สิ่งแวดล้อม : ควันหลง ‘COP 26’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

ควันหลง ‘COP 26’

 

การประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อน หรือ COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ จบลงไปแล้ว ท่ามกลางข้อกังขาว่าจะเกิดบังเกิดผลดีต่อโลกในวันนี้หรืออนาคตข้างหน้าได้มากน้อยแค่ไหน

จะควบคุมอุณหภูมิโลกที่ร้อนระอุอย่างต่อเนื่องไม่ให้อากาศร้อนจนพุ่งทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกเมื่อ 200 ปีก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้หรือไม่?

ข้อกังขานี้ มาจากท่าทีของผู้นำโลกระดับอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ไม่แสดงเจตจำนงมุ่งมั่นให้เห็นชัดเจนว่าจะร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง

เพราะเมื่อถึงวันสรุปผลการประชุมว่า ทั้งโลกต้องหยุดการปล่อยก๊าซมีเทน เป็น 1 ในก๊าซเรือนกระจกที่มีอานุภาพรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า ปรากฏว่าจีนและรัสเซียซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุดในโลก กลับไม่ร่วมลงนามในสัญญา

เช่นเดียวข้อตกลงให้ทั่วโลกหยุดการใช้พลังงานถ่านหิน ปรากฏว่า จีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินอันดับต้นๆ ของโลกกลับโต้แย้งขอให้ที่ประชุมเปลี่ยนเป็นคำว่า “ลดการใช้” ถ่านหิน แทนคำว่า “หยุดใช้ถ่านหิน”

การยึกยักเล่นเกมคำอย่างนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า เจ้าภาพ COP 26 ยังไม่เจ๋งพอที่จะบังคับให้ยักษ์ใหญ่ทั้งจีนและอินเดียหยุดใช้ถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก

 

หรือในกรณีการเรียกร้องให้ประเทศจี-20 ที่ร่ำรวยจัดเงินอุดหนุนช่วยเหลือประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ปรากฏว่าในที่ประชุม COP 26 ได้ผลักประเด็นนี้ออกไปก่อน

นั่นหมายถึงว่า การประชุม COP 27 ที่เมืองชาร์ม เอลชีก เมืองตากอากาศของประเทศอียิปต์ ในปี 2565 ถึงจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวมาปัดฝุ่นคุยกันอีกที

กลุ่มอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จี-20 ไล่มาตั้งแต่สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ฯลฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมๆ แล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซพิษที่ปล่อยทั่วทั้งโลก

จี-20 ต่างรู้ดีว่าก๊าซเรือนกระจกคือตัวการสำคัญทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน

สภาวะภูมิอากาศโลกที่แปรปรวนผันผวน เกิดภัยแล้ง อุณหภูมิพุ่งสูง เกิดไฟป่า เกิดพายุถี่บ่อย กระแสลมพายุมีระดับรุนแรงมากขึ้น ฝนตกหนัก มวลน้ำฝนมีปริมาณสูงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ธารน้ำแข็งละลายเร็วกว่าปกติ

ประเทศยากจนวิงวอนร้องขอให้กลุ่มจี-20 ช่วยกันชดใช้ค่าเสียหายจากภาวะโลกร้อน มานานแล้ว ในการประชุม COP 25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ก็นำประเด็นนี้มาพูดกัน แต่กลุ่มจี-20 แสดงท่าทีเงียบเฉย

ที่ประชุม COP 26 ก็เช่นกัน ได้ปัดปัญหาออกให้ไปคุยกันใหม่ในที่ประชุมคราวหน้า

 

นักวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติประเมินว่า ภาวะ “โลกร้อน” เพิ่มความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ช่วงศตวรรษนี้ โลกอาจจะเจอกับสถานการณ์ที่คาดการณ์ไม่ถึงเนื่องจากแนวโน้มอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเฉลี่ย 2.7 องศาเซลเซียส

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 หรือในช่วงเวลา 100 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นมาแล้ว 1 องศาเซลเซียส

แค่ 1 องศาเซลเซียส ผู้คนยังเผชิญกับวิกฤตการณ์ร้ายแรงอย่างที่เห็น ถ้าอุณหภูมิโลกทะลุ 2.7 องศาเซลเซียส อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินเอาไว้

ชาวโลกจะดำรงชีวิตอยู่กันในสภาพไหน?

