เผยชีวิต ‘กบฏบวรเดช’ ในอินโดจีน และบันทึกประวัติศาสตร์ที่ ‘ถูกฉีกหาย’ | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“…การอยู่ในประเทศอินโดจีนนี้ผู้หญิงออกจะหาได้ง่ายมากเพราะคนญวนยากจน ละทิ้งขนบทำเนียบประเพณีเก่าๆ เสียมาก ยิ่งในเมืองไซ่ง่อนด้วยแล้วผู้หญิงราคาถูกมาก…ผู้หญิงที่หาได้ง่ายๆ นั้น จึงมักจะมีโรคภัยไข้เจ็บมาปล่อยให้ผู้ชายเสมอ คราวหนึ่งข้าพเจ้าป่วยถึงกับเดินไม่ได้ ข้อเท้าและหัวเข่าบวมไปหมดเดินไม่ได้ แต่ข้าพเจ้าเป็นนักเที่ยวจึงคบกับเพื่อนที่เป็นพยาบาลตามโรงพยาบาลต่างๆ หลายคนมีโรคภัยไข้เจ็บ พวกเพื่อนๆ ก็มาช่วยฉีดยาให้ เสียเงินบ้างไม่เสียบ้าง เจ็บกันบ่อยๆ เต็มที แต่ขอชมเชยว่ายาของฝรั่งเศสรักษาโรคประเภทนี้ก้าวหน้ากว่ายาชนิดนี้ของชาติอื่นๆ มาก…”
(ร.อ.หลวงโหมรอนราญ. 2520)

ภายหลังที่ฝ่ายกบฏบวรเดชความพ่ายแพ้ให้กับรัฐบาลคณะราษฎรและเหล่าพลเมืองภายหลังการปฏิวัติ 2475 แล้ว สมาชิกระดับนำขี่ม้าข้ามพรมแดนจากไทยข้ามไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2476

ต่อมา พวกเขาได้รับการนิรโทษกรรมโดยรัฐบาลภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สมาชิกบางส่วนถูกปลดปล่อยและเดินทางกลับมายังไทยได้

จากนั้น พวกเขาได้เขียนหนังสือสารคดีการเมืองเล่าความทุกข์ยาก และสร้างคำอธิบายถึงสิ่งที่พวกเขาทำในอดีตขึ้นใหม่เป็นหนังสือขายและแจกเป็นหนังสืองานศพ

ด้วยความสามารถในการประพันธ์ เรื่องเล่าเหล่านี้ผนวกกับบริบทของการเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ 2510 ทิศทางเหล่านี้นำไปสู่ความเข้าใจที่กลับตาลปัตรว่า คณะราษฎรเป็นบรรพบุรุษของเผด็จการทหาร ส่วนเหล่ากบฏบวรเดช คือ พวกพิทักษ์ประชาธิปไตยจากเผด็จการคณะราษฎร ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของพวกเขากลายเป็นวีรบุรุษของหนุ่มสาวในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั่นเอง (ประจักษ์ ก้องกีรติ, 2556)

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องเล่าบางส่วนของพวกเขาที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่าสนใจ เช่น

หน้าที่ 39 ฉบับสมบูรณ์ในบันทึกความทรงจำของหลวงโหมฯ จากห้องสมุดส่วนตัว

เมนูหูฉลาม :
ความยากลำบากที่บางขวาง

ชุลี สารนุสิต เป็นหนึ่งในสมาชิกกบฏบวรเดช เขาได้บันทึกช่วงชีวิตที่ถูกคุมขังในคุกบางขวาง ไว้ว่า

“ชีวิตปีแรกในคุกบางขวางการกินอยู่ของพวกเราฟุ่มเฟื่อยมาก มื้อเช้า กาแฟ ขนมปังกรอบฮันทเลย์แอนด์ปาลเมอร์ เนยตราวัว นมข้นหวานตราหมี ตับห่านกระป๋อง มื้อกลางวันขนมปังสดหรือขนมปังอบกับแฮมหรือไส้กรอกจากซุ่ยเฮงหรือโอเรียนเต็ลโฮเต็ล หากมีญาติมาเยี่ยม อาจได้กินไอศกรีมจากออนล็อกหยุ่น เค้กจากมอนโลเฮียง หูฉลามร้อนๆ จากแป๊ะม้อ ผลไม้ตามฤดูกาลจากตลาดบางลำภูหรือสะพานหัน”

