จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ชมนก / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ภาพ-NIHAL JABIN-CC BY-SA 3.0

 

 

ชมนก

 

เมื่อใดกวีเดินทาง มักชมนกชมไม้ชมสัตว์ต่างๆ

ระหว่างที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ทรงพรรณนาถึงนกด้วยความเข้าใจธรรมชาติของมันอย่างแท้จริง ภาพของนกยูงตัวผู้รำแพนหางอวดตัวเมียด้วยจังหวะลีลาสง่างามถ่ายทอดไว้ในตอนหนึ่งของ “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง” ว่า

ยูงทองย่องเยื้องย่าง               รำรางชางช่างฟ่ายหาง

ปากหงอนอ่อนสำอาง                     ช่างรำเล่นเต้นตามกัน ฯ

ยูงทองย่องย่างเยื้อง                รำฉวาง

รายร่ายฟ่ายเฟื่องหาง                     เฉิดหน้า

ปากหงอนอ่อนสำอาง                     ลายเลิศ

รำเล่นเต้นงามหง้า                         ปีกป้องเปนเพลง ฯ”

 

ข้อความ ‘ย่องเยื้องย่าง รำรางชางช่างฟ่ายหาง’ ทำให้มองเห็นภาพนกยูงทองค่อยๆ เดินย่างเยื้องด้วยลีลากรีดกรายแล้ว ‘รำฉวาง’ คือคลี่แพนหางออกแผ่กว้างราวกับพัดขนาดใหญ่

ไม่ผิดอะไรกับการฟ้อนรำอย่างงดงาม

 

คําว่า ‘ฟ่ายหาง’ ก็คือ ‘ฟ้อนหาง’ ฟาย หรือฟ่าย เป็นสร้อยคำของฟ้อน รวมกันแล้วแปลว่า ฟ้อน รางชาง คือ งาม เป็นการฟ้อนรำอย่างงดงามนั่นเอง

กวีมักจะใช้คำว่า ‘ฟ้อนฟาย’ หรือ ‘ฟ้อนฟ่าย’ เมื่อกล่าวถึงนกยูงรำแพน ดังที่ “สมุทรโฆษคำฉันท์” บรรยายว่า

 

“ยาบยาบหัวหางหายูง                         จับไม้ไหล้สูง

และกิ่งกระย่อนฟ้อนฟาย

 

เช่นเดียวกับใน “ลิลิตตะเลงพ่าย” ตอนพระมหาอุปราชชมนก

 

“อเนกนกนานา                                 หมู่มยุราฟ้อนฟ่าย”

 

โดยเฉพาะใน “ลิลิตพระลอ” นำเสนอภาพของพญานกยูงกำลังรำแพนขยับหางเป็นจังหวะไปมา ท่ามกลางสายตาจับจ้องของบรรดานางนกยูงที่รายล้อม

“ขุนยูงชดขนฟ้อน กระหย้อนหางพพ่าย นางยูงรายรอบเฝ้า”

 

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงช่างสังเกตยิ่งนัก นอกจากลีลารำแพนหางของนกยูงตัวผู้เรียกร้องความสนใจจากตัวเมียดังที่ทรงพรรณนาไว้โดยละเอียด ยังทรงเล่าถึงนกสองชนิดที่ใช้ชีวิตอยู่ใกล้แหล่งน้ำ

 

นกกะเรียนเวียนลงหนอง                    ตรอมเที่ยวย่องร้องแกร๋แกร๋

ริมทุ่งกระทุงลอยแพ                                 เดียรดาษแลแหล่เหลือหลาย ฯ

นกกะเรียนเวียนว่อนน้ำ                      เลงแล

ลงย่องร้องแกร๋แกร๋                                  แจ่มจ้า

ริมทุ่งกระทุงลอยแพ                                 ลงล่อง

บินกลาดกลุ้มท้องฟ้า                                ร่อนร้องเหลือหลาย ฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล บันทึกไว้ใน “สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 1 ว่า

นกกระเรียนเฉพาะในประเทศไทย ในสมัยก่อนมีประปรายตามทุ่งนาแทบทุกภาค … นกกระทุง เฉพาะในประเทศไทย ชอบอยู่ตามทุ่งนาที่มีบึงใหญ่ๆ และตามริมทะเล”

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงพรรณนาถึงเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของนกกระเรียนว่า “นกกะเรียนเวียนลงหนอง ตรอมเที่ยวท่องร้องแกร๋แกร๋” เสียงร้องดังกล่าวใกล้เคียงกับที่คุณหมอบุญส่งเล่าว่า

