จรัญ มะลูลีม : กาตาร์ประเทศเล็กใจใหญ่ (1)

จรัญ มะลูลีม

มากกว่าหนึ่งทศวรรษที่กาตาร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ไกล่เกลี่ย (powerbroker) ที่มีอิทธิพลในตะวันออกกลางและเลยไปยังดินแดนอื่นๆ

ทั้งๆ ที่เป็นที่รับรู้กันว่าประวัติศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ทางการทูตของกาตาร์กับภูมิภาคและกับโลกนั้นแสนจะสั้น แต่กาตาร์ก็ปรากฏตัวในฐานะผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญอยู่ทั้งในตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

กาตาร์ถือกำเนิดมาไม่นาน เป็นรัฐเล็กๆ มีประชากรน้อยแต่อยู่ท่ามกลางยักษ์ใหญ่ของภูมิภาคอย่างอิหร่านที่อยู่ทางเหนือและซาอุดีอาระเบียทางใต้ เป็นรัฐกษัตริย์ตะวันออกกลาง (Shiekhdom) ที่มีรายได้มวลรวมสูงสุดของโลกมาแล้ว จนกลายมาเป็นตัวแทนสำคัญที่มีอิทธิพลอยู่ในภูมิภาค

ในภูมิภาคตะวันออกกลาง กาตาร์ได้เปลี่ยนตัวเองไปเป็นที่รวมและเป็นศูนย์กลางของโลกาภิวัตน์

ถ้าได้มีโอกาสมาเยือนกาตาร์อย่างที่ผมได้มีโอกาสมาพบนักเรียนไทยที่นี่ในปี 2016 และการประชุมของโลกมุสลิมอื่นๆ ก่อนหน้านั้นก็จะพบด้วยตาตนเองว่ากาตาร์ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นศูนย์กลางของโลกาภิวัตน์ไปแล้วในหลายแง่มุม

 

โดฮา (Doha) ที่เป็นเมืองหลวง แม้จะผ่านการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่เป็นการเปลี่ยนสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่รวดเร็วท่ามกลางตึกรามบ้านช่องสูงระฟ้าที่งดงามทันสมัย

ท้องถนนที่สะอาดและการจัดตลาดทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่สะท้อนความเป็นกาตาร์

ไม่ว่าจะเป็นตลาดนกเหยี่ยว ถนนคนเดิน สตูดิโอแสดงภาพเขียนที่อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่น้อยแห่งในตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ กาตาร์ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการยกย่องว่าอยู่ในระดับโลก

รวมทั้งสายการบินระดับโลก ที่รู้จักกันดีนั่นคือ Gatar Airways

ผมเคยนั่งคุยกับเด็กไทยที่เป็นแอร์โฮสเตสขณะเดินทางจากกรุงโดฮามาประเทศไทยได้เล่าให้ฟังว่าชีวิตในโดฮาเป็นชีวิตที่มีความสุข

มีคนไทยหลายคนที่เป็นแอร์โฮสเตสและพำนักอยู่ริมอ่าวเปอร์เซีย

แอร์โฮสเตสที่ร่วมสนทนาอยู่ด้วยบอกให้ผมดูบริเวณตึกที่เธอพำนักอยู่และเครื่องบินบินผ่านด้วยความภูมิใจ

กรุงโดฮาของกาตาร์เติบโตเคียงคู่มากับกรุงดูไบและอะบูดาบีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

อย่างไรก็ตาม กาตาร์ดูเหมือนจะเป็นประเทศที่มีนโยบายต่างประเทศที่เป็นตัวของตัวเองมากกว่าที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE เป็น

 

ที่ผ่านมานโยบายต่างประเทศของกาตาร์เป็นไปในเชิงรุก (proactive diplomacy) นอกจากนี้ กาตาร์ยังประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยว่าด้วยสันติภาพในเลบานอนในปี 2008 และซูดานในปี 2011

จากการเป็นนักไกล่เกลี่ย ปัจจุบันเมื่อเกิดความร้าวฉานทางการทูตกับซาอุดีอาระเบีย UAE และบาห์เรน กาตาร์กำลังได้รับการไกล่เกลี่ยจากแอร์โดอานผู้นำตุรกี และคูเวตที่พยายามดำรงความเป็นกลางในหมู่สมาชิกสภาความร่วมมือแห่งอ่าวมาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ กาตาร์ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือฝ่ายกบฏโค่นอำนาจของ มุอัมมัร ก๊อซซาฟีย์ ของลิเบียลงได้

ซึ่งในกรณีนี้อาจตีความได้หลายทาง

สำหรับผู้เห็นใจผู้นำที่ยิ่งใหญ่อย่างก๊อซซาฟีย์ กาตาร์ก็คือผู้ที่เข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของลิเบียหรือถือหางประเทศตะวันตกที่ต้องการโค่นก๊อซซาฟีย์ที่มีความเห็นกันโดยทั่วไปว่าจบชีวิตลงโดยทหารตะวันตกที่เข้าไปแทรกแซงในลิเบียอันเป็นประเทศที่ยังคงดำรงความแตกแยกอย่างหนักหลังการโค่นอำนาจก๊อซซาฟีย์

