ท่าอากาศยานต่างความคิด : อาวรณ์นคร (2)

ย้อนอ่านอาวรณ์นคร (1)

ผมเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายด้วยความรู้สึกตื่นเต้น

การต้องจากโรงเรียนที่มีแต่นักเรียนชายล้วนริมขอบกรุงเทพฯ มาสู่โรงเรียนสหศึกษาที่เก่าแก่และใหญ่โตกลางเมือง ทำให้ผมต้องปรับตัวอย่างมาก

ไม่นับว่านักเรียนทุกคนในโรงเรียนมีความตั้งใจในการเรียนระดับสูงถึงสูงมาก

เรามีสนามฟุตบอลภายในโรงเรียน แต่มีนักเรียนที่คว้าลูกฟุตบอลลงไปใช้มันน้อยเต็มที

เรามีสนามบาสเกตบอลภายในโรงเรียน แต่มีนักเรียนที่คว้าลูกบาสเกตบอลไปใช้งานมันน้อยเต็มที

เรามีโต๊ะและม้านั่งตามที่ต่างๆ มากมาย แต่ที่เหล่านั้นดูเหมือนไม่เคยเพียงพอ

เพราะมันล้วนถูกนักเรียนที่กางตำราและข้อสอบครอบครองมันแทบตลอดเวลา

ความกดดันเช่นนั้นผลักดันให้ผมต้องเข้าสู่โรงเรียนกวดวิชาอีกครั้ง

แต่การกวดวิชาในช่วงมัธยมปลายมีความแตกต่างจากการกวดวิชาเพื่อสอบเข้าโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งในช่วงมัธยมต้นมาก

เพราะเป้าหมายของการศึกษาสายสามัญในชั้นมัธยมปลายคือการสอบเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัยที่ตนเองสนใจให้จงได้

ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงนั้นแม้จะใช้คำว่าการสอบเอ็นทรานซ์เหมือนในปัจจุบัน แต่กลับมีความแตกต่างที่สำคัญอยู่ไม่น้อย

ในวันสมัครสอบเราจะได้รับใบสมัครที่เปิดโอกาสให้เราเขียนรหัสย่อของคณะและมหาวิทยาลัยที่เราต้องการได้หกอันดับ

การเลือกคณะและมหาวิทยาลัยนั้นเป็นไปอย่างเสรี ผู้ที่เรียนสายวิทยาศาสตร์สามารถเลือกคณะด้านภาษาหรือศิลปะได้

และเช่นกันผู้ที่เรียนสายภาษาหรือสายศิลป์สามารถเลือกคณะด้านวิทยาศาสตร์ได้ตามใจ

ผลการเรียนในชั้นมัธยมปลายจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

มันเป็นการสอบแบบที่พวกเราเรียกว่าการดวลปืนตัวต่อตัว

ทุกอย่างมาประชุมรวมในวันสอบ

ห้าหรือหกวิชาที่คุณจะต้องเอาชนะคู่ต่อสู้คือข้อสอบตรงหน้าให้จงได้

การแก้ตัวไม่มี เว้นแต่คุณจะเข้าสอบใหม่ในปีหน้า ซึ่งนั่นหมายถึงการสูญเสียเวลาไปอีกหนึ่งปีเต็ม

หนทางลดแรงกดดันในสถานการณ์ที่ว่านี้สำหรับพวกนักเรียนมัธยมปลายช่วงนั้นกระทำได้ด้วยการสอบเทียบการศึกษาเพื่อเอาวุฒิการศึกษามัธยมปลายจากกระทรวงศึกษาธิการก่อนตั้งแต่ชั้นมัธยมสี่

อันทำให้การเรียนในชั้นมัธยมห้าหรือหกเต็มไปด้วยความมีอิสระมากขึ้น

และทำให้เราทุ่มความสนใจไปกับวิชาที่ต้องใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยแต่เพียงอย่างเดียว

สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดผลที่ตามมาสองประการ

ประการแรกคือ ในวิชาที่ไม่จำเป็นสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแทบจะไม่มีนักเรียนปรากฏตัวในชั้น

ครั้งหนึ่งผมจำได้ว่าวิชาสุขศึกษาของชั้นเรียนมัธยมห้าที่ห้องเรียนของเรามีคนเข้าเรียนเพียงสามคน

อาจารย์ผู้สอนที่รับหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องพยาบาลด้วยเดินเข้าห้องเรียนด้วยสีหน้าที่โกรธจัด ท่านมองหน้าพวกเราแล้วพูดด้วยเสียงอันดังว่า

“หายไปไหนกันหมด แน่สิ พวกเทวดาทั้งนั้น ทีหลังก็ไม่ต้องมีมันละโรงรงโรงเรียน มีแต่โรงเรียนกวดวิชาก็พอ ดีเหมือนกัน พวกเธอไม่อยากเรียน ฉันก็ไม่อยากสอนเช่นกัน”

