ตุลารำลึก (10) กำลังใจและการต่อสู้/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ตุลารำลึก (10)

กำลังใจและการต่อสู้

 

“นักศึกษาพวกนี้จะถูกฟ้องศาลทหาร ศาลทหารนี่แหละที่จำกัด สามีของดิฉันได้เคยเขียนวิพากษ์วิจารณ์ไว้ และนั่นเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาต้องถูกออกจากราชการ และชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขาจะต้องทุ่มตัวช่วยเด็กพวกนี้ทุกวิถีทาง”

คุณป้าฉลบชลัยย์ พลางกูล

 

ชีวิตในเรือนจำมีคำพูดประการหนึ่งว่า “นาฬิกาคุกเดินช้า”… ชีวิตในแต่ละวันเดินไปอย่างอ้อยอิ่ง จนเสมือนวันเวลาในบางขวางไม่ค่อยจะยอมเดินไปกับเราสักเท่าไหร่

และในอีกด้านชีวิตในแต่ละวัน เดินไปแบบตารางประจำวัน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ตื่นเช้า รอ “เปิดขัง” เพื่อออกมาจัดการธุระส่วนตัวของแต่ละคน พร้อมกับล้างหน้าแปรงฟัน

หลังกินอาหารเช้าแล้ว เรามีเวลาว่างตลอดช่วงสาย

ตอนสายจะมีนักโทษเอา “ข้าวแดงและแกงคุก” ใส่ถังมาส่ง ซึ่งพวกเราเริ่มปรับตัวและชินกับการรับประทานอาหารเหมือนนักโทษทั่วไป และเสริมด้วยอาหารที่ญาติและเพื่อนๆ เอามาฝาก ทำให้เรื่องอาหารไม่ได้เป็นปัญหากับพวกเรามากนัก

พอตกบ่ายก็รอเรียกออกไป “เยี่ยมญาติ” กลับมากินมื้อเย็น อาบน้ำ และเตรียม “ขึ้นขัง” คือกลับไปใช้ชีวิตในห้องสี่เหลี่ยม

ในแต่ละวัน ชีวิตในห้องสี่เหลี่ยมจะยาวมาก เดิมคือจากประมาณบ่ายสามโมงเย็นถึงราวเจ็ดโมงเช้าของอีกวัน ซึ่งทำให้เวลาในแต่ละค่ำคืนยาวนานมาก

แต่ต่อมาพี่ผู้คุมเริ่มคุ้นกับพวกเรามากขึ้น เราจึงอยู่นอกที่คุมขังจนถึงเกือบสี่โมง แม้จะยืดเวลาออกไปเพียงชั่วครู่ แต่ก็เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ เพราะพวกเราไม่ต้องอยู่ในห้องขังนานเกินไป

ชีวิตในแต่ละวันยังวนเวียนไปเช่นนั้นไม่แตกต่างจากวันวาน

 

คนพิเศษ!

ดังที่กล่าวแล้วว่าความสุขที่สุดของชีวิตในคุกคือ การมีญาติและเพื่อนมาเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง เพราะอย่างน้อยทำให้พวกเราไม่รู้สึกถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

การมีคนมาเยี่ยมเป็นกำลังใจสำคัญของผู้ต้องขังเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคดีอะไรก็ตาม

และสำหรับพวกเราแล้ว ยังเป็นโอกาสของการได้รับข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะข่าวของเพื่อนจากชนบท ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่มีความหมายในทางการเมืองสำหรับพวกเราอย่างยิ่ง

เพราะโอกาสที่จะเดินออกไปสู่โลกของอิสรภาพสำหรับชาวคดี 6 ตุลาฯ คงไม่ใช่เรื่องง่าย

คนมาเยี่ยมและเป็นกำลังใจให้กับพวกเราที่บางขวางมีมาสม่ำเสมอ และช่วยให้เราไม่ว้าเหว่กับชีวิตมากนัก…

แล้ววันหนึ่งเราถูกเบิกตัวออกมา พบว่ามีคุณป้ามาเยี่ยม โดยส่วนตัวแล้วพวกเราไม่ได้รู้จักกับคุณป้าท่านนี้มาก่อน แต่คุณป้าก็แนะนำตัวอย่างดี ชื่อ “คุณป้าฉลบชลัยย์ พลางกูล” ซึ่งต่อมาพวกเราเรียกว่า “ป้าฉลบ” และทำให้ผมมีป้าอีกคนในชีวิต นอกจากป้าที่เลี้ยงผมมาตั้งแต่มาเรียนกรุงเทพฯ

ว่าที่จริงแล้วคุณป้าไม่ใช่คนหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราทราบกันในเวลาต่อมาว่า คุณป้าเคยเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สามีคือ “คุณลุงจำกัด พลางกูล” เป็นเลขาธิการของขบวนเสรีไทย และเป็นคนที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ไว้ใจอย่างมาก จึงถูกขอให้เป็นดัง “ทูตพิเศษ” เดินทางไปติดต่อกับรัฐบาลก๊กมินตั๋งของจีน เพื่อเปิดการเชื่อมต่อกับเสรีไทยที่ถูกจัดตั้งขึ้นในไทย

แม้การเดินทางของคุณลุงในยามสงครามจะเป็นไปอย่างยากลำบาก ในที่สุดก็สามารถไปถึงที่หมายปลายทางที่เมืองจุงกิงตามที่ต้องการได้ในปี 2486 แต่กลับเกิดปัญหาบางประการ และต่อมาคุณลุงได้เสียชีวิตลงอย่างเป็นปริศนา

แต่อย่างน้อยคุณูปการที่สำคัญคือ การแสดงให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นว่า เสรีไทยได้เกิดขึ้นในประเทศแล้ว

คุณป้ามาเยี่ยมพวกเราสม่ำเสมอ จนกลายเป็นคุณป้าของพวกเราชาว 6 ตุลาฯ จริงๆ และมาด้วยภารกิจหลักคือ การทำอาหารมาให้พวกเรา

ยิ่งเมื่อรวมกับอาหารที่ญาติและเพื่อนเอามาอีกด้วยแล้ว ชีวิตในคุกของพวกเราไม่ขาดแคลนอาหารเลย

ความเมตตาที่คุณป้ามีต่อพวกเรา ทำให้พวกเรากลายเป็นหลานๆ ตราบจนชีวิตสุดท้ายของคุณป้า ใครที่รู้จักจะรู้ดีว่า คุณป้าเป็นคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย (คุณป้าเสียชีวิตด้วยอายุ 100 ปี ในเดือนเมษายน 2560)

คนที่มาเยี่ยมอีกคนมีผลสะเทือนต่อรัฐบาลไทยอย่างมาก คือการมาของผู้แทนพิเศษทางด้านสิทธิมนุษยชนของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งทำเนียบขาวในขณะนั้นกำลังใช้นโยบายทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นแรงขับเคลื่อน แพทริเชีย เดเรียน (Patricia Derian) ซึ่งเดิมเป็นนักเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิพลเมือง จากรัฐมิสซิสซิปปี

เธอมีบทบาทอย่างมากในการปกป้องชีวิตของผู้เห็นต่างและนักโทษการเมืองในหลายประเทศ และเป็นนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องอย่างมาก (เธอเสียชีวิตด้วยอายุ 86 ปีในเดือนพฤษภาคม 2559)

ผมจำได้ดีจนบัดนี้ว่า เย็นวันนั้นพวกเราถูกเอาขึ้นขังแล้ว แต่แล้วได้เกิดสิ่งผิดปกติขึ้น เพราะมีเสียงประตูของแดนถูกเปิดออก ซึ่งปกติแล้วประตูแดนจะไม่เปิดเป็นอันขาดจนกว่าจะเช้า และไม่มีทางที่จะมีการอนุญาตให้ใครมาเยี่ยมเราถึงในแดนขัง แม้จะหวั่นใจว่าเจ้าหน้าที่จะเอาพวกเราออกไปไหนหรือไม่…

พวกเราถูกนำตัวออกมาจากห้องขัง เพื่อมาพบกับ “อาคันตุกะต่างแดน” และไม่น่าเชื่อเลยว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทั้งหมดถูกขอให้ออกไป และเธอขอคุยกับพวกเราเป็นส่วนตัว

ผมเชื่อว่ารัฐบาลไทยคงไม่มีความสุขมากนักกับการเดินทางของเธอในการมาสำรวจ “สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน” ในไทย และยังได้ขอคุยกับนักโทษการเมืองอย่างพวกเรา เพราะมีการรณรงค์อย่างมากในสหรัฐ และในเวทีระหว่างประเทศให้ปล่อยตัว “นักโทษกรุงเทพฯ 18” (ชื่อของพวกเราที่ใช้ในการเรียกร้องในสากล)

เช่นเดียวกัน รัฐบาลกรุงเทพฯ ก็คงไม่พอใจกับการเคลื่อนไหวขององค์กรสิทธิมนุษยชน คือ องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International หรือ “เอไอ”) ที่เรียกร้องให้ปล่อยพวกเราจากการคุมขัง

อีกทั้งบทบาทของแพทริเชียยังเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการจัดทำ “รายงานด้านสิทธิมนุษยชน” ของรัฐบาลอเมริกันอีกด้วย และรายงานนี้เองที่รัฐบาลเผด็จการไม่เคยชอบ เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะถูกตีแผ่และเผยแพร่ออกทั่วโลก อันเป็นการ “กระชากหน้ากาก” ผู้นำเผด็จการโดยตรง

สำหรับพวกเราแล้ว คนที่มาเยี่ยมและเป็นกำลังใจให้กับพวกเราไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ และญาติ โดยเฉพาะคุณป้าฉลบและคุณแพทริเชีย ล้วนเป็น “คนพิเศษ” สำหรับชีวิตพวกเราจริงๆ… ทุกคนเหล่านี้อยู่ในใจของพวกเราชาว 6 ตุลาฯ ไม่เสื่อมคลาย

 

กองทัพทนาย

ในที่สุดเมื่อรัฐบาลถูกกดดันอย่างมากจากการที่ผู้ต้องหาในคดี 6 ตุลาฯ ไม่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐบาลไทยจึงยินยอมที่จะนำคดีดังกล่าวขึ้นสู่ศาล

แต่ศาลที่จะพิจารณาคดีเรานั้น กลับเป็น “ศาลทหาร” แม้พวกเราและเพื่อนๆ จะถูกจับช่วงสายของวันที่ 6 ตุลาฯ แต่รัฐประหารเกิดขึ้นในช่วงค่ำของวันดังกล่าว คดีเราจึงน่าจะขึ้นศาลพลเรือน

แต่รัฐบาลก็มีคำตอบว่า กรณีนี้เป็น “คดีความมั่นคง” จึงต้องไปศาลทหาร

การต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลทหารในด้านกลับนั้น มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมาก ไม่แต่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น หากยังแสดงให้เห็นความหวาดกลัวของรัฐบาลเผด็จการที่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อฝ่ายนักศึกษาอีกด้วย โดยเฉพาะการตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์ ที่ทำให้รัฐบาลสามารถขยายการคุมขังได้นานขึ้น

คดีในศาลทหารเป็นเป้าหมายอย่างดีให้แก่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่น เอไอในเวทีสากล ที่ออกแรงกดดันรัฐบาลเผด็จการไทยอย่างต่อเนื่อง

จนรัฐบาลไทยติดอันดับอยู่ในบัญชีของประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต่างจากรัฐบาลทหารในละตินอเมริกาในขณะนั้น

ในอีกด้านหนึ่งที่เป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลไทยอย่างมากคือ การที่ไม่อนุญาตให้ผู้ต้องคดี 6 ตุลาฯ สามารถแต่งตั้งทนายเพื่อต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมได้ เพราะเป็นภาพสะท้อนของเผด็จการที่ชัดเจน

แต่ในที่สุดรัฐบาลยอมให้พวกเราตั้งทนายว่าความได้ และกลายเป็นเรื่องตื่นเต้นในเวลาต่อมาที่มีผู้รักความเป็นธรรมหลายท่านได้อาสาเข้ามาทำคดีนี้ จนเป็นเสมือน “กองทัพทนาย” เพราะมีทนายราว 50 ท่านได้เข้าร่วมในการต่อสู้

เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของนักกฎหมายในการต่อสู้ทางการเมืองอีกครั้ง

พวกเราแต่ละคนจึงมีทนายประจำตัว 4-5 คน โดยมีพี่ทองใบ ทองเปาด์ เป็นดังหัวหน้าทีมทนาย และมีพี่วสันต์ พานิช เป็นเหมือนผู้ประสานงานทนาย อีกทั้งยังมีพี่ทนายผู้ใหญ่อีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นพี่มารุต บุนนาค พล.ต.ต.ชนะ สมุทวณิช พี่สุธี ภูวพันธ์ พี่เกริก ระวังภัย เป็นต้น

และมีพี่ทนายอีกหลายๆ ท่านที่ผมอาจจะไม่ได้ใส่ชื่อไว้ แต่พวกเรายังรำลึกถึงบุญคุณของพี่ๆ เหล่านี้เสมอ

เพราะการรวมตัวครั้งนี้เป็นสัญญาณว่า การสืบคดีในศาลจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับรัฐบาล แม้จะเป็นศาลทหารก็ตาม

และการสืบคดีอาจกลายเป็นการ “เปิดโปง” เหตุการณ์สังหารในวันนั้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ทั้งพี่ทองใบและพี่มารุตล้วนมีประสบการณ์ในการต่อสู้กับศาลของระบอบเผด็จการมาก่อนแล้ว อีกทั้งยังเคยตกเป็นนักโทษการเมืองมาก่อนยุคพวกเรา

ดังนั้น เมื่อนักกฎหมายที่รักความเป็นธรรมรวมตัวกันเป็น “กองทัพทนาย” แล้ว ย่อมสร้างผลสะเทือนในทางการเมืองอย่างมาก

และอีกด้านก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่เกรงกลัวต่อการคุกคามจากฝ่ายรัฐ

การต้องขึ้นศาลทหารจึงไม่ใช่ความน่ากลัวสำหรับพวกเรา แม้พวกเขาจะใช้อำนาจของศาลทหารมาเป็นเครื่องมือก็ตาม

 

ศาลทหาร

ในช่วงแรกพวกเราถูกนำตัวไปขึ้นศาลทหาร โดยมีกระทรวงกลาโหมเป็นที่ตั้งศาล และผู้พิพากษาทั้งสามท่านเป็นนายทหารทั้งหมด

แต่ก็ดูจะเป็นอะไรที่ “ทุลักทุเล” สำหรับฝ่ายรัฐ เพราะมีกองทัพนักข่าวทั้งจากในประเทศและนอกประเทศมาร่วมรายงาน

อีกทั้งยังมีพี่น้องประชาชนและเพื่อนนิสิตนักศึกษามาร่วมการฟังด้วย การไปศาลของเราจึงเหมือนไปม็อบ มีคนเป็นจำนวนมากมาให้กำลังใจ

จนในที่สุดต้องย้ายที่ตัวศาลไปยังกรมพลาธิการทหารบก ด้านสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งทำให้กรมพลาฯ ในวันที่มีการพิจารณาคดี 6 ตุลาฯ เป็นพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองไปโดยปริยาย

การย้ายศาลไปทางปากเกร็ดคงต้องการลดจำนวนผู้เข้าฟังคดี เพราะการเดินทางไม่สะดวกเช่นปัจจุบัน แต่ก็มีผู้ที่เดินทางเข้ามาเป็นกำลังใจจำนวนมากทุกรอบ จนเป็นภาพข่าวสำคัญของยุคนั้น และเป็นกำลังใจสำคัญที่พวกเราไม่มีวันลืม

กำลังใจจากเพื่อนๆ และพี่น้องประชาชนที่สนามบินน้ำ เป็นสัญญาณอย่างชัดเจนว่า อำนาจรัฐจะใช้วิธีปกปิดคดีแบบในยุคเก่า คงทำไม่ได้แล้ว

แต่การเปิดเช่นนี้ ก็ทำให้รัฐ “เสียการเมือง”

จนทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า รัฐจะปล่อยให้การพิจารณาคดีเป็นการทำลายตัวเองไปอีกนานเท่าใด!