เพ็ญสุภา สุขคตะ : ปริศนาเรื่องชาติพันธุ์ “ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นยางแดงจริงหรือ”?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

จริงเท็จอย่างไรที่กล่าวว่า เชื้อชาติของต้นตระกูลครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นชาวกะเหรี่ยงแดง (ยางแดง) ไม่ว่าในงานเขียนของ พระอานันท์ พุทฺธธมฺโม และพระปลัดเชี่ยวชาญ สุวิชฺชาโน ที่ต่างยืนยันว่า

“…ต้นตระกูลครูบาเจ้าศรีวิชัยคือหมื่นผาบ ภรรยาชื่อนางมอย เป็นชาวกะเหรี่ยงแดง…”

หรือคำให้สัมภาษณ์ของ “นายคำ คำอ้าย” ชาวบ้านปาง อายุ 94 ปี (สัมภาษณ์ปี 2557) ว่า “หมื่นผาบเป็นยางแดง”

การปรากฏกลุ่มชนชาติพันธุ์ชาว “ยางแดง” ที่มีการอ้างว่าเป็นบรรพบุรุษของครูบาเจ้าศรีวิชัยในจังหวัดลำพูนนั้น อาจเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของบรรดานักวิชาการด้านชาติพันธุ์วรรณาว่า

“ยางแดงเข้ามาตั้งถิ่นฐานในลำพูนได้อย่างไรและตั้งแต่เมื่อไหร่?”

ในเมื่อปัจจุบันนี้ ประชากรชาวกะเหรี่ยงในเชียงใหม่-ลำพูนเกือบทุกพื้นที่ล้วนเป็นยางขาวหรือยุคหลังนิยมเรียก “ปกาเกอะญอ” (ปะกากะยอ) แทน ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลักๆ คือ “กะเหรี่ยงสกอว์” กับ “กะเหรี่ยงโปว์” (โพล่ว) แทบทั้งสิ้น

ดูเหมือนไม่มีชาวกะเหรี่ยงแดงมาตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่เลย อีกทั้งกะเหรี่ยงแดงเองก็เป็นกลุ่มชนที่มีอาณาจักรยิ่งใหญ่เป็นของตนเองตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐกะเรนี หรือรัฐกะเหรี่ยงแดง ในเขตประเทศพม่า

การจะเข้าใจเรื่องเผ่าพันธุ์ “ยางแดง” ในลำพูนที่ถูกระบุว่าเป็นบรรพบุรุษของครูบาเจ้าศรีวิชัยนาม “หมื่นผาบ” ผู้นี้ จำเป็นต้องศึกษาเรื่องสายสัมพันธ์ของชาติพันธุ์ “ยางแดง” กับความเป็นมาของเจ้าหลวงลำพูนองค์หนึ่งคู่ขนานกันด้วย

นั่นคือเรื่องราวของ เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ หรือเจ้าน้อยดาวเรือง เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 7 (พ.ศ.2414-2431) ซึ่งเจ้าหลวงองค์นี้ก็มีเชื้อสายยางแดงทางสายเลือดฝ่ายมารดา เจ้าแม่ของท่านคือ เจ้านางโก๊ะ (เจ้านางกั๊วะ) เป็นธิดาของเจ้าฟ้าเมืองกันตรวดี หรือเมืองยางแดง (สำเนียงกะเหรี่ยงออกเสียงว่าเมืองลอยก่อ) ที่เสกสมรสกับเจ้าหลวงไชยลังกาพิศาลโสภาคยคุณ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 6 (พ.ศ.2390-2414)

ปี พ.ศ.2395 ในยุคที่เจ้าหลวงไชยลังกาพิศาลโสภาคยคุณ ยังเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนอยู่นั้น ได้เกิด “สงครามเชียงตุง” ขึ้น ขณะนั้น “เจ้าน้อยดาวเรือง” (ต่อมาคือเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์) อายุ 26 ชันษา ได้รับมอบหมายจากพระบิดา ให้ยกทัพลำพูน 500 คนไปตีเมืองเชียงตุง ตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินสยาม (ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4)

