‘ไต้หวัน’ ลากจีน มาเผชิญหน้ากับชาติตะวันตก/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

‘ไต้หวัน’ ลากจีน

มาเผชิญหน้ากับชาติตะวันตก

 

สถานการณ์บริเวณช่องแคบไต้หวันตึงเครียดมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อจำนวนความถี่ของกำลังรบทางทหารของจีนที่เข้าล่วงล้ำน่านฟ้าและน่านน้ำไต้หวันมีมากขึ้น หลังจากที่สหรัฐที่ดำเนินการทูต 2 ทาง ทั้งประนีประนอมกับจีน พร้อมกับยกระดับความสัมพันธ์กับไต้หวันมากขึ้น โดยเฉพาะการให้คำมั่นพร้อมช่วยหากไต้หวันถูกโจมตี และการสนับสนุนจุดยืนไต้หวันในฐานะประเทศเอกราช ซึ่งขัดกับจีนที่ทั้งความเชื่อและนโยบายที่ว่า “ไต้หวันคือมณฑลหนึ่งของจีน”

แม้ล่าสุด ทั้งสองชาติมหาอำนาจจะออกท่าทีร่วมชวนแปลกใจเพื่อร่วมแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวลาประชุมที่กลาสโกว์ แต่นั่นเป็นเพียงการลดอุณหภูมิการเมืองอันตึงเครียด ไม่ได้คลี่คลายจนทำให้ข้อพิพาทยุติลง เพราะจุดยืนตั้งต้นก็แตกต่างกันแล้ว

นอกจากจีนต้องกังวลกับสหรัฐฯแล้ว มีชาติล่าสุดอย่างลิทัวเนีย ออกมารับรองสถานะทางการทูตให้ไต้หวันในแบบที่จีนไม่พอใจเอาอย่างมาก

ปมพิพาทไต้หวัน ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับหลายประเทศและสถานการณ์ในช่วงนี้อย่างไรบ้าง

 

นับตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นมา จีนส่งเครื่องบินทหารทั้งเครื่องบินจู่โจมและเครื่องบินทิ้งระเบิดแล้วกว่า 149 ลำเข้าน่านฟ้าไต้หวันซึ่งถือเป็นการแสดงการคุกคามและความเชื่อมั่นว่า หากจีนบุกโจมตีไต้หวัน จีนสามารถโจมตีทางอากาศไปยังจุดยุทธศาสตร์บนเกาะไต้หวันได้ ทำให้ไต้หวันต้องเสริมศักยภาพทั้งกำลังรบและแนวป้องกันทางอากาศ

แซนดร้า โอตเคิร์ต ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันในไต้หวันที่สถาบันนี้มีสถานะเทียบเท่าสถานทูตสหรัฐในไต้หวัน ได้ออกมากล่าวว่า สัญญาณเตือนของจีนที่มีมากขึ้น ไม่ว่าการคุกคามด้วยกำลังรบหรือคำแถลงของทางการจีน ทำให้รัฐบาลสหรัฐมั่นใจว่าสหรัฐต้องกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน

“สหรัฐยังคงแน่วแน่ต่อความสัมพันธ์กับไต้หวันและจับมือร่วมทำงานไปยังด้านอื่นทั้งความมั่นคงไซเบอร์และห่วงโซ่อุปทาน (โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตจากไต้หวันซึ่งมีสัดส่วนการตลาดใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก) อย่างที่ไช่อิ้งเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันยืนยันเองว่าการกระชับความสัมพันธ์ของสหรัฐเป็นเรื่องปกติ คุณค่าของหุ้นส่วนและการสนับสนุนต่อไต้หวันนั้นเข้มแข็ง” โอตเคิร์ตกล่าว

แม้กระทั่งโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐเอง ก็เคยย้ำความแน่วแน่ผ่านรายการของซีเอ็นเอ็นเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยผู้ดำเนินรายการถามว่าสหรัฐจะออกมาปกป้องไต้หวันหรือไม่ ไบเดนกล่าวว่า “ใช่ เรามีความแน่วแน่ที่จะทำอย่างนั้น”

