นักวิชาการเลือดใหม่ ‘อุเชนทร์ เชียงเสน’ มองสังคมไทยภายหลังคำตัดสิน ‘ศาล รธน.’ และแนวโน้มขบวนการภาคประชาชน/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

 

นักวิชาการเลือดใหม่ ‘อุเชนทร์ เชียงเสน’

มองสังคมไทยภายหลังคำตัดสิน ‘ศาล รธน.’

และแนวโน้มขบวนการภาคประชาชน

อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์รุ่นใหม่ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มองว่าการจะเข้าใจสังคมตอนนี้ ต้องยอมรับว่าเข้าใจได้ยาก เพราะว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ ซับซ้อน และมันพูดยากในหลายประเด็น บางเรื่องก็พูดไม่ได้ บางเรื่องก็ไม่มีคำศัพท์ที่จะพูด

ผมเลยคิดว่าคนออกมาพูดเรื่องนี้ไม่ค่อยมากเท่าไหร่ ผมเองอยากจะมองรวมๆ ว่าปรากฏการณ์ในช่วงที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้ของผู้คนในสังคมไทย ในระบอบที่มีราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือมีประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์อยู่ด้วยกัน บางคนก็จะชื่นชมว่าระบบแบบนี้มีความพิเศษ ในการนำเอา 2 สิ่งที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ (อาจารย์นครินทร์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยระบุไว้ว่านี่เป็นความยอดเยี่ยม ที่เอาระบบ Monarchy การปกครองของคนคนเดียว กับ Democracy หรือการปกครองของคนส่วนใหญ่เอามาอยู่ด้วยกัน)

ภายใต้ระบอบนี้ จะมี 2 ส่วนที่สำคัญ คือ 1.ส่วนที่ทรงเกียรติ และ 2.ทรงประสิทธิภาพ คือหมายถึงคณะรัฐมนตรี-สภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากประชาชนอยู่ด้วยกัน

หากอยากจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ คงต้องไปฟังปาฐกถาของ ศ.เกษียร เตชะพีระ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ที่อาจารย์เกษียรอธิบาย “เรื่องสาธารณรัฐจำแลง” เสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เอาไว้

ดังนั้น ปรากฏการณ์ช่วงนี้ ภายหลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ผมคิดว่าประเทศไทยเริ่มเป็นเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น อำนาจเริ่มถอยห่างจากประชาชนหรือตัวแทนที่มาจากประชาชนมากขึ้น

ปรากฏการณ์แบบนี้ อย่างน้อยที่เราเห็นหรือทำให้เราเห็น เราจะเห็นว่า 2 สิ่งที่เคยอยู่ด้วยกันได้ แต่ว่าหลังจาก 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน กลับมีลักษณะในการเพิ่มอำนาจในอีกส่วนมากขึ้น

ในปัจจุบัน ผมคิดว่าชนชั้นนำพยายามจะผลักไปทางเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น

ขบวนการประชาชนอยู่ตรงไหน

ในยุคปัจจุบัน

เข้มแข็ง-อ่อนแอ?

เวลาจะอธิบายขบวนการเคลื่อนไหวปัจจุบัน เราอาจจะต้องแยกออกจากการเมืองภาคประชาชนที่ผมเคยศึกษาในอดีต จากเดิมการเมืองภาคประชาชนที่เคยรุ่งเรืองในช่วงทศวรรษ 2530-2540 คือลักษณะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมฝ่ายค้านนอกสภา จะมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนที่ต่อต้านนักการเมือง

พูดง่ายๆ ขบวนการนอกสภา จะแตกต่างไปสุดขั้วเลยกับปัจจุบัน เราจะเห็นว่าสิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวที่นำโดยเยาวรุ่น นิสิต นักศึกษา สิ่งที่เขาเน้นก็คือการปกป้องระบอบประชาธิปไตยตัวแทนที่มีการเลือกตั้งและวิพากษ์วิจารณ์การล่วงละเมิดอำนาจของประชาชนของระบบ

อย่างการชุมนุมที่ไปสถานทูตเยอรมนีครั้งล่าสุดก็จะเห็นว่าเขาก็พยายามแสดงออกว่าไม่ได้มีปัญหากับระบอบประชาธิปไตยเลย แต่สิ่งที่เขาต่อต้านคือแนวโน้มบางอย่าง ที่เห็นได้ว่า ไปในแนวทางไอเดีย ที่อาจารย์เกษียรได้วิเคราะห์เอาไว้ คือต่อต้านแนวโน้มที่ทำให้ส่วนอื่นมีอำนาจมากขึ้น