 

ยังมีควันหลงอีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำของไทย ในเวทีการประชุม COP 26 ที่ไม่ได้ร่วมลงนามในคำสัญญาว่าทุกประเทศต้องหยุดตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูสภาพป่าภายในปี 2573 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า

ทราบข่าวล่าสุดจากการให้สัมภาษณ์ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า ประเทศไทยเห็นชอบในคำสัญญาดังกล่าว

นายวราวุธบอกว่า คำสัญญาในที่ประชุม COP 26 สอดคล้องกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเทศให้ได้ 55% ภายในปี 2580

ส่วนสาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ร่วมกับผู้นำทั่วโลกกว่า 120 ประเทศนั้น เพิ่งมารู้จากคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า จะต้องเอาข้อตกลงไปเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบก่อน หลังจากนั้นจึงจะแจ้งต่อเจ้าภาพการประชุม COP 26

ข้อตกลงว่าด้วยการหยุดโค่นทำลายป่าถือเป็นวาระสำคัญของโลก ผู้นำไทยต้องจัดให้เต็ม เตรียมให้พร้อมก่อนเดินทางไปประชุมเพราะเป็นวาระที่รู้กันล่วงหน้า

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เซ็นสัญญาทั้งๆ ที่เข้าร่วมประชุมด้วย เท่ากับว่าผู้นำไทยไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลป่าไม้เหมือนที่ผู้นำประเทศอื่นๆ

 

ดร.แดนนี่ มาร์กส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนโยบายการเมืองสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยดับลิน ซิตี้ ประเทศไอร์แลนด์ เขียนบทความชื่อว่า “Thailand shows lack of commitment at COP26” ตีพิมพ์ในหนังสือบางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน

เป็นบทความที่ชี้ให้เห็นว่า การที่ไทยไม่ลงนามในสัญญาหยุดโค่นป่า เป็นข้อแสดงถึงการขาดความมุ่งมั่นพยายามที่จะโชว์ให้โลกเห็นว่าไทยได้ปกปักรักษาป่าไม้อย่างจริงจัง

แค่ลงนามร่วมกับผู้นำทั่วโลก ก็ยังมีทีท่าลังเลอ้างว่าต้องย้อนกลับมาขอมติ ครม.เสียก่อน

ดร.มาร์กส์เขียนในบทความว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตภัยอันเป็นผลจากสภาวะภูมิอากาศเลวร้าย เมื่อปี 2554 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่มีผู้เสียชีวิตกว่า 800 คน และเศรษฐกิจพังพินาศคิดเป็นมูลค่ากว่า 140,000 ล้านบาท

ปีนี้ไทยก็ยังเจอภัยน้ำท่วม ผู้คนประสบความเดือดร้อนกว่า 1 ล้านคน มีผู้สังเวยน้ำท่วมอย่างน้อย 14 คน

ตั้งแต่ปี 2562-2563 เกิดภัยแล้ง ประเทศไทยได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของจีดีพี

ภาวะโลกร้อน ไม่เพียงเป็นต้นเหตุให้วิกฤตภัยต่างๆ ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนในระดับสูง การจัดดัชนีความเสี่ยงของโลก (Global Climate Risk Index) ครั้งล่าสุด ระบุว่า ไทยอยู่ในอันดับ 9

 

บทความชิ้นดังกล่าวระบุด้วยว่า ระหว่างปี 2552-2562 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ และติดอันดับโลก 1 ใน 20 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด

กรุงเทพมหานคร ได้ชื่อว่าเป็น 1 ในเมืองที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดในโลก เมื่อคิดเฉลี่ยต่อคน คนกรุงเทพมหานครปล่อยก๊าซพิษสูงกว่าชาวลอนดอนและชาวมิลาน

“การประชุม COP 26 เป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยควรแสดงให้โลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เพื่อปกป้องประชาชน เป็นการแสดงความรับผิดชอบร่วมกับสังคมโลกและพร้อมลงมือทำทันที อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปราศรัยบนเวที”

ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ลงนามในสัญญาหยุดโค่นป่าและฟื้นฟูรักษาป่าเพื่อลดการปล่อยมลพิษอย่างที่ผู้นำโลกคนอื่นๆ ได้ร่วมกันทำ

“ดร.มาร์กส์” บอกว่า ไทยยังมีเวลาไตร่ตรองและร่วมลงนามในสัญญาหยุดโค่นป่า

แม้ว่าจะเซ็นตามหลังเวียดนาม กระนั้นก็ยังแสดงให้โลกได้เห็นเป็นประจักษ์ว่าไทยมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการลดความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน