ดร.วีรพงษ์ รามางกูร กับความสัมพันธ์ ไทย-ลาว (จบ)/บทความพิเศษ พิษณุ จันทร์วิทัน

บทความพิเศษ

พิษณุ จันทร์วิทัน

อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำ สปป.ลาว

 

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

กับความสัมพันธ์ ไทย-ลาว (จบ)

 

อาจารย์วีรพงษ์เป็นนักการทูตโดยธรรมชาติ ครั้งหนึ่งเราเดินทางไปเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก ไปเยี่ยมศูนย์การเกษตรอะไรสักอย่างซึ่งผมจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว หลังอาหาร หัวหน้าศูนย์คนลาวซึ่งดูจะถูกอัธยาศัยอาจารย์กับพวกเรามาก บอกว่าจะให้ชิมเหล้ายาดองบำรุงกำลังชั้นเลิศ ซึ่งปกติแล้วจะหวงมาก ถ้าไม่รักใคร่ชอบพอกันจริงไม่เอาออกมาให้ดื่ม

พอพูดเสร็จแกก็ไปยกโหลยาดองออกมาจากในห้องด้วยความภูมิใจ

ผมเห็นโหลแก้วที่ยกมาครั้งแรกก็สะดุ้งวาบ แต่ก็พยายามเก็บอาการโหลแก้วใสที่ดูมัวๆ ใบนั้นมีงูขนาดเขื่องขดเรียงรายเป็นชั้นๆ มองดูน่ากลัว

หัวหน้าศูนย์บรรยายสรรพคุณว่าที่เห็นนี่เป็นงูพิษที่หายาก 7 ชนิด เวลาเอาดองเหล้าดีกรีสูงชนิดจุดไฟติดต้องดองตอนที่งูยังเป็นๆ มันจะคายพิษออกมาตามธรรมชาติ นี่คือของดี

หัวหน้าศูนย์พูดไปก็เปิดฝาโหลยาดอง เอาจอกเล็กๆ ตักเหล้ายาดองในโหลขึ้นมา พวกเราชะโงกหน้าไปดูในโหล เห็นซากนกอะไรสักอย่างขนดำคล้ายนกขุนทองกำลังอ้าปากอยู่กลางงู 7 ตัวที่ขดอยู่รอบๆ

จากนั้นก็ส่งจอกนั้นมาให้ผมเป็นคนแรก ผมสะดุ้ง ยกมือไหว้ขอบคุณ บอกไปว่าแหมเสียดายที่ช่วงเข้าพรรษาผมไม่ดื่ม แต่ขอขอบคุณ หัวหน้าศูนย์มีสายตาผิดหวังแวบหนึ่งแล้วก็หันไปส่งจอกให้ท่านคำพัน อันละวัน ที่ยืนอยู่ข้างๆ ผม

งานบุญที่เชียงขวาง

ท่านคำพันสบตากับผม อมยิ้มที่มุมปาก พูดว่า “ข้อยเจ็บท้อง กินเหล้าบ่ได้” (ท่านคำพัน อันละวัน ผู้นี้เป็นนักการทูตลาว คุ้นเคยสนิทสนมกับผมและอาจารย์มาก เคยประจำที่สถานทูตลาวในกรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นทูตลาวประจำสหรัฐ)

หัวหน้าศูนย์จึงส่งจอกนั้นให้อาจารย์วีรพงษ์ที่ยืนอยู่ตรงข้าม ผมก็คอยดูว่าอาจารย์จะว่าอะไร อาจารย์รับไปแล้วก็กระดกพรวดเดียวหมด หันมายิ้มกับหัวหน้าศูนย์ พยักหน้าหงึกหงัก ทำท่าทางว่าเหล้าจอกนี้อร่อยดีเยี่ยม

เท่านั้น เจ้าภาพยิ้มแก้มปริ รีบรินให้อีกจอกส่งให้อาจารย์วีรพงษ์ โดยไม่มีใครห้ามทัน อาจารย์รับไปดื่มรวดเดียวหมดตามเคย ชมเชยว่ารสชาติใช้ได้ร้อนวูบวาบ แล้วก็รีบขอบคุณ พร้อมกับพูดว่าข้อยพอแล้วเด้อ

วันนั้นพอลาเจ้าภาพขึ้นรถออกเดินทางไปปากเซ อาจารย์บ่นอุบว่า นักการทูตพวกนี้ใช้ไม่ได้ หาทางแก้ตัวหนีกันไปหมด ปล่อยให้หัวหน้าคณะกินเหล้ายาดองคนเดียว ผมกับท่านคำพันก็หัวเราะกันสนุก

เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่อาจารย์วีรพงษ์นำมาเล่าให้ใครต่อใครฟังหลายครั้งที่กรุงเทพฯ ด้วยความสนุก

ต่อมาเมื่อผมไปเป็นเอกอัครราชทูตที่ฮานอย จึงรู้ว่ายาดองสัตว์แปลกๆ แบบนี้ คนเวียดนามทางเหนือนิยมกันมาก

