รถที่ไม่ยอมให้คนเมาขับ/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Man's big hands on a steering wheel while driving a car

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

รถที่ไม่ยอมให้คนเมาขับ

 

เมาแล้วขับ เป็นสาเหตุใหญ่ของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปีโดยยากที่จะรับมือ

ที่ผ่านมาสิ่งที่พอจะทำได้ก็มีตั้งแต่การตั้งด่านเพื่อตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายด้วยความหวังว่าจะสามารถสกัดคนที่เมาแล้วขับไม่ให้ขับต่อไปได้

หรือทำให้คนที่กำลังดื่มต้องยับยั้งชั่งใจว่าจะรินแก้วต่อไปดีหรือไม่ถ้าหากต้องขับรถกลับบ้าน

ไปจนถึงการที่ภาคเอกชนพยายามช่วยกันคิดค้นสินค้าและบริการต่างๆ ที่จะมาช่วยลดจำนวนคนเมาแล้วขับ อย่างเช่น บริการช่วยส่งคนมาขับรถแทนให้ เป็นต้น

ไม่ว่าจะอย่างไรปัญหาการเมาแล้วขับก็ไม่ได้หายไปไหน และยังเป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญ เพราะต่อให้รู้ว่าการดื่มแล้วขับมันอันตรายแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะประเมินตัวเองพลาด คิดว่าตัวเองไม่ได้เมาขนาดนั้น หรือมั่นใจในฝีมือการขับรถของตัวเองมากเสียจนรู้สึกว่าพิษแอลกอฮอล์ก็ทำอะไรไม่ได้

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการตรวจจับและปรับที่หนักหน่วงแค่ไหน หรือมีตัวช่วยให้คนที่ดื่มจนเมาสามารถนำรถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยอีกสักกี่ตัวช่วย เราก็จะยังเห็นคนที่ดื่มจนเมาและนั่งหลังพวงมาลัยรถบนท้องถนนอยู่ดี

กระทั่งล่าสุด สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของโจ ไบเดน เพิ่งผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่จะมาแก้ปัญหาเมาแล้วขับในจุดที่ไม่เคยมีการลงไปจัดการอย่างจริงจังมาก่อน

นั่นก็คือการจี้ไปที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ให้พัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยป้องกันผู้ขับขี่ไม่ให้ขับรถได้ถ้าหากอยู่ในอาการมึนเมา

ในเมื่อประเมินตัวเองไม่ได้ ก็ให้เทคโนโลยีบนรถประเมินให้

และถ้าประเมินไม่ผ่านก็ไม่ต้องขับ!

เทคโนโลยีป้องกันการเมาแล้วขับที่อาจจะถูกนำมาใช้ในรถยนต์ก็อย่างเช่นเซ็นเซอร์ที่คล้ายๆ เครื่องระบายอากาศขนาดจิ๋วที่จะดึงเอาลมหายใจของผู้ขับเข้าไปทดสอบหาปริมาณแอลกอฮอล์

ปุ่มสตาร์ตรถที่ติดตั้งมาพร้อมตัววัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดด้วยการฉายแสงอินฟาเรดผ่านปลายนิ้วของผู้ขับ

หรืออาจจะเป็นเทคโนโลยีอย่างที่ก่อนหน้านี้ค่ายรถยนต์ Volvo เคยออกมาเปิดตัวแล้ว โดยเป็นกล้องที่ติดตั้งไว้ภายในรถยนต์และจะคอยตรวจจับพฤติกรรมของผู้ขับว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่

หากพบว่าผู้ขับมีอาการง่วง ซึม หรือมึนเมา ก็จะส่งสัญญาณเตือนให้รู้ตัว และอาจจะเข้าแทรกแซงด้วยการลดความเร็วของรถหรือเข้าจอดข้างทางโดยอัตโนมัติ ซึ่งนี่จะเป็นฟีเจอร์ที่ Volvo เปิดตัวว่าจะมาพร้อมรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ของแบรนด์อยู่แล้วแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายออกมาบังคับก็ตาม

หากรถยนต์ตรวจพบว่าผู้ขับไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะขับรถ รถก็จะไม่สตาร์ต หรือแม้จะสตาร์ตได้ก็ขยับไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเมาแล้วขับ

ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องเรียกความคืบหน้าในครั้งนี้ว่าถือเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของการเมาแล้วขับเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้ก็ยังไม่มีการลงรายละเอียดไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากรถยนต์ตรวจจับผิดพลาดและไม่ยอมทำงาน หรือข้อมูลที่ได้จากรถยนต์ของเราเองจะถูกใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับเราในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่จะต้องมีการขบคิดในรายละเอียดกันต่อไปอีก

 

