เครื่องเคียงข้างจอ : ความรู้กู้โลก / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

 

ความรู้กู้โลก

 

ผมเป็นคนชอบดูหนังหรืออ่านหนังสือที่นำมาจากเรื่องจริง ชีวิตของคนจริงๆ เพราะอย่างน้อยก็รับประกันได้ว่า ต้องมีอะไรน่าสนใจแน่นอน งั้นคงไม่ลุกมาทำเป็นหนังหรือเขียนเป็นหนังสือออกมาแน่นอน

ผมได้มีโอกาสดูหนังเรื่อง “The Boy Who Harnessed The Wind” ทาง Netflix ซึ่งถ้าเป็นหนังแนวซูเปอร์ฮีโร่ คงเป็นเรื่องของเด็กหนุ่มที่มีพลังวิเศษบังคับลมพายุได้เป็นแน่ แต่นี่ไม่ใช่ครับ เป็นเรื่องประเภทหนังชีวิตที่เกิดขึ้นในดินแดนแอฟริกา

ทวีปแอฟริกาที่ใครๆ ก็รู้ว่าแห้งแล้ง กันดารเพียงใด ภาพพื้นที่แห้งแล้ง ผืนดินแห้งกรัง มีแต่ฝุ่นและต้นไม้ที่ยืนต้นตายปรากฏให้เห็นจนชินตา ซึ่งเรื่องนี้ก็หนีภาพที่ว่าไม่พ้น โดยเรื่องราวเกิดขึ้นที่เมือง “วิมเบ” ในครอบครัว “คัมควัมบา”

ตัวเอกของเรื่องเป็นลูกชายของครอบครัวนี้ชื่อว่า “วิลเลี่ยม” อายุ 14 ปี ดูจากชื่อแล้วไม่น่าจะเป็นคนในแอฟริกา ทั้งนี้น่าจะมาจากการที่พ่อคือ “ไทรเวลล์” และแม่คือ “แอกเนส” เป็นคนรุ่นใหม่ เลยอยากนำพาครอบครัวให้ก้าวพ้นความยากจนแบบเดิมๆ ซึ่งพี่สาวอีกคนก็มีชื่อว่า “แอนนี่”

เรื่องราวเกิดขึ้นจากสภาพความแห้งแล้งของพื้นดิน ทำการเกษตรไม่ได้ ไม่มีน้ำเพียงพอ บ่อบาดาลบ่อเดียวของหมู่บ้านก็แห้งขอด ที่พอยืนต้นอยู่ได้ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ที่ทนแล้งได้ ซึ่งนายทุนมาเสนอขอซื้อต้นไม้ไปในราคาถูก

ความคิดขัดแย้งเกิดขึ้นสองฝ่าย คือ พวกที่อยากขายเพราะไม่มีทางออก จะรอฝนตกก็ไม่รู้เมื่อไหร่ในขณะที่ครอบครัวไม่มีอันจะกิน

ส่วนพวกที่คัดค้านรวมทั้งครอบครัวตัวพ่อ คือ “ไทรเวลล์” ด้วยนั้นเห็นว่า ถ้าเราตัดต้นไม้เพื่อขาย ผลกระทบในระยะยาวจะตกหนักกับพวกเราเอง เพราะเมื่อไม่มีต้นไม้ ฝนก็จะไม่ตก หรือถ้าตกน้ำก็จะท่วมไร่นาที่ทำเกษตรได้

แต่ปัญหาเฉพาะหน้าดูจะฉุกเฉินกว่าปัญหาระยะยาว เมื่อหลายครอบครัวตกลงใจว่าจะขายต้นไม้ที่ปลูกไว้ในพื้นที่ของตนให้กับนายทุนรวมทั้งหลานชายของไทรเวลล์ด้วย

 

ฉากที่ไทรเวลล์ทะเลาะเรื่องการขายที่ดินกับหลานที่เป็นลูกของพี่ชายที่ตายไปแล้ว ไทรเวลล์บอกว่า

“ถ้าไม่เล่นการพนัน ก็จะไม่เดือดร้อนจนต้องขายต้นไม้ในที่ดินหรอก”

หลานชายตอบกลับมาว่า “การพนันคือการเดิมพัน ไม่เสียหายอะไร เพราะจะว่าไป การที่มัวรอว่าฝนจะตกเมื่อไหร่ ก็เป็นการเดิมพันอย่างหนึ่ง”