เมื่อถามว่าอำนาจของประชาชน-พลังขบวนการภาคประชาชนเป็นยังไง ผมอยากให้มองว่า ตอนนี้มันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองว่าเราจะมีระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ผมไม่เคยคิดว่าสิ่งที่นักศึกษากระทำหรือต่อสู้คือการล้มล้าง

แต่พวกเขาต้องการว่าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราจะอยู่กันแบบไหน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือหลังกันยายน 2549 จนถึงยุคเปลี่ยนสมัย ผมรู้สึกว่าคนเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น อยู่ที่คุณจะพูดหรือไม่พูด

ที่สำคัญเวลาที่เราจะพิจารณาว่าขบวนการประชาชนปัจจุบันเข้มแข็งหรือไม่แข็ง ผมคิดว่าเราต้องมองว่าเราเปรียบเทียบกับอะไร

ถ้าเปรียบเทียบเรื่องจำนวนคนคุณคิดว่าพันธมิตรฯ เข้มแข็งหรือไม่ เสื้อแดงเข้มแข็งหรือไม่ ถ้าคุณคิดว่าจำนวนคนที่ออกมาเป็นหลักหมื่นหลักแสน ก็ไม่ได้น้อยกว่าพันธมิตร กปปส. ในการชุมนุมใหญ่ปีที่แล้วของนิสิตนักศึกษาก็เต็มสนามหลวง

ผมคิดว่า ในแง่กำลังพลก็น่าจะพอกันในเรื่องของอุดมการณ์ สิ่งที่เป็นจุดเด่นและทำให้ขบวนการนักศึกษาตอนนี้แยกจากขบวนการภาคประชาชนก่อนหน้านี้ผมคิดว่าเรื่องนี้คือความคิดที่มีต่อระบอบนี้แหละ ยุค 14 ตุลาคม 2516 มีการต่อต้านเผด็จการทหาร หลังจากเหตุการณ์นั้นสถาบันเป็นพระเอกมาช่วย พฤษภาคม 2535 แล้วก็จะเห็นบทบาทของสถาบันอยู่ฝ่ายเดียวกับพลังของประชาชนก็มีส่วนเข้มแข็งจากพลังการต่อสู้นี้ เป็นฝ่ายเดียวกัน ช่วงพันธมิตรก็เช่นเดียวกัน

แต่ตอนนี้ ผู้เคลื่อนไหวมองว่ามีปัญหาบางอย่าง หลายคนที่มองว่าการที่เขาเลือกพูดถึงหรือการมีข้อเรียกร้องถึงการปฏิรูปทำให้ไม่มีแนวร่วม ผมคิดว่าไม่จริงเลย ผมกลับมองตรงกันข้ามกัน รู้สึกว่าถ้าเรียกร้องเรื่องไล่ทหาร ไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา เฉยๆ คนจะเฉยๆ เพราะเขาจะรู้สึกว่า ปัญหามันปรากฏขึ้นชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่หลัง 19 กันยายนแล้ว

ขณะที่เรื่องของโครงสร้างขององค์กรการเคลื่อนไหว หลายคนคิดว่าการมีศูนย์กลางรวมศูนย์อำนาจมากจะเข้มและสั่งการได้มากกว่า

แต่ผมมองว่า ในปัจจุบัน ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้ว หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ เฟสแรกของขบวนการเคลื่อนไหว มันเกิดขึ้นจากมีกลุ่มต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเกิดขึ้น พวกเขาสะสมความไม่พอใจต่อระบบมากขึ้น มาตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เขาโตมาโดยที่รู้สึกไม่โอเคกับระบบการเมืองที่เป็นอยู่ แล้วมันมองไม่เห็นอนาคต มันเป็นความไม่พอใจสะสมมาเรื่อยๆ

พอยุบพรรคอนาคตใหม่เลยเป็นจุดที่ทำให้เขาออกมา แล้วเกิดการเคลื่อนไหวเต็มไปหมดในรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งก็เจอ พ.ร.บ.กฎหมายการชุมนุมต่างๆ สกัด

หลังจากนั้น เมื่อพ้นการระบาดรอบแรกของโควิด เข้าสู่เฟสที่ 2 เริ่มมีการรวมศูนย์ เริ่มมีรวมกำลังมากขึ้น จัดชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ จนนำมาสู่การชุมนุมที่ถูกตัดสินก็คือวันที่ 10 สิงหาคมปีที่แล้ว เป็นช่วงที่มีความร่วมมือกันมากขึ้น ใกล้ชิดกันมาก

