วิรัตน์ แสงทองคำ/ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (2486-2564)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/https://viratts.com/

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (2486-2564)

 

“เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในสังคมไทยที่ทรงอิทธิพลที่สุด… เขาอาจได้ชื่อว่าเป็น ‘เทคโนแครต’ คนสุดท้ายที่มีภูมิหลังและเส้นทางชีวิตและการทำงานด้านนโยบายรัฐที่มีความต่อเนื่อง ภายใต้ระบบการเมืองไทย จากยุคกึ่งเปิดกึ่งปิด สู่ระบบเปิด…”

ผมเคยฟันธงไว้เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว “ผมทำงานตั้งแต่ปี 2523 คงทนที่สุด ต่อเนื่องที่สุด และเห็นมากที่สุด” เขาเอง (ในเวลานั้น) ก็ยอมรับ ความเชื่อข้างต้นไม่เปลี่ยนแปลง จนถึงเวลานี้

ที่สำคัญบทบาท ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ตลอดช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนบริบทและภาพใหญ่สังคมไทย โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งเปลี่ยนผ่านและไม่เปลี่ยนผ่าน

ข้อความตอนต้น มาจากงานเขียน เรื่อง “วีรพงษ์ รามางกูร : มากกว่าความเป็นนักเศรษฐศาสตร์” ครั้งแรกตีพิมพ์ใน “นิตยสารผู้จัดการ” (ฉบับตุลาคม 2544) ในขณะนั้น นอกจากผมเป็นผู้เขียนเรื่องนี้ ยังเป็นบรรณาธิการนิตยสารดังกล่าวด้วย

(ปัจจุบัน ข้อเขียนเก่าชิ้นนั้น สามารถหาอ่านได้ที่ https://viratts.com/)

 

เบื้องหลังเรื่องราวส่วนใหญ่ (อ้างถึงข้างต้น) มาจากบทสนทนาอย่างน้อย 2 ครั้ง ทั้ง ณ สำนักงานใหญ่ริมถนนสาทรของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียว (ต่อมากลายเป็นบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด) ซึ่ง ดร.วีรพงษ์เป็นกรรมการบริษัทตั้งแต่นั้นซึ่งเป็นช่วงต้นๆ ของกิจการ จนเกือบถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

อีกครั้งที่บ้านแถวสุทธิสาร “บนที่ดินที่พ่อตายกให้เมื่อตอนแต่งงานกับภรรยาคนที่สอง ซึ่งเขาบอกว่าเป็นที่จัดสรรของหลวงสุทธิสารวินิจฉัย (บิดาของมารุต บุนนาค) …เมื่อปี 2497 มีเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา ด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่เป็นแบบไทย โดยเฉพาะมีของเก่าเป็นของสะสมมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องลายคราม และเหรียญต่างๆ” บางตอนจากเรื่องที่อ้างไว้กล่าวถึง (ภาพประกอบ-ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ปี 2544)

อีกบางตอนอ้างอิงจากหนังสือ “อนุสรณ์ ร้อยตำรวจตรีประดิษฐ์ รามางกูร 22 กันยายน 2528” หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพบิดาของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในช่วงเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เนื้อหาหนังสือเล่มนี้ สะท้อนภูมิหลัง ดร.วีรพงษ์ รางมางกูร ในฐานะบุตรคนโต โดยอ้างอิงเนื้อหา ประวัติบิดา เรื่องราววงศ์ตระกูล ซึ่งเขาเองเป็นผู้เขียน โดยค้นคว้าและรวบรวมเรื่องราวจากญาติๆ อีกทอดหนึ่ง ช่างบังเอิญ หนังสือเล่มนี้ยังอยู่ในชั้นหนังสือของผม (ภาพประกอบ-ปกหนังสือ และ ดร.วีรพงษ์กับบิดา)

อันที่จริงหนังสือเล่มดังกล่าวมีเนื้อหาทั้งหมดราวๆ 300 หน้า มีถึง 230 หน้าได้รวบรวม เสนอ คำแถลง สุนทรพจน์ คำปราศรัย และสารของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2523-2528

 

ช่วงชีวิตสำคัญเปิดฉากขึ้น ยุคต้นสงครามเวียนดนาม เมื่อเขาจบการศึกษาปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ (วิชาการคลัง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ต่อมาปี 2513 ได้ควบรวมวิชาการคลังกับวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จัดตั้งคณะเศรษฐศาสตร์) เชื่อมต่อกับ (ปี 2509) ชีวิตนักเรียนนอกที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 5 ปีครึ่ง โดยได้ทุน Rockefeller Foundation (ก่อตั้งในสหรัฐปี 2456 ตั้งสำนักงานในไทยปี 2507)

ยุคอิทธิพลสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคและประเทศไทย “เป็นยุคเศรษฐศาสตร์เฟื่องฟู รุ่นผมมี ดร.โอฬาร ไชยประวัติ, วิจิตร สุพินิจ, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, ประทีป สนธิสุวรรณ รวมทั้งณรงค์ชัย อัครเศรณี และสาธิต อุทัยศรี กลับมาไล่เลี่ยกัน” ดร.วีรพงษ์เคยกล่าวถึงนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญๆ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุน โดยเฉพาะนักเรียนทุนธนาคารแห่งประเทศไทย (ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศในช่วงปี 2502-2514 ผู้บุกเบิกส่งนักเรียนทุนไปศึกษาต่างประเทศ)