ไทรเวลล์ถึงกับอึ้งตอบหลานไม่ได้ เพราะความจริงมันก็เป็นแบบนั้น บางปีฝนตกมากน้ำก็ท่วม บางปีฝนน้อยก็แห้งแล้ง ใช่ เขาเดิมพันกับธรรมชาติที่ไม่แน่นอน

ไทรเวลล์และแอกเนสเป็นคนมองการณ์ไกล พวกเขามองว่า “การศึกษา” จะนำพาให้ชีวิตของลูกๆ พวกเขาดีขึ้นได้ เขาจึงสละเงินทองที่หามาได้จากการทำไร่นาส่งเสียให้ลูกเรียน แอนนี่นั้นจบมัธยมแล้ว รอศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย รอเพียงแต่ให้ครอบครัวมีเงินส่งเท่านั้น

ส่วนตัวละครเอกอย่างวิลเลี่ยมก็ได้ลิ้มรสชาติของโรงเรียน เมื่อพ่อกับแม่จ่ายเงินมัดจำให้เขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนของหมู่บ้าน วันที่เขาพบเสื้อผ้าชุดนักเรียนวางรออยู่บนเตียง เขาดีใจมาก ลุกขึ้นแต่งมาอวดคนในครอบครัวอย่างลิงโลดทันที

แต่วิลเลี่ยมเรียนได้ไม่เท่าไหร่ ก็ถูกครูใหญ่ระงับการมาโรงเรียนของเขา “ไปบอกให้พ่อเธอจ่ายเงินค่าเล่าเรียนที่เหลือมาเสียก่อน ที่นี่ไม่มีระบบผ่อนจ่าย”

แต่ไทรเวลล์จะหาเงินจากไหนมาจ่ายได้ เพราะพืชผลนั้นได้น้อยเสียเหลือเกิน ชั้นแต่จะเก็บไว้กินเองยังไม่พอ ที่สะเทือนใจคือ เมื่อไทรเวลล์นับเงินที่มีเหลืออยู่ เขาบอกว่าเพียงพอแค่ให้พวกเรากินอาหารได้วันละมื้อเท่านั้น มาเลือกกันว่าจะกินมื้อไหนดี

เรื่องของการอดอยากนี้ทำให้ทั้งหมู่บ้านเกิดความวุ่นวาย มีการปะทะกันเพื่อแย่งอาหารและธัญพืชราคาถูกจากรัฐบาล ลำบากรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นบุกแย่งอาหารของคนในหมู่บ้านกันเอง รวมทั้งครอบครัวของไทรเวลล์ก็โดนด้วย

 

วิลเลี่ยมแม้จะถูกห้ามเข้าชั้นเรียน แต่เขาก็หาวิธีเข้าไปหาความรู้เองจากห้องสมุดของโรงเรียน และความรู้หนึ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษคือ “การผลิตพลังงาน” โดยตั้งต้นจากที่เขาเพียงต้องการไฟแสงสว่างไว้อ่านหนังสือในตอนกลางคืน แต่จากความรู้ที่ได้พาเขาไปไกลกว่า จริงๆ แล้วถ้าเขาสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแรงลมได้ มันก็จะตอบปัญหาต่างๆ ของครอบครัวเขาและคนในหมู่บ้านได้

เขาคิดไปไกลถึงการสร้างกังหันลมขนาดใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้สูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ทำการเกษตร

ไม่มีใครเชื่อเลยว่าเขาจะทำได้ แม้เขาจะทดลองประดิษฐ์กังหันลมเล็กๆ จากวัสดุที่เก็บได้จากกองขยะมาแสดงให้พ่อของเขาเห็น และบอกถึงความคิดของเขา พ่อกลับไม่เห็นด้วย และเห็นว่ามันเป็นเรื่องความฝันหรือไม่ก็เรื่องโกหก พร้อมกับสบถอย่างอารมณ์เสียว่า “ฉันไม่น่าส่งแกไปเรียนเลย”

ยามนั้นปัญหาต่างๆ ได้รุมเร้าไทรเวลล์เข้ามามากมาย จนเขาลืมความคิดที่ว่าความรู้จะช่วยยกระดับชีวิตให้ลูกเขาได้ลงไปเสียสิ้น แม้วิลเลี่ยมลูกชายของเขาจะแสดงให้เห็นว่าเขามีความรู้ที่จะแก้ปัญหาได้จริงก็ตาม

