การศึกษา / ผ่าตัวเลข น.ร.หลุดระบบ ปัญหาใหญ่วงการศึกษาไทย

การศึกษา

ผ่าตัวเลข น.ร.หลุดระบบ

ปัญหาใหญ่วงการศึกษาไทย

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่มีมาเกือบ 2 ปี ส่งผลให้เด็กตกออกกลางคัน หรือเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา มีมากกว่า 1 ล้านคน

ซึ่งเป็นตัวเลขการประเมินของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อดีตนักวิชาการจากรั้วจามจุรี ภายหลังรับทราบข้อมูลนักเรียน นักศึกษา สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนคนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

นับเป็น “เด็กกลุ่มเสี่ยง” หรือ “เด็กกลุ่มล่องลอย” ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ค้นหา และดึงกลับสู่ระบบ

ล่าสุด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้สำรวจข้อมูลนักเรียนที่ได้รับทุนในกลุ่มรอยต่อ ตั้งแต่ระดับอนุบาล 3 ขึ้นชั้น ป.1, ชั้น ป.6 ขึ้นชั้น ม.1 และชั้น ม.3 ขึ้นชั้น ม.4 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จากข้อมูลวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 มีนักเรียนได้รับทุนศึกษาของ กสศ.กว่า 200,000 คน

ในจำนวนนี้ไม่พบข้อมูลการเรียนต่อ 41,610 คน จำแนกดังนี้ อนุบาล 3 จำนวน 391 คน ชั้น ป.6 จำนวน 8,092 คน และชั้น ม.3 จำนวน 33,127 คน

 

สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำข้อมูล และรายชื่อนักเรียนมาจำแนกว่าเด็กอยู่โรงเรียนไหน อยู่จังหวัดใด และนำรายชื่อทั้งหมดให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อให้ไปติดตามเด็กเหล่านี้ให้กลับเข้ามาเรียน

ทั้งนี้ จากภาคเรียนที่ 1/2564 จนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 สพฐ.สามารถตามเด็กให้กลับเข้ามาเรียนในระบบได้มากถึง 26,657 คน เหลือนักเรียนในสังกัด สพฐ.เดิม ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาใด 14,953 คน ดังนี้ อนุบาล 3 จำนวน 266 คน ชั้น ป.6 จำนวน 5,901 คน และชั้น ม.3 จำนวน 8,786 คน

ในจำนวน 14,953 คน พบว่า เป็นเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร จำนวน 1,052 คน แบ่งเป็น เด็กรหัส G จำนวน 964 คน และเด็กที่มีเลขบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วย 00 จำนวน 88 คน เป็นเด็กที่มีข้อมูลทางทะเบียนราษฎร จำนวน 13,901 คน

ซึ่ง สพฐ.จะต้องติดตามเด็กให้เข้าสู่ระบบการศึกษาต่อไป

 

สําหรับการติดตามนักเรียน 14,953 คน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา สพฐ.จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. การติดตามเด็กที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 6,167 คน

จำแนกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 1,066 คน ภาคกลาง 697 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,726 คน ภาคตะวันออก 153 คน และภาคใต้ 2,525 คน

ทั้งนี้ สพฐ.ได้ประกาศตั้งคณะทำงาน ปักหมุด เช็กอิน ค้นหาเด็กทุกคนให้เจอ เพื่อดึงกลับเข้าระบบการศึกษาภาคบังคับ แม้จะไม่อยู่ตามข้อมูลในทะเบียนราษฎร และจะทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง หากไม่ให้เรียนการศึกษาภาคบังคับ จะมีความผิดตามกฎหมาย

และ 2. เด็กที่อายุเกิน 15 ปี ที่ไม่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 8,786 คน สพฐ.จะให้คณะทำงานลงพื้นที่ตามหา สร้างความเข้าใจ และสร้างแรงจูงใจให้เด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามความสมัครใจ

โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีโครงการ “อาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ” หรือ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ช่วยเหลือนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา และตกหล่นจากระบบการศึกษา โดยเรียนในลักษณะโรงเรียนประจำ เรียนฟรี มีที่พัก พร้อมอาหาร ฟรีตลอดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)

แต่ถ้าไม่อยากเรียน “สายอาชีพ” ก็เรียน “สายสามัญ” ได้…

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่ได้เรียน หรือออกกลางคัน ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีปัญหาเศรษฐกิจ เด็กอาจดูแลพ่อ-แม่ที่เจ็บป่วย อาจย้ายตามผู้ปกครอง หรือต้องหารายได้จุนเจือครอบครัว ผู้ปกครองมีรายได้น้อย ขาดแคลนทุนทรัพย์

รวมถึงเด็กอาจอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล อยู่ในพื้นที่ป่าเขา เกาะแก่ง ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา!!

