คำ ผกา : ยุคแสวงหา (ที่อยู่ใหม่)

คำ ผกา

มีใครสงสัยเหมือนฉันบ้างว่า กะอีแค่นักร้องเด็กๆ คนหนึ่ง ไม่ใช่ระดับซูเปอร์สตาร์ด้วยซ้ำไป แค่ลุกขึ้นมา “บ่น” เรื่องความเฮงซวย-เอาเข้าจริงๆ เราน่าจะดีใจที่เด็กรุ่นใหม่ขนาดนี้รู้จักใช้ศัพท์ของจิ๊กโก๋โบราณอย่างคำว่า เฮงซวยด้วย-ของของสิ่งที่เธอพบเห็นในบ้านเมือง แค่นั้นเองจริงๆ ทำไมต้องโมโหโกรธากันขนาดนั้น?

ทำราวกับว่าเธอคือมนุษย์สัญชาติไทย เชื้อชาติไทยคนแรกที่ลุกขึ้นมาบ่นก่นด่าความเละตุ้มเป๊ะของบ้านเมืองตัวเอง

และอย่างที่เพิ่งเขียนเมื่อสามสัปดาห์ก่อนว่า ไม่มีพลเมืองของบ้านเมืองไหนที่ไม่บ่นว่า โอ๊ย ประเทศชั้นน่าเบื่อ รัฐบาลประเทศชั้นมันไม่ได้เรื่อง เว้นแต่คุณจะเกิดในประเทศที่เขาห้าม “วิจารณ์” บ้านเมืองตัวเองอย่างเด็ดขาด

มิเช่นนั้นอาจต้องไปอยู่ในค่ายกักกันแรงงาน ถูกขัง กักบริเวณ หรือมีบทลงโทษต่างๆ นานาอย่างเกาหลีเหนือ

ดังนั้น หากเราอยากรู้ว่าประเทศไหนมี “สุขภาพดี” ให้ดูที่ความเข้มข้นของการก่นด่า ประชดประชัน เสียดสี เย้ยหยันบ้านเมืองของตัวเอง

เพราะในโลกนี้ไม่มีหรอกประเทศที่สมบูรณ์แบบ เพอร์เฟ็กต์ ไร้ที่ติ

ประเทศที่ได้ชื่อว่า สวัสดิการดีเยี่ยม คุณภาพชีวิตดีเยี่ยม แค่ไหน มันก็มีมุมให้ด่า ให้ตำหนิทั้งนั้น

ประเทศที่สะอาดไม่มีแม้แต่ฝุ่นบนถนนสักเม็ด และรถเมล์ รถไฟมาตรงเวลาในเลเวลของวินาที คนก็ยังบ่นเรื่องค่ารถเมล์แพง สังคมตึงเครียด กดดัน

ประเทศในยุโรปก็มีข้อถกเถียง ด่าทอรัฐบาลเรื่องนโยบายผู้อพยพบ้าง เรื่องค่าแรงชายหญิงบ้าง เรื่องไม่ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยบ้าง เรื่องนโยบายยาเสพติด ฯลฯ

คือ นึกออกไหมว่า แต่ละประเทศก็ย่อมมีปัญหาของตัวเองที่ต้องแก้ไข ต้องวางแผน ต้องศึกษา ต่อรอง ประนีประนอม หรือมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ เป็นเรื่องแสนสามัญ อย่างชนิดที่ไม่มีอะไรจะสามัญไปกว่านี้อีกแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนั้น การบ่น การด่าทอ การวิจารณ์ จึงเป็นสิ่งสามัญเหมือนคนเราตื่นนอนมาต้องอาบน้ำแปรงฟัน

ถามว่าต้องวิจารณ์อย่างมีหลักการและเหตุผลเท่านั้นหรือไม่?