ท่านไปพร้อมเจ้าหนานสองเมืองกับเจ้าน้อยบุญเป็ง ในระหว่างที่คุมทัพนั้นเอง มีนักรบเผ่ายางแดงจากเมืองกันตรวดี เข้าร่วมสมทบด้วย เมื่อตอนยกทัพกลับ เจ้าน้อยดาวเรืองรู้สึกถูกชะตากับชาวยางแดงนายหนึ่ง จึงชักชวนให้มาอาศัยอยู่ในลำพูนด้วยกัน

ยางแดงผู้นั้นมีนามว่า “หมื่นผาบ” โดยให้มาทำหน้าที่เป็นหมอคล้องช้าง

 

ต้นตระกูล “หมื่นผาบ”
เชื้อสายกะเหรี่ยงแดง

บิดาครูบาเจ้าศรีวิชัยชื่อ “ควาย” มารดาชื่อ “อุสา” นายควายนั้นเป็นลูกของ “นายอ้าย” ซึ่งเป็นลูกเขยของ “หมื่นผาบ”

คำว่า “ผาบ” เป็นภาษาล้านนาหมายถึง “ปราบ” ในภาษาไทยกลาง ตำแหน่งที่มีคำว่า “ปราบ” มักแต่งตั้งให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับคาถาอาคมมีความแกร่งกล้าคงกระพันชาตรี ไม่ว่าจะเป็นนักรบแม่ทัพ เช่น “พญาปราบสงคราม” (หรือ “พญาผาบ” ในเหตุการณ์การเป็นแกนนำลุกขึ้นต่อสู้การเก็บภาษีเอาเปรียบคนพื้นเมืองที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2432)

ส่วน “หมื่นผาบ” เป็นตำแหน่งของ “หมอคล้องช้าง” ตั้งให้โดยเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ หมื่นผาบมีนามเดิมว่า “มาต่า” เป็นน้องชายของเจ้าเมืองยางแดง

เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ให้หมื่นผาบตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่แถววัดสันป่ายางหลวง อำเภอเมืองลำพูน เนื่องจากบริเวณบ้านสันป่ายางหลวงนี้ เป็นเขตที่เจ้าหลวงลำพูนยกให้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างถิ่นที่มาช่วยงานในคุ้มเสมอมา

เมื่อนายอ้าย (ลูกเขยของหมื่นผาบ) ไปคล้องช้างกับหมื่นผาบที่บ้านปาง เมืองลี้ นายอ้ายได้จับจองที่นาซึ่งเดิมเป็นบึงโคลนที่แรดมาอาศัยหมกโคลนอยู่ เรียกภาษาพื้นถิ่นว่า “ป้อดแฮด” (แฮด คือแรด) เป็นที่ทำกิน (ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดบ้านปางปัจจุบัน)

ขณะนั้นบ้านปางมีลำธารไหลผ่าน คือห้วยแม่ปาง มีราษฎรตั้งบ้านเรือนอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน ชาวบ้านทำไร่ทำนาและหาของป่าเป็นหลัก ปัจจุบันบ้านปางอยู่ในเขตการปกครองตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีบ้านเรือนประมาณ 400 กว่าหลังคาเรือน

และมีการตั้งศาลหมื่นผาบ (ปู่ทวดของครูบาเจ้าศรีวิชัย) ในบริเวณป่าใหญ่ด้านหลังวัดบ้านปางทางทิศตะวันตก

อนึ่ง คำว่า “บ้านปาง” มีการสันนิษฐานที่มาของชื่อไว้สองนัย

นัยแรก อธิบายว่าหมายถึง “ปางช้าง” สถานที่เลี้ยงช้างและฝึกช้างของหมื่นผาบให้แก่เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เรื่อยมาจนถึงปางช้างของบริษัทบอร์เนียวเบอร์มาในยุคสัมปทานป่าไม้

และอีกนัยหนึ่ง เป็นชื่อเฉพาะของลำน้ำสายหนึ่งที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำลี้ชื่อ “ห้วยแม่ปาง”

นายอ้ายนั้นมีภรรยา 2 คน คนที่ชื่อน้อย (ลูกสาวของหมื่นผาบ) เป็นแม่ของนายควาย ต่อมานายควายได้แต่งงานกับนางอุสา ผู้เป็นมารดาของครูบาเจ้าศรีวิชัย บ้างก็ว่าเป็นชาวเชียงใหม่ บ้างก็ว่าเป็นบุตรสาวของพ่อหนานไชยา (ไจยา) ชาวเมืองลี้