ดร.วีรพงษ์กับคุณขรรค์ชัย บุนปาน ในฐานะกรรมการสมาคมมิตรภาพไทย-ลาวและผู้เขียน เมื่อครั้งไปเยือนเชียงขวาง ปี 2544

อีกครั้งหนึ่งราวปลายปี 2539 เรากำลังจะเดินทางไปเวียงจันทน์เพื่อไปร่วมงานสำคัญ

พอไปถึงหน้าเคาน์เตอร์สนามบิน อาจารย์ไม่มีหนังสือเดินทางเพราะเลขานุการไม่ได้จัดเตรียมใส่กระเป๋ามาด้วย เราปรึกษากันว่าจะเอาอย่างไรกันดีเพราะใกล้เวลาเครื่องบินก็จะออกแล้ว จะให้ใครเอามาส่งให้ก็ไม่ทัน

สุดท้ายต้องขอร้องให้สายการบินไทยออกบัตรที่นั่งให้เดินทางไปก่อนเนื่องจากเป็นงานสำคัญ โดยเราจะไปแก้ปัญหากันเองที่สนามบินเวียงจันทน์ พรุ่งนี้เราจะให้ทางกรุงเทพฯ จัดส่งหนังสือเดินทางไปเวียงจันทน์โดยด่วนที่สุดเพื่อใช้ในขากลับ

ส่วนการผ่านแดนขาออกจากไทยก็ขอให้ผ่านไปก่อนแล้วจะนำเอาหนังสือเดินทางมาแสดงทีหลัง

ทูตไทยกับท่านบ่อแสงคำ วงดาลา รัฐมนตรีกระทรงแถลงข่าว สปป. กับลาว ดร.วีระพงษ์

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งโดยปกติแล้ว ตรวจคนเข้าเมือง หรือสายการบินจะไม่ยอมให้เป็นอันขาด แต่ผลสุดท้ายก็ต้องขอร้องกัน ดูเหมือนว่าจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นกรณีพิเศษ

ส่วนการแก้ปัญหาทางเวียงจันทน์ ผมก็โทรศัพท์ขอให้สถานทูตไทยที่เวียงจันทน์ประสานงานกับฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองของลาวไว้

ทางฝ่ายลาวก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เห็นจะเป็นเพราะชื่อเสียงของอาจารย์วีรพงษ์ในลาว ทำให้สามารถเดินทางไปได้สำเร็จลุล่วงโดยเรียบร้อยโดยไม่เสียงาน

อาจารย์วีรพงษ์จึงเป็นคนแรกและคนเดียวที่ผมรู้จักที่สามารถขึ้นเครื่องบินเดินทางไปลาวได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทางหรือเอกสารผ่านแดนใดๆ

วันนั้นเป็นครั้งแรกเช่นกัน ที่ผมเห็นอาจารย์หงุดหงิด บ่นอุบ เทศนาเลขาฯ กัณฑ์ใหญ่ว่า ได้เตือนหลายครั้งแล้วว่า หนังสือเดินทางเป็นเอกสารสำคัญต้องติดตัวไว้เสมอ เมื่อเอาออกไปใช้ทำธุระเสร็จต้องรีบเอาเก็บไว้ที่เดิม

ดร.วีรพงษ์กับคุณขรรค์ชัย บุนปาน ในฐานะกรรมการสมาคมมิตรภาพไทย-ลาวและผู้เขียน เมื่อครั้งไปเยือนเชียงขวาง ปี 2544

ก่อนผมไปรับหน้าที่กงสุลใหญ่ที่แขวงสะหวันนะเขต ในปี 2543 เพียงไม่กี่วันมีเหตุการณ์ที่ด่านช่องเม็ก ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลลาวเกิดปะทะกับฝ่ายรัฐบาล การหลบหนีเข้ามายังไทยของกลุ่มต่อต้านทำให้เกิดความคลางแคลงใจให้กับรัฐบาลลาว

การทำงานของผมที่สะหวันนะเขตจึงเป็นงานที่ท้าทายอีกครั้งในชีวิต

อาจารย์วีรพงษ์ก็ได้ให้การสนับสนุนให้คำปรึกษาและให้ความอนุเคราะห์ผมอย่างไม่เปิดเผยโดยตลอดไม่ว่าผมจะขอร้องให้ทำอะไรที่เกี่ยวกับงานในลาว

ปี 2544 ผมได้เสนอขอกฐินพระราชทานไปทอดที่วัดใหญ่ประจำแขวงสะหวันนะเขต โดยมีอาจารย์วีรพงษ์เป็นผู้อัญเชิญผ้าพระกฐิน ผมได้จัดการฉลององค์กฐินที่บ้านพักกงสุลใหญ่โดยมีมหรสพพื้นบ้านมาแสดง ในคืนก่อนทอดกฐินเป็นการสนุกสนาน

