วัดดวงที่ “กฎหมายลูก”/ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

วัดดวงที่ “กฎหมายลูก”

 

“สนามการเมือง” อึกทึก-คึกคัก มิต่างอะไรกับตลาดผัก-ตลาดปลา ขึ้นมาอีกครั้ง พลันที่มีประกาศ “ราชกิจจานุเบกษา” เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 โดยระบุว่า

“มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นไว้ ซึ่งมีอยู่ 6 มาตรา”

ทั้งนี้ ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่มาตรา 3 ที่ระบุว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 83 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวนสี่ร้อยคน และสมาชิกจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยคน”

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้งหรือประกาศชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

กับ “มาตรา 91” ว่าด้วยการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขเพิ่มดังกล่าว เป็นไปตามที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบในวาระ 3 ไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 และมาตรา 91 ด้วยเสียงข้างมาก 472 ต่อ 33 เสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

หรือเกิน 365 คน จากสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่จำนวน 730 คน และมีคะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ที่มีอยู่ จำนวน 84 คน ผลโหวตของสภาสูงรับร่างจำนวน 149 เสียง ถือว่า “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครบองค์ประกอบ”

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 83 และมาตรา 91 ต้องยกเครดิตให้ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่เป็น “เจ้าของร่าง” โดย “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค เป็นผู้แถลง เปิดประเด็นนำร่องว่า เพื่อเป้าหมายหลักเพียงประเด็นเดียว นั่นก็คือการรื้อระบบเลือกตั้ง ส.ส.โดยให้ยกเลิกระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่ใช้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560

สรุป ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ เพิ่มจำนวน ส.ส.เขตเลือกตั้งจากเดิม 350 คน เป็น 400 คน ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 150 คน กลับไปจุดเดิม เหลือ 100 คน

การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคที่จะได้รับ ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับการเลือกตั้งมากองรวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรค

 

ทีนี้นำข้อมูลพื้นฐานของแต่ละพรรคการเมืองบางพรรคมาขยาย โดยยึดจากที่ยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีจำนวนสมาชิกและสาขาพรรคแต่ละพรรคแตกต่างกันไป เริ่มจาก “ประชาธิปัตย์” มีสมาชิกมากที่สุด จำนวน 178,095 คน จำนวน 18 สาขา มี ส.ส.ได้รับเลือก 51 คน

“ภูมิใจไทย” มีสมาชิกพรรค 75,728 คน 4 สาขา มี ส.ส. 61 คน

“เพื่อไทย” มีสมาชิกพรรค 59,625 คน 4 สาขา มี ส.ส. 134 คน

“พลังประชารัฐ” มีสมาชิกพรรค 44,871 คน 4 สาขา มี ส.ส. 121 คน

“ก้าวไกล” มีสมาชิกพรรค 24,589 คน 6 สาขา มี ส.ส. 54 คน

“เสรีรวมไทย” มีสมาชิก 55,841 คน 4 สาขา มี ส.ส. 10 คน

“ชาติไทยพัฒนา” มีสมาชิก 19,691 คน 4 สาขา มี ส.ส.12 คน

“ชาติพัฒนา” มีสมาชิก 15,842 คน 4 สาขา มี ส.ส. 4 คน

“ประชาชาติ” มีสมาชิก 18,015 คน 6 สาขา มี ส.ส. 7 คน เป็นต้น

นำผลการเลือกตั้งที่ประกาศอย่างเป็นทางการของปี 2562 มาขยายผล ปรากฏว่า “พรรคพลังประชารัฐ” แม้จะได้รับเลือก ส.ส.เข้าสภามาลำดับ 2 น้อยกว่า “เพื่อไทย” แต่มีเงื่อนไข เกิดความชอบธรรม นำมาเป็นข้ออ้างในการเป็นแกนนำฟอร์มรัฐบาล กรณีคะแนน “ป๊อปปูลาร์โหวต” ได้คะแนนเข้ามามากที่สุด 8,433,137 เสียง

ขณะที่ “เพื่อไทย” ชนะเขตเลือกตั้ง แต่คะแนนมหาชนได้เพียง 7,920,630 คะแนน ตามด้วย “อนาคตใหม่” 6,265,950 คะแนน “ประชาธิปัตย์” 3,947,726 คะแนน และ “ภูมิใจไทย” 3,732,883 คะแนน

ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป หากยลตามช่องทางรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่เปลี่ยนแปลงทั้งเขตเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ด้วยสัดส่วน 400 คนจากเขตเลือกตั้ง กับ 100 คนจากบัญชีรายชื่อ

ตามกฎ-กติกาใหม่ เมื่อยกยอดการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 มาเป็นฐานข้อมูลในการคูณคำนวณ นำมาวิเคราะห์ “กูรูทุกสำนัก” ต่างชี้โบ๋ชี้เบ๋ไปทิศทางเดียวกันว่า “พรรคเพื่อไทย” มีโอกาสพลิกเกมมาเป็นฝ่ายได้เปรียบสูงมาก

ขนาด “นายสมชัย ศรีสุทธิยากร” มือโปร กกต.เก่า ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต คนหนึ่งทุบโต๊ะว่า

พรรคเพื่อไทย ฐานจากบัญชีรายชื่อจะเพิ่มสัดส่วนจาก 0 เป็น 22 เสียง พลังประชารัฐ จาก 19 ปรับเป็น 24 เสียง อนาคตใหม่ หรือก้าวไกล ลดจาก 50 เหลือ 18 เสียง พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ลดลงทุกพรรค

พวกขนาดจิ๋ว จำนวน 12 พรรคเล็ก จะ “สูญพันธุ์” โดยที่ยังไม่กล้าหยิบยกพรรคการเมืองที่กำลังเร่งมือก่อร่างสร้างรังใหม่ ซึ่งมีการขยับขับเคลื่อนหลายพรรค ว่าจะมีใครสามารถฟันฝ่าอุปสรรค เบียดแทรกพื้นที่เข้ามาได้บ้าง ซึ่งก็น่าเป็นห่วงอยู่

“นายสมชัย” สรุปด้วยว่า สำหรับ ส.ส.เขตเลือกตั้ง คราวที่แล้วเพื่อไทยส่งผู้สมัครเพียง 238 เขต จาก 350 เขต ตามระบบเลือกตั้งใบเดียว เขตใดไม่ส่งไม่มีคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

แต่ครั้งหน้าระบบสองใบ แม้ส่งไม่ครบก็ได้คะแนน คิดบัญญัติไตรยางศ์ง่ายๆ “เพื่อไทย” ได้รับเลือกตั้งครั้งใหม่ ตามสัดส่วน 32 คน บวกกับเขตเลือกตั้ง 136 จะได้รับเลือกตั้ง 2 ระบบปาเข้าไป 168 คน คะแนนย่อมทิ้งห่าง “พลังประชารัฐ”

ทั้งนี้และทั้งนั้น รอวัดดวงกันที่ “กฎหมายลูก” ล่ะครับว่า ใครจะได้เปรียบ