เบื้องลึก อาเซียน-จีนซัมมิต ที่ไร้เงาเมียนมา/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

เบื้องลึก อาเซียน-จีนซัมมิต

ที่ไร้เงาเมียนมา

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ซึ่งเป็นการจัดประชุมระบบทางไกลเมื่อต้นสัปดาห์ โดยมีประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน และสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ สุลต่านแห่งบรูไน ในฐานะองค์ประธานอาเซียน เป็นประธานการประชุมร่วมกันนั้น

ยังคงไร้เงา พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมหารือด้วย

นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วภายในเวลาไม่ถึงเดือน ที่สมาชิกอาเซียน 9 ชาติ ได้ตัด พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ออกจากการมีส่วนร่วมในเวทีหารือสำคัญของอาเซียน นับจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นในเมียนมา

โดยก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มอาเซียนตัดสินใจแน่วแน่ ไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่บรูไนเป็นเจ้าภาพการประชุมในระบบทางไกล เพื่อมุ่งแสดงให้ผู้ปกครองทหารเมียนมาตระหนักให้ได้ว่าอาเซียนไม่พอใจอย่างยิ่งต่อความล้มเหลวของเมียนมาในการจะปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่ผู้นำชาติอาเซียน ซึ่งรวมถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เองด้วย ได้บรรลุความเห็นพ้องไว้ในการพบปะเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในความพยายามหาทางยุติวิกฤตความขัดแย้งนองเลือดในเมียนมา

การตัดสินใจครั้งนั้นถือเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับกลุ่มอาเซียน ซึ่งยึดมั่นในหลักฉันทามติและนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกันมาโดยตลอด

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนหน้าการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนครั้งนี้จะเกิดขึ้น มีรายงานความเคลื่อนไหวจากฝ่ายจีนว่า ได้ส่งซุนกั๋วเซียง ผู้แทนพิเศษฝ่ายกิจการเอเชียของจีน เข้าไปล็อบบี้ชาติอาเซียนให้ยอมเปิดทางให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ได้เข้าร่วมวงพูดคุยในเวทีอาเซียน-จีน สมัยพิเศษครั้งนี้ด้วย

แต่ข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน เป็น 4 ชาติในอาเซียนที่ยืนกรานปฏิเสธไม่ให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน

โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียบอกอย่างหนักแน่นว่า อินโดนีเซียยืนยันในจุดยืนเดิมคือ จะให้เฉพาะผู้แทนที่ไม่ใช่จากฝ่ายการเมืองของเมียนมาเท่านั้น ที่จะร่วมหารือในเวทีอาเซียนซัมมิตได้

เมื่อถูกปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวเช่นนี้ ทำให้จีน ชาติมหาอำนาจที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีผลประโยชน์มากมายในเมียนมา จำต้องยอมรับจุดยืนนี้ของอาเซียน

 

มีการตั้งข้อสังเกตในแวดวงนักวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ที่มองว่าแม้ดูเหมือนจีนจะยอมรับการตัดสินใจของอาเซียน แต่สิ่งที่จีนพยายามผลักดันให้ผู้ปกครองทหารเมียนมาได้เข้าร่วมเวทีหารือนั้น ได้ก่อความปั่นป่วนทางภูมิรัฐศาสตร์ขึ้นในภูมิภาค

ในทัศนะของโจชัว เคอร์แลนต์ซิก นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสภาวิเทศสัมพันธ์ องค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐอเมริกา บอกว่า เขาไม่มองว่าการพยายามล็อบบี้ของจีนเพื่อให้มิน อ่อง ลาย ได้เข้าร่วมหารือในเวทีอาเซียน-จีนครั้งนี้ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าจีนมีความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับผู้ปกครองทหารเมียนมา

แต่เขามองว่าการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของกองทัพเมียนมา เป็นหายนะสำหรับจีนโดยส่วนใหญ่เสียมากกว่า

เคอร์แลนต์ซิกบอกอีกว่า เขาคิดว่าจีนไม่สบายใจกับสถานการณ์ในเมียนมาและต้องการทำงานร่วมกับอาเซียนในความพยายามนำเมียนมากลับคืนสู่สภาวะที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนจะเกิดเหตุรัฐประหารขึ้นในเมียนมาให้ได้มากที่สุด

ซึ่งนั่นจะเป็นผลดีกับจีนมากกว่า เพราะเหตุรัฐประหารและความขัดแย้งภายใน ที่ทำให้เมียนมาตกอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพนั้น คุกคามต่อผลประโยชน์ของจีน ทั้งต่อด้านการค้าการลงทุนของจีนในเมียนมา เสี่ยงต่อการแพร่ลามของโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น

และสงครามกลางเมืองที่จุดขึ้นมาใหม่ในเมียนมา ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงตามแนวชายแดนของจีนเองด้วย

 

ขณะที่แอรอน คอนเนลลี นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (ไอไอเอสเอส) มองว่า การยอมรับการตัดสินใจของอาเซียนแต่โดยดีของจีน กำลังบอกอะไรบางอย่าง โดยหากความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองของรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศ เป็นสิ่งสำคัญแรกๆ สำหรับจีนแล้ว ก็ไม่คิดว่าจะได้เห็นจีนยอมรับการตัดสินใจของอาเซียนได้อย่างง่ายดายเช่นนี้

คอนเนลลียังชี้ด้วยว่า ความเย็นชาระหว่างมิน อ่อง ลาย และผู้นำจีนนั้นมีอยู่ลึกซึ้ง และจะไม่เปลี่ยนแปลงไปโดยเร็วอย่างที่บางคนคิด

ด้านชาร์ลส์ ซานเทียโก ประธานรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ทางหนึ่งส่งเสียงประณามจีน โดยกล่าวหากองทัพเมียนมาว่าพยายามทำให้ตนเองได้รับความชอบธรรมผ่านการใช้กำลังภายในของจีน

แต่ท่าทีแข็งกร้าวของอาเซียนต่อเมียนมาครั้งนี้ เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำคัญที่ผู้นำชาติอาเซียนจะต้องคงท่าทีไว้ และแสดงให้โลกเห็นวิธีการใหม่ที่แข็งกร้าวมากขึ้นของอาเซียนในการตอบโต้เมียนมา จนกว่าจะเดินกลับสู่ครรลองที่ควรจะเป็น!