ประธาน ACTS ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ทำงานด้านความปลอดภัยบนท้องถนนบอกว่าเทคโนโลยีตรวจจับการเมาแล้วขับนี้ถือว่าเป็นเทคโนโลยีเชิงรับ เมื่อเทียบกับการตั้งด่านเพื่อให้ผู้ขับเป่าแอลกอฮอล์ที่ถือว่าเป็นการตรวจแบบเชิงรุก

โดยปกติแล้วคนเราจะหายใจเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนั้น รถก็จะรู้ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมาจากตัวผู้ขับจริงๆ ซึ่งหากนั่งเฉยๆ ก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ทันทีที่ผู้ขับใช้นิ้วแตะลงไปบนปุ่มสตาร์ต ก็จะถือเป็นการทำให้วงจรการตรวจวัดระหว่างที่นั่งคนขับและระบบของรถยนต์สมบูรณ์แบบ

อาจจะตีความได้ว่าถ้ารู้ตัวว่าเมาแล้วไม่ขับก็จะไม่เกิดการวัดปริมาณแอลกอฮอล์ขึ้น แต่ถ้าเกิดมีเจตนาตั้งใจจะขับด้วยการกดปุ่ม ก็ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่าข้อมูลที่ได้นั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไรต่อไปในอนาคตเหมือนกัน

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากต่างก็ยินดีปรีดาที่ได้รู้ว่าในที่สุดเทคโนโลยีป้องกันการเมาแล้วขับก็ถูกทำให้เป็นข้อบังคับเสียที แต่ก็เช่นเดียวกับทุกๆ เรื่องที่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง คนอีกจำนวนหนึ่งก็กังวลว่าจะเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวได้

กับอีกมุมมองหนึ่งว่ามันก็ไม่เป็นไรหรอกถ้าหากว่าเทคโนโลยีทำงานได้ตามที่บอกจริงๆ แต่อะไรจะเกิดขึ้นถ้ามันทำงานผิดพลาดล่ะ

ความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็มีอีกเยอะที่ร่างกฎหมายนี้อาจจะยังไม่ได้ลงรายละเอียด อย่างเช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากรถตรวจจับปริมาณแอลกอฮอล์พลาดและไม่ยอมสตาร์ตรถทั้งที่ผู้ขับไม่ได้มีอาการมึนเมาเลย

หรือถ้าหากเทคโนโลยีรวน ไม่ยอมสตาร์ตรถให้คนที่อาจจะเพิ่งบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากมา แต่กลับสตาร์ตให้คนที่ดื่มจนมึนเมาแต่เทคโนโลยีตรวจจับไม่ได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาอีกแบบแทน

บางคนถึงกับเปรียบเทียบร่างกฎหมายครั้งนี้ว่าไม่ต่างอะไรเลยกับการที่รัฐบาลบังคับให้บริษัทโทรคมนาคมติดตั้งเครื่องดักฟังเอาไว้ในทุกๆ บ้านเพื่อคอยตรวจตราให้มั่นใจว่าไม่มีบ้านไหนจะลุกขึ้นมาก่ออาชญากรรมในอนาคต

 

ฉันว่าไม่ต้องสงสัยเลยว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยป้องกันการเมาแล้วขับได้ไหม เพราะไม่ว่าจะอย่างไรมันก็ดีกว่าไม่มีอะไรช่วยป้องกันเลยแน่ๆ อย่างน้อยแค่การขึ้นคำเตือน หรือการช่วยลดสปีดของรถลงก็ช่วยป้องกันความเสียหายได้ในระดับหนึ่งแล้ว และมันจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนไปได้เยอะมากแน่ๆ

แต่ก็จะต้องมีการพูดคุยอย่างจริงจังว่าเราต้องการให้เทคโนโลยีช่วยอะไรบ้าง ช่วยเตือน ช่วยลดความเร็ว หรือช่วยขัดขวางไม่ให้ขับได้เลยทุกกรณี และเราจะรับมืออย่างไรกับความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น หรือต่อประเด็นต่างๆ ที่อาจจะตามมาจากการที่เรายกหน้าที่ให้เทคโนโลยีช่วยตัดสินใจแทนว่าคนคนหนึ่งมีความพร้อมในการขับรถแค่ไหน

จะว่าไปก็คล้ายๆ กับกรณีของรถไร้คนขับอยู่บ้างเหมือนกัน คือตัวเทคโนโลยีมีความพร้อมในระดับที่ใช้งานจริงได้แล้วในบางพื้นที่ แต่ยังมีรายละเอียดให้ต้องถกเถียงกันอีกไม่น้อย ทั้งในเรื่องกฎหมายไปจนถึงด้านศีลธรรมด้วย

ประเทศไทยที่มีสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงโด่งระดับผู้นำของเอเชียก็น่าจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ไม่น้อยเลย