จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (28) การปกครองในสมัยซ่ง (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (28)

การปกครองในสมัยซ่ง (ต่อ)

 

จะเห็นได้ว่า การปกครองท้องถิ่นในสมัยซ่งในด้านหนึ่งยังคงรักษารากฐานเดิมที่มีมานับพันปีเอาไว้ อีกด้านหนึ่งได้มีการขยายหน่วยปกครองและหน่วยบริหารขึ้นจากเดิม

ประการหลังนี้ชี้ให้เห็นว่า ซ่งเป็นราชวงศ์ที่มีวิสัยทัศน์และแนวทางสร้างจักรวรรดิของตน ที่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นในฐานะที่เป็นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ที่ต่างจากยุคก่อนหน้านี้คือ ท้องถิ่นของจีนในยุคนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางการคุกคามของชนชาติอื่นอยู่เป็นระยะๆ

การปรับให้หน่วยปกครองและการตั้งหน่วยบริหารใหม่ๆ ขึ้นมา ในด้านหนึ่งจึงเป็นไปด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของจักรวรรดินั้นเอง

กระบวนการยุติธรรมและระบบตรวจสอบ

 

ซ่งเป็นราชวงศ์ที่ให้ความสำคัญกับการปกครองโดยกฎหมาย โดยเห็นได้จากตั้งแต่ต้นราชวงศ์ที่ยังคงยึดกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายหลัก แต่ก็มีกฎหมายอื่นอย่างเช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายสมรส กฎหมายฟ้องร้อง

กฎหมายเหล่านี้ถูกร่างขึ้นมาใหม่และมีคำเรียกแตกต่างกันไป และถือเป็นครั้งแรกที่กฎหมายของจีนได้ถูกนำไปบันทึกบนไม้แกะสลัก

ส่วนหน่วยงานที่ร่างกฎหมายนั้นได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิโดยตรง หน่วยงานนี้ไม่เพียงจะมีหน้าที่ในการร่างกฎหมายเท่านั้น หากยังเป็นผู้รวบรวมราชโองการที่ถูกนำไปใช้อยู่เสมอเพื่อตราเป็นกฎหมายอีกด้วย

โดยรวมแล้วกฎหมายในยุคนี้มีสี่ลักษณะด้วยกันคือ กฎหมายว่าด้วยข้อห้ามต่างๆ ที่เสนอโดยจักรพรรดิ กฎหมายว่าด้วยขุนนาง ราษฎร และการพระราชทานความดีความชอบแก่บุคคล กฎหมายว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติตนโดยละเอียด และกฎหมายดั้งเดิม

หากมีความขัดแย้งระหว่างกฎหมายในยุคนี้กับกฎหมายดั้งเดิมแล้ว ให้ยึดกฎหมายในยุคนี้เป็นหลัก ที่โดดเด่นก็คือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกขุนนางและกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความแตกต่างของกฎหมายในยุคนี้กับยุคก่อนหน้านี้

ในส่วนของระบบตุลาการในยุคนี้นับว่ามีความรัดกุมมาก โดยเบื้องแรกสุดจักรพรรดิคือผู้มีอำนาจสูงสุดในทางตุลาการ โดยบางครั้งจะเป็นผู้พิจารณาคดีที่มีความซับซ้อน และบางครั้งก็มอบหมายให้ขุนนางเป็นผู้พิจารณาคดีที่สำคัญ

ส่วนองค์กรตุลาการในยุคนี้มีอยู่สามองค์กร แต่ที่สำคัญยังเป็นหออภิสดมภ์ (ต้าหลี่ซื่อ) ที่มีมาตั้งแต่สมัยถัง หออภิสดมภ์ยังคงมีหน้าที่สอบสวนคดีทั่วไปดังเดิม แต่จะเป็นเฉพาะคดีที่สำคัญที่หน่วยงานส่วนท้องถิ่นส่งมาให้

ต่อมาหออภิสดมภ์ยังดูแลคดีด้านการเมืองอีกด้วย ส่วนคดีแพ่งจะให้ศาลที่เมืองไคเฟิงเป็นผู้พิจารณา

สำหรับอีกสององค์กรนั้นคือ กรมอาชญา (สิงปู้) และสำนักตรวจสอบคดี (เสิ่นสิงย่วน) โดยกรมอาชญาจะมีหน้าที่ตรวจสอบคดีที่หออภิสดมภ์ตัดสินให้มีการลงโทษประหารชีวิต ต่อมาหน้าที่ได้ถูกปรับให้ดูแลคดีอาญาและการฟ้องร้องต่างๆ

ส่วนสำนักตรวจสอบคดีจะตั้งอยู่ในราชสำนัก ทำหน้าที่ในการตรวจสอบคดีที่ถูกส่งมาให้จักรพรรดิพิจารณาตัดสิน ต่อมาองค์กรนี้ถูกยุบรวมเข้ากรมอาชญา

สำหรับตุลาการส่วนท้องถิ่นนั้น มณฑลมีอำนาจในการพิจารณาคดีที่มีโทษประหารชีวิตได้ และหากราษฎรเห็นว่าการตัดสินไม่ได้รับความยุติธรรม ราษฎรก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีกเช่นกัน

