นิ้วกลม | โลกนี้มีกี่เพศ

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

โลกนี้มีกี่เพศ

 

1 ในชีวิตที่ผ่านมาผมน่าจะพูดจาทำร้ายจิตใจผู้คนไปไม่น้อย

เรื่องหนึ่งที่กระทำไปด้วยความด้อยสติปัญญาคือเรื่องเพศวิถี

สมัยวัยรุ่น ด้วยความคะนอง ผมกับเพื่อนชายมักล้อเลียนเพื่อนชายที่มีบุคลิกท่าทางตุ้งติ้ง เสียงอ่อนเสียงหวานอยู่บ่อยๆ

กระนั้นผมก็เป็นคนหนึ่งที่มีเพื่อนสนิทที่นุ่มนิ่มเช่นนี้ เมื่อโตขึ้นด้วยความคิดคับแคบว่าโลกนี้มีสองเพศ หรืออย่างมากก็มี ‘เพศที่สาม’ ในความหมายว่าชายชอบชาย หญิงชอบหญิง

เมื่อเห็นชายไม่ชอบหญิง หญิงไม่ชอบชาย ก็มักจับคนลง ‘กล่อง’ ตามที่ตัวเองเข้าใจ

ครั้นพอได้พบชายบางคนที่เคยมีแฟนเป็นหญิงแล้วเปลี่ยนไปมีแฟนเป็นชายก็สงสัยว่า-ตกลงเขาเป็นเพศอะไรแน่

ช่วงหนุ่มๆ ผมเคยเอ่ยถามคำถามทำนองนี้ แล้วถูกรุ่นพี่ที่เป็นเกย์หัวเราะใส่ด้วยความเอ็นดูในจักรวาลทัศน์อันคับแคบแล้วบอกว่า

“ไม่ต้องถามได้ไหมว่าเขาเป็นเพศอะไร เขาจะเป็นอะไรก็ให้เขาเป็นไป”

 

2 กาลครั้งหนึ่ง ในเวิร์กช็อปเรื่องความแตกต่างและความเท่าเทียม

ผมได้สนทนากับเพื่อนร่วมคลาสซึ่งเป็นหญิงสาววัยใกล้เคียงกัน

เธอเล่าให้ฟังทั้งน้ำตาว่าเพื่อนเพศหลากหลายที่ได้คบหาในช่วงหลังช่วยปลดล็อกในใจเธอจากคำถามที่สับสนกับตัวเองมาตลอดว่าตกลงฉันเป็นเพศไหน

เธอเปิดเผยชีวิตให้ฟังบางส่วน ผมเพียงนั่งฟังอย่างสงบและสนใจเต็มร้อย ไม่ซักถามละลาบละล้วง เปิดโอกาสให้เธอเผยเรื่องราวออกมาเท่าที่สบายใจ

จับใจความได้ว่าเธอเคยมีแฟนเป็นชาย ตอนนี้มีกลุ่มก๊วนเป็นกลุ่มเพศหลากหลายซึ่งทำให้เธอสบายใจในความเป็นตัวเองที่ไม่ต้องตอบคำถามว่าเธอชอบผู้ชายหรือผู้หญิง หรือเธอมีบุคลิกเป็นหญิงแบบมาตรฐานหรือมีบุคลิกไปทางชายที่ชอบเรียกกันว่า ‘แมนๆ’

เธอเพียงเป็นอย่างที่เธอเป็น

เพื่อนกลุ่มนี้ขยายขอบเขตความเป็นไปได้ในใจเธอออกไป ได้เห็นพื้นที่ที่แต่ก่อนไม่เคยรู้ว่ามีอยู่

 

3 เติบโตขึ้น ผมพยายามแก้นิสัยปากพล่อยของตัวเองในเรื่องนี้ พยายามทำความเข้าใจความหลากหลายของพื้นที่ซึ่งกว้างขวางอย่างมากนี้

และลบภาพเชยๆ ในวัยเด็กที่แบ่งมนุษย์เหมือนห้องน้ำชาย-หญิงออกจากสมอง

หนึ่งในหนังสือที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ผมเป็นเล่มแรกๆ คือ เรื่องรักของบางเรา โดย โตมร ศุขปรีชา

ขอหยิบขึ้นมาเขียนถึงเพื่อแสดงความขอบคุณที่ช่วยขยับขยายหัวใจให้กว้างขึ้น และอยากบอกเล่าต่อเพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แม้หนังสือเล่มนี้จะพิมพ์ออกมาเนิ่นนานแล้วก็ตาม