 

อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้วางแผนการดำเนินการติดตามเด็กตกหล่น หรือเด็กออกกลางคัน แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  1. Past ดำเนินงานตามระบบช่วยเหลือนักเรียน เพื่อป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา โดยคัดกรองนักเรียน (เด็กกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา) จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม และพัฒนาตามศักยภาพของแต่ละบุคคล มีแนวทางป้องกันช่วยเหลือ และแก้ไข
  2. Present สพฐ.ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจสอบข้อมูลการจ่ายเงินเยียวยา 2,000 บาท และข้อมูลของกองทุน กสศ.เพื่อเช็กความซ้ำซ้อนข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในภาพรวมของ ศธ.และประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่จัดการศึกษาอื่นในสังกัด ศธ.และองค์กรป้องครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

และ 3. Future จะปฏิบัติการเช็กอิน โดยตรวจสอบถิ่นที่อยู่ของเด็กจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเป็นรายบุคคล จากนั้น สพฐ.จะประชุมมอบนโยบายให้ สพท.ทุกเขต ติดตามค้นหาเด็กให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา สพท.แจ้งโรงเรียนในสังกัด ออกติดตามเยี่ยมบ้านนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อทราบถึงปัญหา หรือสาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา และช่วยเหลือกลับสู่โรงเรียน ให้โรงเรียนร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และชุมชน โดยครูที่ปรึกษาเป็นแกนหลักในการติดตามช่วยเหลือนักเรียน และค้นหาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และได้รับการศึกษา รวมทั้งป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา

ขณะเดียวกัน เพื่อให้การคัดกรอง และติดตามนักเรียนกลุ่มยากจนครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงดึงนักเรียนที่หลุดออกจากโรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กลับเข้าสู่ระบบอย่างได้ผล สช.จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การวิจัยคุณภาพครู และสถานศึกษา ร่วมกับกองทุน กสศ.

เพื่อขับเคลื่อนการศึกษา!!

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกองทุน กสศ.ระบุว่า ขณะนี้มีเด็กยากจนจำนวนมากที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา โดย กสศ.ขยายสังกัดเพิ่มเติมขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถช่วยเด็กกลุ่มนี้มากกว่า 1.2 ล้านคน

โดยกองทุน กสศ.ได้ช่วยเหลือนักเรียนยากจน เริ่มจากสังกัด สพฐ.ที่มีนักเรียนยากจนมากที่สุด และขยายไป อปท., ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และยังมีอีกหลายสังกัดที่ไม่ครอบคลุม รวมถึง สช.

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุน กสศ.กล่าวว่า ภาพรวมของเด็กที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ มีประมาณ 8 ล้านคน พบว่า มีนักเรียนที่อยู่ในครอบครัวยากจน 15% ในจำนวนนี้มีประมาณ 5% หรือประมาณ 500,000 คน ที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยนักเรียนในกลุ่มยากจนจะหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1 ใน 3 แม้จำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษา 5% อาจดูน้อย แต่ถ้าดูข้อมูลเชิงลึกแล้ว จะพบว่าปัญหานี้ต้องหาทางช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้เด็กยากจนหลุดจากระบบการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุน กสศ.มองว่า ถ้า กสศ.จะตามเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาให้กลับเข้ามา อาจยาก เพราะไม่รู้ว่าแต่ละคนอยู่ที่ไหน แม้เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว ก็อาจอยู่ได้ไม่นาน เพราะยังเจอปัญหาเก่าๆ คือปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้น โจทย์สำคัญของ กสศ.คือจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

ต้องจับตาว่า ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตาม และนำเด็กที่หลุดออกจากระบบ หรือตกออกกลางคัน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน!!