เสฐียรพงษ์ วรรณปก : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (1) จากพุทธคยาถึงสารนาถ

เคยมีผู้ถามข้อข้องใจเกี่ยวกับพุทธประวัติหลายตอน ตอนหนึ่งว่า หลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นโพธิ์และบริเวณปริมณฑลกี่สัปดาห์ และเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง เพราะตำราเขียนต่างกัน

ผมเรียนว่า ตำรามิได้เขียนต่างกัน เพียงแต่เราเอาตำรามาปนกันเลยสับสน

ถ้าถือ ตำราหลัก (คือ พระไตรปิฎก) ก็จะได้ความอย่างหนึ่ง ถ้าถือ ตำรารอง (คือ อรรถกถา) ก็จะได้ความเพิ่มเติมไปอีกอย่างหนึ่ง พุทธประวัติมีเล่าทั้งในตำราหลักและตำรารอง ผู้ศึกษาต้องกำหนดเป็นเบื้องต้นก่อนว่า ข้อความใดมีในพระไตรปิฎก ข้อความใดเพิ่มเติมมาในอรรถกถา แล้วก็ใช้ข้อความหรือข้อมูลนั้นๆ เสริมกัน

ขอยกข้อมูลจากพระไตรปิฎกมาเล่าก่อนดังนี้

1.หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นไม้ที่ตรัสรู้ (ต้นไม้นี้เดิมชื่อ อัสสัตถะ ต่อมาเรียกต้นโพธิ์ เพราะพระพุทธเจ้าได้ โพธิ ใต้ต้นไม้นี้) 7 วัน ทรงพิจารณาธรรมที่ตรัสรู้แล้วคือ ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา กลับไปกลับมา

ขณะพิจารณาพระพุทธองค์ทรงเปล่งพุทธอุทานว่า เมื่อธรรม (ปฏิจจสมุปบาท) ปรากฏชัดแก่ผู้เพียรเพ่งพินิจ ความสงสัยย่อมหมดไป และขจัดมารพร้อมเสนามารได้ เพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ และเพราะรู้การดับไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย

ปฏิจจสมุปบาท กับ อิทัปปัจจยตา เป็นเรื่องเดียวกัน มิใช่สองเรื่องต่างกัน

อ้อ! พระพุทธองค์ตรัสรู้ อริยสัจ 4 แต่เวลาพิจารณารายละเอียด ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท นี้ก็อย่าง เป็นเรื่องเดียวกันอีกนั่นแหละ มิใช่คนละเรื่องเดียวกันแต่ประการใด

2.สัปดาห์ที่ 2 เสด็จจากต้นโพธิ์ไปประทับใต้ต้น อชปาลนิโครธ

ไทรย้อยต้นนี้ มักจะมีเด็กเลี้ยงแกะมาอาศัยอยู่เสมอ จึงชื่อ อชปาลนิโครธ

ทรงโต้ตอบกับพราหมณ์ผู้มีทิฐิมานะคนหนึ่งที่ชอบตวาดคนอื่นที่มีวรรณะต่ำกว่าตน

3.สัปดาห์ที่ 3 เสด็จไปประทับใต้ต้น มุจลินท์ (แปลกันว่า ต้นจิก)

ในช่วงเวลานี้มีฝนตกพรำๆ ตลอดสัปดาห์ พญามุจลินทนาคราช ขึ้นมาขดและแผ่พังพานบังลมและฝนให้

เมื่อฝนหายแล้วก็คลายขนดจำแลงร่างเป็นมาณพน้อยยืนประคองอัญชลีนมัสการอยู่

พระพุทธองค์ทรงเปล่งพุทธอุทานความว่า

“ความสงัดของผู้ยินดีในธรรม ผู้สดับธรรมและเห็นธรรมเป็นสุข การระมัดระวังไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย, การละกามคุณได้เป็นสุข, การละอัสมิมานะ (ความถือตัว) เสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง”

4.สัปดาห์ที่ 4 เสด็จไปประทับใต้ต้น ราชายตนะ (ต้นเกด) ณ ที่นี้มีพ่อค้าสองคนจากอุกกลาชนบท นามว่า ตปุสสะกับภัลลิกะ มาพบ ถวายสัตตุผง (มันถะ) และสัตตุก้อน (มธุปิณฑิกะ) เปล่งวาจาถึงพระรัตนะทั้งสอง คือ ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ (ขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์) ทั้งสองเรียกว่าเป็น เทฺววาจิกา อุบาสก (อุบาสกที่ถึงพระรัตนะทั้งสอง) เป็นคู่แรก

ตามความในพระบาลีพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุติสุขใต้ต้นไม้ต่างๆ 4 แห่ง 4 สัปดาห์ เป็นเวลา 28 วัน

