การศึกษา/ มติเอกฉันท์… สภาโหวตผ่าน ร่างกฎหมายการศึกษา 2 ฉบับ

การศึกษา

มติเอกฉันท์…

สภาโหวตผ่าน

ร่างกฎหมายการศึกษา 2 ฉบับ

ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 ไปแล้ว สำหรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…. หลังรอมานานกว่า 7 ปี

แถมยังถูกสภาฯ เท เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ในการประชุมสภาฯ สมัยที่แล้ว วันที่ 17 กันยายน ทำให้ต้องมาพิจารณาในการเปิดประชุมสมัยนี้ เดือนพฤศจิกายน กระทั่งไฟเขียวร่างกฎหมายสำคัญทั้ง 2 ฉบับ

โดยพิมพ์เขียวการศึกษาอย่างร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ผ่านด้วยคะแนน 435 ต่อ 30 งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 1 ส่วนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…. ผ่านด้วยคะแนน 532 ต่อ 38 เสียง งดออกเสียง 2 และไม่ออกเสียง 6

พร้อมให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับละ 49 ราย ใช้เวลาแปรญัตติ 15 วัน

ถ้าไม่มีปัญหาคาดว่ากฎหมายทั้งสองฉบับจะผ่านสภาฯ วาระ 2 และ 3 ภายในเดือนธันวาคมนี้

วรากรณ์ สามโกเศศ

 

นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะ กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. กล่าวว่า กมธ.วิสามัญฯ จะเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้โดยเร็วที่สุด เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญจะชักช้าไม่ได้ ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ถือเป็นกฎหมายแม่ ที่กำหนดรายละเอียดไว้เป็นภาพกว้าง ส่วนรายละเอียดในเรื่องต่างๆ อาทิ กรณีที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ในเรื่องอำนาจการแต่งตั้งโยกย้าย ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นั้น ไม่ได้กำหนดไว้ เพราะเป็นอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สามารถออกเป็นประกาศ ศธ. หรือกำหนดไว้ในกฎหมายลูกอย่างร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ…. เป็นต้น

“ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก เพราะไม่ได้กำหนดให้มีการขยายอำนาจ ขยายตำแหน่งหน้าที่ แต่เน้นมาตรฐานการศึกษา และกำหนดหน้าที่ครูให้ชัดเจนว่าครูไม่มีหน้าที่อย่างอื่นนอกเหนือจากการสอน และที่สำคัญ พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ เช่น ปรับเปลี่ยนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ทำหน้าที่ยกร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น” นายวรากรณ์กล่าว

ขณะที่ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่สภาฯ อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ฯ โดยหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อพัฒนาบุคคลอย่างรอบด้านและสมดุล เป็นพื้นฐานในการพัฒนาในมิติต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะประชาชนทุกช่วงวัย ให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ฯลฯ มีทั้งหมด 31 มาตรา

ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบ คือ

1.การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีเป้าหมายให้บุคคลสามารถเรียนรู้และสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

2.การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง

และ 3.การจัดการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ โดยมีเป้าหมายให้ผู้อยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียน

“โดยสรุปกฎหมายฉบับนี้จะอุดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่จะส่งผลให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสมต่อไป ศธ.เห็นสมควรปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยจัดการเรียนรู้เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัย ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต มีศักยภาพในการเข้าร่วมพัฒนาประเทศ สังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำน้อย เศรษฐกิจและสังคมพัฒนาอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีระบบการบริหารจัดการรับผิดชอบในการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้”

นางกนกวรรณกล่าว

 

ปิดท้ายที่ นักวิชาการด้านการศึกษา อย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ ขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาไทยจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาเป็น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เปลี่ยนผ่านจากระบบโครงสร้างเก่า มาสู่โครงสร้างใหม่ ที่เน้นให้การศึกษาลงไปสู่ผู้เรียนมากขึ้น เช่น คุณภาพผู้เรียน หน้าที่ของครู การผลักดันให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล และปรับหลักสูตรการเรียนรู้ เป็นต้น

ดังนั้น รัฐมนตรีทั้ง 3 คนของ ศธ. คือ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. จึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างระบบการศึกษาใหม่ให้เกิดความสำเร็จ ควรร่วมผลักดันเรื่องนี้ มากกว่าไปดำเนินนโยบายขายฝันของตัวเอง นโยบายเหล่านี้มาแล้วก็ไป แต่ถ้าร่วมกันสร้างระบบการศึกษาที่ดีอยู่คู่ระบบการศึกษาไทย จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

รัฐมนตรีทั้ง 3 คน ควรทิ้ง 3 ระบบการศึกษาเก่า และสร้าง 3 ระบบการศึกษาใหม่

โดย 3 สิ่งที่ควรทิ้งคือ 1.ยกเลิกระบบจัดทำเอกสารที่สร้างภาระให้ครู 2.ยกเลิกระเบียบกฎเกณฑ์ทั้งหมดที่กดทับปัญหาการศึกษาอยู่ในขณะนี้ และ 3.จัดการอำนาจที่ซ้ำซ้อนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ให้มีเอกภาพ รองรับการกระจายอำนาจ

ส่วน 3 สิ่งที่สร้างและสานต่อ คือ 1.การผลักดันให้เด็กไทยทั่วประเทศได้รับอาหารเช้า เพื่อให้เด็กมีความพร้อม มีสมาธิในการเรียนรู้ 2.การผลักดันธนาคารหน่วยกิต และ 3.การประกันโอกาสทางการศึกษา ปัจจุบันมีเด็กเริ่มหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

ช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลเหลืออยู่ รัฐมนตรีทั้ง 3 คนควรนำเวลาไปสร้างรากฐานการศึกษาให้ดี ต้องกล้าทำในสิ่งที่หลากหลายมากขึ้น กล้าจัดการโครงสร้างเดิม ที่เน้นอำนาจ วิทยฐานะ มาวาง mapping ระบบการศึกษาใหม่ ที่ลงไปสู่คุณภาพการศึกษา ลงไปสู่ผู้เรียนอย่างแท้จริง

จากนี้ต้องจับตาดูว่า กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะปรับแก้ในรายละเอียดสำคัญๆ ในเรื่องใดบ้าง ซึ่งหวังว่าผู้แทนประชาชนที่มีโอกาสได้พิจารณากฎหมายสำคัญของประเทศจะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียน และอนาคตของชาติให้มากที่สุด …