ฟ้า พูลวรลักษณ์ : ทฤษฎีรวมสนาม

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๑๘๒)

ทฤษฎีรวมสนามคืออะไร

ฉันจะอธิบายง่ายๆ ด้วยการเล่าเรื่อง หนังเรื่องหนึ่ง สมมติหนังเรื่องนี้มีสองภาค ภาคแรกสร้างได้ดีทุกอย่าง เรื่องดี บทดี พอมาภาคสอง ก็สร้างได้ดีทัดเทียม แต่มีจุดอ่อนอันหนึ่งคือ ตัวละครสำคัญตัวหนึ่งของภาคแรกตายไปแล้ว และไม่มีเหตุผลใด ไม่มีสาเหตุใด ในภาคสองเขากลับฟื้นคืนชีพ ตลอดเวลาที่ดูภาคสอง แม้จะสร้างดีเพียงไหน บทดีเท่าใด ก็จะมีคลื่นรบกวน นั่นคือ ก็เขาคนนั้นตายไปแล้วนี่

ฉันดูหนังแบบบันเทิง ฉันจึงยอมรับความเป็นไปไม่ได้ ยอมรับความเป็นแฟนตาซี แต่กระนั้นก็มีขอบเขต เช่น ในหนังหนึ่งเรื่อง เราอาจยอมรับความเป็นไปไม่ได้สี่ข้อ แต่หากมีเกินกว่านั้น ก็จะรับไม่ได้ละ จากสนุกก็กลายเป็นไม่สนุก

น่าประหลาด ทำไมเรายอมรับความเป็นไปไม่ได้ถึงสี่ข้อ ครั้งพอมาข้อที่ห้า กลับรับไม่ได้ นี้คือความแปลกประหลาดของจิต

บางคนอาจทนรับความเป็นไปไม่ได้สิบข้อ แต่พอถึงข้อที่สิบเอ็ด ก็ทนไม่ได้ หากไม่มีเลย ก็ไม่สนุกอีกเช่นกัน เท่ากับว่าหนังทุกเรื่องจะต้องเป็นความจริงหมด ในที่สุดก็จะเหลือหนังเพียงไม่กี่ประเภท ไม่กี่เรื่อง วรรณกรรมก็หายไปเกือบหมด เพราะคุณค่าของงานสร้างสรรค์อยู่ที่ว่า ต้องมีความเป็นไปไม่ได้แทรกเข้ามาบ้าง แต่งานดีหรือไม่ดี อยู่ที่ว่ามันต้องแทรกเข้ามาในระดับพอรับได้

เท่ากับว่าจิตมนุษย์ยอมรับกฎ และข้อยกเว้น

แต่ข้อยกเว้นก็ต้องไม่มากเกินไป เราอาจยอมรับข้อยกเว้นสี่ข้อ แต่หากมีมากกว่านั้น กฎก็ล่มสลาย การพยายามประคองให้ข้อยกเว้นเหลือน้อยที่สุด คือทฤษฎีรวมสนาม

ไม่มีข้อยกเว้นเลย ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเท่ากับว่าจินตนาการไม่มีอยู่

หากไร้จินตนาการ ก็จะมีแต่ข้อเท็จจริง ไม่มีทฤษฎี

หากไม่มีทฤษฎี ก็ไม่มีความก้าวหน้าใดจะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่างซูเปอร์แมน เขาคือข้อยกเว้น เราต้องยอมรับก่อนว่ามีเขาคนนี้ และเขามีคุณสมบัติที่เป็นไปไม่ได้มากมาย เราล้วนยอมรับ ตั้งแต่เขาเหาะได้ มีเรี่ยวแรงมหาศาล ร่างกายแข็งแกร่งราวกับเหล็กกล้า ฟันแทงไม่เข้า ตาทิพย์ ฯลฯ เรายอมรับได้หมด

จวบจนวันที่เขาตาย เขาตาย เพราะเขาก็เป็นมนุษย์ ไม่ใช่เทพเจ้า นี่เป็นกติกาที่เรายอมรับมาแต่ต้นเรื่อง นี่คือความสนุก เขาบาดเจ็บได้ ปวดร้าวได้ และตายได้

แต่หากเขาตายแล้วฟื้น นี่เป็นการไปไกลสุด เป็นข้อยกเว้นที่เพิ่มเข้ามา นอกเหนือข้อตกลง

