หลังเลนส์ในดงลึก : ‘หมาป่า’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมาไน - การพบเจอหมาไน ไม่ใช่เรื่องยากนักแล้ว พวกมันในพื้นที่ซึ่งมีคนมาก หลายตัวปรับตัว ลดระยะห่างยอมให้คนเข้าใกล้ได้มากขึ้น แม้ช่วงเวลาที่พวกมันทำงาน

 

‘หมาป่า’

 

หมาป่าในประเทศไทยมีอยู่สองชนิด คือ หมาจิ้งจอก กับหมาไน

ขึ้นต้นราวกับจะเป็นงานวิชาการ แต่ในความหมายที่ผมขึ้นต้นเช่นนี้เป็นเพราะว่าหมาป่าทั้งสองชนิด ต่างก็เป็นนักล่าซึ่งคนคุ้นหน้า รวมทั้งรู้เรื่องราวพวกมันไม่น้อย

คนทำงานในป่า พบเจอนักล่าพวกนี้บ่อย การอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ของหมาไน และมีวิธีการล่าซึ่งร่วมมือกัน หากหลับตาจะเห็นเป็นภาพนักล่าตัวมหึมา ไม่ใช่เพียงหมาตัวเล็กๆ อย่างที่ตามองเห็น

หมาจิ้งจอกนั่นต่างออกไป มันพอใจกับการใช้ชีวิตลำพังเป็นส่วนใหญ่ แต่ใช่ว่าหมาจิ้งจอกจะด้อยประสิทธิภาพ พวกมันมีเทคนิค มีความอดทน และ (ถูกหาว่า) เจ้าเล่ห์

ไม่มีภาพความเป็นพระเอกเหมือนนักล่าอย่างพวกเสือ

ผมพบเจอหมาป่าทั้งสองชนิดบ่อยๆ พวกมันเปิดโอกาสให้อยู่ร่วมวิถี บางครั้งขณะทำงาน บางครั้งในตอนพักผ่อน และหลายๆ ครั้งที่เห็นพวกมันทำงานพลาด

หมาป่าสอนบทเรียนหนึ่ง ไม่ใช่บทเรียนในการล่า ซึ่งมีทั้งล้มเหลว และประสบผล ไม่ใช่บทซึ่งต้องมีความพร้อม รู้หน้าที่ ไม่ใช่ตอนที่มันทำให้เห็นว่า ยังเดินมุ่งหน้าไปตามด่านด้วยฝีตีนมั่นคง ทิ้งความผิดพลาดไว้เบื้องหลัง

แต่ทุกครั้งที่เห็นหมาป่า พวกมันสอนบทเรียนในเรื่องของคน

 

ทุกครั้งที่พบเจอหมาป่า พวกมันทำให้ผมนึกถึงคน ผู้ซึ่งเติบโตแล้วเสมอ

รูปร่างรวมทั้งโครงสร้างของใบหน้าหมาป่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ไม่คงลักษณะเป็นลูกหมาตลอดเวลา

หมาในเมือง ที่ถูกเรียกว่าหมาบ้าน โดยเฉพาะสายพันธุ์ต่างประเทศ ที่ผสมดัดแปลงสายพันธุ์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคน จะมีลักษณะอันเห็นได้ชัดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะสูงวัยเพียงไหน นั่นคือลักษณะใบหน้า จะดูคล้ายลูกหมาอยู่เช่นนั้น

เมื่อมีโอกาสได้อยู่ร่วมในตอนหมาป่าทำงาน ดูคล้ายผมได้เห็นคนเติบโตเต็มวัยทำงานอันได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถ

หลังเสร็จงานถึงเวลาพัก ก็จะพักเต็มที่ มีอะไรผ่านมาก็เพียงปรือตามอง เวลาส่วนน้อยหยอกล้อเล่นกันบ้าง เหมือนฝึกฝนทักษะ

งานของนักล่า คือคุมปริมาณสัตว์กินพืชให้มีจำนวนเหมาะสม

มีความจริงซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า หมาป่าเป็นนักล่าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผล มากกว่าพระเอกอย่างพวกเสือ