ถ้าคุณเป็นคอลัมนิสต์ เป็นนักวิชาการ ถ้าคุณเขียนบทความเผยแพร่สู่สาธารณะ-ใช่-คุณต้องวิจารณ์ด้วยเหตุผล ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง

แต่ถ้าคุณแค่อยากระบายอารมณ์ในโซเชียลมีเดีย คุณคงไม่ต้องทำเชิงอรรถ ปุถุชนคนหนึ่ง อาจจะรอรถเมล์นาน ทั้งร้อน ทั้งหงุดๆ ก็อาจจะอยาก “ชิดๆ ฝักๆ” สบถสาบาน เพื่อระบายความโกรธขึ้ง ไม่ได้หวังจะเขียนข้อเสนอส่งสภาพัฒน์ แค่อยากระบาย เตะหมูเตะหมาไปตามประสา

คนอ่าน-อ่านแล้วก็รู้ว่า อ๋อ มันหงุดหงิด ก็จบ ไม่เห็นจะต้องกลายมาเป็นวาระระดับชาติ ราวกับทุกอย่างจะพังทลายไปเพราะคำว่า คำบ่นไม่กี่ประโยคของเด็กสาวคนหนึ่ง

ถ้าถามต่อว่า เออ…แล้วคนไทยเป็นอะไรมากป่าว? อะไรจะเปราะบางขนาดนั้น

เมื่อก่อน คนอย่าง ส.ศิวรักษ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือนักเขียน คอลัมนิสต์ เกือบทุกคนใต้ฟ้าเมืองไทย ก็ล้วนแต่วิพากษ์วิจารณ์คนไทย เมืองไทย มาอย่างเผ็ดร้อน แสบสันต์ ฉันก็เห็น เราอยู่กับการวิจารณ์เหล่านั้นมาได้อย่างดี แถมยังชอบใจว่า โอ๊ย ด่าได้ตรงประเด็น และคำพูดในทำนองที่ว่า “ถ้าเป็นแบบนี้ เมื่อไหร่บ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้าเสียที” ก็เป็นประโยคที่เราแสนจะคุ้นเคย

แต่เมื่อลองตั้งสติ ค่อยๆ แยกแยะการด่า การวิจารณ์ ฉันก็เริ่มเห็นประเด็นว่า ทำไมจึงทำให้คนไทยส่วนหนึ่งหัวฟัดหัวเหวี่ยงเสียเหลือเกิน

มีประโยคอยู่ประโยคที่ “กินใจ” คนไทยมาก และมักถูกอ้างอิงถึงอยู่เสมอ นั่นคือประโยคที่ว่า

“เมืองไทยดีทุกอย่างยกเว้นมีคนไทยอยู่”

ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นสำนึกและจินตนาการของคนไทยที่มีต่อเมืองไทย

ถ้าคุณเชื่อว่า เมืองไทยดีทุกอย่างยกเว้นมีคนไทยอยู่ แสดงว่า

– คุณเห็นว่าเมืองไทยที่เป็นรูปขวานในปัจจุบันเป็นขวานทองของไทยที่สถิตสถาพรอยู่ตรงนี้มาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เผลอๆ อาจจะอยู่ตรงนี้มาพร้อมกับกำเนิดของดาวโลกเลยทีเดียว

– ถ้าคุณเชื่อว่าเมืองไทยอากาศดี อบอุ่น อยู่สบาย อุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทำเลที่ไม่มีที่ติ ดังนั้น เมืองไทยควรต้องเจริญก้าวหน้ากว่านี้ บังเอิญมีคนไทยอยู่เลยไม่เจริญ แสดงว่า คนที่เชื่อเช่นนี้ ไม่รู้เหรอว่า ของแบบนี้มันเปลี่ยนแปลงได้

ไม่เคยได้ยินคำว่าโลกร้อน คือ ไม่รู้หรืออย่างไรว่า สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงได้ มีคลอง มีแม่น้ำสะอาดๆ ก็กลายเป็นคลองเน่า แม่น้ำเน่าได้ มีป่าสมบูรณ์ก็กลายเป็นเขาหัวโล้นได้

เขียนมาถึงตรงนี้ ก็คงมีคนเถียงว่า ก็เนี่ย ฝีมือมนุษย์ ฝีมือของคน เพราะคนไทยมันชอบทิ้งขยะ คนไทยชอบตัดไม้ทำลายป่า

ถ้าพูดได้แค่นี้ แสดงว่าเกิดมาเป็นคนไทยปุ๊บ ชอบทิ้งขยะเลย เกิดมาเป็นคนไทยปุ๊บ ชอบเลย ชอบอยากจะถือขวานไปตัดต้นไม้??????

