หนังสือ โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ กับร่างกายใต้บงการในพื้นที่โรงเรียน | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

หนังสือ โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ

กับร่างกายใต้บงการในพื้นที่โรงเรียน

 

“เผด็จการแห่งแรกในชีวิตของฉันคือโรงเรียน”

“เรารู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกเหมือนหุ่นยนต์ เหมือนความเป็นตัวตนของเราไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก เรื่องที่เราสนใจอยากเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเลย”

“เราไม่ชอบตัวเองในตอนนั้นเลย เหมือนเรากลายเป็นใครก็ไม่รู้ แล้วมันก็ toxic กับเพื่อนคนอื่นด้วยเวลาเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อน สภาพแวดล้อมที่กดดันแบบนี้ไม่ดีกับใครเลยด้วยซ้ำ”

 

ข้อความข้างต้นคือความเห็นบางส่วนของนักเรียนที่มีต่อชีวิตในโรงเรียนในยุคปัจจุบัน (อ้างถึงใน ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล บทความชื่อ “โรงเรียนของเราน่าอยู่? : ความเจ็บปวดของวัยขาสั้นคอซองยุคโบว์ขาว” เผยแพร่ใน The101.World เมื่อเดือนตุลาคม 2563)

และไม่เพียงแค่บทความชิ้นนี้เท่านั้นนะครับ หากใครสนใจตามก็จะพบข่าวว่าด้วยความรุนแรง ละเมิดสิทธิ์ บังคับ กดดัน ทำร้ายจิตใจ และคุกคามในลักษณะต่างๆ ในพื้นที่โรงเรียนหลุดออกมาให้เราเห็นอยู่เสมอ

ความเจ็บปวดมากมายอันเกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตในโรงเรียนของนักเรียนเป็นจำนวนไม่น้อยดังกล่าว คงมีเหตุปัจจัยมากมายตั้งแต่ปัญหาในระดับปัจเจกของครูแต่ละคน ไปจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมยาวนานในระบบการศึกษาไทย ซึ่งจะไม่ขอแจกแจงลงในรายละเอียด

แต่ในฐานะที่ผมเองมีอาชีพเกี่ยวข้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรมและการสอนไปพร้อมกัน ผมอยากชวนมองปัญหานี้ในอีกระดับหนึ่งที่หลายคนอาจคิดว่าไม่สำคัญต่อการสร้างความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจให้แก่นักเรียน

นั่นก็คือ การออกแบบพื้นที่ของโรงเรียน

ในอุดมคติ พื้นที่โรงเรียนควรถูกออกแบบขึ้นเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความอยากรู้ กล้าคิด กล้าถาม ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และให้อิสระในการคิดนอกกรอบ เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นแก่เยาวชน

แต่ในความเป็นจริง พื้นที่โรงเรียนส่วนใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐ กลับถูกออกแบบโดยเน้นหนักไปที่การสร้างระเบียบวินัย การควบคุมพฤติกรรม การสอดส่องตรวจสอบ และการบังคับปลูกฝังอุดมการณ์แห่งรัฐลงสู่นักเรียนในระดับที่ล้นเกิน

และด้วยเหตุนี้ พื้นที่โรงเรียนในสังคมไทยจึงทำหน้าที่เป็นเสมือนโรงงานผลิตพลเมืองที่เชื่องต่ออำนาจและการควบคุมของรัฐ

โดยเป้าหมายที่แฝงเร้นอันนี้จะถูกเลี่ยงไปพูดอย่างอ้อมๆ ภายใต้สโลแกนอันสวยหรูว่าด้วยการสร้างคนที่มีระเบียบ มีวินัย และมีความเป็นไทย

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า ไม่เพียงแค่สังคมไทยที่เป็นเช่นนี้ โรงเรียนทั้งหลายในโลกยุคก่อนศตวรรษที่ 20 มาจนถึงกลางศตวรรษที่ 20 ก็มีลักษณะไม่ต่างกันนัก

แต่ประเด็นคือ ในขณะที่สังคมที่เจริญก้าวหน้าทางการศึกษา ต่างทยอยยกเลิกการออกแบบพื้นที่โรงเรียนที่แฝงเป้าหมายดังกล่าวลงไปเรื่อยๆ แต่สังคมไทยกลับยังคงลักษณะพื้นที่เช่นนี้อย่างมั่นคง แม้จนปัจจุบัน

