คุยกับทูต มาร์ค กูดดิ้ง ชูประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดคาร์บอนเหลือศูนย์ (ตอนจบ)

 

คุยกับทูต มาร์ค กูดดิ้ง

ชูประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และลดคาร์บอนเหลือศูนย์ (ตอนจบ)

 

“รัฐบาลสหราชอาณาจักรหรือยูเค (UK) ได้ทบทวนนโยบายต่างประเทศว่าด้วยความมั่นคงเมื่อต้นปี โดยมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น ในฐานะทูตคนใหม่ ภารกิจของผมคือการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและยูเค ด้วยความร่วมมือกันในหลายรูปแบบ”

นายมาร์ค กูดดิ้ง (Mark Gooding OBE) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวถึงภารกิจที่ท้าทายในไทย

“ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับประเทศไทยและสหราชอาณาจักร มีโอกาสหลายอย่างที่จะสานต่อเพื่อให้มีความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริการ และเศรษฐกิจ ส่วนในด้านการค้าขายระหว่างกันก็ต้องทำให้ง่ายขึ้น”

“ประการต่อมา มีความร่วมมือมากขึ้นในการต่อต้านการก่อการร้าย การก่ออาชญากรรม และการพัฒนาทางการเมือง”

“ประการที่สาม นอกจากทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศไทยแล้ว สหราชอาณาจักร ยังต้องการทำงานในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น ดังนั้น สหราชอาณาจักรจึงกลายเป็นคู่เจรจาของอาเซียน”

“ผมคิดว่า ประสบการณ์ที่ได้รับจากที่เคยประจำการในประเทศจีน กัมพูชาและ ศรีลังกา จะมีประโยชน์ในการทำงานในประเทศไทย”

นายมาร์ค กูดดิ้ง (Mark Gooding OBE) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

 

แผนงานในอนาคตอันใกล้

“จะมีกิจกรรมเกิดขึ้นอย่างมากมาย มีการเสวนาประจำปี ตอนนี้ มีคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ระหว่างไทยและอังกฤษที่สำคัญชุดใหม่ โดยหวังว่าจะได้พบกันในต้นปีหน้าเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน พร้อมทั้งการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน มีหลายอย่างที่เราสามารถทำได้ทางการค้า การลดอุปสรรคในการค้า และการเพิ่มการเข้าถึง ตลอดจนโปรแกรมด้านการศึกษาอื่นๆ เช่น การสอนภาษาอังกฤษ”

ไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิกที่จัดตั้งเวทีการหารือระดับรัฐมนตรีการค้ากับสหราชอาณาจักร ภายหลังที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit)

โดยไทยจะใช้เวทีนี้ลดอุปสรรคทางการค้า กระตุ้นการส่งออก เพิ่มการลงทุนทางตรงและขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน เช่น เกษตร อาหาร ประมง การเงิน สุขภาพ และเทคโนโลยี เป็นต้น

ทั้งนี้ JETCO จะเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการค้าของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งจะมีการเพิ่มมูลค่าการระหว่างกัน โดยตั้งเป้าปี 2024 การค้าสองฝ่ายจะเพิ่มขึ้น 50% หรือมีมูลค่าเพิ่มเป็น 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายมาร์ค กูดดิ้ง (Mark Gooding OBE) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

ท่านทูตเล่าว่าได้เข้าพบผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานไทย เพื่อสานต่อความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน โดยเฉพาะความมั่นคงด้านสาธารณสุข ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยน และเร่งปฏิกิริยาให้ทั่วโลก เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมพลังงานสะอาด

“เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย เราคุยกันถึงเรื่องไวรัสโคโรนา และรัฐบาลอังกฤษก็ได้บริจาควัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 415,000 โดสให้กับไทยเพื่อช่วยสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19”

“เราได้ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน Oxford-AstraZeneca โดยยึดหลักว่าวัคซีนนี้จะต้องแจกจ่ายให้ทั่วโลกในราคาทุน โดยไม่หากำไร เป้าหมายเดียวคือ ขอให้กระจายวัคซีนนี้ไปทั่วโลกอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม วัคซีนนี้ มีประสิทธิภาพสูง และจนถึงปัจจุบัน ก็มีการฉีดวัคซีนนี้ไปแล้ว มากกว่า 500 ล้านโดสใน 160 ประเทศ”

“นอกจากนี้ ผมก็ได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยเพราะสหประชาชาติเชิญทุกประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 (Conference of the Parties) และการประชุมภาคีในปีนี้ประเทศไทยเข้าร่วมด้วย”

วัคซีนจากการบริจาคของรัฐบาลสหราชอาณาจักรงเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรหวังจะแก้ไขปัญหานี้ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมประจำปีครั้งที่ 26 เรียกว่า COP 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายนนี้

“การดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญมากเป็นเรื่องเร่งด่วน เราต้องลดการปล่อยมลพิษ ถ้าเรายังไม่ลดการปล่อยคาร์บอนและปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในทศวรรษหน้า หรือ 2 ปีข้างหน้า ก็จะไม่สามารถจำกัดอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในระยะยาว โดยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว สหราชอาณาจักรได้ตั้งเป้าหมายนี้ไว้และทำต่อเนื่อง และถ้าเราล้มเหลวจะเกิดน้ำท่วมมากขึ้น ภัยแล้งมากขึ้น ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น ผลกระทบจะร้ายแรงมากสำหรับทุกประเทศ” ท่านทูตได้เน้นย้ำ

สิ่งที่รัฐบาลสหราชอาณาจักร ดำเนินงานอย่างมุ่งมั่น ตามที่ประกาศไว้จะเพิ่มเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ท้าทายที่สุดในโลกให้เป็นกฎหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 78% ภายในปี 2035 และการลดคาร์บอนเหลือเป็นศูนย์ในปี 2050