 

นอกจากนี้ ในยุคซ่งยังมีระบบพระราชทานอภัยโทษอีกด้วย ระบบนี้จะถูกแบ่งเป็นระดับต่างๆ คือ การพระราชทานอภัยโทษครั้งใหญ่ที่มีขึ้นสามปีครั้ง และเป็นการพระราชทานอภัยโทษสำหรับโทษที่ต่ำกว่าโทษประหารชีวิต

การพระราชทานอภัยโทษในกรณีที่จักรพรรดิเสด็จไปยังที่ต่างๆ ที่ประสบภัยพิบัติ และการพระราชทานอภัยโทษสำหรับโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นการพระราชทานอภัยโทษประจำปีและมีขึ้นในช่วงฤดูร้อน

ตลอดราชวงศ์ซ่งมีการพระราชทานอภัยโทษทั้งสิ้น 301 ครั้ง เฉลี่ยแล้วมีการพระราชทานอภัยโทษปีละ 1.28 ครั้ง

แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ ระบบตรวจสอบในยุคซ่ง ระบบนี้จะมีทั้งที่ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

ในส่วนกลางจะแบ่งเป็นระบบทัดทานกับระบบท้วงติง โดยขุนนางในระบบทัดทานจะมีที่มาจากการเสนอชื่อของขุนนาง และมีจักรพรรดิเป็นผู้คัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย

ขุนนางที่ถูกเลือกจะมีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องราวทั้งในและนอกวังหลวง ตีแผ่พฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายของจักรพรรดิและวงศานุวงศ์ ยับยั้งการประพฤติมิชอบของจักรพรรดิและวงศานุวงศ์ และพิจารณาคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวังหลวง

ส่วนขุนนางในระบบท้วงติงมีอำนาจในการคัดค้านคำสั่งที่มิชอบที่ออกโดยราชสำนัก หรือคำสั่งที่กดขี่ขุนนาง

ส่วนระบบตรวจสอบในท้องถิ่นจะมีองค์กรที่ดูแลอยู่สี่องค์กร แต่ละองค์กรจะตั้งอยู่ในหน่วยปกครองแต่ละระดับต่างๆ และมิได้มีทั่วทุกมณฑล โดยมีส่วนหนึ่งจะตั้งอยู่ในมณฑลชายแดนซึ่งขึ้นต่อจักรพรรดิโดยตรง

ขุนนางที่ดูแลองค์กรที่ขึ้นตรงต่อจักรพรรดินี้ มิใช่ขุนนางในตำแหน่งตรวจสอบอย่างเป็นทางการ และเป็นตำแหน่งที่ไม่สูงนัก แต่มีอำนาจในการตรวจสอบค่อนข้างกว้างขวาง คือสามารถตรวจสอบกองทัพและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นได้

และจะต้องรายงานการปฏิบัติงานของตนต่อจักรพรรดิปีละสองครั้ง คือในฤดูใบไม้ร่วงกับฤดูใบไม้ผลิ

การทหาร

 

ผู้มีอำนาจทางการทหารในยุคซ่งคือ จักรพรรดิ โดยจักรพรรดิจะมีอำนาจในการควบคุมกองทัพ อำนาจในการโยกย้ายนายทหาร และอำนาจในการเรียกระดมพล โดยในแต่ละส่วนของอำนาจทั้งสามนี้จะมีแม่ทัพคุมแตกต่างกันไป

แต่อำนาจในการควบคุมกองทัพของจักรพรรดินี้จะมีมากในสมัยซ่งเหนือ พอถึงสมัยซ่งใต้อำนาจนี้จึงค่อยๆ ลดลง

กองทัพในยุคซ่งแบ่งเป็นสองส่วนงานคือ สำนักสมุหกลาโหมและสำนักราชองครักษ์ (ดังได้กล่าวไปบ้างแล้วข้างต้น) โดยสำนักสมุหกลาโหมมีหน้าที่จัดการเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ

เช่น ป้องกันจักรวรรดิ รักษาชายแดน กองทหารม้า คัดเลือกทหารประจำวังหลวง จัดสอบรับราชการทหาร โยกย้ายนายทหาร พิจารณาความดีความชอบและโทษานุโทษทหาร เป็นต้น

ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของสำนักนี้มักเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือน (เหวิน) โอกาสที่จะเป็นขุนศึกฝ่ายทหาร (อู่) มีน้อยมาก

ส่วนสำนักราชองครักษ์นอกจากจะทำหน้าที่รักษาวังหลวงแล้ว ยังทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาค ซึ่งตอนต้นราชวงศ์สำนักนี้ยังมีอำนาจในการทำศึกกับศัตรูภายนอกอีกด้วย แต่ชั้นหลังต่อมาอำนาจนี้ก็หายไป

จากการที่กองทัพถูกแบ่งเป็นสองส่วนงานนี้ ได้ทำให้ทหารในยุคนี้มีหลายประเภทคือ ทหารรักษาวังหลวง ทหารรักษาความสงบเรียบร้อยในท้องถิ่น ทหารบ้าน

และทหารประจำเขตชนชาติที่มิใช่จีน