‘ไทย-ป๊อปวิทยา’ ความก้าวหน้า ที่เพื่อนบ้านอยากเลียนแบบ/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

‘ไทย-ป๊อปวิทยา’

ความก้าวหน้า

ที่เพื่อนบ้านอยากเลียนแบบ

 

แม้จะไม่เคยอยู่ที่นั่น แต่ก็คิดถึงเวียดนามทุกทีที่ถึงฤดูมรสุม

คงมาจากเคยเห็นในหนังสงครามอย่างบ่อยครั้งในยุค ’90

เหมือนภาพจำเล่าเรื่องผ่าน ฝน-พื้นชื้นแฉะและสงคราม ภาพเล่าเรื่องแทนความรู้สึกเหนื่อยหน่าย

สี่ปีก่อน ตอนเทศกาลหนังต่างประเทศในไทยยังฉายโชว์กระจัดกระจาย และหนังอาเซียนที่ฉายโรงหนังในห้าง ง่ายดายต่อการจองดูในแต่ละรอบ

เสียดาย ไม่ยักกะมีหนังของกัมพูชา

แต่ความประทับใจต่อนักทำหนังเวียดนามต่างหากที่ไม่เคยสร่างซา

ฉันปลื้มเขามาก หนังชื่อ “Father and Son” ของผู้กำกับการแสดง เลือง ดินห์ ดึง

ไม่ต่างจากเส้นแนวตึกอาคารที่สูงตระหง่านของเมือง ซึ่งเป็นเส้นเรื่องครึ่งหลังของหนัง ภาพภูผาสูงตัดขอบฟ้า สายฝนของชนบท ชีวิตที่มีแต่มรสุมในฤดูน้ำหลากอันรุนแรงและพลิกผัน ในกลุ่มชีวิตคนหาปลา การโจมตีอย่างรุนแรงด้วยมวลน้ำทั้งระยะสั้น กลาง ยาว การหนีไปอยู่บนดอยที่สูง ไปจนกว่าความสงบงามจะคืนกลับชีวิตเดิม

ถ้าหนีภัยไม่ทัน ก็สังเวยชีวิตไปกับมัน

ช่างเป็นหนังสายเรียลลิสติก แนวสัจนิยมที่แตกต่างตัวตนจากหนังกลุ่มอาเซียนทั่วไปหลังยุคสหัสวรรษ

และนึกไม่ออกมาก่อนเลยว่า สำหรับผู้โหยหารสชาติสกุลนี้ ก็จะรู้สึกหลงรักมันจับใจ และนึกไม่ถึงว่าเวียดนามเขาทำหนังกันแบบนี้

เราจะไม่รู้เลยว่า ความรู้สึกแบบนั้น มันทำให้เราออกไปยืนคาโรงจนกว่าไตเติลจะสิ้นสุดและไปจบที่ผู้กำกับฯ คนนั้น

ในฐานะที่… “นิมิตรูป” แห่งความชุ่มฉ่ำทะลักล้นในจิตใจ

แต่ไม่เคยคิดมาก่อนว่า ความรู้สึกแบบโหยหา “สัจนิยม” จะท่วมท้นปานนั้น อาจจะมีที่มาจากความรู้สึกแหนงหน่ายหนังไทยระยะหลังๆ ถึงขนาดที่ว่า “Father and Son” คือคำตอบทั้งหมดของคนที่เกิดมาในยุคอะนาล็อกจะพบพานและรำลึกธรรมชาติของ “สัจนิยม” ที่เหือดแห้งและแล้งหายไปนานในหมู่คนทำหนังไทยสายป๊อป

แต่เชื่อไหม? เจ้ากลิ่นอายสัจนิยมที่เราปลื้มปริ่มในหนังเวียดนามเรื่องนี้ แท้จริงแล้ว ในทางกลับกัน สำหรับเลือง ดินห์ ดึง แล้ว เรากลับพบว่า เขากลับอิจฉาในศาสตร์ศิลป์และกลิ่นความ “ป๊อป” ในแบบไทย

มากกว่าจริตหนังเวียดนามที่หนักอึ้งเหลือทนแบบนั้น มันกลับมีความหมายอย่างมาก สำหรับ “เบาหวิว” และ “ไร้น้ำหนัก” ในพล็อตเรื่องแนว “หอแต๋วแตก” เอย “ผีไม่จิ้มฟัน” เอย และอื่นๆ คือตัวอย่างหนังไทยแนวนิยมที่ไม่ตรงจริตฉัน แต่บางทีคนทำหนังเวียดนามกลับเข้าใจ

