เศรษฐกิจ/’เอิร์ธ’ ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี แบงก์สะเทือน…สัญญาณเตือนแมลงเม่า

เศรษฐกิจ

‘เอิร์ธ’ ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี
แบงก์สะเทือน…สัญญาณเตือนแมลงเม่า

การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (บี/อี) ที่ไล่มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 จนถึงช่วงราวกลางปี 2560 เป็นเหตุการณ์ที่เข้ามาสร้างสีสันให้กับตลาดหุ้นในช่วงนี้
เพราะนักวิเคราะห์จากหลายโบรกเกอร์ยังมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าทิศทางตลาดหุ้นยังทรงตัวและเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา
และเมื่อลองเจาะไปที่สถานะของหุ้น “เอิร์ธ” หรือบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ที่ถูกห้ามซื้อขายหุ้นชั่วคราว หรือขึ้นเครื่องหมาย SP ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเครื่องหมาย NP (รอชี้แจงข้อมูล) อยู่ในขณะนี้ จะพบว่ามีที่มาที่ไปส่วนหนึ่งจากการผิดนัดชำระตั๋วบี/อี และจากความคลุมเครือเรื่องงบการเงินที่ประมาณการหนี้ว่าเพิ่มขึ้นมาภายหลังจากที่รายงานงบการเงินไตรมาส 1/2560 ถึง 26,000 ล้านบาท
และขณะนี้เอิร์ธกำลังถูกจับตามองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องอย่างธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต รวมถึงนักลงทุนและผู้ถือหุ้นที่รับผลกระทบกันเป็นทอดๆ
โดยความคืบหน้าล่าสุด ก.ล.ต. ออกหนังสือลงวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ให้เอิร์ธเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 30 วัน
และให้นำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินดังกล่าวต่อ ก.ล.ต. ภายใน 5 วันทำการ

ย้อนรอยสำรวจสถานะของเอิร์ธ จะสังเกตเห็นในรายงานงบการเงินไตรมาส 1/2560 ที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เอิร์ธแจ้งว่ามีสินทรัพย์รวมประมาณ 31,829 ล้านบาท
มีหนี้สินรวมประมาณ 21,480 ล้านบาท หรือมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้ประมาณ 10,349 ล้านบาท
ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องฐานะการเงินของบริษัท หากมองเรื่องจำนวนหนี้ที่มีน้อยกว่าสินทรัพย์!
แต่ทาง ก.ล.ต. ตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจหลักของเอิร์ธคือการซื้อขายถ่านหินหรือเทรดดิ้งถ่านหิน การบริหารสภาพคล่องมีความสำคัญมาก
โดยที่ผ่านมาบริษัทใช้แหล่งเงินทุนจากการขอสินเชื่อและการออกตราสารหนี้เพื่อจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้า และค่าจองสิทธิในการซื้อสินค้า
ซึ่งรายการดังกล่าวมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 อย่างมีนัยสำคัญ จึงมีคำสั่งให้เอิร์ธจัดหาผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นกรณีพิเศษ หรือสเปเชียลออดิท เกี่ยวกับการทำรายการเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าและเงินจองสิทธิในการซื้อสินค้า
เมื่อเวลาผ่านไปราว 1 เดือนหลังจากที่ ก.ล.ต. มีคำสั่งให้จัดหาสเปเชียลออดิทแล้ว ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 เอิร์ธได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว
จากกรณีที่มีคู่ค้ายื่นฟ้องบริษัท ทำให้เอิร์ธมีหนี้สิน ณ ปัจจุบัน รวมทั้งหมดประมาณ 47,480 ล้านบาท
แบ่งเป็น หนี้สินที่มียอดปรากฏในงบการเงินไตรมาส 1/2560 ราว 21,480 ล้านบาท
และมีหนี้ที่เพิ่มภายหลังการรายงานงบฯ และไม่ปรากฏในงบการเงินไตรมาส 1/2560 อีกประมาณ 26,000 ล้านบาท
เป็นเหตุให้ ก.ล.ต.-ตลท. ต้องสั่งให้มีสเปเชียลออดิทด่วน และหยุดการซื้อขายหุ้นเอิร์ธ จนกว่าจะอธิบายข้อกังขาให้ได้ว่า หนี้เพิ่มมาจากไหน? มีการตั้งด้อยค่าของสินทรัพย์หรือไม่
และ ก.ล.ต. ยังได้มีคำสั่งย้ำอีกครั้งว่า ให้เอิร์ธเร่งจัดหาสเปเชียลออดิทเข้ามาตรวจสอบ เพราะ ก.ล.ต. เห็นว่า จำนวนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมีจำนวนสูงถึง 1.21 เท่า ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของเอิร์ธเป็นอย่างมาก
ประกอบกับที่มาและสถานะของหนี้สินดังกล่าวที่เพิ่มมานั้นยังคลุมเครือไม่ชัดเจน มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นในวงกว้าง รวมทั้งการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนได้
จึงได้ระบุว่าสเปเชียลออดิทที่จัดหามาจะต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่ง (บิ๊กโฟว์)