นายมาร์ค กูดดิ้ง (Mark Gooding OBE) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนไทย ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ระบุว่า ไทยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยระหว่างปี 1999-2018 มูลค่าความเสียหายมีถึง 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.4 แสนล้านบาท) รวมถึงในระยะต่อไปมีโอกาสสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรหลักของประเทศมากถึง 15% จากปัญหาภัยแล้งที่ยาวนานและฝนจากมรสุมที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุม COP ตกลงกันได้ระดับหนึ่ง ในการประชุม COP 21 เมื่อหกปีก่อน ที่กรุงปารีส มีการลงนามในข้อตกลงซึ่งได้สมญานามว่า “ข้อตกลงปารีส” โดยรัฐบาลทั้งหลายตกลงว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เวที COP 26 เป็นเวทีที่ผู้นำโลกจากหลายประเทศ รวมทั้งไทย และผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคธุรกิจได้เจรจาด้านสภาพภูมิอากาศ ประกาศเจตนารมณ์ และระดมความพยายามเพื่อจัดการวิกฤต Climate Change ถือเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งในปีแห่งการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ

จุดประสงค์หลักของการประชุมในปีนี้ คือ การให้แต่ละประเทศเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุ Net Zero ทั่วโลกภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยเป้าหมาย Net Zero ดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ภาพจาก BBC

 

การมีสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องมาพร้อมสำนึกทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

เป็นที่ทราบกันดีว่า สหราชอาณาจักรเป็นต้นกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ โดยมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1265 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรปกครองด้วยความเสมอภาค ผ่านการปภิปราย ถกเถียงอย่างเข้มข้น มีบุคคลสำคัญ อาทิ John Locke และ Thomas Hobbes ผู้สร้างแนวคิด “Enlightenment” ซึ่งเป็นแนวคิดทางการเมืองแบบใหม่ รวมถึงนักเคลื่อนไหวและนักคิดทางการเมืองแนวใหม่ เช่น Emmeline Pankhurst

การที่ประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้นั้น ก็ต้องมีเสาหลักครบถ้วน เช่นผู้ปกครองประเทศต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แล้วบริหารงานตามหลักนิติธรรม โดยมีกลไกรับประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน และมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่เข้มแข็ง

รัฐสภา สหราชอาณาจักร (ภาพโดยTim Graham – Getty Images)

 

ท่านทูตกล่าวถึงประชาธิปไตยในสหราชอาณาจักร

“สหราชอาณาจักรยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชนที่ดีเสมอมา เป็นค่านิยมที่เรานำไปใช้ทั่วโลก แต่จากบริบทนี้ก็ได้มีความท้าทายเกิดขึ้นในประเทศของเราเช่นกัน โดยสิ่งเหล่านี้เป็นหลักการที่เราคิดว่าจำเป็นสำหรับความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคง และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

“ซึ่งผมหวังว่าจะได้มีการเจรจาที่ดีกับรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาซึ่งมาจากหลายฝ่าย รวมถึงภาคประชาสังคม ในเรื่องที่เกี่ยวกับค่านิยมดังกล่าว”

การอภิปรายในรัฐสภาอังกฤษ

 

พร้อมกล่าวยืนยันในตอนท้ายว่า

“สหราชอาณาจักรและประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งมาก เราจึงต้องการเห็นคนไทยไปอังกฤษ ศึกษาต่อในอังกฤษ ทำธุรกิจในอังกฤษให้มากขึ้น และอยากเห็นคนอังกฤษมาเมืองไทยมากขึ้นเช่นกัน”

“ในฐานะที่ผมเป็นเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรคนใหม่ และเพิ่งมารับหน้าที่ จึงมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยรัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ของทั้งสองประเทศให้ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องดังกล่าวจะเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเรายังมีอีกหลายภาคส่วนที่จำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างจริงจัง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”

“ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรจะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย ในการทลายข้อจำกัดทุกด้าน เพื่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตที่ดีขึ้นแบบยั่งยืนต่อไป”

นายมาร์ค กูดดิ้ง (Mark Gooding OBE) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

 

ประวัติ

นายมาร์ค กูดดิ้ง (Mark Gooding)

เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

คู่สมรส : ดร.คริสโตเฟอร์ แพทริก แม็กคอร์มิก (Dr. Christopher Patrick McCormick)

ประสบการณ์การทำงาน

กรกฎาคม 2021-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

2018-2019 : ผู้อำนวยการกองสหภาพยุโรป (โครงการ Future Partnership) กรมยุโรป กระทรวงต่างประเทศ สหราชอาณาจักร

2017-2018 : รองผู้อำนวยการ (ยุโรปเหนือ) กรมยุโรป กระทรวงต่างประเทศ สหราชอาณาจักร

2014-2017 : อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านการเมือง สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

2011-2013 : เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศกัมพูชา

2008-2011 : ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ (เทียบเท่าตำแหน่งอัครราชทูต) สำนักงานข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำศรีลังกาและมัลดีฟส์

2006-2008 : เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สหราชอาณาจักร

2004-2006 : หัวหน้าฝ่ายงบประมาณสหภาพยุโรป กรมยุโรป กระทรวงต่างประเทศ สหราชอาณาจักร

2002-2004 : กงสุลฝ่ายการเมือง เศรษฐกิจ และการสื่อสาร/กิจการสาธารณะ สถานกงสุลใหญ่อังกฤษประจำนครเซี่ยงไฮ้

2000-2002 : เรียนภาษาจีนกลาง

1999-2000 : เจ้าหน้าที่การทูต (ฝ่ายการค้าและการพัฒนา) กรมสหภาพยุโรป กระทรวงต่างประเทศ สหราชอาณาจักร