ขณะที่ผู้สังเกตการณ์มองว่า คำตอบของไบเดนเสมือนเป็นการเตือนไปยังรัฐบาลจีน และยังสื่อสารถึงผู้นำชาติต่างๆ ในแถบเอเชีย-แปซิฟิกผ่านการประชุมออนไลน์ด้วย

เป็นการเตือนจีนว่าการกระทำของจีนต่อไต้หวันในขณะนี้บริเวณช่องแคบไต้หวันเป็นการบีบบังคับและบ่อนเซาะสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

 

นอกจากกับสหรัฐที่จีนมีท่าทีไม่ดีนัก แม้แต่สหภาพยุโรปก็มีทัศนคติลบต่อจีนด้วย

โดยเมื่อ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการพิเศษด้านการแทรกแซงภายนอกเพื่อกระบวนการประชาธิปไตยที่มีผู้แทนจาก 13 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ได้ประชุมหารือกับประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีไต้หวัน นำไปสู่มติเสนอให้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไต้หวันและอียูมากขึ้น

ราฟาเอล กลัซมานน์ ประธานคณะกรรมาธิการจากฝรั่งเศสกล่าวว่า นี่ถือเป็นเวลาสำคัญสำหรับอียูในการเพิ่มความร่วมมือกับไต้หวัน เราต่างสื่อด้วยสารที่ง่ายและชัดที่สุด คุณ (ไต้หวัน) ไม่ได้อยู่โดยลำพัง ยุโรปอยู่เคียงข้างคุณในการปกป้องเสรีภาพ นิติรัฐและสิทธิมนุษยชน

อีกประเทศในยุโรปที่ออกตัวสนับสนุนไต้หวันที่ไม่ได้เต็มรูปแบบแต่ทำให้จีนหงุดหงิดเอามาก นั่นคือ ลิทัวเนีย หนึ่งในประเทศแถบทะเลบอลติกที่ถูกยกย่องเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิตอล ได้กระชับความสัมพันธ์กับไต้หวันโดยตั้งสำนักงานผู้แทนที่มีสถานะเทียบกับสถานทูตขึ้นในกรุงวิลนีอุส

อีกทั้งเรียกสำนักงานดังกล่าวว่าเป็น “ไต้หวัน” ไม่ใช่ “ไทเป” ในแบบที่จีนอยากให้เรียก

ทำให้จีนออกมาประณามท่าทีของลิทัวเนีย พร้อมสั่งเรียกเอกอัครรัฐทูตกลับและลดระดับความสัมพันธ์เหลือแค่ชั้นอุปทูต

ซึ่งกระทรวงต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลจีนได้ลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศลง เพื่อปกป้องอำนาจอธิปไตยของจีนและคุณค่าพื้นฐานในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อีกทั้งส่งสัญญาณข่มขู่รัฐบาลลิทัวเนียว่า จะต้องรับผลที่ตามมาทั้งหมด เพียงเพราะยอมรับสถานะไต้หวันที่ไม่ใช่ในฐานะมณฑลหนึ่งของจีน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศลิทัวเนียแถลงเสียใจต่อท่าทีของจีน และระบุว่า “ลิทัวเนียยืนยันต่อนโยบายจีนเดียว แต่ลิทัวเนียก็มีสิทธิ์ขยายความร่วมมือกับไต้หวันได้ด้วย”

 

ส่วนข้อกังวลถึงความเป็นไปได้ว่าจีนจะบุกโจมตีไต้หวันหรือไม่นั้น เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ผู้มีส่วนพาสหรัฐสร้างสัมพันธ์กับจีนในยุคสงครามเย็นและเคยได้พบกับสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุด กลับมองว่า ยังไม่เห็นคุกคามถึงขั้นบุกโจมตีไต้หวันได้

