เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / น้ำนิ่ง-ตลิ่งไหล

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

น้ำนิ่ง-ตลิ่งไหล

 

คํา “น้ำนิ่ง-ตลิ่งไหล” นี้เป็นปริศนาธรรมได้มาจากสวนโมกข์ เมื่อครั้งบวชเป็นพระอยู่ที่นั่น

โวหารธรรมทำนองนี้มีมากในพุทธนิกายเซนซึ่งเป็นฝ่ายมหายาน มักใช้ศิลปะการ “กลับความ” คือให้ตีความใหม่เช่นเรื่องนี้

เมื่อเห็นธงพลิ้วลมไหวก็จะบอกว่า

“ธงไม่ได้ไหว จิตต่างหากที่ไหว”

น้ำนิ่ง-ตลิ่งไหล ก็โดยนัยเดียวกันคือ

“น้ำไม่ได้ไหล ตลิ่งต่างหากที่ไหล”

เป้าหมายของทุกคำบอกและคำสอนจะมุ่งที่ “จิต” เป็นสำคัญ ด้วยธรรมดาจิตย่อม “ปรุงแต่ง” อยู่เสมอ แทบจะทุกตลอดเวลา ดังนั้น ทำให้จิตหยุดปรุงแต่งได้จึงเป็นการทำให้จิตคืนสู่สภาวะ “ปกติ” อันเป็นธรรมชาติเดิมแท้ของจิตนั่นเอง

ดังคำ “จิตเดิมแท้” หรือ “จิตว่าง”

คือมันว่างจากการปรุงแต่งด้วยความคิดทั้งปวง ว่างจากความรู้สึก ความนึก ความคิดอันเป็นธรรมดาของความปรุงแต่งในจิต

 

จิตว่าง ไม่ได้หมายว่า “ไม่มีจิต” เหมือน “มือว่าง” ไม่ได้หมายว่า “ไม่มีมือ” ฉันใดก็ฉันนั้น

เคยฟังผู้ใฝ่ธรรมคุยกันเชิงไม่เห็นด้วยกับคำว่า “จิตว่าง” เป็นทำนองว่าไม่เห็นด้วยเพราะเขาหาว่าว่างคือ ไม่คิดอะไรเลย ไม่รับผิดชอบอะไรทำนองนั้น แล้วสรุปว่า “ไม่เอาด้วย”

คือเขาคิดว่า “จิตว่าง” ก็เท่ากับ “ไม่มีจิต” เมื่อไม่มีจิตแล้วจะไปคิดทำอะไรได้ ทำนองนั้น

ไม่ได้คิดว่า จิตว่างก็เหมือนมือว่าง ซึ่งมือว่างก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีมือ

จิตว่างคือ ธรรมชาติเดิมแท้ก่อนจะปรุงแต่งเป็นอารมณ์ ความรู้สึก ความนึก ความคิด ธรรมชาติเดิมแท้เป็นพื้นจิตเดิมแท้ ดังคำบาลีว่า

ปภัสระ มิททัง ภิกขะเวจิตตัง

อาคันตุเกหิ อุปะกิเลเสหิ

แปลว่า จิตสว่างเป็นประภัสสรอยู่ กิเลสคืออาคันตุกะ หรือแขกผู้มาเยือน หรือจรมาเป็นคราวๆ

สว่างไสวเป็นประภัสสร นี่คือรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญาซึ่งทำหน้าที่รับรู้และรู้เท่าทันการ “ปรุงแต่ง” อยู่ตลอดเวลา

 

ดังคำอธิบายขันธ์ห้า “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ” นั้น จำแนกเป็น “กายกับจิต” รูปคือกาย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั้นคือจิต

วิญญาณคือตัวจิต (จากศัพท์ ญาณ = รู้ วิ, วิญ = ยิ่ง) เป็นตัวรู้หรือธาตุรู้ ดังเรียกมโนธาตุ ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร เป็นคุณสมบัติของจิตที่มันสามารถทำงานได้สามอย่างคือ รู้สึก (เวทนา) นึก (สัญญา) คิด (สังขาร)

รู้สึก นึกคิด คำไทยแท้ๆ นี่แหละคือคุณสมบัติทั้งหมดของความเป็นจิต

น่าขันคือ เราแปลคำนำใช้ผิดจากความหมายเดิม กระทั่งคิดว่าเป็นความหมายจริง เช่น เวทนาหมายถึงสงสาร สัญญาคือคำมั่นหรือการทำนิติกรรม สังขารคือร่างกาย ซึ่งเป็นภาษาโลกๆ ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า นี่เป็นปัญหาที่ทำให้ไม่เข้าใจธรรม โดยท่านบอกว่า คือการให้ความหมาย “ภาษาคน-ภาษาธรรม” ต่างกัน