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ อย่าง นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า “ก.ล.ต. สั่งให้เอิร์ธจัดหาสเปเชียลออดิท เพื่อตรวจว่ารายการหนี้ที่ปูดขึ้นมามีจริงหรือไม่ หากไม่มีหนี้หรือมีหนี้จริงแต่ไม่ลงบันทึก คณะกรรมการจะมีความผิดทางแพ่งและอาญา โดย ก.ล.ต. มีหน้าที่ดำเนินการ แต่จะต้องรอผลสอบของสเปเชียลออดิทและเอกสารที่เกี่ยวข้องก่อน”
ขณะที่ นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อหาแนวทางคุ้มครองนักลงทุนและผู้ถือหุ้นรายย่อย ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาเพิ่มเติม ให้นักลงทุนได้รับความเสียหายน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอำนาจเพียงให้บริษัทชี้แจงข้อมูลเท่านั้น ไม่สามารถสั่งผู้บริหารหรือกรรมการได้ เพราะอำนาจดังกล่าวอยู่ที่ ก.ล.ต. จึงต้องมีการประสานกันเพื่อหาแนวทางร่วมกัน

ด้าน นายธาดา พฤติธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ให้ความเห็นว่า สถานการณ์การผิดนัดชำระตั๋วบี/อีในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีเครดิตเรตติ้ง BBB+ ขึ้นไปมากขึ้น เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ส่งผลให้บริษัทที่ต้องการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มาออกหุ้นกู้และตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีการจัดอันดับเรตติ้ง
ส่วนภาพรวมบริษัทสุขภาพจดทะเบียนในขณะนี้ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ให้ความเชื่อมั่นว่า ภาพรวมสุขภาพบริษัทจดทะเบียนยังดีและไม่มีปัญหาอะไร โดยในระยะหลังมีการบริหารหนี้สินได้ดีขึ้นขณะเดียวกัน หากมองเรื่องหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนพบว่า อยู่ในเกณฑ์แข็งแรงดี
ส่วนกรณีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีเช่นกรณีของเอิร์ธ มองว่าไม่ได้มีปัญหาอะไรซ่อนอยู่ เป็นเพียงกรณีพิเศษ
ส่วนแนวโน้มของเหตุการณ์ใหม่ๆ หลังจากนี้ยังตอบไม่ได้

นอกจากประเด็นเรื่องการถูกจับตามองจากเรกูเรเตอร์ในตลาดหุ้นแล้ว หันมาดูทางฝั่งสถาบันการเงินก็มีเรื่องอีนุงตุงนังไม่ใช่น้อย
โดยไทม์ไลน์ช่วงวันที่ 7-8 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา เอิร์ธฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 60,000 ล้านบาท ต่อธนาคารธนชาต เนื่องจากนำความลับของบริษัทไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกจนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และไม่สามารถโอนเงินไปหมุนเวียนตามแผนธุรกิจที่ประเทศจีนได้ เพราะถูกอายัดบัญชีเงินฝากที่มีอยู่ประมาณ 800 ล้านบาทจากสถาบันการเงินดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนเงินที่ธนาคารธนชาตโดนฟ้อง เป็นเม็ดเงินที่สูงกว่ามาร์เก็ตแคปของบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารธนชาต ที่มีมูลค่า 56,100 ล้านบาท ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องตามต่อ เพราะทางธนาคารธนชาตเองเตรียมดำเนินการทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญาด้วยเช่นกัน
ส่วนสถาบันการเงินอีกแห่ง อย่างธนาคารกรุงไทยที่เป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดของเอิร์ธ ได้ตั้งสำรองหนี้ของบริษัทให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไปแล้วเต็มจำนวน 100% หรือตั้งสำรองไป 12,000 ล้านบาทในงบการเงินไตรมาส 2/2560
บทสรุปของเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นยังไง คงต้องรอลุ้นมหากาพย์เรื่องนี้กันต่อ
แต่ที่แน่ๆ ผู้ที่บาดเจ็บที่สุดหากเอิร์ธมีอันเป็นไป หนีไม่พ้นนักลงทุนรายย่อย
เหมือนที่หนังสือชี้ชวนการลงทุน มีเครื่องหมายดอกจันเตือนตลอดว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”