หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ยิปซี’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกเงือกกรามช้าง - ในแต่ละวัน พวกมันบินไปในระยะไกล เป็นการนำพาเมล็ดพืชไปกระจายในที่ต่างๆ อย่างได้ผล

 

‘ยิปซี’

 

คนทำงานกับนกเงือก เรียกนกเงือกกรามช้าง หรือที่มีชื่อเล่นว่า กู๋กี๋ ด้วยความเคารพในทักษะการบินเดินทางได้ไกลว่า ยิปซี เป็นยิปซีแห่งพงไพร

กู๋กี๋ตัวโต เป็นรองเพียงนกกกเท่านั้น พวกมันบินเสียงดัง บินได้ไกล นกเงือกกรามช้างปากเรียบ ญาติใกล้ชิดกับกู๋กี๋ บินไกลข้ามประเทศ

ราวๆ ปลายฤดูฝน กู๋กี๋จะมารวมฝูงกันในหุบนับพันตัว เสียงร้อง เสียงบินแหวกอากาศ ดังไปทั่วหุบ

อยู่ในป่า มีเสียง “ฟืด! ฟืด!” ราวกับเสียงรถจักรไอน้ำดังข้ามหัว ส่วนใหญ่เป็นกู๋กี๋บินผ่านมา มันไม่มีขนคลุมใต้ปีก เวลาบิน อากาศผ่านช่องว่างระหว่างโคนปีก จึงเกิดเสียงดังไปทั่ว

ถ้าเห็นพวกมันใกล้ๆ จะพบว่า นกเงือกมีขนตายาวงดงาม แต่ขาสั้น ทำให้เมื่อเคลื่อนที่ไปตามกิ่งไม้ใหญ่ๆ ต้องใช้วิธีกระโดด

และถ้าได้เห็นเวลานกเงือกกินผลไม้ จะพบอาการที่นกเงือกจัดอาหารมาไว้ส่วนปลายปาก แล้วจึงโยนรับลงคอ เพราะความที่มีลิ้นสั้นนั่นเอง

 

ยิปซีทำรังเลี้ยงลูกเหมือนนกเงือกตัวอื่น แม่เข้าไปขังตัวเองในโพรง พ่อทำหน้าที่หาอาหารมาเลี้ยง

แต่ใช่ว่าเหล่านกเงือกจะเก่งขนาดเจาะโพรงเองได้ โพรงที่ใช้ เกิดจากการเจาะของสัตว์ตัวอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นนกหัวขวาน ที่มีทักษะในการเจาะโพรงสูง

ถึงวันนี้ วิถีการเลี้ยงลูกของนกเงือกไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหรือลี้ลับ

แม่นกเมื่อเข้าโพรงแล้ว เธอจะปิดปากโพรงด้วยการใช้วัสดุต่างๆ เช่น ขี้ตัวเอง เศษอาหารที่สำรอกออกมา เศษไม้ ดิน เหล่านี้ผสมกันพอกปากโพรงให้เล็กจนเหลือแค่ช่องแคบๆ พอที่พ่อนกจะยื่นอาหารให้ได้เท่านั้น

แม่นกออกไข่ กกไข่ และเลี้ยงลูกในโพรง จนถึงเวลาที่ลูกโตพอบินได้ ถึงจะกะเทาะโพรงออกมาโดยมีพ่อนกช่วย

การที่ต้องอยู่ในโพรงแคบๆ อุดอู้เป็นระยะเวลา 3-4 เดือน ไม่ใช่เรื่องน่ารื่นรมย์นัก ไม่เพียงเพราะหน้าที่ ความอดทนนี้เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของแม่

เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า ความรัก

 

คนทำงานกับนกเงือกพบว่า วงจรชีวิตนกเงือกแบ่งเป็นสองช่วง เรียกง่ายๆ ว่า ในฤดูผสมพันธุ์ และนอกฤดูผสมพันธุ์

งานของคนทำงานกับนกเงือกก็หมุนเวียนไปตามนี้

ปกติ ฤดูแห่งความรักของนกเงือกเริ่มราวๆ เดือนกุมภาพันธ์

แต่ในปีนั้น บริเวณทิวเขาบูโด นกเงือกเลื่อนเวลาการเข้าโพรงจนถึงปลายเดือนมีนาคม สาเหตุเพราะฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง โพรงรังไม่แห้ง แม่นกส่วนใหญ่ไม่พอใจกับสภาพโพรงที่ต้องเข้าไปอยู่