เพราะมวลบางอย่างในนั้น ที่คนทำหนังเวียดนามโหยหา และมากกว่า “สาระ” องค์ความรู้การทำหนัง มันคือการปลดทางสังคมดังที่เลือง ดินห์ ดึง เห็นต้นทุนความเป็นกระแส “ป๊อป” ในหนังไทย

getsunova : whitemusic

หลังจากอยู่กับเนื้อหาสาระแบบสัจนิยมมาหลายรุ่น บางทีความ “เบาหวิว” ในเนื้อหา กลับท้าทายคนทำหนังเวียดนามที่กลับพบอยู่ในไทยเต็มไปหมด ไม่ว่าหนังวาย-เพศสภาพ หรือหนังผีสยองขวัญ และอื่นๆ

ซึ่งในที่สุด เขาพบว่ามันคือความท้าทายอย่างมาก สำหรับคนทำหนัง “คุณค่านิยม” ที่ไปๆ มาๆ ไม่ต่างจากเครื่องจักรรัฐประการหนึ่ง

ด้วยเหตุนั้น เลือง ดินห์ ดึง และเพื่อนๆ จึงรู้สึกอิจฉาปรากฏการณ์ “ป๊อปนิยม” ในหนังไทย ขณะที่พวกตนเองกลับมีต้นทุนน้อยเกินไป

หรือนี่คือผลพวงของผลผลิต “อะคาเดมี” ในการรับใช้ศิลปะที่รับมาจากโลกยุคสังคมนิยม ตกทอดหลายเจเนอเรชั่นและส่งผลมาถึงคนรุ่นเขา?

แต่เราจะโยน “ป๊อปวิทยา” ให้เป็นหน้าที่ของ “หล่มปลัก” และการ “ปะทะ” กันระหว่างโลกเก่า/สังคมนิยม กับโลกใหม่/เสรีนิยมโดยมีสูตรลูกผสมปน “ไฮบริด”

ไม่รู้สิ “ป๊อปวิทยา” มีอะคาเดมีให้สอนหรือไม่?

ถ้าอย่างนั้น มากกว่านักทำหนัง เลือง ดินห์ ดึง และเพื่อนดูจะเหมือน “นักวิจัย” ที่มองเห็นเงาโครงสร้างในสังคมของตนเอง แม้ว่าวันหนึ่งในอนาคตที่รัฐบาลเวียดนามเปิดกว้างนโยบายวิทยาการก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้

ความกระหายในความเป็นเลิศที่ชาวเวียดนามปรารถนาและคิดว่ามันอยู่ในป๊อปนิยม “ป๊อปวิทยา” แบบไทยอาจจะล้าหลัง ขณะที่กระแสคลื่น “อัลฟา”, “เมตา” และอื่นๆ อาจรอคอยเขาอยู่ข้างหน้า

ถึงตอนนั้น ความโหยหากระแสโมเดิร์นสกุลไทยก็จะกลายเป็นอดีต

อะไรคือสิ่งที่เวียดนามขาดหาย ร้อนแล้งเหมือนไร้ฤดูมรสุม และความแห้งผากคือสิ่งที่ผู้กำกับฯ ชาวเวียดนามคนนั้นถามหา

หรือนี่คือการแสวงหาตัวตนความเป็นวิถีใหม่หนุ่ม-สาวเวียดนามที่น่าชื่นชมบูชาซึ่งกลับพบว่าอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นความ “ลื่นไหล” แบบไทย

และความเงียบงันอันรุ่มร้อนของนักทำหนังคนหนึ่ง มันกลับดึงเราให้เห็นถึง ความพยายามอันลึกเร้นในการปลดแอกตนเอง

เลือง ดินห์ ดึง และสหาย

พวกเขาคือพลังงานลึกลับในนามหนุ่ม-สาวเวียดนามยุคนี้ ที่ความคลั่งไคล้ในวิถี “ลื่นไหลและยั่วล้อ” ต่อมุมมองแบบปัจเจกและสังคมทั้งในแวดงวงบันเทิงและกีฬา กลับท่วมท้นอยู่ในไทย

ก็อะไรล่ะ? ที่น่ากลัวและท่วมบ่า จนแม้แต่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ยังต้อง “จัดระเบียบ” ในหมู่เยาวชนจีนครั้งใหญ่!

และนั่นหรือไม่ที่เป็นคำตอบอยู่ในกระแสวัฒนธรรมป๊อปในแบบที่คนรุ่นใหม่ในเวียดนามคลั่งไคล้ ไม่ต่างจากที่ผู้กำกับหนังเวียดนามตั้งคำถามไว้

หรือว่า “ป๊อปนิยม” จะเป็นเหมือนสายฝนชุ่มฉ่ำไปตามฤดูกาลเกินกว่าเราเข้าใจ?

เครดิต : DTiNews

จนมาถึงคำอธิบายว่า ในขณะที่ไทยกลายเป็นโมเดลของเวียดนั้น พวกฝรั่งเองกลับเห็นว่า เจเนอเรชั่นใหม่ของประเทศสหภาพโซเวียตกลับมีพลังที่ผสมผสานกันระหว่าง “ป๊อป-สัจนิยม” อย่างก้าวหน้า

โดยเฉพาะเจตจำนงของการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยอิสระ และเป็นมาตรฐานใหม่ในความต้องการของเวียดนามรุ่นใหม่ ความจริง “ป๊อปนิยม”แบบไทยก็แค่รูปแบบเท่านั้น

เพราะขณะที่ไทยกำลังติด “หล่มปะทะ” ระหว่าง “อนุรักษนิยม” กับ “เสรีนิยมใหม่” อยู่นั้น ชาวเวียดนามรุ่นใหม่ กลับเผชิญหน้ากับปัญหาเชิงปัจเจกที่พวกเขามองออกจากบ้านและเห็นมันจากที่อื่น

พลันความคับข้องใจก็เกิดขึ้นและดำเนินไป

เลือง ดินห์ ดึง ทำให้ฉันรู้สึกขอบคุณ ไม่ต่างจากพลังงานและความลื่นไหลในธาตุต้นทุนพลเมืองในตัวเขา ความแหนงหน่ายในวิถีสังคมนิยม

ป๊อปจึงเป็นสิ่งที่สูงส่งในมุมมองของเขา ในฐานะที่มันพาให้เขาไปถึงความลื่นไหลเชิงปัจเจก และมันสำคัญมากในสายงานและอาชีพของตน

ป๊อปจึงไม่ใช่เรื่องลื่นไหลหรือเบาหวิว แต่มันคือคุณค่าที่ยากจะเลียนแบบและทำได้อย่างหาไม่

โดยเฉพาะกรณีที่มันถูกจำกัดไว้ด้วยอำนาจพิเศษ ป๊อปนิยมก็จะกลายเป็นของนิ่งและสิ่งตายที่แห้งแล้งและโรยรา

หรือนี่คือสิ่งที่เลือง ดินห์ ดึง รู้สึกได้ถึงข้อด้อยบางด้านในวงการบันเทิงเวียดนาม ที่ไม่อาจก้าวข้ามไทย

เครดิต : NLD

นี่คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญในรสนิยมส่วนตัวใดของนักทำหนังเวียดนาม แต่ “หย่าง ป๊อป โฟ เบี๋ยน” คือสิ่งที่อยู่ในใจของเขาตะหาก

และมันเผอิญว่า คือสิ่งที่เราเห็นอยู่ในความทะเยอทะยานที่มากกว่าการแข่งขัน ในหมู่หมวดประชาคมชาวอาเซียนและเกรียวกราวไปในทาง “ชาตินิยม” มากกว่าความชื่นชมบูชาป๊อปนิยม

ขณะที่ปรากฏการณ์ “พันธมิตรชานม” (MilkTeaAlliance) ของ “ไต้หวัน-ฮ่องกง-ไทย” เมื่อสองปีก่อนกลับเป็นส่วนหนึ่งในต้นทุนบางอย่างที่เลือง ดินห์ ดึง เข้าใจ

และบัดนี้ การกระชับพื้นที่ระหว่างความเป็นชาติได้เข้ามาใกล้ภายในเวลาที่สั้นลงไปเรื่อยๆ หรือไม่?

สำหรับกระแสป๊อปนิยมในคนเวียดนามรุ่นใหม่ดั่งที่มีเขาคนหนึ่ง ยืนอยู่ตรงนั้น

อย่างน้อย เรื่องเล่าความผุกร่อนของ “รัฐอำนาจ” ที่อยู่ในป๊อปไทยเวลานี้ กำลังส่งผลเชิงประจักษ์ในแง่จริตอันลื่นไหลแต่สามารถทรงพลังในเชิง “มวลกระแส”

พลัน “ปมเขื่อง” ความทะเยอทะยานทางแนวป๊อปของชาวเวียดคนนั้น กลับคลี่คลายฉันจาก “เบาหวิวเหลือทน” มาเป็น “หนักอึ้งและแอบขำ”-โซเชียลไทยที่แอ็กทีฟตลอดเวลา

“ฮอน โฮ” นะจ๊ะ “หย่าง ป๊อป โฟ เบี๋ยน”