แล้ว เดี๋ยวนะ ไอ้ที่เรียกกันว่า คนไทย คนไทย คนไทย เนี่ย เกือบครึ่งประเทศ เป็นคนเชื้อจีนไม่ใช่เหรอ?

แล้วทำไมคนจีนที่อื่นไม่เห็นจะชอบตัดไม้ทำลายป่าเลย-งงไหม? ถ้างง-ก็ให้เริ่มคิดใหม่ได้แล้วว่า ไอ้สารพัดปัญหาที่บ่นๆ กันนี่ มันเป็นเพราะประเทศนี้มีคนไทยอยู่ หรือเป็นเพราะอะไรกันแน่? แล้วอย่าให้รู้นะว่า มีความพยายามจะตอบว่า โอ๊ย คนเชื้อจีนน่ะ มีวินัย ขยัน ที่เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศก็ไอ้พวกลาวอีสาน ลาวล้านนา ต่างหากล่ะ ปั๊ดโธ่

– ประโยคที่ว่า ประเทศไทยดีทุกอย่างยกเว้นมีคนไทยอยู่ สะท้อนให้เห็นว่า คนที่เชื่อเช่นนี้ เห็นว่า “บ้านเมือง” ที่เป็น “ร่างกาย” นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรไปแตะต้อง อาจเป็นเพราะเราอยู่กับ myth ในชุดภาษาสำเร็จรูปอย่างวลีที่ว่า “ต้องรู้สำนึกในบุญคุณของบ้านเมือง”

และแปลกมาก ที่เราไม่เคยสงสัยว่า “บ้านเมือง” คือสิ่งที่ไม่มีชีวิต ทำไมเราไม่พูดว่า “ต้องสำนึกในบุญคุณของคนที่ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง” หรือ “สำนึกในบุญคุณของคนที่สร้างนวัตกรรม เปลี่ยนแปลงประเทศ ทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

เมื่อเราติดใน myth ที่มากับชุดภาษา ว่าต้องสำนึกในบุญคุณของบ้านเมือง อุปมา หรือ metaphor บ้านเมือง จึงโยงใยไปกับการให้กำเนิด เราเห็นบ้านเมืองเหมือนเห็นพ่อแม่ของเรา ที่ให้กำเนิดเรามา ป้อนข้าว ป้อนน้ำ เลี้ยงดูเรา เราจึงต้องกตัญญู เวลาใครมาตำหนิบ้านเมือง เราจึงโกรธขึ้งอย่างอัตโนมัติ

เพราะฉะนั้น หากเราอยากจะวิจารณ์ หรือบ่น เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น เราสามารถบ่นว่า ระบบขนส่งมวลชนประเทศนี้แย่มาก ล้าหลัง

เราอาจบ่นว่า ข้าราชการทำงานแย่

บ่นว่า การศึกษาของไทยทำไมสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้

และถ้าอยากมีแนวร่วมเยอะ ก็ให้ด่าว่า ประเทศนี้มันเฮงซวยเพราะนักการเมืองเฮงซวย ประเทศเราเสียโอกาส ไม่พัฒนา เพราะเอาประเทศชาติไปไว้ในมือนักการเมืองเลวๆ ขี้โกง ฯลฯ ไม่เพียงแต่จะไม่มีใครมาว่าเราแล้ว จะมีคนมาสนับสนุน ให้กำลังใจ ปรบมือว่า โอ้โห น้องช่างกล้าหาญ พูดถูก รู้แจ้งแทงทะลุในปัญหาของชาติบ้านเมือง