ช่วงเวลานี้ จึงเห็นนกเงือกบินเป็นคู่ๆ พ่อนกบินไปเสาะหาโพรงเหมาะ แม่นกตามไปดูด้วย ระหว่างนี้นาทีแห่งความโรแมนติกเกิดขึ้นบ่อยๆ พ่อนกคาบผลไม้ป้อนแม่นก เป็นมุขเดิมๆ

นกเงือกเมื่อพร้อมใจที่จะอยู่ร่วมกันแล้วจะยึดมั่นอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิตก็จริง แต่ทุกปีในช่วงเวลาแห่งความรัก พ่อนกต้องเริ่มจีบแม่นกอีกครั้ง

 

เป็นเวลาที่คนทำงานกับนกเงือกต้องตามไปเฝ้าสังเกตการณ์ การตามหาโพรงรังนกเงือกไม่ง่ายนัก นกบินข้ามหุบเขาโดยขยับปีกไม่กี่ครั้ง แต่คน การเดินไปอีกฟากเขาอาจต้องใช้เวลาทั้งวัน

เมื่อแม่นกพอใจโพรงที่มาดู เธอก็พร้อมเข้าไปปิดปากโพรงเอง ตัวผู้ช่วยหาวัสดุมาให้

แม่นกเข้าโพรง งานหนักและความเดียวดายของพ่อนกก็เริ่มต้น

 

ตั้งแต่เช้ามืด ฟ้ายังไม่สว่างดี พ่อนกนำอาหารมื้อแรกมา อาหารเช้าเริ่มต้น

ตั้งแต่เช้ามืดเช่นกัน คนทำงานกับนกเงือก ตื่นเตรียมอุปกรณ์ เดินขึ้นภูเขามานั่งรอในซุ้มบังไพร เพื่อบันทึกการป้อนอาหาร

ในซุ้มบังไพรที่กันได้เพียงสายตานก ไม่กันแมลงรวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานนานาชนิด ทากถือโอกาสไต่ขึ้นถึงคอ ยุงตอมหึ่งๆ อากาศร้อนชื้น เหงื่อซึม มีแดดอยู่ไม่นาน เปลี่ยนเป็นมืดครึ้มฝนพร้อมตกตลอดเวลา

การเฝ้าดูในแต่ละวันใช้เวลาราวๆ 8 ชั่วโมง

 

ผมนึกถึงช่วงเวลาที่ทำงานในป่าบูโดเสมอ ทำงานในป่าบูโด นอกจากจะอยู่ในสภาพป่าดิบฝน และเป็นป่าที่ไม่มีที่ราบให้เดิน ขึ้นชัน ลงชัน

ไม่เพียงสภาพป่าที่ผมนึกถึงบ่อยๆ ผมนึกถึงคนทำงานกับนกเงือกที่นั่น มีคนจำนวนไม่น้อยทำงานของพวกเขาอยู่อย่างเงียบๆ

หลังผ่านพ้นการใช้ชีวิตอยู่ในโพรงแคบๆ ถึงเวลาลูกนกออกมาโบยบิน งานนอกฤดู ส่วนใหญ่คือการซ่อมแซมโพรงรังนกเงือกของคนเริ่มต้น

พวกเขาใช้ทักษะการปีนต้นไม้ ขนดินใส่โพรงที่ทรุด ปิดปากโพรงที่กว้างเกินไป ทำที่เกาะหน้าโพรงให้ พ่อนกมีที่เกาะยืนตอนมาป้อน

ป่ากว้างใหญ่ แต่ต้นไม้ที่มีโพรงเหมาะสมเหลือไม่มากแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยคน คนย่อมแก้ไขได้เช่นกัน

 

คนทำงานกับนกเงือกในป่าบูโดหลายคนจากบ้านมาไกล

หาก “ยิปซี” ความหมายคือ ร่อนเร่พเนจร ขณะอยู่บนทิวเขาสูงชัน ดิบชื้นรกทึบ ความเป็นยิปซีบอกให้รู้ว่า โพรงรังที่จากมา ให้ความอบอุ่นเพียงไร เป็นความอบอุ่น ที่ใช้ห่มคลุมเพื่อบรรเทาความเปียกชื้น และหนาวเหน็บ

ขณะเดินฝ่าความรกทึบ อยู่บนภูเขา