คิดถึงพ่อ/เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์

 

คิดถึงพ่อ

 

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 5 ธันวาคมแล้ว

วันที่ทุกคนเรียกกันติดปากว่า “วันพ่อ” ที่เราคนไทยจะได้รำลึกและคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้พระองค์จะจากพวกเราไปแล้วกว่า 5 ปี

เชื่อว่าในห้วงเวลานี้ คงมีหลายคนได้พาตัวเองย้อนกลับไปสู่ช่วงแห่งความโศกเศร้าในวันนั้น วันที่ 13 ตุลาคม 2559 และลากยาวมาจนถึงวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 แต่ทว่าในช่วงเวลาปีกว่านั้น เราก็ได้รับทราบเรื่องราวที่สร้างความประทับใจในหลายๆ มุมเคียงข้างไปกับอารมณ์แห่งความอาลัยนั่น

ผมได้ย้อนเปิดลังขนาดใหญ่ที่บรรจุหนังสือ นิตยสาร สิ่งพิมพ์เฉพาะกิจ ที่มีเรื่องราวของพระองค์ท่าน และข้อมูลมากมายในการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ

ผมเปิดอ่านทีละหน้า ทีละเล่ม ด้วยความดิ่งลึกย้อนไปถึงบรรยากาศในห้วงเวลานั้น จึงขอใช้พื้นที่นี้เพื่อรวบรวมความประทับใจเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้อ่านกันสักหน่อย

 

ในหนังสือดิฉัน ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ได้เสนอความคิดความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ท้องสนามหลวงและบริเวณรายรอบ ซึ่งแต่ละคนก็ต่างมีบทบาทหน้าที่หรือประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป

“สมคิด ผาสุกกิจ” วินมอเตอร์ไซค์ที่มีจิตอาสาขี่รถให้บริการผู้คนที่เดินทางมาเพื่อเคารพพระบรมศพนานกว่า 300 วัน เขาเล่าว่าทุกเช้าเขาจะวิ่งวินปกติเพื่อหาเงินสำหรับใช้จ่ายประจำวันก่อนจะมาทำงานจิตอาสาที่สนามหลวง

“แม้จิตอาสาที่เป็นมอเตอร์ไซค์ฟรีจะมีจำนวนมาก แต่ก็แทบจะมีไม่พอกับคนที่มากราบพ่อหลวง ตอนหลังก็มีการจัดการให้บริการแค่รอบๆ บริเวณงานเพื่อที่จะได้รับส่งได้ทั่วถึง”

“ครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจและซึ้งใจมาก ก็คือมีลุงกับป้า 2 คนหลงทาง ดูแกเหนื่อยล้าผสมกับความตกใจ ผมเลยพาแกไปส่งที่กองอำนวยการเพื่อตามหากลุ่มหารถที่แกนั่งมา พอเจอแล้วแกก็ให้ศีลให้พร ได้เห็นรอยยิ้มของแกผมก็หายเหนื่อยนะ”

แม้มีคนยินดีให้เงินค่าบริการบอกว่าเป็นสินน้ำใจ แต่สมคิดไม่เคยรับ เขาบอกว่า

“ทุกคนเป็นลูกพ่อ มาไหว้ ใจเราเหมือนกัน งานบริการที่ผมทำอาจเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ แต่ผมมีความสุขที่จะทำ สิ่งที่ผมและเพื่อนๆ ได้ทำไม่อาจเทียบกับงานที่พระองค์ท่านทำให้พวกเราเลย เพราะฉะนั้นเท่านี้ถือว่าเล็กน้อยครับ”

 

อีกประสบการณ์หนึ่งมาจากคุณยายวัย 82 ปี จาก จ.ตรัง ที่พาร่างกายที่ชราขึ้นรถไฟฟรีมาตั้งแต่บ่าย พอมาถึงสนามหลวงแล้วก็ไม่กล้าเข้าไปกราบพระบรมศพ เพราะไม่มีรองเท้าใส่มา

“อยากเข้าไปกราบพระบรมศพท่านใจจะขาด แต่ก็กลัวว่าเดี๋ยวจะทำวังท่านเปื้อน” นางแดง ชุมจอง เล่าให้ฟัง “จนมีเจ้าหน้าที่เข้ามาถามแล้วพายายไปกราบถึงในวัง น้ำตามันไหลตั้งแต่กราบพระบรมศพท่านจนออกมานอกวังก็ยังไม่หยุดไหล”

ยายแดงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าประชาชนรักและเทิดทูนพระองค์ท่านมากเพียงใด นั่นก็มาจากการที่พระองค์ได้เสด็จฯ ลงพื้นที่ในทุกตารางนิ้วของประเทศเพื่อแก้ปัญหาให้คนไทยได้อยู่ดีกินดีมากขึ้น รวมทั้งได้พัฒนาตัวเองในบริบทของความยั่งยืน ดังที่เราเคยได้ยินที่พระองค์มีพระราชดำรัสว่า

“เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลา และสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า”

พระองค์หมายถึงความรู้ต่างๆ ที่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนได้ เรื่องการศึกษานี้พระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างมาก ตัวอย่างเช่นการพระราชทานระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม วังไกลกังวล ที่พระองค์ท่านทรงทำมานานแล้วก่อนที่โลกการศึกษาปัจจุบันของรัฐจะมองเห็นเสียอีก

 

“เกียรติยา ธรรมวิภัชน์” ผู้สื่อข่าวจาก อสมท. เล่าในนิตยสารแพรว ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ในฐานะที่ได้ติดตามทำข่าวว่า “พระองค์ทรงมีความเป็นครูสูงมาก” โดยย้อนไปเมื่อปี 2545 ที่เธอติดตามทำข่าวตามเสด็จโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ประจวบคีรีขันธ์ ครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงสอนนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวลให้รู้จักชนิดของดินแบบง่ายๆ

“เหมือนพระองค์ท่านเป็นครูที่พยายามอธิบายให้นักเรียนเข้าใจ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการทำวิดีโอเผยแพร่ในฐานะครูสอนของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ดิฉันได้ฟังพระสุรเสียงที่ทรงสอนเด็กๆ เกือบทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยไม่ทรงรู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนพระกำลังเลย”

“ที่สำคัญคือ ทำให้ดิฉันได้เห็นแววพระเนตรและรอยแย้มพระสรวลเวลาที่ทอดพระเนตรประชาชน บ่งบอกว่าพระองค์ท่านทรงรักประชาชนมากเพียงใด”

 

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ได้เปิดพื้นที่ให้บุคคลต่างๆ ได้เขียนถึงพระองค์ท่าน และนี่คือส่วนหนึ่งของบทความที่เขียนโดย “ดู๋-สัญญา คุณากร”

“ผมชอบและมีโอกาสเล่นกีฬาเรือใบ ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวของพระองค์ท่านในฐานะผู้ออกแบบ ผู้สร้าง และนักกีฬาเรือใบ รวมทั้งปรัชญาที่พระองค์ทรงสอน เข้าใจตน เข้าใจธรรมชาติ ไม่หาญหักกับธรรมชาติเพียงเพื่อให้เป็นไปตามปรารถนา”

“วันที่ผมลอยอยู่บนเรือใบกลางอ่าวไทย ด้วยใจที่ขอเป็นเสี้ยวธุลีของพระองค์ท่านในการข้ามอ่าวไทย ด้วยขาและท้องที่เป็นตะคริวจากการแล่นเรือใบกว่า 10 ชั่วโมง ผมจึงได้เข้าใจเรื่องความเพียร เรื่องเราเป็นส่วนเล็กๆ ของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่”

“พระองค์สอนให้เราเป็นคนที่เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือคนด้วยกัน เพื่อดูแลสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลก…มิใช่เพื่อตักตวง”

 

และพระองค์ก็ได้ใช้เวลา 70 ปีในการครองราชย์ ในการช่วยเหลือประชาชนของพระองค์นิตยสาร ELLE MEN ฉบับเดือนธันวาคม 2559 ได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ของบุคคลที่ได้ถวายงานใกล้ชิดพระองค์ท่านในบทบาทต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“ปราโมทย์ ไม้กลัด” อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ได้เล่าให้ฟังถึงการจะตัดสินใจทำโครงการใดๆ นั้นพระองค์ท่านทรงให้หลักไว้ว่า

“คิดให้ดี คิดให้ละเอียด คิดให้รอบคอบ ถ้ามันคุ้ม ตอบโจทย์ได้ ถึงทำ”