คราวหน้าคราวหลังถ้าอยากตำหนิปัญหาในบ้านเมืองให้เขียนว่า “ประเทศนี้เฮงซวยเพราะนักการเมืองเฮงซวย” หรือถ้าระบุชื่อนักการเมืองได้ก็ยิ่งดีใหญ่

สืบเนื่องกัน เนื่องจากคนไทยส่วนหนึ่งพกความหมายของคำว่า “บ้านเมือง” ที่แปลว่า “บ้านเกิดเมืองนอน” ที่มีความสูงส่ง และ “ไม่อาจทดแทนได้” (irreplaceable) คนเหล่านี้จึงเชื่อว่า การไล่ออกคนที่เนรคุณประเทศออกจากประเทศเป็นสิ่งที่สาสมเสียเหลือเกิน และมันต้องสร้างความเจ็บปวดแก่คนที่ถูกไล่มากๆ แน่เลย

มโนทัศน์เช่นนี้ มีความเป็นไทยสูงมาก เพราะคนไทยไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่องการแยกบ้านออกมาอยู่ด้วยตนเองเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่แต่งงาน

พูดง่ายๆ ว่า สังคมไทยเป็นสังคมลูกแหง่ พ่อแม่กลัวลูกไม่อยู่ด้วย ลูกกลัวพ่อแม่ไม่ให้อยู่ด้วย

ในขณะที่สังคมตะวันตกเห็นว่า การแยกออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองของลูกแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพึ่งพาตนเอง การมีลูกติดบ้านไม่ไปไหน กลับแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวทั้งของพ่อแม่ และของลูก

สังคมลูกแหง่ จึงกลัวการถูกไล่ออกจากบ้าน

สิ่งที่ฉันไม่เคยเข้าใจเลย คือ ไม่เข้าใจคนที่ชอบพูดว่า “ถ้าคิดว่าประเทศนี้ไม่ดีก็ไปอยู่ที่อื่น”

คนเหล่านี้ไม่รู้เลยหรือว่า โลกนี้เจริญก้าวหน้า ค้นพบอะไรใหม่ๆ ก็เพราะมีคนที่เชื่อว่า มันต้องมีดินแดนอื่นๆ ที่ดีกว่าบ้านของเราสิ

โคลัมบัส คงไม่มีวันค้นพบอเมริกา ถ้าเขาคิดว่าสเปนบ้านเขาดีเหลือเกินแล้ว ชีวิตนี้ไม่ต้องออกไปไหนแล้ว

นึกออกไหม ใน “บ้านเมืองอื่น” คนที่จับเจ่า ไม่คิดจะไปแสวงหาโอกาสนอกบ้านต่างหากที่คือคนน่าเบื่อ ไม่มีความฝัน ไม่มีจินตนาการ ร้ายกว่านั้น อาจถูกมองว่าเป็นพวก “ไปไหนไม่รอด”

คนที่ออกไปทำงาน ไปตั้งรกรากในดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง คือคนเก่ง คนมีความสามารถ คนรักการผจญภัย คนรักการเรียนรู้

การได้เดินทาง ย้ายประเทศ การมีชีวิตวัยเด็ก ในหลายบ้านหลายเมือง แล้วพูดได้หลายภาษา กินอาหารได้หลายแบบ มีความรู้เรื่องวัฒนธรรมที่หลากหลาย กลับกลายเป็นสถานะทางสังคมอย่างหนึ่งด้วยซ้ำ

และการฝังรากอยู่ที่ “บ้านเกิด” ไม่เคยย้าย ไม่เคยเดินทาง ไม่คิดจะไปไหน เกิดและตายอยู่บ้านเดิม เมืองเดิม ต่างหากที่ถูกมองว่า-provincial-อันพ่วงมากับนัยของความโลกแคบ จนเกือบดักดาน

