ฝีแปรงสะบัดอย่างหยาบๆ ด้วยความรวดเร็วจนทิ้งรอยฝีแปรงไว้บนภาพ เพื่อจับห้วงเวลาชั่วขณะที่อยู่ตรงหน้าซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกวินาที โดยไม่เน้นความเหมือนจริง แต่เป็นการบันทึกอารมณ์ความรู้สึกและความประทับใจที่มีต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวในตอนนั้นมากกว่า

จนนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคำวิจารณ์ของ หลุยส์ เลอรอย นักวิจารณ์ชื่อดัง ที่กล่าวประชดประชันภาพ Impression, Sunrise ของ โฆล้ด โมเนต์ ว่า “ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความประทับใจแบบวูบวาบฉาบฉวย ภาพร่างลวกๆ บนกระดาษติดฝาผนังยังดูเสร็จสมบูรณ์กว่าด้วยซ้ำ” ซึ่งโดนใจศิลปินกลุ่มนี้อย่างแรงจนเอามาตั้งเป็นชื่อกลุ่มในที่สุด

อย่างไรก็ดี ศิลปินกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์นี่แหละ ที่ทำให้วงการศิลปะของโลกเดินทางมาถึงจุดหักเหสำคัญที่ทำให้มันก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่าศิลปะสมัยใหม่ หรือ Modern Art ในที่สุด