แต่ในอรรถกถา ท่านเพิ่มเข้ามาอีก 3 สัปดาห์ ช่วงที่เพิ่มก็คือระหว่างสัปดาห์แรกกับสัปดาห์ที่สอง (เพิ่มเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาด้วย) เป็น 4 สัปดาห์ แล้วก็เลื่อนสัปดาห์ที่ 2-3-4 เดิม เป็นสัปดาห์ที่ 5-6-7 ตามลำดับ ดังนี้

(1) สัปดาห์ที่ 1 อยู่ใต้ต้นโพธิ์ ดังในพระบาลีพระไตรปิฎก

(2) สัปดาห์ที่ 2 เสด็จถอยไปทางทิศอีสานของต้นโพธิ์ ทรงยืนจ้องพระเนตรยังต้นโพธิ์ไม่กะพริบเป็นเวลา 7 วัน ณ ที่นี้เองได้เกิด อนิมิสสเจดีย์ ขึ้น

(3) สัปดาห์ที่ 3 เสด็จดำเนินจงกรม (คือเดินกลับไปกลับมา) ระหว่างต้นโพธ์กับอนิมิสสเจดีย์นั้น เป็นเวลา 7 วัน

(4) สัปดาห์ที่ 4 ประทับขัดสมาธิ พิจารณาพระอภิธรรมตลอด 7 วัน ณ เรือนแก้วที่มีเทวดานิรมิตให้อยู่ทางเหนือของต้นโพธิ์

สัปดาห์ที่ 5-6-7 ข้อความเหมือนที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก แต่แทรกเหตุการณ์เข้ามาบางเรื่องบางราวให้มีสีสันขึ้นคือ

เหตุการณ์ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ ได้แทรกเรื่องราวธิดามาร 3 ตน นาม ตัณหา ราคา และอรดี ตามลำดับ รับอาสาพญามารนาม วสวัตตี ผู้พ่อ มายั่วยวนพระพุทธเจ้าหลังจากวสวัตตีพ่ายแพ้พระพุทธองค์ไป ธิดามารทั้ง 3 มาร่ายรำยั่วยวนพระพุทธองค์อย่างไร ก็มิได้รับความสนพระทัยจากพระองค์แม้แต่น้อย จึงพ่ายแพ้อันตรธานไปในที่สุด

ตรงนี้ทำให้ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแคลงพระทัยว่า ไม่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อพญามารที่มาผจญ เป็นสัญลักษณ์แทนกิเลส เมื่อกิเลสเป็นรากเหง้า คือ โลภ โกรธ หลง พ่ายแพ้ไปโดยสิ้นเชิง พระบรมโพธิสัตว์เป็นพระพุทธเจ้าทรงชนะมารได้เด็ดขาดแล้ว ไฉนยังมีฉากให้ธิดามาร ซึ่งเป็นกิเลส มายั่วยวนพระองค์อีก

แต่หลวงพ่อพุทธทาส ได้เสนอแนวคิดในอีกทางหนึ่งว่า ฉากธิดามารมายั่วพระพุทธองค์ เป็นเพียงการทรงหวนรำลึกถึงความร้ายกาจของกิเลสที่ทรงเอาชนะแล้ว เพียงแต่ทรงย้อนนึกถึงความชั่วร้ายของกิเลสชั่วครู่เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ที่ธิดามารมายั่วชั่วประเดี๋ยวก็หายไปนั้น สมเหตุสมผลแล้ว ท่านว่าอย่างนั้น

เหตุการณ์ใต้ต้นราชายตนะหรือต้นเกด อรรถกถาได้เพิ่มข้อความว่า พ่อค้าสองคนได้กราบทูลขออะไรสักอย่างเป็นที่ระลึก พระพุทธองค์ทรงประทานเส้นพระเกศาให้ สองพ่อค้าได้นำพระเกศธาตุนั้นไปบูชาในประเทศของตน

ตรงนี้อรรถกถามิได้บอกว่า พ่อค้าสองคนนั้นเป็นใคร แต่พม่าได้อ้างว่า พ่อค้าสองคนนี้มาจากประเทศพม่า ได้นำพระเกศธาตุนั้นไปเมืองมาตุภูมิ ก่อพระเจดีย์บรรจุไว้บูชา พระเจดีย์นั้นคือ ชเวดากองในปัจจุบันนี้ ว่าอย่างนั้น นี่ก็ต่อเติมเสริมต่อกันไปไกลโข ฝากไว้พิจารณาด้วย

จากหลักฐานในอรรถกถา พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นโพธิ์และบริเวณปริมณฑลเป็นเวลา 7 สัปดาห์ รวม 49 วัน เกือบ 2 เดือน ถ้าถามว่าทำไมท่านจึงเพิ่มเวลาเข้ามาจาก 28 วัน เป็น 49 วัน คำตอบน่าจะเป็นดังนี้ด้วย

(1) จากวันตรัสรู้ถึงวันทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ 2 เดือนพอดี ระยะทางจากพุทธคยาไปยังสารนาถ (ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน สมัยโน้น) ประมาณ 200 กว่ากิโลเมตร (220 กิโลเมตร ประมาณนั้น) ถ้าหากพระพุทธองค์เสด็จออกจากพุทธคยาหลังจากตรัสรู้ 7 วัน ก็ไม่ทราบว่าจะให้พระพุทธองค์ไปประทับอยู่ที่ไหน จึงจะพอเหมาะพอดีกับเวลา 53 วัน