“สิ่งที่ชวนให้สังเกตก่อนอื่น คือ เสียงร้องอันแหลมดัง ‘แกร๊แกร๊‘ ของมันดังมาก

และบางครั้งก็อาจได้ยินเสียงของมันก่อนในขณะที่บินมายังไม่ทันจะมองเห็นตัว”

 

นอกจากนี้ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรยังทรงเล่าถึงนิสัยใจคอและความสามารถพิเศษของ ‘นกแซงแซว’ ยอดนักเลียนแบบที่ชอบเลียนเสียงร้องของนก แมว ฯลฯ โดยเรียกชื่อว่า ‘ซั้งแซว’

 

“ชมคู่หมู่ซั้งแซว                          ร้องโฉดแก้วแล้วบินไป

เลียนนกหกใดใด                                 ย่อมเลียนได้ไท้เสียงแมว ฯ

ซั้งแซวเสียงแจ้วส่ง                       เอาใจ

ร้องโฉดแก้วบินไป                               มุ่งไม้

เลียนนกสิ่งใดใด                                 เหมือนอยู่

ไม่เพี้ยนเลียนได้ไท้                              เล่ห์ร้องเสียงแมว”

 

ข้อสังเกตของพระองค์มิได้ผิดจากความเป็นจริง ดังคำอธิบายของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ใน “สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 11

“นกแซงแซวบางชนิดส่งเสียงได้หลายอย่าง นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ ชอบทำเสียงเลียนแบบสัตว์อื่น บางครั้งทำเสียงเหมือนเสียงแมว เสียงนกหวีด ฯลฯ ได้เหมือนมาก”

ในหนังสือเรื่อง “นกสวน” ชุดความรู้ไทยขององค์การค้าของคุรุสภา คุณหมอยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า

“นกแซงแซวชนิดนี้ชอบทำเสียงร้องเลียนเสียงคนและเสียงนกอื่นๆ ได้หลายเสียงเก่งกว่านกขุนทอง นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ (Greater Racket-tailed Drongo) เป็นนกแซงแซวที่มีขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่นๆ ที่หน้าผากมีขนหงอนขึ้นสูงและมีหางคู่หนึ่งที่มีก้านยาวยื่นออกไปจากปลายหาง และมีขนอยู่แถบหนึ่งตรงปลาย ใครๆ จึงเรียกมันว่า ‘แซงแซวหางบ่วง'”

 

น่าสังเกตว่ากวีเรียกชื่อนกชนิดนี้ต่างๆ กันไปตั้งแต่ ‘ซั้งแซว’ ใน “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง”

หรือชื่อ ‘ซังแซว’ ใน “สมุทรโฆษคำฉันท์” ตอนที่พระสมุทรโฆษประทับแรมไพร

 

“ซังแซวซรลอนฟางวาง                 แล่นซรอกซอนทาง

ตระดกตระเด็จเว็จวล”

 

“ลิลิตเพชรมงกุฎ” ก็ใช้คำนี้เช่นกัน

 

“นกเค้าคูคาบแค     ซังแซวแซ่จับซาก       จากพรากไต่พฤกษ์”

 

วรรณคดีบางเรื่องใช้ว่า “แซ้งแซว” อาทิ “ลิลิตพระลอ” ตอนที่นางรื่นนางโรยเดินทาง กวีบรรยายถึงนกแซงแซวและโพระดกส่งเสียงร้องก้องป่า

“เสียงแซ้งแซวภูรโดก” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ไม่ต่างกับตอนที่พระมหาอุปราชาชมนกใน “ลิลิตตะเลงพ่าย”

“แขวกขวานเคาะขุดไม้ ไส้กระสาแซ้งแซว เค้าโมงแมวม่ายคู่”

ในขณะที่ “มหาชาติพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4″ มหาวนวัณณนา ใช้ว่า ‘แซงแซว’

“เจลาวกา ปิงฺคลาโย นกกระจอกเจรจากันเสียงจอกแจก แซงแซวแทรกเซาเซื่องไม่เยื้องผาย”

ถึงแม้ว่านกชนิดนี้จะมีสารพัดชื่อ ตั้งแต่ ‘ซั้งแซว – ซังแซว – แซ้งแซว’ จนถึง ‘แซงแซว’ แต่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือเจ้าฟ้ากุ้ง เป็นกวีหนึ่งเดียวเท่านั้นที่สังเกตความสามารถพิเศษของนกดังกล่าว และถ่ายทอดไว้ในบทพระนิพนธ์

สมเป็นกวีผู้สนพระทัยธรรมชาติวิทยาโดยแท้