ในบทความ ‘กว่าจะมาเป็นเกย์’ พี่หนุ่มเรียบเรียงเนื้อหาจากหลายแหล่งเพื่อตอบคำถามว่าโลกนี้มีกี่เพศ

มีตอนหนึ่งจากนวนิยายเรื่อง อิสระและอานิต้า โดยกิจจา บุรานนท์ เขียนว่า

“…ธรรมชาติก็คือว่า มนุษย์ตั้งกฎเกณฑ์มันขึ้นมา การที่ใครจะเลือกนอนกับใคร มันเป็นเรื่องธรรมชาติของคนคนนั้น คุณคิดจะนอนกับผู้หญิงเป็นธรรมชาติของคุณ ลูกชายคุณสมศรีคิดจะนอนกับผู้ชายก็เป็นธรรมชาติของเขา หากคุณรับธรรมชาติของเขาไม่ได้ มันก็เรื่องของคุณ ปัญหาของคุณ…”

ในบทความนี้พี่หนุ่มสะกิดใจผมหลายอย่างเมื่อได้อ่านในวัยหนุ่ม อย่างเช่น การที่เรามักเชื่อมโยงเกย์เข้ากับ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ด้วยวิธีมองโลกแบบสองขั้ว ในเมื่อไม่ชายก็ต้องคล้ายหญิง

ทั้งที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น

ดังเช่นที่เราเห็นคนที่อยู่ในร่างชายมีท่าทางนุ่มนิ่มแต่ไว้เคราเฟิ้ม หากมองด้วยแว่นแบบสองขั้วย่อมไม่อาจทำความเข้าใจได้เลย เพราะมัวแต่คิดว่า ‘เลือกสักทางสิ’

ซึ่งฐานคิดแบบนี้เองทำให้เราไม่มีพื้นที่สำหรับความหลากหลายที่เป็นไปได้อีกมากมายไม่รู้จบ

 

4 ในบทความนี้ยังอ้างถึงงานของวิลเลียม เอ็น. เอสคริดจ์ จูเนียร์ เรื่อง The Case of Same-Sex Marriage ว่าชาวอเมริกันพื้นเมืองให้คุณค่ากับการแต่งงานเพศเดียวกันไว้อย่างสูง และปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนคู่แต่งงานต่างเพศ

เช่นเดียวกับในแอฟริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย ชนเผ่าแอฟริกันหลายเผ่ามีการแต่งงานระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง

ในกองทหารหลายแห่งในแอฟริกาและเอเชียก็มีทหารที่มีภรรยาเป็นเด็กผู้ชาย

ในประวัติศาสตร์ การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันจึงมีหน้าที่ทางสังคมไม่ต่างจากการแต่งงานต่างเพศ

ซึ่งมิเชล ฟูโกต์ เขียนไว้ว่าเกย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกแยกออกมาเป็นอีก ‘สปีชีส์’ หนึ่งเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้เอง

การแยกเช่นนี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้ชายกับเกย์ชัดเจนขึ้น ดูเหมือนมนุษย์จะอดรนทนไม่ได้กับอะไรที่พร่าเลือน

 

5 อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร ให้ความเห็นไว้ในนิตยสารสารคดีว่า จุดที่ทำให้ความเป็นเพศชัดเจนขึ้นอาจเกิดขึ้นพร้อมศาสนาใหม่ในโลกที่สถาปนาความเป็นชายเป็นหญิงในช่วงสองพันปีที่ผ่านมา นั่นคือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ยิว

แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ชัดขึ้นไปอีกคือรัฐ เพราะประชาชนต้องกรอกแบบฟอร์ม มีการเก็บข้อมูลประชากร มาถึงยุคทุนนิยมก็แยกแยะความแตกต่างและหน้าที่ระหว่างสองเพศให้ชัดขึ้นไปอีก

ยิ่งในภาษายุโรปที่แบ่งเพศชายหญิง หรือภาษาอังกฤษที่ใช้สรรพนาม he กับ she ก็ครอบวิธีคิดแบบสองเพศกับเราเอาไว้

ส่วนในภาษาไทยก็เริ่มมีคำลงท้ายอย่าง ‘ครับ’ และ ‘ค่ะ’ แยกชายหญิงแถวๆ ยุคจอมพล ป.นี่เอง

ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับคนเพศหลากหลายว่าจะลงท้ายประโยคด้วยคำว่าอะไร หรือแทนตัวเองว่าอะไรดีในภาษาไทย

 

6 ข้อมูลวิชาการก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เขย่าการรับรู้มากกว่ากลับเป็นกรณีศึกษาต่างๆ ที่พี่หนุ่มได้ไปสัมภาษณ์มา

ชายคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเขามีแฟนเป็นผู้หญิงมาตลอด ไม่เคยมีความรู้สึกทางเพศกับเพื่อนชายเลย

กระทั่งมีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาอยู่ด้วยแล้วสบายใจ ในคืนหนึ่งตอนเมา ทั้งคู่มีเซ็กซ์กัน ตื่นมาเขาก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองค้นพบว่าตนเป็นเกย์แต่อย่างใด ยังคงชอบผู้หญิง ตอนช่วยตัวเองก็ยังนึกถึงผู้หญิง แต่ก็คบหากับเพื่อนชายคนนั้นเพราะรู้สึกดี

และถ้าเพื่อนอยากมีเซ็กซ์เขาก็ยินดีเพื่อความสุขของอีกฝ่าย

แง่มุมนี้ก็น่าสนใจเช่นกัน เมื่อเราใจกว้างขึ้นโดยออกจากทัศนะคับแคบว่าชายควรมีเซ็กซ์กับหญิงเท่านั้น มาสู่การยอมรับว่าชายก็มีเซ็กซ์กับชายได้ หญิงก็มีเซ็กซ์กับหญิงได้

กระนั้นสองความคิดนี้ก็ยังคงอยู่ในกรอบที่ตายตัวอยู่ดี

เพราะอันที่จริงแล้วมีคนที่มีความต้องการทางเพศกับชาย หญิง และเกย์ได้ทั้งหมด

หรืออาจมีความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ได้ด้วยเช่นกัน

เราอาจมองเห็นความหลากหลายเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้นเมื่อทำความเข้าใจคำศัพท์ในหัวข้อนี้อย่าง Pansexual (บุคคลที่ชอบทุกเพศ) Transgender (ผู้หญิงหรือผู้ชายข้ามเพศที่รู้สึกว่าตัวเองมีอัตลักษณ์ทางเพศตรงข้ามกับเพศกำเนิด) Intersex (คนที่เกิดมามีลักษณะทางเพศกำกวม อาจมีอวัยวะทั้งชายและหญิง) Bisexual (หญิงหรือชายที่ชอบทั้งสองเพศ) Asexual (คนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น แต่ยังมีความรักกับผู้อื่นได้ตามปกติ ไม่ได้เสื่อมสรรถภาพทางเพศแต่อย่างใด) Non-binary (บุคคลที่มีสำนึกทางเพศอยู่นอกกล่องชายหญิง มีรสนิยมไม่ตายตัว) Queer (ไม่อยู่ในกรอบเพศชายและหญิง ลื่นไหลสูง แหกกรอบทุกอย่าง)-(1)

กระนั้นในความเป็นจริงก็ยังมีความซับซ้อนมากกว่าคำศัพท์

เช่น ชายที่แปลงเพศเป็นหญิงเพราะต้องการเป็นผู้หญิง แต่ยังมีเซ็กซ์กับผู้หญิง

หรือผู้ชายที่แปลงเพศเป็นหญิง แต่มีท่าทางแบบทอมบอย และต้องการมีเซ็กซ์กับผู้หญิง หรือชายที่แปลเพศเป็นหญิง มีบุคลิกแบบทอมบอย และต้องการมีเซ็กซ์กับผู้ชาย ทั้งยังมีคนที่แต่งงานกับเพศตรงข้ามกระทั่งมีลูกแล้ว แล้วอยากผ่าตัดแปลงเพศก็มีให้เห็นอยู่เสมอ

ความเป็นไปได้เหล่านี้ชวนให้เราวางกล่องหญิง-ชายของเราลง (ที่จริงควรโยนทิ้งไปเลยด้วยซ้ำ) เพราะมันเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจมนุษย์ที่สลับซับซ้อนเกินกว่าจะบรรจุลงในกล่อง

มิฉะนั้น เราจะมี ‘แม่แบบ’ อยู่เพียงสองแบบ คือความเป็นชายยอดนิยมที่จะต้องแข็งแกร่ง กล้ามใหญ่ ไม่ร้องไห้ ชอบสีน้ำเงิน เล่นหุ่นยนต์ ดูบอล บ้ารถยนต์ หรือความเป็นหญิงตามมาตรฐานที่จะต้องเรียบร้อย จะก้มจะเลยต้องระวัง ประนีประนอม เป็นกุลสตรี ชอบตุ๊กตา เป็นแม่ศรีเรือน ทำงานบ้าน รักนวลสงวนตัว ฯลฯ

ในกล่องสองแบบนี้ เพียงผู้หญิงเตะบอลก็สั่นคลอนกล่องแคบๆ ของเราแล้ว ผู้ชายที่สลักแตงกวาจึงต้องเป็นกะเทยเท่านั้น

และเมื่อใครสักคนไม่สามารถจัดลง ‘กล่อง’ เหล่านี้ได้ เราไม่อาจทนอยู่กับความสับสนได้จนต้องเอ่ยถามกับเขาว่า “ตกลงเป็นอะไรกันแน่”

นิสัยชอบจับคนลงกล่องทำให้เราไม่จำกัดเพศวิถีของผู้คนไว้เพียงชายแท้ หญิงแท้เท่านั้น เรายังเรียกร้องเกย์แท้ เลสเบี้ยนแท้อีกด้วย!