ควรกล่าวย้ำอีกอย่างด้วยนะครับว่า การสร้างระเบียบวินัยผ่านโรงเรียนมิใช่เรื่องเสียหาย การที่พลเมืองในชาติมีนิสัยดังกล่าวคือสิ่งดีต่อสังคมโดยรวมแน่นอน

แต่ปัญหาคือ หากเรามองในรายละเอียดของวิธีการสร้างสิ่งนี้ผ่านการออกแบบพื้นที่และใช้สอยพื้นที่ในโรงเรียนไทย เราจะพบว่าหลายอย่างมันไม่ใช่การสร้างจิตสำนึกเรื่องระเบียบและวินัยเชิงบวก แต่มันคือการบังคับอย่างไร้เหตุผลเพื่อทำให้นักเรียนสยบยอมต่ออำนาจอย่างไร้เงื่อนไข

ซึ่งด้วยรูปแบบและวิธีการแบบไทยๆ เช่นนี้เองที่ตัวมันได้กลายมาเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่ชีวิตนักเรียนในพื้นที่โรงเรียนอย่างมหาศาล

 

หลายปีมานี้ ผมพยายามค้นหาว่ารัฐไทยมีการสร้างคู่มือสำหรับการการออกแบบพื้นที่โรงเรียนอยู่บ้างหรือเปล่า เพื่อจะใช้ยืนยันความคิดที่ผมเสนอข้างต้น

แต่ก็ไม่เจอ

แม้ไม่เจอ แต่ส่วนตัวก็ยังเชื่อลึกๆ มาโดยตลอดว่า น่าจะมีอะไรบางอย่างที่ใกล้เคียงกันอยู่ ซึ่งรัฐไทยใช้กำหนดแนวทางในการออกแบบ ไม่ว่าจะทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม

เพราะหากเราลองสำรวจดูการออกแบบพื้นที่โรงเรียนของรัฐเกือบทั่วประเทศ เราจะพบว่ามันมีแบบแผนบางอย่างร่วมกันอย่างมีนัยยะสำคัญ จนเสมือนว่าน่าจะถูกสร้างบนพิมพ์เขียวทางความคิดชุดเดียวกัน

จนเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง (จากการเอื้อเฟื้อของคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์) ชื่อ “โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ” ซึ่งทำให้ผมดีใจ เสมือนว่าได้เจอสิ่งที่ค้นหามานาน

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนายเกรียง เอี่ยมสกุล (ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็นกีรติกร) ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกราวปี พ.ศ.2509

นายเกรียงถือว่าเป็นบุคคลที่มีคุณูปการอย่างมากคนหนึ่งในแวดวงการศึกษาไทย นับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เรื่อยมาจนกระทั่งเสียชีวิตในปี พ.ศ.2533

ผลงานสำคัญคือ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกรมวิชาการ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ, มีส่วนสำคัญในการการประกาศแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2494 ซึ่งทำให้มีการขยายการศึกษาภาคบังคับไปสู่ภูมิภาค, ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษา, เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ในรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ และเคยดำรงตำแหน่งวุฒิสภาด้วย

เมื่อเห็นชื่อหนังสือครั้งแรก ผมไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรน่าสนใจนัก แต่ด้วยบทบาทหน้าที่และผลงานข้างต้นจึงทำให้สนใจอยากลองอ่านดู และเมื่อได้อ่านก็พบว่าเนื้อหามีความน่าสนใจมากกว่าที่คิดไว้หลายเท่า

 

หนังสือนี้เป็นเสมือนคู่มือการออกแบบพื้นที่โรงเรียนในสังคมไทย ที่ผมกำลังตามหาอยู่

แม้เนื้อหาจะไม่ใช่การออกแบบในความหมายแบบที่สถาปนิกคุ้นเคย แต่ใจความสำคัญและรายละเอียดที่ระบุในเล่ม ชี้ชัดถึงหลักการการออกแบบพื้นที่ส่วนต่างๆ ในโรงเรียนเอาไว้อย่างน่าคิด