(เพราะในพระไตรปิฎกมิได้บอกว่าพระองค์ทรงแวะที่ไหนระหว่างทางก่อนจะถึงสารนาถ มีฉากเดียวคือ พบกับอุปาชีวก ซึ่งก็สนทนากันเพียงครู่เดียว แล้วก็เสด็จดำเนินผ่านไป)

จึงเกณฑ์ให้พระพุทธองค์ประทับยับยั้งอยู่ ณ ตำบลพุทธคยา 7 สัปดาห์ (49 วัน) เหลือเวลา 11 วัน สำหรับการเสด็จดำเนินด้วยพระบาทจากพุทธคยาไปสารนาถ (ให้พระพุทธองค์เสด็จดำเนินไปอย่างช้าๆ วันละประมาณ 20 กิโลเมตร)

ค่อยพอสมเหตุสมผลหน่อย คงเพราะเหตุนี้ประการหนึ่ง พระอรรถกถาจารย์จึงเกณฑ์ให้พระพุทธองค์ทรงยับยั้งอยู่ที่พุทธคยาเป็นเวลานานถึง 49 วัน

(2) พิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เพิ่มเข้ามาก็น่าคิดไม่น้อย ณ รัตนฆรเจดีย์ นั้น ให้พระพุทธองค์ทรงพิจารณาอภิธรรมตลอด 7 วัน ตรงนี้นำมาสันนิษฐานได้ว่า ผู้แต่งอรรถกถาคือ พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านต้องการจะหาเหตุผลมาแสดงว่า พระอภิธรรมปิฎกนั้น มิใช่เป็นพัฒนาการในยุคหลัง พระอภิธรรมปิฎกนั้นเป็นพุทธวจนะแน่นอน และมีมาพร้อมกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าเมื่อประกาศพระศาสนา ทรงแสดงเฉพาะธรรมกับวินัย แต่อภิธรรมก็มีมาแล้ว และรวมอยู่ในคำว่า ธรรม นั้นเอง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในราวพุทธศตวรรษที่ 9 ที่ 10 เป็นต้นมา มีกระแสคัดค้านพระอภิธรรมปิฎกว่า ไม่ใช่พุทธพจน์ เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมมาภายหลัง สมัยพุทธกาลนั้นมีแต่ธรรมกับวินัย

พูดให้ชัดก็ว่า พระสุตตันตปิฎกกับพระวินัยปิฎกเก่าแก่และเป็นพุทธวจนะ ส่วนอภิธรรมปิฎก เพิ่มเติมมาภายหลัง

พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านเป็นพระสำนักอภิธรรม ท่านต้องการแสดงว่า พระอภิธรรมปิฎก นั้นเก่าแก่เช่นเดียวกัน จะว่าไปแล้วมีมาตั้งแต่ตอนที่พระองค์ตรัสรู้ด้วยซ้ำ เพราะพระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระอภิธรรม ณ รัตนฆรเจดีย์ ในสัปดาห์ที่ 3 หลังตรัสรู้

ท่านเพิ่มเข้ามาเอง ก็เป็นหลักฐานอ้างอิงในภายหลังได้สิครับ ดังฝ่ายเซน เพิ่มพระสูตรว่า พระพุทธเจ้าทรงประทาน “เซน” แก่พระมหากัสสปะ ณ เขาคิชฌกูฏ เพราะฉะนั้น “เซน” จึงเป็น “รหัส” ลับเฉพาะที่พระพุทธเจ้าประทานมา

ถ้าใครถามหาหลักฐาน เขาก็บอกได้ว่า มีพูดไว้ใน “มหาพรหมปัญหสูตร” ตรัส ณ เขาคิชฌกูฏ แก่เหล่าสาวกอันมีพระมหากัสสปะเป็นหัวหน้า

เมื่อฝ่ายเถรวาทอ้างหลักฐานได้ ฝ่ายเซนเขาก็มีสิทธิ์อ้างได้เช่นกัน จะไปหาว่าเขาแต่งพระสูตรขึ้นภายหลังได้อย่างไร ในเมื่ออรรถกถาของฝ่ายเถรวาทก็แต่งภายหลังเหมือนกัน

ผมคิดว่าที่พระอรรถกถาจารย์ท่านเพิ่มเหตุการณ์ ให้พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาพระอภิธรรมหลังตรัสรู้ ก็เพื่อจะสร้างความชอบธรรมว่า พระอภิธรรมปิฎกก็เป็นพุทธพจน์ และมีมาตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับ ธรรม และ วินัย (ซึ่งต่อมากลายเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก)

มองไม่เห็นเหตุผลอื่น หรือใครมองเห็นก็บอกมาก็แล้วกันครับ