ต่อมา เมื่อเวลาผ่านไป ชุลีบันทึกว่า

“บัดนี้ส่วนมากในพวกเรามีอัตราโทษประทับไว้บนหน้าผากชัดแจ้งแล้ว การติดคุกมีเวลานับเป็นปีๆ ทำให้ต้องระงับตัดทอนความฟุ่มเฟื่อยลง เพราะเราไม่มีทางจุนเจือระดับอยู่กินของเราให้คงที่อยู่ได้ยังเหลืออยู่ก็แต่การว่าจ้างผูกอาหารประจำเป็นรายเดือนซึ่งมีพวกแม่ค้าในตลาดจังหวัดนนทบุรีรับทำส่ง และบัดนี้เราก็กำลังดำริที่จะต้องตัดทอนไปอีก เราไม่ยอมเสียรายจ่ายเลยจนสตางค์แดงเดียว เพราะทุกๆ สตางค์ที่เราจ่ายออกไป มันหมายถึงน้ำพักน้ำแรงความเหน็ดเหนื่อยของแม่บังเกิดเกล้า หรือภริยาผู้จงรัก เราจะไม่ยอมจ่ายอะไรเลยจนสตางค์แดงเดียว”

(www.silpa-mag.com, 12 พฤศจิกายน 2564)

สารคดีการเมืองของชุลี สารนุสิต และหลวงโหมฯ

ความพยายาม
ลบประวัติศาสตร์บางประการ

หากท่านเป็นนักค้นคว้า เมื่อเข้าไปค้นเรื่องกบฏบวรเดช จากการป้อนชื่อหนังสืออนุสรณ์งานศพของหลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) เข้าไปในระบบฐานข้อมูลห้องสมุดแห่งหนึ่ง ท่านอาจจะประหลาดใจที่พบว่า มีความพยายามในการฉีกลายเนื้อความที่ปรากฏในหนังสืองานศพของเขาจากบุคคลที่ต้องการปิดบังเรื่องราวนั้นมิให้ผู้อ่านภายหลังทราบ

ทั้งนี้ ในหนังสือนี้ หลวงโหมฯ บันทึกสิ่งที่เขารู้เห็นสิ่งสำคัญภายหลังการปฏิวัติ 2475 จากมุมมองของฝ่ายปฎิปักษ์คณะราษฎรไว้

เรื่องราวนี้ถูกพบจาก มิตรข้าพเจ้าเคยเข้าไปทำสำเนาในห้องสมุดแห่งนั้น พบว่า หนังสืองานศพของหลวงโหมฯ ทั้ง 2 เล่ม ทั้งที่ให้บริการในชั้นปกติและห้องหนังสือหายาก มีบางหน้าที่ถูกฉีกทำลายออกไปจากหนังสือเล่มนี้

แม้นว่าข้าพเจ้าจะเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ไม่เคยสังเกตว่าถึงปัญหาดังกล่าว และอะไรคือเหตุจูงใจของผู้ทำลายข้อความนี้ จนกระทั่งมิตรได้ตรวจสอบเนื้อหานั้นกับฉบับสมบูรณ์เล่มอื่นจากห้องสมุดส่วนตัว จึงทราบว่า เรื่องที่หายไปคือ การประชุมที่ไกลกังวลในคืน 24 มิถุนายน 2475 ที่มีชื่อบุคคลชั้นนำหลายคนร่วมประชุมการรับมือกับการปฏิวัติในครั้งนั้น

ทั้งนี้ บริบทของข้อความในหน้าใกล้เคียงกันก่อนหน้า 39 นั้น หลวงโหมฯ กำลังเล่าถึงการปฏิวัติ 2475 ว่า ในวันนั้น เขาไปตรวจราชการที่ชุมพรพร้อม พล.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกต รองเสนาบดีกลาโหมและคณะ พวกเขาทราบจากโทรเลขว่า เกิดการเปลี่ยนการปกครองที่พระนคร พวกเขามาประชุมที่ไกลกังวล ต่อมา เขาสอบถามพระองค์เจ้าอลงกตถึงรายชื่อผู้ที่เข้าประชุมการตอบโต้สถานการณ์

แต่ข้อความในหน้าที่ 39 ของหนังสือที่ระบุรายชื่อเหล่านั้นกลับถูกฉีกทำลายไป จึงเป็นที่ฉงนว่า มีข้อความนั้นสำคัญเพียงใดจึงต้องถูกฉีกทำลาย