“คำว่าคุ้มค่า ไม่ใช่คุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะโครงการที่จะทำตั้งอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ถ้าคิดอย่างสภาพัฒน์ คิดอย่างไรก็ไม่คุ้ม เมื่อไม่คุ้มก็ย่อมไม่ได้ทำ ประชาชนก็จะจนอยู่อย่างนั้น ดังนั้น คำว่าคุ้มค่าตรงนี้ ก็คือประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการจริงๆ มีน้ำใช้ พืชผลดีขึ้น เขามีความสุข”

เรื่องความเข้าถึง “ประชาชน” ของพระองค์นั้น ไม่ได้มีเฉพาะในเรื่องของงาน แม้แต่ในเหตุการณ์เฉพาะหน้าต่างๆ เวลาเสด็จฯ ไปที่ไหน พระองค์ท่านก็ทรงมีเมตตาต่อประชาชนเสมอ ดังเช่นที่นายตำรวจอารักขา “พล.ต.อ.เสริม จารุรัตน์” ได้เล่าให้ฟังในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ว่า

“ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ไปที่ไหนก็ตาม เมื่อชาวบ้านรู้ก็จะมาเฝ้าฯ รับเสด็จจนล้นออกมานอกถนน พอพระองค์เสด็จออกมาและทรงเห็นว่ายังมีประชาชนคอยเฝ้าฯ รับเสด็จตามรายทาง ก็จะรับสั่งว่า ร้อยเมตร หมายความว่าให้เลื่อนรถพระที่นั่งไปคอยข้างหน้าร้อยเมตร เพื่อที่พระองค์จะทรงพระดำเนินเยี่ยมประชาชนที่รอรับเสด็จฯ อยู่ข้างถนน ไม่ใช่เสด็จออกจากงานแล้วทรงขึ้นรถเสด็จฯ กลับเลยทันที”

“พล.ต.ต.ม.ร.ว.จิรายุส เทวกุล” ที่มีประสบการณ์การอารักขาเช่นกัน ได้เล่าว่า ครั้งหนึ่งที่พระองค์เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปหัวหิน ซึ่งวันนั้นตรงกับวันสงกรานต์พอดี โดยมีการกำหนดเส้นทางไว้แล้วว่าจะไปทางปิ่นเกล้า ซึ่งเต็มไปด้วยรถและคนก็มาเต้นรำกัน พระองค์ไม่ทรงอยากให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน ประชาชนก็ไม่รู้นะครับว่าพระองค์เสด็จฯ มีมอเตอร์ไซค์ช่วยแหวกทางให้ทีละนิด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนพวกกเขา พระองค์ตรัสว่า อย่าไปห้ามเขา ให้เขาสนุกให้เต็มที่ตามประเพณี”

จึงไม่แปลกใจเลยที่พระองค์ทรงเป็น “พ่อ” ของคนไทยทุกคน แม้จนทุกวันนี้พระองค์ก็ยังคงอยู่ในหัวใจของพวกเราไม่เสื่อมคลาย และไม่ใช่แต่รักพระองค์ แต่จะดีกว่าถ้านำสิ่งที่พระองค์ทรงได้ทำ คำที่พระองค์ทรงสอนไว้ นำมาเตือนใจและลุกขึ้นทำเพื่อแผ่นดินไทยของเรา

 

“ภูริพัฒน์ วุฒิภารัมย์” พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า

“ตอนเด็กๆ เราเคยคิดว่า ถ้าจะทำอะไรเพื่อประเทศชาติ เราต้องเป็นคนใหญ่คนโต ต้องมีพาวเวอร์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เราเป็นเฟืองเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนสังคมได้ ขอแค่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ผมทำงานของผมให้เต็มที่ ถ้าเป็นพ่อครัวก็แค่ตั้งใจทำอาหาร แค่นี้ สังคมก็ดีขึ้นได้แล้ว”

ขอปิดท้ายด้วยคำสัมภาษณ์ของพ่อค้าคนหนึ่งที่ชื่อ “ลุงเฮง” กล่าวได้อย่างน่าประทับใจว่า “พ่อสอนให้ทำดี ลาภยศตายไปก็เอาไปไม่ได้ ความดีต่างหากที่คงอยู่ ฟ้าดินสามภพรับรู้ ถ้าถามว่าบุญอะไรสูงสุด? ลุงตอบได้เลยว่า บุญคุณแผ่นดิน อยู่แผ่นดินไหน จงทดแทนบุญคุณเกิด”

วันพ่อปีนี้ มาทดแทนบุญคุณแผ่นดิน ตามหน้าที่ของตนกันดีไหมครับ