ต่อมาพวกเขามีบทบาทในฐานะผู้กำกับและดูแลนโยบายทางเศรษฐกิจการเงิน ในเวลาเดียวกับที่ ดร.วีรพงษ์มีบทบาทในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐ

จากอาจารย์สอนวิชาเศรษฐมิติ (econometrics) คนแรกๆ ของไทย ด้วยดีกรีปริญญาเอกจาก University of Pennsylvania, U.S.A. จนเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยวัยยังไม่ถึง 40 ปี (2524-2526) จากนั้นโอกาสเปิดกว้าง เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจด้านนโยบายของรัฐบาล (2523-2531)

ถือเป็นช่วงประสบการณ์ที่สำคัญ

 

อีกด้านหนึ่ง เขามีความสัมพันธ์กับนักเรียนสหรัฐอีกกลุ่มหนึ่ง พวกเขาเริ่มเข้ามีบทบาทในเวลาสังคมธุรกิจไทยกำลังขยายตัว โดยเฉพาะผู้ผ่านวิชาการบริหารธุรกิจ (MBA) แบบฉบับหนึ่งของการศึกษาระบบอเมริกัน “บทอรรถาธิบายที่มีมิติกว้างขึ้น ว่าด้วยอิทธิพลสหรัฐในยุคสงครามเวียดนาม นอกจากเข้ามายกเครื่องระบบเศรษฐกิจไทย การลงทุนครั้งใหญ่ จนถึงนำเข้าวิถีบริโภคแบบอเมริกัน ผ่านสินค้าสมัยใหม่” ดังที่ผมเคยสรุปไว้ เกี่ยวกับหลักสูตรยอดนิยมที่เปิดขึ้นอย่างครึกโครมในเวลาต่อมา ในมหาวิทยาลัยไทย

ภาพนั้นสะท้อนผ่านทุน MBA ธนาคารกสิกรไทย (เริ่มต้นปี 2509) และเครือซิเมนต์ไทย (เริ่มต้นปี 2515) คนหนึ่งในกระบวนการนั้น ควรกล่าวถึง-ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จากผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย (2514-2533) เข้าสู่วงจรทางการเมืองอย่างเต็มตัว ขณะบางจังหวะเป็นผู้ดูแลระบบการเงินของรัฐ (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2544-2549) เขาเป็นรุ่นน้อง เรียนที่เดียวกัน ขณะ ดร.วีรพงษ์เรียนเศรษฐศาสตร์ ปรีดิยาธรเรียน MBA

ยุคหลังสงครามเวียดนาม สหรัฐถอนตัวออกจากหน้าฉาก ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เริ่มมีบทบาทเกี่ยวข้องด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานที่สุดคนหนึ่งในการเมืองไทย (2523-2531) ช่วงที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อกับยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูต่อจากนั้น

อาจกล่าวว่า เขาอยู่ในยุคบุคลิกสำคัญหนึ่งของสังคมไทย ช่วงเวลาระบบการเมืองแบบกึ่งเปิดกึ่งปิด ขณะกระบวนการสะสมความมั่งคั่งของกลุ่มธุรกิจกลุ่มเดิมที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลก เป็นไปอย่างคึกคัก และเติบโตอย่างมากในยุคสงครามเวียดนาม ขับเคลื่อนสำคัญโดยกลไกซึ่งเป็นแกนกลาง ซึ่งผมเรียกว่า “ระบบธนาคารครอบครัว” เปิดพื้นที่อย่างจำกัด ด้วยกระบวนคัดเลือกที่เข้มงวดสำหรับผู้มาใหม่ มีปรากฏการณ์ให้เห็นเป็นระยะๆ ในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านๆ มา

บทบาทสำคัญของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่มีบทบาทต่อเนื่อง เป็นเรื่องราวที่เล่าขาน โดยเฉพาะบทบาทในการตัดสินใจลดค่าเงินในช่วงปี 2527 เป็นการตัดสินใจที่สำคัญ เป็นบทเรียนอ้างอิงในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย

 

ในยุคหลัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอีกครั้งของสังคมไทย ช่วงเวลาผันผวนทางการเมือง จากช่วงเศรษฐกิจขยายตัวครั้งใหญ่ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (นายกรัฐมนตรี 2531-2534) เปิดฉากใหม่ “เปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า”

สะท้อนความเชื่อมั่นหลังยุคสงครามเวียดนาม และความยุ่งยากในประเทศเพื่อนบ้านคลี่คลายลง ขัดจังหวะด้วยการรัฐประหาร ช่วงเพียง 6 ปีจากนั้น (2534-2540) เปลี่ยนรัฐบาลถึง 7 ครั้ง ขณะการขยายตัวทางเศรษฐกิจดำเนินอย่างไม่หยุดยั้ง

ขณะภาพนักเศรษฐศาสตร์ของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นกัน

ยังมีต่อ…