ก่อนจะประกาศสอบไล่ในอาทิตย์หน้าและไม่กลับมาสอนอีกเลย

ห้องเรียนของเราเงียบเหงาลงทุกที นอกจากวิชาฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แล้วแทบไม่มีใครหยั่งเท้าเข้ามาในห้องเรียน

และนั่นคือผลกระทบประการที่สอง ในที่สุดทุกคนก็รู้ดีว่าเราจะไปพบกันที่ไหน สถานกวดวิชาชื่อดังคือจุดนัดพบของทุกคน

หากคุณอ่อนคณิตศาสตร์ เรามี Math Center ที่แถวราชดำเนิน

หากคุณอ่อนวิชาเคมี เรามีโรงเรียนพันธศึกษาแถวสามเสน

หากคุณอ่อนวิชาภาษาอังกฤษ เรามีโรงเรียนเสริมหลักสูตรตรงเสาชิงช้า

ยามเย็นและเสาร์อาทิตย์ นักเรียนมัธยมปลายตอนนั้นจะไม่ต่างจากโรนิน ซามูไรไร้สังกัดที่เดินเข้าเดินออกตามโรงเรียนกวดวิชาเหล่านั้นเป็นว่าเล่น

โรงเรียนกวดวิชาเหล่านั้นกลายเป็นโรงเรียนที่จากชุมชนจินตกรรมของนักเรียนชั้นมัธยมปลายในกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย

วิชาที่ผมอ่อนตอนนั้นคือวิชาฟิสิกส์

หากแต่ผมรู้สึกว่าการเข้าเรียนซ้ำในสิ่งที่ตนเองเอาดีไม่ได้น่าจะเป็นการสิ้นเปลืองเวลา

ผมควรทุ่มเทให้กับวิชาที่ผมเชื่อว่าทำคะแนนได้ดีแน่ๆ ให้ถึงที่สุด

มีโรงเรียนกวดวิชาด้านภาษาอังกฤษอันเป็นวิชาที่ผมหลงใหลตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นเปิดใหม่อยู่ในซอยกิ่งเพชร

ผมรับใบปลิวแนะนำโรงเรียนที่ว่านี้จากคนแจกใบปลิวหน้าประตูโรงเรียนของผมในเช้าวันหนึ่ง

และหลังจากใช้เวลาขบคิดอยู่หนึ่งวัน ผมก็ปรากฏตัวที่โรงเรียนแห่งนั้นและทำให้ผมได้พบกับหทัยรัตน์ในเวลาต่อมา

โรงเรียนกวดวิชาที่ว่านี่เป็นบ้านไม้สองชั้น ชั้นล่างเป็นที่พักอาศัยและครัวของผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งเป็นข้าราชการผู้หญิงที่เกษียณอายุแล้ว

ชั้นบนที่ไม่ค่อยได้ต้อนรับใครจึงถูกซอยแบ่งเป็นห้องเรียนสองห้อง

ห้องแรกเป็นห้องเรียนกวดวิชาชั้นมัธยมต้น

ส่วนห้องที่สองเป็นห้องเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษในชั้นมัธยมปลาย

อาจารย์ผู้สอนเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล

อาจารย์ใส่แว่นตากรอบทองและดูเข้มขลังและเต็มไปด้วยเอกสารประกอบการสอนที่มีบทความทางวิทยาศาสตร์เต็มไปหมด

มันเป็นห้องเรียนที่แปลกเพราะไม่ได้เน้นการทำข้อสอบเหมือนที่ผมเคยพบมา

อาจารย์ผู้สอนมุ่งให้นักเรียนในห้องสนใจความเป็นมาและประโยชน์ของภาษาอังกฤษเป็นหลัก รวมถึงการตีความบทความต่างๆ

ไม่มีกระดานดำ ไม่มีไมโครโฟน อาจารย์จะลากเก้าอี้มาตรงกลางห้องและขอให้นักเรียนทุกคนนั่งล้อมวงเป็นรูปครึ่งวงกลม

แต่ละคนจะหยิบเอาจุดที่ไม่เข้าใจจากการอ่านบทความเหล่านั้นออกมาถามและอาจารย์จะเริ่มต้นขยายความไม่ว่าจะเป็นไวยากรณ์ ศัพท์ หรือการใช้คำพ้องเคียงตอบปัญหาเหล่านั้น

หทัยรัตน์ดูจะเป็นนักเรียนที่มีคำถามอยู่บ่อยครั้ง หลายคำถามของเธอน่าสนใจและผมจดจำเธอครั้งแรกจากคำถามหนึ่งที่ว่า

