สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง/บอระเพ็ด ยาโบราณร่วมสมัย

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

บอระเพ็ด

ยาโบราณร่วมสมัย

 

บอระเพ็ดเป็นสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันมาอย่างยาวนาน

ในอดีตนิยมนำมาใช้ทาหัวนมแม่เพื่อให้เด็กหย่านม

และเป็นที่รู้จักหรือกล่าวถึงในตำรับยาต่างๆ โดยเฉพาะความขม แต่ก็ชื่นชมในสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะและยาแก้ไข้มาอย่างยาวนาน

ในตำรับยาอายุวัฒนะ ที่พูดถึงกันมาก

เช่น ตำรับที่ 1 ที่กล่าวเป็นปริศนามีตัวยาประกอบด้วย หึ่งอากาศ (น้ำผึ้ง) พาดยอดไม้ (บอระเพ็ด) ไหง้ธรณี (แห้วหมู) หนีสงสาร (ผักเสี้ยนผี) ไปนิพพานไม่กลับ (ขมิ้น) อย่างละเท่าๆ กัน ทำเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดพุทราไทย กินครั้งละ 1-2 เม็ด เช้า-เย็น

ตำรับที่ 2 ใช้รากสามสิบ 1 ชั่ง รากโคกกระสุน 1 ตำลึง บอระเพ็ด 15 ตำลึง ตำผงเอาน้ำผึ้ง 1 ตำลึง คลุกตั้งไฟให้สุก อย่าให้ไหม้ กินครั้งละหัวแม่มือทุกวัน กินแล้วมีกำลังผิวพรรณงดงาม ความจำดี เสียงเพราะ

ตำรับที่ 3 บอระเพ็ด 18 บาท กระเทียม 9 บาท เหง้ากระชาย 6 บาท พริกไทยล่อน 3 บาท ดีปลี 3 บาท ขิงแห้งหนัก 3 บาท แห้วหมู 3 บาท ยาดำ 3 บาท ย่านาง 3 บาท ลูกยอแห้ง 39 บาท นำทั้งหมดบดผงผสมน้ำผึ้ง นำมาปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดพุทราไทย กินครั้งละ 2 เม็ด เช้า-เย็น กินแล้วมีกำลังดี ไม่รู้จักเหนื่อย

ส่วนตำรับยาแก้ไข้ที่สำคัญคือ ยาจันทลีลา ประกอบด้วย โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา จันทน์ขาวหรือจันทน์ชะมด จันทน์แดง กระดอม บอระเพ็ด และปลาไหลเผือก

 

บอระเพ็ด มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Guduchi หรือ Patawali มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tinospora crispa (L.) Hook.f. & Thomson มีชื่อในท้องถิ่นต่างๆ เช่น เครือเขาฮอ เครือกอฮอ (ภาคอีสาน) จุ่งจิง (เหนือ) เจตมูลหนาม (หนองคาย) ตัวเจตมูลยาน เถาหัวด้วน (สระบุรี) หางหนู (สระบุรี) บอระเพ็ด (ทั่วไป)

บอระเพ็ดมีลักษณะเป็นไม้เถา ลำต้นเนื้ออ่อน เลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้อื่น ลักษณะเถากลมโตขนาดนิ้วมือ มีไส้เป็นเส้นยาว มีเปลือกหุ้มเถาเป็นตุ่มเล็กๆ กลมๆ ตลอดเถาสีเทาอมดำ เปลือกสามารถลอกออกได้ ยางมีรสขมจัด

ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลมมีลักษณะคล้ายใบพลู หรือใบโพธิ์ ขนาดเท่าฝ่ามือ โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ เส้นแขนงใบมองเห็นชัดเจน แผ่นใบสีเขียว

ดอกออกเป็นช่อขนาดเล็กมาก ตามซอกใบ สีเขียวอมเหลือง ดอกแยกเพศอยู่คนละช่อ ดอกเพศเมียมีจำนวนน้อยกว่าดอกเพศผู้ ดังนั้น จึงพบผลหรือเมล็ดค่อนข้างยาก

ผลมีลักษณะรูปทรงค่อนข้างกลม สีเหลืองหรือสีแดง

มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออก (จีนตอนใต้ อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์)

 

สรรพคุณทั่วไป เถา หรือลำต้นมีรสขมเย็น ต้มเคี่ยวกับน้ำใช้เป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้กระหายน้ำ แก้ร้อนใน เป็นยาขมเจริญอาหาร เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง

ใบ มีรสขมเมา เป็นยาขมเจริญอาหาร ช่วยขับน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร รักษาโลหิตพิการ ช่วยระงับอาการสะอึก รักษาโรคพิษฝีดาษ ไข้พิษทุกชนิด เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุไฟ แก้โรคพยาธิ แก้รำมะนาด ปวดฟัน แก้ไข้ โรคผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณผ่องใส รักษาโรคผิวหนัง