เรื่องนี้ นายคำ คำอ้าย ยืนยันว่า นางอุสาเป็นคนบ้านปางโดยกำเนิด ทั้งยังไล่เรียงลำดับญาติพี่น้องของนางอุสาให้ฟังว่า มีด้วยกัน 4 คน คือ ย่าสา ย่ามูล ย่าบุก และย่าหล้า หมายความว่า นางอุสาหรือย่าสาเป็นลูกสาวคนโต

ส่วนบรรพชนรุ่นถัดขึ้นไปจากนางอุสาไม่สามารถสืบค้นได้

 

มีการยืนยันถึงข้อมูลเรื่องเชื้อสายกะเหรี่ยงของครูบาเจ้าศรีวิชัย ปรากฏในเอกสารกรมราชเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี เลขที่ สร.0202.8/20 โดยปี พ.ศ.2475 รัฐบาลได้ส่งพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค 2405-2479) อดีตองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 7 และภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของรัฐบาลคณะราษฎร ขึ้นมาศึกษาความเป็นไปของสภาพสังคมเมืองเหนือ ในฐานะที่ท่านเป็นเพื่อนเก่าของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย คือเจ้าแก้วนวรัฐ

วัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อดูทีท่าของเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีต่อรัฐบาลระบอบใหม่ พระยาสุริยานุวัตรได้เขียนรายงานเสนอต่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ตามหนังสือลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ว่า

“…ในเมืองเชียงใหม่ ข้าพเจ้าสืบถามดูได้ความชัดเจนว่า พระราชชายาเธอ (เจ้าดารารัศมี) และเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นผู้ที่มีอำนาจที่ราษฎรนับถือมาก

แต่คนสำคัญที่มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าเจ้านายทั้งสิ้นในเมืองเชียงใหม่นั้น มีเถรรูปหนึ่งชื่อ “ตุ๊เจ้าศรีวิไชย” เป็นเจ้าคณะวัด (พระ)สิงห์ เชื้อกะเหรี่ยง ตำบลบ้านปาง แขวงเมืองนครลำปาง (ข้อมูลในส่วนนี้คลาดเคลื่อนน่าจะพิมพ์ผิด ในความเป็นจริงคือนครลำพูน) คนนับถือทั้งเมือง ตลอดจนถึงเชียงตุง จะว่าอะไรหรือปรารถนาอะไรคงสำเร็จทั้งสิ้น เถรองค์นี้ถือพุทธศาสนาเคร่งครัดมาก มีฉันอาหารวันละมื้อ และไม่ฉันอาหารเนื้อสัตว์ เป็นต้น…”

เห็นได้ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการมีเชื้อสายกะเหรี่ยงของครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นที่รับรู้กันทั่วไปอย่างกว้างขวางในสังคมล้านนา ณ ห้วงเวลาร่วมสมัยกับที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังมีชีวิตอยู่

ภาพครูบาเจ้าศรีวิชัยหันด้านข้าง ที่นำมาลงประกอบนี้ เป็นภาพที่หาดูได้ยากยิ่ง พบว่าในวัยหนุ่มก่อนบรรพชาเป็นสามเณร ท่านเคย “เจาะหู” มาก่อน ตามธรรมเนียมของชาวล้านนาและชาวกะเหรี่ยงทั้งชายหญิง

ทีนี้คงหายคลางแคลงใจกันแล้วนะคะ เกี่ยวกับชาติพันธุ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย

สายพ่อของท่าน สืบไปถึงปู่ทวด เป็นสายของชาวยางแดง (กะเหรี่ยงแดง) จากเมืองกันตรวตีนี้แน่นอน ไม่ใช่กะเหรี่ยงขาว

ส่วนฝ่ายแม่คือนางอุสา ไม่ระบุชาติพันธุ์แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเป็นชาวยอง (ประชากรส่วนใหญ่ในลำพูน) ผสมกับชาวกะเหรี่ยงขาว (กะเหรี่ยงพื้นเมืองในลำพูน) ก็เป็นได้

เหตุที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยพูดภาษาหลักในชีวิตประจำวันเป็นภาษายอง ไม่ได้พูดภาษาของชาวไทโยน