“ทำไมเราถึงต้องมีคำว่ากินและต้องผันกิริยาการกิน ในเมื่อการกินก็คือการกินไม่มีความซับซ้อนใดอื่น เราตักอาหาร นำมันผ่านปาก ร่างกายย่อยมันและขับถ่าย เป็นเช่นนี้มานับพันปีแล้ว เป็นเช่นนี้มานับหมื่นปีแล้ว ทำไมคำว่า Eat คำเดียวจึงไม่เพียงพอ”

คำตอบของอาจารย์น่าสนใจมาก ท่านชี้แจงให้เราเห็นว่ามีการกินหลายรูปแบบในชีวิตมนุษย์ ทั้งการกินเพื่อยังชีพ การกินตามมารยาท การกินเพื่อโอ้อวดตนเอง การกินเพราะถูกบังคับให้กิน

ทุกคำตอบที่อาจารย์พูด หทัยรัตน์จะก้มหน้าจดมันลงบนสมุดสีฟ้าอย่างขะมักเขม้น ส่วนผมนั้นไม่ทำสิ่งใดอื่นนอกจากการเฝ้ามองกิริยาอาการของเธอ

การสังเกตเธออย่างตั้งใจทำให้ผมพบความจริงว่า หทัยรัตน์ไม่ได้มาจากโรงเรียนรัฐบาลชั้นนำ

ตัวอักษรย่อบนหน้าอกเสื้อของเธอถูกปักด้วยด้ายสีแดงแทนด้ายสีน้ำเงินแบบนักเรียนรัฐบาลทั่วไป

ผมไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนริเริ่มข้อกำหนดการแบ่งแยกที่ว่านี้ แต่มันเป็นข้อกำหนดที่แปลกประหลาด

ในหลายครั้งด้ายสีแดงแสดงความสำคัญ อาทิ จากโรงเรียนเอกชนชั้นนำอย่างอัสสัมชัญหรือมาแตร์เดอี

แต่ในหลายครั้งมันก็แสดงถึงโรงเรียนที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นและรู้จักกันในกลุ่มอย่างชื่อย่อโรงเรียนของหทัยรัตน์ เป็นต้น ความสงสัยใคร่รู้ของผมต่อโรงเรียนของหทัยรัตน์ถึงที่สิ้นสุดหลังการเรียน

ในค่ำวันหนึ่ง ผมถามเธอว่าตัวอักษรย่อ สปท. บนเสื้อของนั้นมีความหมายว่าอะไร

“สตรีประเทืองวิทย์” เธอตอบผมสั้นๆ

“โรงเรียนเราไม่ดังหรอก ไม่เหมือนโรงเรียนของเธอ แต่เราก็ชอบโรงเรียนเรามาก มันอยู่ไม่ไกลจากตรงนี้ ถ้าเธอว่างเราจะกลับไปเอาของที่โรงเรียนพอดี จะเดินไปด้วยกันก็ได้นะ จะได้อวดโรงเรียนกับเขาบ้าง”

หทัยรัตน์หยิบกระเป๋าแล้วเดินนำหน้าผมตามทางเดินบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ประมาณสิบนาทีพวกเราก็มาถึงสี่แยกอุรุพงษ์

เราทั้งคู่หยุดยืนรอไฟแดงอยู่ที่สี่แยกนั้นก่อนจะข้ามถนนมาอีกฝั่งที่ตัดกับถนนพระรามหก

หทัยรัตน์พาผมมาที่หน้าโรงเรียนของเธอ เธอหายไปที่ตู้ยามครู่หนึ่งในขณะที่ผมยืนมองโรงเรียนที่มีขนาดพอสมควร น่าสนใจตรงที่บริเวณกันสาดของห้องเรียนแต่ละห้องนั้นมีอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศติดตั้งอยู่

และเมื่อหทัยรัตน์กลับออกมาอีกครั้ง ผมก็อดถามเธอไม่ได้ “ห้องเรียนของเธอติดเครื่องปรับอากาศด้วยหรือ?”

“ใช่” เธอตอบ

“ติดถนนแบบนี้ถ้าไม่ติดเครื่องปรับอากาศคงเรียนไม่รู้เรื่องแน่ๆ เก๋ไหมล่ะ เราว่าโรงเรียนเราน่าจะเป็นโรงเรียนแรกๆ ที่นักเรียนได้เรียนในห้องแอร์แบบนี้”

ผมพยักหน้ารับ

“เราไม่ได้เจาะจงจะมาเรียนที่นี่หรอก แต่พ่อกับแม่คิดว่ามันน่าจะปลอดภัยดีสำหรับผู้หญิง ชั้นมัธยมปลายมีแต่ผู้หญิงล้วน สนุกดี”