ต่อมา มิตรข้าพเจ้าตรวจสอบจากหนังสือที่เขามี จึงพบว่า ข้อความรายชื่อที่ถูกฉีกหายไปจากหน้า 39 ความว่า

“ในที่ประชุมมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธาน สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จกรมพระสวัสดิ์วัฒนพิศิษฐ์ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งเสด็จมาจากกรุงเทพฯ พล.อ.พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาบดีกระทรวงกลาโหม พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกต รองเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พล.ท.พระยาพิชัยสงคราม แม่ทัพกองทัพที่ 1 พล.ท.หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล จรเรทหารบก พล.ต.พระยาอานุภาพไตรภพ ผู้บัญชากองพลที่ 3 นครราชสีมา”

นอกจากนี้ ในหนังสืองานศพเล่มนี้ หลวงโหมฯ ยังเล่าชีวิตส่วนตัวในอินโดจีนที่น่าสนใจ ไว้ว่า

“…การอยู่ในประเทศอินโดจีนนี้ผู้หญิงออกจะหาได้ง่ายมากเพราะคนญวนยากจน ละทิ้งขนบทำเนียบประเพณีเก่าๆ เสียมาก ยิ่งในเมืองไซ่ง่อนด้วยแล้วผู้หญิงราคาถูกมาก เวลาที่พวกเราไปอยู่จึงมักมีคนมาชวนให้มีเมีย และการขอเมียจากครอบครัวคนจนๆ ที่เมืองไซ่ง่อนนี้ คิดราคาดูแล้วการแต่งงานจะเสียเงินสัก 20-30 เหรียญ ซึ่งเทียบกับเงินไทยประมาณ 50 บาท ก็หาเมียสาวๆ ได้คนหนึ่ง

ตัวข้าพเจ้าเองนั้น เมื่อมาอยู่ในเมืองไซ่ง่อนคติเดิมที่ว่าจะไม่ยุ่งกับผู้หญิงที่ไม่คิดจะเลี้ยงเป็นลูกเป็นเมียก็เลิกไป มีคนแนะนำผู้หญิงมาให้บ่อยๆ และก็ไม่ต้องเลี้ยงดูกันนาน เขาได้เงินจากเรานิดๆ หน่อยๆ แล้วก็จากไป ผู้หญิงที่หาได้ง่ายๆ นั้น จึงมักจะมีโรคภัยไข้เจ็บมาปล่อยให้ผู้ชายเสมอ คราวหนึ่งข้าพเจ้าป่วยถึงกับเดินไม่ได้ ข้อเท้าและหัวเข่าบวมไปหมดเดินไม่ได้

แต่ข้าพเจ้าเป็นนักเที่ยวจึงคบกับเพื่อนที่เป็นพยาบาลตามโรงพยาบาลต่างๆ หลายคนมีโรคภัยไข้เจ็บ พวกเพื่อนๆ ก็มาช่วยฉีดยาให้ เสียเงินบ้าง ไม่เสียบ้าง เจ็บกันบ่อยๆ เต็มที แต่ขอชมเชยว่ายาของฝรั่งเศสรักษาโรคประเภทนี้ก้าวหน้ากว่ายาชนิดนี้ของชาติอื่นๆ มาก สมัยอยู่เมืองไทยต้องใช้ยาหม้อแผนโบราณบ้าง…เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ค่อยกลัวโรคภัยพวกนี้อย่างไรนัก และก็ไม่ค่อยเลือกผู้หญิง เพราะเขาไม่ถือขนบธรรมเนียมอะไรกัน…”

กล่าวอีกอย่างคือ วรรณกรรมในรูปความทรงจำของพวกเขาได้พรรณนาถึงความทุกข์ยากให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ พร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่มีคุณค่าทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องราวครั้งนั้นได้ดียิ่งขึ้น

ข้อมูลทรงคุณค่าเหล่านั้นอาจนำไปสู่ความพยายามที่จะลบเรื่องราวบางอย่างออกไปจากประวัติศาสตร์ไทยก็เป็นไปได้

 

หน้ากระดาษที่ถูกมือมืดฉีกทำลายข้อความไปจากหน้า 39 ของหนังสืองานศพหลวงโหมรอนราญในห้องสมุดมหาวิทยาลัย
ความทรงจำเรื่อง ชีวิตส่วนตัวในอินโดจีน