ซึ่งหากใครเป็นเช่นนั้นก็คงต้องพกยาหม่องเอาไว้ทาขมับตลอดชีวิต

 

7 อคติทางเพศไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่มันคือเรื่องคอขาดบาดตาย (แบบตรงตัวเลยทีเดียว)

ปี 2018 มีเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ ถูกฆ่าตายในเม็กซิโก

ในอินโดนีเซียมีการบำบัดเพศวิถีด้วยไฟฟ้าช็อตและไล่ผีโดยยึดหลักว่ายังไม่สายเกินไปที่จะเข้าถึงอัลลอฮ์ LGBTQ+ ในสุมาตราตะวันตกโดนเรียกร้องให้จ่ายค่าปรับเพราะ ‘รบกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชน’ ในจาการ์ตามีคดีที่เกิดจากความเกลียดชังคนกลุ่มนี้มากกว่า 1,800 คดี

ตั้งแต่ปี 2006-2018 ประธานาธิบดีโปแลนด์ อันเจ ดูดา มองว่ากลุ่ม LGBTQ+ เป็นภัยต่อครอบครัวแถมอันตรายยิ่งกว่าคอมมิวนิสต์

ในไทย กว่าร้อยละ 22 ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเคยถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ในปี 2561 มีรายงานว่า 21 รายถูกฆาตกรรมด้วยความเกลียดชัง (2)

ความรุนแรงที่กระทำบางครั้งก็มาในรูปแบบของคำพูดล้อเลียนขบขัน เช่น อัดถั่วดำ ตีฉิ่ง แก้ทอมซ่อมดี้ ฯลฯ อีกมากมาย ลองเติมคำในช่องว่างกันดูได้เลย

 

8 ถึงวันนี้ ผมเลิกถามผู้คนที่พบเจอแล้วว่า “คุณเพศอะไรกันแน่” แถมยังสำนึกผิดกับหมู่มิตรและคนแปลกหน้าที่เคยถามเขาทั้งที่เอ่ยออกมาและเอ่ยถามในใจ ถ้าเป็นวันนี้ผมคงเอ็ดตัวเองกลับไปว่า “แล้วมันเรื่องอะไรของมึงด้วยเล่า” เขาเป็นเพศอะไรแล้วมันเกี่ยวยังไงกับเรา เขามีเพศวิถีแบบไหน มีรสนิยมทางเพศแบบไหน เป็นเรื่องที่เราควรก้าวก่ายหรือเปล่า

เติบโตขึ้น เมื่อได้พบเจอผู้คนที่หลากหลายทำให้มองเห็น ‘กล่อง’ อันคับแคบของตัวเองมากขึ้น ไม่เพียงแค่กล่องเรื่องเพศ แต่ยังทำให้เห็นกล่องอีกหลายใบที่ตั้งไว้ในใจรอยัดผู้คนลงไปในพื้นที่แคบๆ ที่สมมุติขึ้นมาเองนั้น

ผมนึกถึงบทสนทนากับเพื่อนคนนั้นในเวิร์กช็อป จบการรับฟังที่ยืดยาว ผมยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าตกลงแล้วเธอนิยามตัวเองว่าอะไร

แต่ความรู้สึกหนึ่งปรากฏขึ้นในใจก็คือ ผมรู้สึกขอบคุณที่เธอเล่าเรื่องราวทั้งหมดนั้นให้ฟังอย่างจริงใจ

ผมรู้สึกใกล้ชิดกับเธอมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องพลิกป้ายออกมาเฉลยเลยว่าเธอเป็นเพศใด

เพราะในตอนนั้นเธอไม่ใช่ผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศหลากหลายใดๆ

เธอคือมนุษย์เหมือนกันกับผม ที่สับสน เป็นทุกข์ เปราะบาง

และต้องการความรัก

หมายเหตุ : (1) และ (2) ข้อมูลจากนิตยสารสารคดี ฉบับ LGBTQ+