คิสซิงเจอร์ตอบคำถามกับฟาเร็ด ซาคาเรียร์ ในรายการ “จีพีเอส” ของซีเอ็นเอ็นเมื่อ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ตนไม่คาดหวังว่าจะมีการโจมตีอย่างเต็มกำลังกับไต้หวัน กล่าวคือ เท่าที่ผมเห็นก็ในห้วง 10 ปีนี้

และยังมองนโยบายจีนของไบเดนว่า ไบเดนกำลังก้าวสู่การเมืองระหว่างประเทศด้วยข้อจำกัดภายในนั้นคือ ใครๆ ก็อยากให้จัดการจีนแบบสายเหยี่ยว แต่ไบเดนกลับแสดงความพยายามนำความสัมพันธ์ของสหรัฐและจีนไปในทิศทางที่มีประสิทธิภาพ

“ไบเดนกำลังหาทิศทางที่แตกต่าง แต่ไม่ได้แปลว่ายอมจำนนต่อจีนนะ แต่กำลังหาช่องทางเพื่อสามารถพูดคุยเรื่องที่เราสามารถคุยเหมือนทั่วไปได้” คิสซิงเจอร์กล่าว

คิสซิงเจอร์กล่าวอีกว่า ความท้าทายของเราในตอนนั้นและความท้าทายของเราในตอนนี้คือการค้นหาความสัมพันธ์ที่เราสามารถแข่งขันได้โดยไม่ต้องผลักไปสู่ความหายนะ และนั่นเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้นำทั้งสอง

“ความท้าทายไม่ว่าความขัดแย้งใด ไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณเริ่มต้นยังไง แต่อยู่ที่ว่าคุณรู้วิธีจะยุติมันอย่างไรต่างหาก”

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไต้หวัน สหรัฐเดินเกมการทูตในแบบที่ต้องรู้ฝ่ายตรงข้ามตัวสำคัญและผู้เกี่ยวข้องกับจีน ซึ่งนั่นรวมไทยด้วย

แม้ไทยอาจแสดงท่าทีว่าประเด็นไต้หวันนั้นเป็นเรื่องไกลตัว แต่เพราะความสัมพันธ์ที่มีกับจีนมากขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 และแม้แต่ท่าทีที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า เอียงทางจีนมากขึ้น เมื่อสหรัฐยุคไบเดนกลับมาให้สำคัญกับภูมิรัฐศาสตร์ในอินโด-แปซิฟิก ก่อนอื่นก็ต้องรู้จักคนที่เข้าใกล้จีนทั้งหมด

การที่เดวิด โคเฮน รองผู้อำนวยการซีไอเอ เข้าพบแบบลับที่ไม่ลับ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้ที่เคยกล่าวว่าจีนเป็นมหามิตร ภาพของโคเฮนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า แม้ไม่รู้ว่ารายละเอียดการหารือแบบลับกับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง แต่ก็สะท้อนให้เห็น 2 อย่าง คือ การส่งสัญญาณต่อประเทศต่างๆ รวมถึงจีนได้เห็นท่าทีของสหรัฐต่อไทย และการที่บุคคลซึ่งจะกลายเป็นผู้นำหน่วยข่าวกรองเลื่องชื่อในอนาคต มาดูตัวผู้นำและหน่วยงานของไทยด้วยตัวเองว่ามีทัศนคติ จุดยืนยังไง เพื่อรวบรวมกับข้อมูลที่มีอยู่ในมือ

อาจต้องประเมินต่อว่า นอกจากเรื่องไต้หวันแล้ว ยังต้องหยั่งเชิงกับไทยต่อจากนี้ยังไง ในสถานการณ์ที่จีนเดินเกมทูตกับทุกฝ่ายของไทยที่มากขึ้น อนาคตข้างหน้า ยุทธศาสตร์ในแถบนี้ หลังจากไต้หวันแล้ว อาจเป็นที่อื่นๆ รวมถึงไทยด้วย

ส่วนเป็นไปได้แค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไป