ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 18-24 สิงหาคม 2560

อย่างที่ทราบ
เดือนสิงหาคมนี้ คดีใหญ่ๆ และคดีที่สังคมให้ความสนใจ จะถูกตัดสิน
ไม่ว่าคดีขายข้าวจีทูจี คดีจำนำข้าว คดีที่ดินอัลไพน์
กระทั่ง คดีในชั้นอุทธรณ์ของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา
คดีเหล่านี้ ทำให้ไปรษณียบัตรของ “ร่วมเกียรติ สมุทรปราการ” ซึ่งถูก “กด” ทับอยู่ในตะกร้ามานาน
มีชีวิตชีวาขึ้นมา

กระนั้น เราควรเริ่มที่ “ข้อเท็จจริง” ก่อน
เพราะ “ข้อเท็จจริง” คือสิ่งจะชี้ขาดว่าเราควรจะยอมรับ หรือไม่ยอมรับ ในเรื่องนั้นๆ
“ร่วมเกียรติ สมุทรปราการ” ระบุในไปรษณียบัตร ว่า บทประพันธ์ “เอ็งกินเหล้าเมายาไม่ว่าดอก…” เป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 นั้น
น่าจะคลาดเคลื่อน
คลาดเคลื่อนเช่นเดียวกับที่คนจำนวนมากเข้าใจว่ากลอนนี้เป็นของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย”
ทุกวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งเป็น วัน “รพี” มักจะมีการอ้างบทกลอนนี้เสมอ
พร้อมเรื่องเล่าว่า
มีครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ นำนักเรียนกฎหมายเข้าเฝ้าฯ
ณ ที่นั้น ทรงมีพระราชกระแสดำรัสว่า “…รพี พ่อได้ยินว่าผู้พิพากษากินเหล้ามากใช่ไหม ทำไมรพีจึงปล่อยให้เป็นเช่นนั้น…”
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงนิ่งอึ้งอยู่ครู่ใหญ่ แล้วกราบบังคมทูลว่า
“…เวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าจะเลือกผู้พิพากษาก็ดี เลื่อนชั้นผู้พิพากษาก็ดี ข้าพระพุทธเจ้าถือหลักในใจอยู่เพียงสองข้อ
คือ ต้องมีสติปัญญาเฉียบแหลมเฉลียวฉลาดอย่างหนึ่ง
และต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตอีกอย่างหนึ่ง
พูดสั้นๆ ต้องฉลาดและต้องไม่โกง
…ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ไปสอบสวนหรือเอาใจใส่กิจธุระส่วนตัวของผู้พิพากษาแต่ละคน
ใครจะกินเหล้า เที่ยวเตร่อย่างไร นอกเหนืออำนาจเสนาบดีจะบังคับ…”
เรื่องที่เล่าสืบกันมานี้ ที่สุดก็เลยมาเป็นบทกลอน
ซึ่งไม่ใช่ของรัชกาลที่ 5 และกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

Matichon Online เมื่อ 9 สิงหาคม 2012 เคยรายงานไว้ว่า
บทความ “อคติ 4 ในบริบทปัจจุบัน” โดย นคร หรดี ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน “กระแสทัศน์” ฉบับ 9 สิงหาคม 2555 ระบุว่า
กลอนบทที่ว่า “เอ็งกินเหล้าเมายาไม่ว่าหรอก…” ที่เข้าใจโดยปริยายว่ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงนิพนธ์ขึ้น
คนแต่งคือ ท่านวิษณุ เครืองาม
เมื่อผู้เขียนทราบความจริงก็ตกใจ ระคนขบขัน ที่แม้แต่กาลามสูตรข้อแรกที่ว่าอย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
นักเรียนกฎหมายจำนวนไม่น้อยรวมถึงผู้เขียนก็สอบตกเสียแล้ว…

ขณะที่เว็บไซต์ไทยโพสต์ 7 สิงหาคม 2017
ขยายความเพิ่มเติมว่า
“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย
บอกไว้ในโอกาสแสดงปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมไทย ในงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจกับกระบวนการยุติธรรม” สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เมื่อสัปดาห์ก่อน
…ผมได้ยินคำจากผู้พิพากษาสมัยก่อนที่บอกว่า แม้กินเหล้าก็ยังสามารถพิจารณาคดีได้ แต่หากรับสินบนถือเป็นเรื่องเลวทรามมาก
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็นำเรื่องดังกล่าวมาแต่งกลอน และไปติดที่บอร์ดมหาวิทยาลัย
แต่ภายหลังมีคนเข้าใจว่าเป็นบทกลอนของพระองค์เจ้ารพีฯ เป็นคนแต่ง จึงมีการยกย่องขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน…
จากนั้น “อาจารย์วิษณุ” ก็อธิบายว่า ตอนนั้นที่แต่งใหม่ๆ ก็ถูกต่อว่า เนื้อหาและเหตุผลไม่ค่อยสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการโยงเรื่องการกินเหล้ากับเรื่องรับสินบน เพราะต้องการให้เกิดการเปรียบเทียบ
หลัง “อาจารย์วิษณุ” เล่าความเป็นมาของกลอนดังกล่าวจบ ตุลาการและนักกฎหมายที่นั่งฟังถึงกับอึ้งไปตามๆ กัน

ขณะที่โลกโซเชียลเอง
ผู้ที่ใช้ชื่อ Kraisorn Mesomngam สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ให้ข้อมูลว่า
“อาจารย์วิษณุ เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือรพี 54 ของ ม.อัสสัมชัญ เมื่อ 2554” แล้ว
ส่วนผู้ใช้นามว่า Up Jaya ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า
“อ.วิษณุเล่าว่า เพื่อนมือดีมันมาเซ็นพระนามปลอม ‘รพีพัฒนศักดิ์’ ลงใต้กลอนนี้
คนทั้งปวงอ่าน เลยจับใจและลอกเผยแพร่ต่อ เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์…”

ข้อเท็จจริงของกลอนบทดังกล่าว จึงเป็นฉะนี้
ส่วนการตัดสินคดีใหญ่ข้างต้น
เชื่อว่าหลายคน คงไม่ได้ติดใจเรื่อง “กินสินบาทคาดสินบน”
แต่อยากเห็น การตัดสินคดี บนข้อเท็จจริง และด้วยวุฒิภาวะ แบบ…
“เอ็งมันชนชั้นปัญญา ตุลาการ”