ไม่ว่าจะใช้วิธีการล่าอย่างร่วมมือร่วมใจ หรือล่าโดยลำพัง ใช้เทคนิคสูง

ไม่น่าแปลกใจนักหรอก เพราะเมื่อใครก็ตามเติบโตเต็มวัยทำงานเต็มที่ ภารกิจในความรับผิดชอบย่อมประสบผล

 

ถ้าดูจากลักษณะการทำงาน ผมเป็นหมาไนอย่างที่ผมบอกเสมอๆ ว่า ผมคือคนซึ่งทำงานง่ายสุด เพียงแค่กดชัตเตอร์ มีคนทำงานในป่าจำนวนมากทำงานอย่างเอาจริง หลายคนแลกภารกิจด้วยชีวิตเพื่อให้สัตว์ป่าได้ดำเนินชีวิตไปตามวิถี ในแหล่งอาศัยอย่างที่ควรจะเป็น ภาพสัตว์ป่าที่คนได้เห็น มันคือ “ผลงาน” ของพวกเขา

หลายคนเป็นเพื่อน หลายคนเป็นยิ่งกว่า นั่นคือความเป็น “คู่หู”

เพื่อน หรือคู่หู เปลี่ยนหน้าไปเมื่อผมย้ายที่ทำงาน หลายคนอยู่ในวัยอาวุโส บางคนยังไม่ถึง 20 บางคนอยู่ในรุ่นเดียวกัน

ในวัยอันแตกต่าง แต่ทุกคนมีสิ่งคล้ายกันอย่างหนึ่ง นั่นคือทักษะการใช้ชีวิตในป่า

วันเวลาที่อยู่ร่วมกัน ทักษะที่พวกเขามีเหล่านี้ ทำให้ผมเป็นได้แค่ผู้ชายเงอะงะ เชื่องช้า ทำอะไรไม่เป็นเอาเสียเลย

สิ่งสำคัญมันทำให้รู้สึกได้ว่า การก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างความเป็นเด็กกับผู้ใหญ่ ในแบบที่ผมเห็นนั้น ไม่ใช่เพียงเรื่องเวลา หรือเรื่องของวัย

เดินตามพวกเขาเหล่านี้ในป่า หรือปีนขึ้นภูเขา

ผมรู้สึกได้ว่ากำลังเดินตามคนผู้ซึ่งเติบโตเต็มวัย

เติบโตทั้งร่างกาย และจิตใจ

 

เมื่อนึกถึงคู่หูสูงวัย หรือรุ่นราวคราวเดียวกัน ผมนึกถึงจะปุ๊ คู่หูชาวมูเซอดำ และอดิเทพ ชาวกะเหรี่ยงแถบบ้านจะแก

แต่ถ้านึกถึงคู่หูที่ยังอยู่ในวัยรุ่น วราผ่อ จะเป็นคนแรกที่ผมนึก

เขาเรียกผมว่า “จอมู่โคว้หว่า” อันมีความหมายว่า พี่ฟ้าขาว

วราผ่อ ช่วงเวลาที่เราทำงานด้วยกันในป่าทุ่งใหญ่ มีทักษะแบบที่ ถ้าผมพูดว่า อยากรู้ว่าข้างหน้ามีสภาพอย่างไร ยังไม่จบประโยค หันกลับมา วราผ่อขึ้นไปอยู่บนยอดไม้แล้ว

“ทำงานในป่าลำบากไหม” ผมถามวราผ่อ

“ไม่เลยครับ” เขาตอบ “ได้ทำงานที่รักก็มีความสุขตลอด” เขายิ้มกว้าง

วราผ่อ เด็กหนุ่มเชื้อสายกะเหรี่ยง ทำให้ทักษะ รวมทั้งประสบการณ์ที่ผมมี ดู “เงอะงะ” ตามเคย

 

หมาป่า ทำให้ผมนึกถึงคู่หูอย่างวราผ่อ

การก้าวข้ามพรมแดนระหว่างความเป็นเด็ก สู่ความเป็นผู้ใหญ่ สำหรับเขา คล้ายจะไม่ยุ่งยาก แต่กับบางคน ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายดาย

คู่หูอายุน้อยบางคนก้าวผ่านพ้นมา ขณะบางคนที่พบเจอ ไม่กล้าก้าวผ่าน

ไม่กล้า แต่ก็เชื่อและคิดว่า ตัวเองผ่านพ้นพรมแดนนั้นมาแล้ว