ผล มีรสขม ใช้เป็นยารักษาโรคไข้พิษอย่างแรง และเสมหะเป็นพิษ

ราก มีรสขมเย็น ดับพิษร้อน แก้ไข้ขึ้นสูงที่มีอาการเพ้อคลั่ง ถอนพิษไข้ ช่วยเจริญอาหาร ถ้าใช้ทุกส่วนหรือทั้งห้ามีรสขม เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ปวดเมื่อย ช่วยเจริญอาหาร รักษาริดสีดวงทวาร แก้ปวดฟัน แก้ร้อนใน รักษาโรคเบาหวาน แก้ดีพิการ แก้เสมหะ

ในตำรายาไทยใช้เถา มีรสขมจัดเย็น แก้ไข้ทุกชนิด แก้พิษฝีดาษ เป็นยาขมเจริญอาหาร ต้มดื่มเพื่อให้เจริญอาหาร ช่วยย่อย บำรุงน้ำดี บำรุงไฟธาตุ แก้โรคกระเพาะอาหาร บำรุงร่างกาย แก้สะอึก แก้มาลาเรีย

เป็นยาขับเหงื่อ ดับกระหาย แก้ร้อนในดีมาก แก้อหิวาตกโรค แก้ท้องเสีย ไข้จับสั่น ระงับความร้อน ทำให้เนื้อเย็น แก้โลหิตพิการ ใช้ภายนอกใช้ล้างตา ล้างแผลที่เกิดจากโรคซิฟิลิส

ใบมีรสขมเมา เป็นยาพอกบาดแผล ทำให้เย็นและบรรเทาอาการปวด ดับพิษปวดแสบปวดร้อน พอกฝี แก้ฟกช้ำ แก้คัน แก้รำมะนาด ปวดฟัน ฆ่าแมลงที่เข้าหู ฆ่าพยาธิไส้เดือน แก้ไข้ แก้โรคผิวหนัง บำรุงน้ำดี

รากมีรสขม เป็นยาช่วยให้เจริญอาหาร ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ รากอากาศ รสขมเย็น แก้ไข้ขึ้นสูงมีอาการคลั่งเพ้อ ดับพิษร้อน ถอนพิษร้อน ถอนพิษไข้ เจริญอาหาร

ผลรสขม แก้ไข้ แก้เสมหะเป็นพิษ ทุกส่วนของพืช ใช้แก้ไข้ เป็นยาบำรุง แก้บาดทะยัก โรคดีซ่าน ยาเจริญอาหาร แก้มาลาเรีย

ตำรายาอายุรเวทของอินเดีย ใช้เถาเป็นยาแก้ไข้ เช่นเดียวกับชิงช้าชาลี กล่าวไว้ว่า แก้ไข้ดีเท่ากับซิงโคนา แก้ธาตุไม่ปกติ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ แก้อาการเกร็ง

 

นักวิชาการ Waqas Ahmad, Ibrahim Jantan และ Syed N. A. Bukhari จากประเทศมาเลเซียได้ทำการทบทวนเอกสารที่มีการตีพิมพ์เกี่ยวกับบอระเพ็ดเมื่อปี พ.ศ.2559 (ค.ศ.2016) จำนวน 84 รายการ

พบว่าบอระเพ็ดมีสารสำคัญหลายชนิด เช่น เทอร์ปีนอยด์ (terpenoids) อัลคาลอยด์ (alkaloids) ลิกแนนและนิวคลีโอไซด์ ซึ่งสารเหล่านี้มีศักยภาพทางเภสัชวิทยาและการรักษาอาการได้หลายอย่าง เช่น ลดไข้ ต้านการอักเสบ ความดันโลหิตสูง โรคปวดเอว ใช้เป็นยาหลังคลอด วัณโรค ริดสีดวงทวาร การรักษาบาดแผล อาการคัน ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ

โดยเฉพาะไดเทอร์ปีนอยด์ ไกลโคซาย์ (Diterpenoid glycosides) ที่พบว่าสามารถต้านเบาหวานได้เป็นอย่างดี

และล่าสุดในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) ได้มีการศึกษาการจับตัวของสารที่สกัดได้จากบอระเพ็ดกับโควิด-19 พบว่าสารสกัดจากบอระเพ็ดมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยารักษาโควิดได้ในระดับหนึ่ง

บอระเพ็ด เข้าตำราหวานเป็นลมขมเป็นยา มีศักpภาพในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นยารับมือโควิด-19 ได้ในอนาคต และโดดเด่นเรื่องบำรุงร่างกายหรือยาอายุวัฒนะให้ร่างกายแข็งแรงสู้ภัยโรคต่างๆ

แต่มีข้อสังเกตจากภูมิปัญญาดั้งเดิมพบว่า บอระเพ็ดมักใช้ในรูปยาตำรับมากกว่ายาเดี่ยว (ยาเดี่ยวก็ใช้แต่ไม่มาก)

หากต้องการบำรุงกำลังก็จัดหา 3 ตำรับยาและมีไข้ก็ใช้ยาอีก 1 ตำรับข้างต้นได้ทันที