การเกิดที่หนึ่ง โตอีกที่หนึ่ง ทำงานอีกที่หนึ่ง และอาจจะตายอีกซีกโลกหนึ่งต่างหาก ที่เป็นชีวิตที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝันถึง (ยกเว้นการต้องหนีออกจากประเทศตัวเองเพราะสงครามการเมือง หรือสงครามใดๆ ก็ตามแต่)

คนไทยเองก็ใช่ย่อย ที่เจ็บปวดกันนักเวลาถูกไล่ออกนอกประเทศ หรือเที่ยวไล่ใครออกนอกประเทศ เอาเข้าจริงๆ ก็เห็นหาทางหาโอกาสไปเรียน ไปทำงาน ไปแต่งงาน ไปตั้งรกราก อยู่บ้านอื่นเมืองอื่น ดิ้นรนอยากได้กรีนการ์ด อยากได้สัญชาติ ที่มีสตางค์ร่ำรวยก็เห็นไปซื้อบ้านซื้อช่อง ส่งลูกส่งเต้าไปเรียนไปอยู่ต่างประเทศกันเยอะแยะ

ความน่าขำซ้ำซ้อนคือบรรดาคนที่ไปตั้งรกราก และไม่คิดจะกลับมาอยู่เมืองไทยอีกแล้ว เพราะคุณภาพชีวิตในประเทศโลกที่หนึ่งมันดีกว่าเมืองไทย แต่กลับพยายามสำแดงอาการรักชาติทางไกล ด้วยการเขียน พรรณนาถึงความโหยหารักชาติ อาดูรในวัฒนธรรมไทยสารพัดสารเพ

แต่ถามว่าให้ย้ายกลับมาอยู่ไหม ก็ไม่มา

ประโยคอย่าง “สมน้ำหน้า ชีวิตนี้คงไม่ได้กลับมาตายเมืองไทย” ก็เป็นอีกประโยคหนึ่งที่ตลกมาก

ลองนึกถึงคนญี่ปุ่น คนยุโรปที่ตัดสินมาใช้ชีวิตหลังเกษียณในเมืองไทยเพราะค่าครองชีพต่ำ พวกเขาจะถูกเพื่อนร่วมชาติถากถางบ้างไหมว่า “สมน้ำหน้า ไม่ได้กลับมาตายที่บ้านเกิด”

Thai people buy food along a street near the Chao Phraya river in Bangkok on November 25, 2016. / AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

คิดว่าคงไม่มี และในยุคนี้ ใครๆ รู้กันล่วงหน้าทั้งนั้นว่าจะเกษียณที่ไหน ตายที่ไหน โดยใช้เกณฑ์ของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในค่าใช้จ่ายที่ถูกที่สุด ไม่ว่าที่นั่นจะเป็นแผ่นดินแม่หรือไม่

เพราะฉะนั้น โดยที่ไม่ต้องรอให้ใครมาไล่ออกนอกประเทศ คนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีโอกาส และมีทางไป ก็วางแผน อย่างน้อยเป็นแผนสำหรับลูกเต้าว่าทำอย่างไรให้เขาไปตั้งรกรากอยู่นอกประเทศได้ และสิ่งที่ฉันได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้องอวยพรให้เพื่อนหรือน้องที่ไปเรียนต่อต่างประเทศหรือได้งานที่ต่างประเทศ เราจะอวยพรว่า “ถ้ามีลู่ทางดีๆ ไม่ต้องกลับมานะ” หรือ “ตั้งหลักได้แล้วส่งข่าวนะ เผื่อจะตามไปด้วย”

คนที่ชอบไล่คนออกนอกประเทศ เขาไม่รู้จริงๆ หรือว่า มีคนคิดแบบ “อิมเมจ” เยอะ และคิดทุกวัน หาลู่ทางกันตลอดเวลาว่าจะไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในชีวิตที่ไหนดี?