ในวันนั้น นอกเหนือจากการที่ผมได้รับรู้ว่าโรงเรียนของหทัยรัตน์อยู่ที่ไหนแล้ว ผมยังได้รับรู้อีกว่าบ้านของเธออยู่ที่ใด

พ่อแม่ของหทัยรัตน์เปิดร้านขายยาขนาดใหญ่อยู่ที่ตลาดซึ่งห่างจากปากซอยเข้าบ้านของผมเพียงหนึ่งป้ายรถเมล์

ด้วยเหตุนี้ในภาคการศึกษาสุดท้ายของเรา ผมกับหทัยรัตน์จะกลับบ้านด้วยกันเสมอในวันที่เราเรียนกวดวิชาด้วยกัน

เธอเป็นลูกสาวคนเดียว ต้องการสอบเข้าเรียนต่อในคณะมนุษยศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ ที่ใดก็ได้ที่ไม่ใช่ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา บางแสน พิษณุโลก เธอเอ่ยสถานที่เหล่านั้นอย่างเป็นจังหวะราวกับท่องจำมันมานับพันนับหมื่นครั้ง

“เราเบื่อกรุงเทพฯ อยากไปไหนไกลๆ สักสี่ปี ลูกสาวคนเดียวในร้านขายยานะเธอ พ่อแม่อยากให้เราเป็นเภสัชกร แต่เราก็หนีมาเรียนภาษาและจะหนีไปที่อื่นอีกด้วย” เธอพูดและก็หัวเราะอย่างร่าเริง

หทัยรัตน์ต้องทำอย่างนั้นได้แน่ เธอเป็นคนที่เฉลียวฉลาด เป็นตัวของตัวเอง ผมเชื่อว่าหากเธอจะเลือกคณะอักษรศาสตร์หรือคณะมนุษยศาสตร์ในกรุงเทพฯ เธอก็จะผ่านการสอบครั้งนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น

หทัยรัตน์ไม่ใช่คนสวย แต่ความมั่นใจในตนเองของเธอ เป็นความงามอย่างยิ่ง

เมื่อวันสุดท้ายของการเรียนมาถึง เธอพูดกับผมว่า “ไม่อวยพรละนะ นักเรียนจากโรงเรียนของเธอไม่มีอะไรน่าห่วง ขอให้สนุกกับชีวิตมหาวิทยาลัย”

วันประกาศผลสอบเอ็นทรานซ์มาถึง หลังพบชื่อของตนเองบนกระดาน ผมหมดความหวังที่จะตามหาชื่อหทัยรัตน์ท่ามกลางนักเรียนจำนวนมาก

ทางออกที่ดีที่สุดคือซื้อหนังสือพิมพ์แล้วไล่รายชื่อนักเรียนดู กิจกรรมนั้นกินเวลาพอควร แต่การได้พบชื่อหทัยรัตน์เป็นนักศึกษาใหม่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ทำความสุขให้ผมไม่น้อยกว่าการรู้ผลสอบของตนเอง

ผมไม่ได้เจอหทัยรัตน์อีกเลย แม้ว่าสองสามปีแรกที่คิดจะซื้อยา ผมจะแวะไปที่ร้านของเธอเสมอ แต่เธอก็ไม่เคยอยู่ที่ร้าน

และในที่สุดผมก็ลืมเธอ

ความทรงจำของผมที่มีต่อหทัยรัตน์กลับมาในอีกหลายปีก่อนให้หลัง ผมมีธุระผ่านไปที่โรงเรียนของเธอในช่วงที่ทำงานแล้ว ป้ายผ้าเขียนอยู่ที่กันสาดซึ่งยังมีเครื่องปรับอากาศวางอยู่ ข้อความในแผ่นผ้าบอกว่าโรงเรียนสตรีประเทืองวิทย์จะเปิดทำการเป็นปีสุดท้ายก่อนจะทุบทิ้งเพื่อใช้ในกิจการอื่นต่อไป

และอีกหลายปีต่อมาที่ตรงนั้นก็ไม่เหลือความเป็นโรงเรียนอีกต่อไป

พวกเราในยุคสมัยนั้นกลายเป็นคนรุ่นที่ทุกสิ่งพร้อมจะถูกรื้อทิ้งและสร้างใหม่อยู่เสมอ

กมลชนกหรือหทัยรัตน์คงทำได้เพียงแค่เดินผ่านไปในที่ที่เราเคยใช้ชีวิต เคยหัวเราะ เคยร้องไห้ เคยมีความสุข เคยมีความทุกข์อยู่ในนั้นและบอกว่าครั้งหนึ่งเคยมีพื้นที่ห่อหุ้มตัวฉันตั้งอยู่ บัดนี้มันจากไปแล้ว

มันเป็นส่วนหนึ่งของนครขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่ากรุงเทพฯ