กระนั้น เพราะเขาคือซูเปอร์แมน บางคนก็ยังทำใจยอมรับได้อีก

แต่หากในเรื่องเดียวกันนี้ ดันมีตัวละครอื่นๆ อีก ที่ตายแล้วฟื้น ทันใดนั้น ข้อยกเว้นก็เพิ่มเข้ามาอีกข้อ มันเริ่มไม่สนุกแล้ว เพราะมากเกินไป คนดูจะทนไม่ไหว ในที่สุด ไม่ว่าหนังจะสร้างดีเพียงไหน คนดูก็จะรู้สึกแต่ว่า นี่เป็นหนัง นี่เป็นเรื่องแต่ง ที่เป็นไปตามใจคนเขียนบท อยากให้ตายก็ตาย อยากให้ฟื้นก็ฟื้น ความตื่นเต้นไม่มี ความเศร้าไม่มี

คนดูจะพบว่า ดูไปก็มีค่าเท่ากับไม่ได้ดู

ใครจะอยู่ ใครจะตาย ใครจะแพ้ ใครจะชนะ ไร้สาระ

นี่คือความล่มสลายของกฎ

ทฤษฎีรวมสนาม คือการพยายามอธิบายจักรวาล ที่ซับซ้อน มันจึงต้องมีกฎที่กว้างใหญ่ แต่กฎที่กว้างใหญ่นั้น ไม่สามารถครอบคลุมได้หมด เพราะมันยากเกินไป จึงต้องมีข้อยกเว้น

หากมีเพียงไม่กี่ข้อ เราพอรับได้

แต่หากมีมากเกินกว่านั้น กฎก็ล่มสลาย

ความน่าทึ่งอยู่ที่ว่า สมมติหนังภาคสอง สร้างได้ดีเหลือเกิน บทของตัวละครที่ตาย ก็ดีเหลือเกิน เรียกว่าไร้ที่ติ พลาดเพียงแค่ว่า ในภาคหนึ่ง เขาตายไปแล้ว หากสามารถกลับไปแก้ภาคหนึ่ง ให้เขาไม่ตายได้ ก็สมบูรณ์ แต่ภาคหนึ่งสร้างเสร็จไปแล้ว ฉายไปแล้ว ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้

เหลือทางออกเดียว คือต้องสร้างภาค หนึ่งจุดหนึ่ง

มาอธิบายว่าเขาฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร

คำอธิบายนั้นต้องซับซ้อน และยากมาก เท่ากับต้องสร้างกฎใหม่

มันมีค่าเท่ากับสร้างจักรวาลใหม่

มันจะทำได้ไหม คุ้มค่ากันไหม นี้คือคำถาม ที่คนสร้างหนังชุดนี้ต้องหาคำตอบ

หากหาได้ หนังสองภาคนี้ก็สามารถเชื่อมโยงกันได้ ทำให้เกิดหนังดีสามเรื่อง แต่หากหาไม่ได้ หนังภาคสองก็ล้มเหลว เพราะมีจุดอ่อน มันจึงดีได้เพียงแค่ภาคหนึ่งเท่านั้น

ทฤษฎีรวมสนามยาก เพราะมันจะเกิดรูรั่วขึ้น อุดไม่ได้

ในที่สุดก็ล่มสลาย

คือรวมเท่าไรก็รวมไม่ได้ สนามนั้นมีสี่สนาม มันคือแรงสี่ชนิด

๑ แรงโน้มถ่วง

๒ แรงแม่เหล็กไฟฟ้า

๓ แรงนิวเคลียร์แบบเข้ม

๔ แรงนิวเคลียร์แบบอ่อน

สี่แรงนี้แตกต่างกัน รวมกันไม่ได้

ทฤษฎีรวมสนามก็ยากเย็นยิ่งนัก เพราะตราบใดที่รวมไม่ได้ เราก็ไปไหนไม่ได้ มีความรู้จำกัด แต่หากรวมได้ ก็จะเกิดความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ ทะลุทะลวงมิติ

มันเย้ายวน มันท้าทาย มันกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์

แต่มันตอบคำถามพื้นฐานไม่ได้

ว่า ก็เขาตายไปแล้วนี่