ส่วนช่วงที่ 3 คือช่วงหลังจากเดือนตุลาคม 2564

14 ตุลาคมเป็นต้นมา ช่วงนั้นก็จะเริ่มมีการใช้ความรุนแรง เริ่มมีการปราบปรามใช้ความรุนแรง ซึ่งพวกเขาโดนกันหนักขนาดนี้ ทั้งโดนกฎหมาย โดนจับต่างๆ แต่ยังคงที่จะสามารถรักษาขบวนการเคลื่อนไหวเอาไว้ได้ ผมถือว่าค่อนข้างเข้มแข็งมาก

ข้ออ่อนของเขาเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐ เขาไม่มีอาวุธ ไม่มีกำลัง ไม่มีกฎหมาย ยังไงเขาก็ต้องเป็นรองสถานการณ์อยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปที่รัฐสภา เราก็ยังคิดว่า ส.ส.ไม่ว่าพรรคการเมืองไหน มีความเป็นปากเป็นเสียง มีความกล้าหาญน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบขบวนการเคลื่อนไหวนอกสภา ผมเชื่อว่าไม่มีนักการเมืองคนไหนที่ไม่เห็นปัญหานี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหนก็ตาม พรรคใดก็ตาม ผมคิดว่าหลายคนเห็นว่ามีปัญหาแต่ไม่กล้าพูดออกมา

พูดง่ายๆ คือพรรคการเมืองรัฐบาลและฝ่ายค้าน สิ่งที่เข้าแข่งขันกันก็คือ การแข่งขันจะเป็นอัครมหาเสนาบดีหรือเสนาบดีในระบอบนี้มากกว่าที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนในรัฐสภา

เมื่อองค์ประกอบมันออกมาเป็นแบบนี้ ก็หวังว่าพรรคการเมืองอย่างน้อยพรรคฝ่ายค้าน จะมีจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้นกว่านี้และมีความกล้าหาญมากขึ้น จึงทำให้นอกสภามีพลังมากขึ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นความได้เปรียบ คือคนรุ่นเดียวกับตุลาการกำลังลดน้อยลง คนรุ่นนี้เขาจะค่อยๆ ตายลงไปแล้วลดอิทธิพลลง ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใหม่ ที่ไม่มีอำนาจนำอยู่แล้ว เขาก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น หลายคนพูดถูก ว่าอนาคตอยู่ข้างคนพวกนี้ ตราบเท่าที่ระบบไม่เปลี่ยนแปลงก็ยิ่งเสริมพลังเป็นเนื้อดินสำหรับการเคลื่อนไหวครั้งต่อไป

คนรุ่นใหม่เขาต้องอยู่กับสังคมนี้อีกนาน ถ้ากดเขามากจนรู้สึกว่าเขายอมไม่ได้ เขาก็จะยิ่งเป็นพลังให้เขามากขึ้น

 

มีโอกาสประวัติศาสตร์ซ้ำรอย-นองเลือด?

ส่วนตัวผมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอีกแล้วในสังคมไทย แต่พอดูสถิติมันเกิดขึ้นได้เสมอในช่วง 15-17 ปีจะเกิดการนองเลือดขึ้นครั้งหนึ่ง ปี 2519 ครั้งหนึ่ง ปี 2535 ครั้งหนึ่ง แล้วก็ผ่านมาอีกพฤษภาคม 2553 ถ้าโดยเฉลี่ยดูจากสถิติแบบนี้ผมก็ทายว่าถ้ามันเป็นแบบนี้อีก

สังคมไทยที่อ้างว่ามีความเป็นพุทธ มีความสงบสุข แต่มาเข่นฆ่ากันกลางเมืองมันเกิดขึ้นได้เสมอ

แล้วถ้ามันเกิดขึ้นมา มันไม่ได้เกิดจากเงื่อนไขของกระบวนการประชาชน คือประชาชนไม่มีอาวุธทำได้อย่างมากที่สุดก็คือแบบทะลุแก๊ส คือคนที่ไม่พอใจรัฐบาล แล้วมีความลำบากที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารของรัฐบาลและ covid (อ่านงานของอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ก็จะสะท้อนให้เห็นว่าคนที่มาจากดินแดงเขาเป็นใครและมีความทุกข์อย่างไร และระบบการเมืองนี้ทำให้เขามีความแย่อย่างไร) พวกเขาลุกขึ้นสู้ด้วยประทัด ด้วยพลุ ซึ่งมันไม่สามารถทำลายหรือล้มล้างอำนาจรัฐได้

ดังนั้น ความรุนแรงต่างๆ มันจะเกิดขึ้นจากอำนาจรัฐทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่า คนที่มีอำนาจในตอนนี้ตัดสินใจอย่างไร ยอมปรับตัวหรือแข็งขืนต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและพยายามสร้างการปราบปรามให้เกิดความกลัวและคิดว่าจะหยุดยั้งกระแสความคิดได้

ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่อีกแล้ว!