เช้าวันรุ่งขึ้นเราก็แห่ขบวนกฐินจากบ้านพักกงสุลใหญ่ตามถนนเลียบแม่น้ำโขงไปที่วัดที่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร ปรากฏว่าพอเลี้ยวออกจากประตูบ้านไปไม่ไกล ชาวบ้านลาวออกมาร่วมอนุโมทนาบุญเนืองแน่นจนเราตกใจ ด้วยไม่นึกมาก่อน สองข้างถนนเส้นเล็กๆ สายนั้นแน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่ยืนเรียงรายมีต้นกล้วยต้นอ้อย ข้าวของที่ร่วมทำบุญเรียงราย ริมถนนตามประเพณีแบบลาว ประชาชนหนาแน่นไปสุดลูกตา

ทำบุญตักบาตรที่เชียงขวาง ขวาสุด ท่านหลี บุนค้ำ อดีตทูตลาวประจำไทย ถัดมา คือ ท่านบ่อแสงคำ วงดาลา รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าว สแป.ลาว

อาจารย์วีรพงษ์นั่งอยู่บนรถกับผมกระซิบบอกว่า เราน่าจะลงเดินไปดีกว่า จากนั้นท่านก็เปิดประตูรถอุ้มผ้าไตรลงไปเดินทักทายชาวบ้านร้านรวงอย่างยิ้มแย้มและเดินไปจนถึงวัดอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ผมและท่านทูตสุวิทย์ สิมะสกุล ก็ลงไปเดินถือเครื่องกฐินตามหลังอาจารย์ไป

เช้าวันนั้น แม้อากาศจะร้อน และเราต้องแต่งตัวในชุดข้าราชการที่เรียกว่าชุดปกติขาว แต่การเดินไปเกือบ 1 กิโลเมตรในวันนั้น เป็นความทรงจำที่ประทับใจครั้งหนึ่งของผมเกี่ยวกับอาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร

 

จากสะหวันนะเขตผมย้ายไปทำหน้าที่กงสุลใหญ่ที่นครนิวยอร์ก ผมได้เขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการทำงานในลาว ชื่อ “กงสุลไทยในเมืองลาว” ขึ้น เล่าสิ่งละอันพันละน้อยที่ได้พบเห็นในการทำงานในลาวใต้ และตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง

อาจารย์วีรพงษ์ได้อ่านก็ชอบใจมาก โทร.มาชมเชยว่าผมเขียนได้สนุก และต่อมาเมื่อได้รวมจัดพิมพ์เป็นเล่ม ท่านได้เขียนคำนิยมให้ เมื่อหนังสือเล่มนี้ออกจำหน่ายก็กลายเป็นหนังสือที่ติดอันดับขายดีในเวลาไม่นาน

แม้จะย้ายออกจากสะหวันเขตแล้ว ผมก็ยังติดตามงานด้านลาวโดยเฉพาะสมาคมไทย-ลาว ตลอดมา

ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมงานบุญกฐินพระราชทานที่ลาวทุกปีในฐานะที่ปรึกษาสมาคม ซึ่งถ้าผมไม่ติดภารกิจอื่นก็จะหาโอกาสเดินทางไปร่วมด้วย

ตอนที่ผมไปรับหน้าที่อธิบดีกรมเอเชียใต้ แอฟริกาและตะวันออกกลาง เมื่อปี 2550 ผมได้ขอร้องให้อาจารย์เดินทางไปแอฟริกาใต้กับคณะเพื่อดูลู่ทางในการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ อาจารย์ก็ร่วมเดินทางไปด้วย และได้ให้ความคิดความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการทำงานของผมในหลายประเด็น

ครั้นเมื่อผมกลับไปเป็นเอกอัครราชทูตที่ลาว ใน พ.ศ.2555 อาจารย์วีรพงษ์ในฐานะเป็นนายกสมาคมไทย-ลาว ก็ได้สนับสนุนงานของสถานทูตเป็นอย่างดีดังที่ท่านได้เคยกระทำมา ไม่ว่าผมจะขอร้องในเรื่องใด

 

การจากไปของอาจารย์วีรพงษ์จึงเป็นการสูญเสียผู้หลักผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ผมเคารพรัก เป็นการสูญเสียบุคลากรผู้ที่ได้มีคุณูปการต่อประเทศไม่เพียงแต่ในฐานะผู้รู้เรื่องเศรษฐกิจและอดีตรัฐมนตรีคลังที่มีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ แต่ในฐานะผู้ที่มีส่วนอย่างสำคัญในความสัมพันธ์ไทย-ลาว

นอกเหนือไปจากท่านวงศ์ พลนิกร อดีตเอกอัครราชทูต ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีช่วยว่าการการทรวงการต่างประเทศแล้ว

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นอีกผู้หนึ่งที่สมควรได้รับการจารึกในฐานะเป็นผู้ที่มีส่วนในความสัมพันธ์ไทย-ลาว