เลยทำให้นึกถึงคลิปพระราชทานสัมภาษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 กับสำนักข่าวต่างประเทศเมื่อครั้งที่ระบอบคอมมิวนิสต์แผ่ขยายอำนาจมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยด้วย โดยนักข่าวถามว่า “สิ่งที่ท่านทำนั้นเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์หรือ”

พระองค์ทรงตอบว่า “เราไม่ได้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่เราต่อสู้กับความหิวโหยของประชาชน” พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของปากท้องของคนในชาติ หากท้องอิ่ม ประชาชนก็จะมีความสุข และมีพลังในการสร้างชาติได้ ไม่ว่าชาติจะอยู่ในระบอบการปกครองใด

 

หนังเรื่องนี้ก็สะท้อนออกมาทำนองเดียวกันนี้ ตอนต้นเรื่องหนังเสนอภาพของขบวนรถเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ โดยไทรเวลล์ที่ยืนมองอยู่ได้พูดกับเพื่อนของเขาว่า

“ประชาธิปไตยที่เรียกร้องกันอยู่นั้น ก็เหมือนกับมันสำปะหลังนำเข้า… มันเน่าเร็ว”

นั่นแสดงให้เห็นว่าหากประชาชนไม่มีความพร้อมเรื่องการปกครองใดๆ แล้ว หากนำมาใช้เร็วเกินไปก็มีแต่จะเสียของ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

หลังจากที่วิลเลี่ยมถูกขัดขวางจากพ่อของเขาเอง เขาก็ไม่ท้อถอยแต่ได้ขอแรงจากคนในหมู่บ้านให้มาช่วยเขาทำการใหญ่นี้ แน่นอนที่ไม่ช้าพ่อของเขาก็ยอมที่จะเชื่อลูกชายของเขา และยอมสละจักรยานที่มีไดนาโมเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการสร้างกังหันลมขนาดใหญ่ประจำหมู่บ้าน

วินาทีที่กังหันลมตั้งตระหง่านเสร็จ โดยวิลเลี่ยมอยู่บนยอดเพื่อประกอบอุปกรณ์ชิ้นสุดท้าย เขามีสีหน้าเบิกบานมาก แม้จะยังไม่รู้ว่าจะได้ผลจริงแค่ไหน แต่ก็เป็นก้าวย่างที่สำคัญของเด็กชายคนหนึ่ง

เมื่อกังหันลมหมุนและไดนาโมที่ติดตั้งได้สร้างกระแสไฟมาเก็บไว้ในก้อนแบตเตอรี่ วิลเลี่ยมและทุกคนก็เฝ้ารอผลของมัน ระหว่างนั้นก็ได้ทำทางรับน้ำและระบายน้ำกระจายสู่พื้นที่ต่างๆ ไว้รอ เมื่อน้ำมวลแรกพุ่งทะลุท่อยางขึ้นมา และกลายเป็นสายน้ำที่ไหลรินต่อเนื่องไม่ขาดสาย ทุกคนก็ร้องออกมาด้วยความดีใจสุดขีด

พื้นดินได้มีน้ำไว้ใช้เพาะปลูก ชีวิตได้กลับคืนมาอีกครั้ง ยอดอ่อนของต้นต่างๆ แทงยอดขึ้นมารับแสงอาทิตย์ นั่นทำให้รู้ว่าเรารอดแล้ว

 

ในชีวิตจริงวิลเลี่ยมได้ไปเรียนต่อในชั้นสูงขึ้นที่ประเทศมาลาวี ในแอฟริกาตะวันออก แล้วก็ไปต่อระดับอุดมศึกษาที่แอฟริกาลีดเดอร์ชิปอะคาเดมี ในแอฟริกาใต้ จากนั้นก็ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยดาร์ตเมาท์ สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาวิทยาการสิ่งแวดล้อม

เขาได้เดินสายเพื่อเล่าถึงสิ่งที่เขาทำมาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน

หนึ่งในประโยคที่เขาพูดคือ “I try and I made it”

“ผมได้พยายาม และผมได้ทำมัน”

อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับสองสิ่งนี้นะครับ ความพยายาม และการลงมือทำ โดยมีความรู้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาและกอบกู้โลกได้