ดังความหมายจากคำศัพท์ในขันธ์ห้านี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งยังมีอีกมากมายในภาษาธรรม

เฉพาะคำ “สังขาร” แปลว่า “ปรุงแต่ง” นี้เป็นกิริยา เมื่อปรุงแต่งเป็นตัวตนซึ่งเป็นนามขึ้นมา เราไปฉวยเฉพาะตัวตนว่าเป็นความหมายสำเร็จรูป เลยเหมาเอาว่าสังขารคือตัวตนหรือร่างกายไปเลย จนนึกไม่ออกว่าคำสังขารจะแปลว่า “ปรุงแต่ง” ได้อย่างไร

เช่นกันกับคำเวทนา และสัญญานั้นก็พานนึกไม่ออกว่ามันจะแปลว่า ความรู้สึก และความนึก คือจำได้หมายรู้ไปได้อย่างไร

 

“นํ้านิ่ง-ตลิ่งไหล” ความหมายคือ จิตนิ่งหยุดปรุงแต่งดูความเคลื่อนไหวหรือความเปลี่ยนแปลงเป็นไปของสรรพสิ่ง คือจิตที่สว่างอยู่ด้วยปัญญาหรือสว่างรู้ ดังความหมายของคำ “พุทธะ” ที่หมายถึง สะอาด สว่าง สงบ เบิกบานอยู่ด้วยธรรม คือรู้เท่าและรู้ทันตามรู้ในทุกขณะจิตนั้น

“ขณะ” คือความเปลี่ยนแปลงตลอด เหมือนเข็มวินาทีบนหน้าปัดนาฬิกาที่ไม่หยุดนิ่ง

ที่จริงน้ำต่างหากที่ไหลไม่หยุดนิ่ง ตลิ่งต่างหากที่สถิตคงที่อยู่ น้ำไหลผ่านตลิ่งตลอดเวลา นี่คือความเป็นจริง แต่ครั้นพูดกลับความเป็นน้ำนิ่ง ตลิ่งไหล ทำให้ฉุกคิดว่าอะไรคืออะไร ซึ่งเมื่อคิดกลับความก็จะเห็นอีกมุมหนึ่งทันที

ดังจิตในขันธ์ห้า คือวิญญาณ (รู้ยิ่ง) เป็นมโนธาตุ แม้จะสามารถรู้สึกนึกคิดได้ แต่ก็ไม่ต้องไปข้องติดยึดอยู่ การไม่ไปข้องติดยึดอยู่นี้เองคือความนิ่งอันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของ “จิตเดิมแท้”

เพราะฉะนั้น ถึงมันจะไหลไป แต่จิตเดิมแท้ก็ยังคงอยู่ นิ่งอยู่เสมอตลอดเวลา ทุกขณะแห่งความเปลี่ยนแปลง

บ้านเมืองเรา โลกเราวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ดังภาวะ “โลกรวน” อยู่นี้ ต้องการปัญญารู้เท่าทัน อยู่กับมันให้ได้ ด้วยอาการหรือลักษณะที่ว่า

สงบสยบเคลื่อนไหว

 

น้ำนิ่ง-ตลิ่งไหล

 

น้ำนิ่ง ตลิ่งไหล

คือใจนิ่ง เป็นปกติ

จิตเป็น สมาธิ

ดูจิตเห็น ตามเป็นจริง

 

สรรพสิ่ง ล้วนเคลื่อนไหว

เปลี่ยนแปลงได้ ทุกสรรพสิ่ง

น้ำนิ่ง สนิทนิ่ง

ตลิ่งไหล เปลี่ยนไปเสมอ

 

ตามรู้ ตามดูจิต

ได้เห็นจิต ปรุงจิตเจอ

สุขล้น ที่ปรนเปรอ

ทั้งทุกข์เอ่อ ระอาเอือม

 

สลัดจิต ที่ติดยึด

ให้จิตหยุด ไหวกระเพื่อม

สูงสุด และทรุดเสื่อม

ล้วนตลิ่ง แหละพาไป

 

รู้ธรรม ต้องรู้ถอด

รหัสธรรม รู้นำใช้

น้ำนิ่ง ตลิ่งไหล

ให้ขบคิด เป็นปริศนา!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์