หนังสือประกอบไปด้วยเนื้อหา 85 บท โดยแต่ละบทเขียนขึ้นสั้นๆ ราว 3 หน้ากระดาษ เนื้อหาครอบคลุมประเด็นต่างๆ ในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ความมุ่งหมายของการจัดการศึกษา การบริหารจัดการโรงเรียน บทบาทหน้าที่ของครู กิจกรรมที่ควรจัดในโรงเรียน วิชาความรู้ที่ควรสอน

เนื้อหาอีกส่วนที่น่าสนใจคือ การพูดถึงการสอดส่องควบคุมนักเรียน การสร้างระเบียบวินัย เครื่องแบบ การทำโทษ ไปจนถึงการปลูกฝังจริยธรรมและอุดมการณ์ต่างๆ

และที่สำคัญที่สุดคือ มีการพูดถึงการออกแบบส่วนต่างๆ ของโรงเรียน ตั้งแต่อาคารเรียนที่จำเป็นควรมีอะไรบ้าง การคำนึงถึงแสงสว่าง ทิศทางลม สภาพแวดล้อม สนาม รั้วโรงเรียน การปลูกต้นไม้ ไปจนถึงการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในโรงเรียน

แม้หนังสือจะตีพิมพ์ในปลายทศวรรษ 2500 แต่จากคำนำผู้เขียนที่แสดงให้เห็นว่าเนื้อหาภายในเป็นการรวบรวมจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้เขียน ซึ่งสะท้อนชัดว่า สิ่งที่ปรากฏในหนังสือ คือ สิ่งที่โรงเรียนในสังคมไทย (หรืออีกแง่หนึ่งคือ โรงเรียนของรัฐไทย) ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน

ยิ่งไปกว่านั้น คำนำในฉบับพิมพ์ปี พ.ศ.2512 ได้ระบุว่า หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมมากและมีการตีพิมพ์หลายครั้ง เพื่อแจกจ่ายไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับครูทั่วประเทศในการนำไปปฏิบัติในโรงเรียนของตนเอง

ทั้งหมดทำให้ผมสรุปว่า หนังสือเล่มนี้คือหลักฐานชั้นต้นชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งกระจกสะท้อนให้เรามองเห็นการออกแบบการเรียนการสอนและพื้นที่ของโรงเรียนไทยในอดีตยุคก่อนทศวรรษ 2500

ในขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ก็ทำหน้าที่เป็นคู่มือและเครื่องมือสำหรับโรงเรียนทั่วประเทศในการนำไปใช้ออกแบบการเรียนการสอนและพื้นที่ส่วนต่างๆ ในโรงเรียนของตนเอง (อย่างน้อยก็ในทศวรรษ 2500-2530) ซึ่งหลายส่วนยังส่งอิทธิพลมาสู่ปัจจุบันไม่น้อยเลยทีเดียว

แม้หนังสือจะพูดเน้นเฉพาะลงไปที่โรงเรียนประถม แต่หากเรานำมามองการออกแบบโรงเรียนมัธยมที่ยังปรากฏอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ก็จะไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญนัก

 

ดังนั้น การอ่านหนังสือเล่มนี้ สำหรับผม จึงเสมือนเรากำลังอ่านความคิด อุดมการณ์ แลกลไกการทำงานของโรงเรียนในสังคมไทยทั้งระดับประถมและมัธยม ที่กระทำต่อนักเรียนอยู่นั่นเอง

เมื่ออ่านจบ ผมไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเยาวชนไม่น้อยในปัจจุบันจึงออกมาส่งเสียงไม่พอใจ (ความจริงอาจจะรวมถึงเยาวชนในรุ่นก่อนหน้าหลายสิบปีด้วย เพียงแต่เยาวชนรุ่นก่อนไม่มีความกล้ามากพอที่จะพูดเท่าในปัจจุบัน)

ทำไมบางคนจึงมีความรู้สึกเจ็บปวด

บางคนรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นหุ่นยนต์

บางคนรู้สึกเกลียดตัวเอง

และบางคนจึงมองพื้นที่โรงเรียนว่าเป็นเผด็จการแห่งแรกในชีวิต