ส่องความสำเร็จชาติเอเชีย กับโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19/บทความต่างประเทศ

FILE - Members of a local fire department receive the Moderna coronavirus vaccine at a temporary mass vaccination center at a former Tsukiji fish market site set up by Tokyo metropolitan government in Tokyo on June 8, 2021. After slow starts, vaccination campaigns in several countries in the Asia-Pacific region now boast inoculation rates that rank among the world’s best. Japan's vaccine program was notoriously slow. It didn't start until mid-February because it required additional clinical testing on Japanese people before using the vaccines, a move that was widely criticized as unnecessary. (AP Photo/Eugene Hoshiko, File)

บทความต่างประเทศ

 

ส่องความสำเร็จชาติเอเชีย

กับโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19

 

กลุ่มประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก รวมไปถึงประเทศในอาเซียน เป็นกลุ่มประเทศที่เริ่มต้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างล่าช้า หากเทียบกับสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป ที่เริ่มต้นการฉีดวัคซีนตั้งแต่ปลายปี 2020

กว่าประเทศในเอเชียจะเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างจริงจังก็กินเวลาล่วงเลยไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เรียกได้ว่าช้ากว่าชาติตะวันตกถึง 4-5 เดือนเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศแม้ในช่วง 2 เดือนแรกของโครงการจะมีประชากรได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเฉลี่ยเพียง 10% เท่านั้น กลับสามารถเร่งความเร็วในการฉีดวัคซีนขึ้นมาได้อย่างน่าประทับใจ มีประชากรฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วถึง 70% ในเวลานี้

สื่อต่างประเทศให้ความสนใจยกให้หลายประเทศเป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างครอบคลุม

 

นักวิเคราะห์ระบุว่าแม้กลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของฐานะทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงจำนวนประชากร แต่ก็มีจุดร่วมที่นำไปสู่ความสำเร็จที่คล้ายคลึงกันหลายอย่าง เช่น ประสบการณ์การรับมือกับโรคระบาด อย่างเช่น “โรคซาร์ส” มาแล้ว รวมไปถึงการมีโครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การกระจายความเสี่ยงด้วยการสั่งวัคซีนจากหลายๆ แหล่ง เป็นต้น

ช่วงปลายปี 2020 หลายประเทศในเอเชียเริ่มนำเข้าและฉีดวัคซีน แต่ก็ทำได้ช้ากว่าชาติตะวันตก เหตุผลนอกเหนือจากปัญหาวัคซีนผลิตได้ไม่ทันต่อความต้องการจากทั่วโลกแล้ว อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตในระดับต่ำ ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไม่ได้มองเรื่องการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องเร่งด่วนเท่าใดนัก

“กัมพูชา” เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่เริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในเดือนกุมภาพันธ์

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ช่วงเวลาที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า เริ่มแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว มีชาวกัมพูชาเพียง 11 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม จากประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน เทียบกับสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาเดียวกันแล้วทำได้แค่ครึ่งหนึ่งของอัตราการฉีดวัคซีนที่สหรัฐทำได้ และหากเทียบกับอังกฤษแล้วทำได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ กัมพูชาสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครบ 2 เข็มแล้วถึง 78 เปอร์เซ็นต์ แซงหน้าหลายประเทศในยุโรป รวมถึงแซงหน้าสหรัฐอเมริกาที่ฉีด 2 เข็มได้เพียง 58 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ล่าสุดกัมพูชายังเริ่มฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้กับประชาชนและเตรียมที่จะขยายโครงการฉีดวัคซีนให้กับเด็กวัย 3-4 ขวบด้วย

สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศ “ชัยชนะของการฉีดวัคซีน” เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยยกความดีความชอบให้กับ “สัมพันธ์อันดี” กับรัฐบาลจีนที่ทำให้กัมพูชาสามารถจัดหาวัคซีนโควิด-19 จากจีนได้มากถึง 37 ล้านโดส โดยในจำนวนนี้เป็นการบริจาคให้ฟรีส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้ กัมพูชายังจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนจากการบริจาคล็อตใหญ่ๆ จากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอังกฤษ รวมไปถึงโครงการ COVAX ภายใต้การนำขององค์การอนามัยโลกด้วย

 

ด้าน “มาเลเซีย” เองแม้ในช่วง 3 เดือนแรกมีประชาชนได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ จากประชากรทั้งหมด 33 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หลังจากยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น มาเลเซียสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้น มีการตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ที่สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ถึงวันละ 10,000 โดสต่อวัน จนปัจจุบันมีชาวเมเลเซียฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วมากถึง 76 เปอร์เซ็นต์

นับจนถึงปัจจุบัน มีประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกมากกว่า 10 ประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนได้ใกล้เคียง 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น ภูฏาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์ ที่มีประชากรในประเทศฉีดวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้วถึง 92 เปอร์เซ็นต์

 

ด้านญี่ปุน แม้จะเป็นชาติร่ำรวยแต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในการดำเนินโครงการฉีดวัคซีนได้ล่าช้า พร้อมๆ กับการถูกตั้งคำถามจากทั่วโลกว่าญี่ปุ่นจะสามารถเป็นเจ้าภาพจัด “มหกรรมกีฬาโอลิมปิก” ได้หรือไม่

ญี่ปุ่นเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ในเดือนกุมภาพันธ์หลังจากรัฐบาลกำหนดให้ต้องทำการทดสอบวัคซีนกับชาวญี่ปุ่นก่อนฉีดให้กับประชาชนทั่วไป จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ในเวลาเดียวกันกับที่เกิดปัญหาวัคซีนผลิตไม่ทันความต้องการทั่วโลก

“โยชิฮิเดะ สึกะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเวลานั้นสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาช่วยบริหารจัดการศูนย์ฉีดวัคซีนในกรุงโตเกียว และนครโอซากา และแก้ไขกฎหมายให้ “หมอฟัน”, “เจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉิน” และ “แพทย์ห้องปฏิบัติการ” สามารถร่วมฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ นอกเหนือไปจากแพทย์และพยาบาล

ปฏิบัติการดังกล่าวส่งผลให้ยอดฉีดวัคซีนพุ่งไปถึง 1.5 ล้านโดสต่อวัน ในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ญี่ปุ่นผ่านการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมาได้อย่างสวยงาม โดยล่าสุดชาวญี่ปุ่นฉีดวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้วถึง 76 เปอร์เซ็นต์

 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกหลายประเทศที่ยังทำได้ไม่ดีนักไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ที่แม้จะเพิ่งฉลองฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 1,000 ล้านโดสไป แต่ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 1,400 ล้านคนทำให้อินเดียเวลานี้มีประชาชนฉีดวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้วเพียง 29 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ขณะที่อินโดนีเซียเป็นอีกประเทศที่เริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนเร็วกว่าประเทศอื่นๆ แต่ก็ติดปัญหาเรื่องการขนส่งวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศที่เป็นเกาะนับพันๆ เกาะ ส่งผลให้ล่าสุดมีประชากรฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วเพียง 32.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

นั่นคือเรื่องราวของหลายๆ ประเทศในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่น่าจะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศที่ยังคงเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

โดยเฉพาะประเทศไทยที่ปัจจุบันมีผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้วเพียง 54 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น