ทั้งนี้ กรณีการแทรกแซงของตะวันตกที่มีต่ออิรักในสงครามอ่าวเปอร์เซียจนมาถึงการแขวนคอ ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรัก และกรณีสหรัฐ ฝรั่งเศสและอังกฤษเข้าไปก้าวก่ายลิเบียช่วงอาหรับสปริง (2011) จะพบว่าทั้งโอบามา (กรณีลิเบีย) และ โทนี่ แบลร์ (กรณีอิรัก) ล้วนออกมายอมรับถึงความผิดพลาดในการรุกเข้าไปในประเทศทั้งสอง

แม้ว่าจะไม่เสียใจที่ ซัดดัม ฮุสเซน และ มุฮัมมัด ก๊อซซาฟีย์ ต้องมาจบชีวิตลงก็ตาม

 

ด้วยเหตุนี้การรุกรานของตะวันตกจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุแห่งความยุ่งเหยิงและความขัดแย้งในตะวันออกกลางมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการเข้าแทรกแซงเพื่อโค่นผู้นำซีเรียด้วยการสนับสนุนฝ่ายกบฏและติดอาวุธให้ จนกระทั่งทรัมป์ออกมากล่าวอย่างเปิดเผยว่าสหรัฐจะเลิกติดอาวุธให้ฝ่ายกบฏเพราะเป็นที่รับรู้กันว่าโอกาสที่จะเอาผู้นำซีเรียลงจากอำนาจนั้นดูเหมือนจะเลือนรางเข้าไปทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัสเซียเข้ามาช่วยซีเรียอย่างเต็มตัว

อีกบาดแผลหนึ่งที่กาตาร์ล้มเหลวคือความพยายามร่วมกับสหรัฐและพันธมิตรอาหรับแถบอ่าวโค่นล้ม บาชัร อัล-อะสัดของซีเรีย

กระนั้นกาตาร์ซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจดีกว่าประเทศอื่นๆ ก็ยังปรากฏตัวขึ้นมาในฐานะตัวแสดงในภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

หากไม่มีความขัดแย้งทางการทูตกับประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียและแอฟริกาเหนืออย่างอียิปต์ กาตาร์ก็จะยังคงดำรงความเป็นตัวแสดงสำคัญในภูมิภาคต่อไป

 

กาตาร์เติบโตมาได้จากการพบกันของสองแนวโน้มคือในระดับโลกและในระดับภูมิภาคในทั้งสองระดับนี้มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของกาตาร์

ท่ามกลางความจำกัดตัว ทั้งในทางการทูต การเมือง สาธารณูปโภคและสำมะโนประชากร กระนั้น กาตาร์ก็สามารถดันตัวเองเข้ามาเป็นประเทศสำคัญของโลกได้ในที่สุด

ในเวลานี้ตะวันออกกลางเริ่มแลเห็นอำนาจที่เสื่อมลงของประเทศที่เคยมีบทบาทเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคและเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในแถบคาบสมุทรอาหรับแล้ว

ก่อนหน้านี้หลายทศวรรษ เราจะพบว่าศูนย์กลางทางการทูตการทหารและอำนาจทางอุดมการณ์ ล้วนไปรวมกันอยู่ตามเมืองหลวงใหญ่ๆ อย่างเช่น กรุงไคโรของอียิปต์ กรุงดามัสกัสของซีเรีย กรุงแบกแดดของอิรัก และกรุงเตหะรานของอิหร่าน โดยถือกันโดยทั่วไปว่าเมืองหลวงเหล่านี้เป็นแหล่งรวมแห่งการคุ้มครองมัสญิดอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดทั้งหลายของอิสลาม (custodian of Islam”s holiest Mosques)

ส่วนกรุงริยาดของซาอุดีอาระเบียก็ถือว่าเป็นคู่แข่งสำคัญกับประเทศในภูมิภาคที่ได้กล่าวมาข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 โวหารทางการเมืองและสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ได้สะท้อนความอ่อนแอในทางสถาบันและในทางโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในการเมืองของซีเรีย อิรัก และอิหร่าน

มีหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้นับตั้งแต่ การขยายตัวของชนชั้นกลางที่ขาดประสิทธิภาพเศรษฐกิจที่อยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน โครงสร้างพื้นฐานที่แตกทำลายและนโยบายของประเทศที่ขาดความกระตือรือร้น

สภาพดังกล่าวมีส่วนต่อการสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่าในทางการเมือง เศรษฐกิจ อุดมการณ์และการทูต ความเสื่อมโทรมเหล่านี้มีต่อไปจนถึงปี 2000 และส่งผลต่อเนื่องไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างตั้งตัวไม่ทันที่เรียกกันว่าอาหรับสปริงในปี 2011