ธงทอง จันทรางศุ | ‘ญาติสนิท’ ยุคใหม่

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

‘ญาติสนิท’ ยุคใหม่

 

เมื่อนั่งเขียนบทความเรื่องนี้ ผมเพิ่งเสร็จจากการนั่งหลังขดหลังแข็งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเจ็ดชั่วโมงเศษ

ไม่ได้ดูหนังดูละครอะไรหรอกครับ เวลาทั้งหมดใช้ไปกับการประชุมสองสามการประชุมติดต่อกัน

นี่ต้องถือว่าเป็นชีวิตใหม่ หรือ New Normal อันเนื่องมาจากโรคโควิด-19 จริงๆ

นับตั้งแต่โรคร้ายชนิดนี้เป็นที่รู้จักของมนุษยชาติเป็นครั้งแรกเมื่อในราวเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2562 เผลอตัวไปครู่เดียวนี่ก็ครบสองปีเต็มแล้ว ในวันเดือนปีที่ว่าเหตุการณ์เพิ่งเริ่มต้นขึ้นที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีน ถัดมาอีกประมาณสองเดือนเมืองไทยก็รู้จักกับโรคร้ายที่ว่านี้เข้าเต็มเปา

และตั้งแต่ต้นปีพุทธศักราช 2563 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันหลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปจากที่เราเคยประพฤติปฏิบัติมาชั่วชีวิต

ยังไม่ต้องนึกถึงการประกอบอาชีพหรือการทำมาค้าขายอะไร

เพียงแค่นึกว่าการสวมหน้ากากอนามัยที่เดิมเป็นเรื่อง “โอ ผิดมนุษย์เป็น” เพราะไม่มีใครเขาทำกัน ในยุคนั้นใครสวมหน้ากากแบบนี้ออกจากบ้านก็ต้องตอบคำถามคนไปตลอดทางว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต

พอมาถึงวันนี้ เรื่องกลับโอละพ่อ ตรงกันข้าม เพราะทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยจนกลายเป็นอวัยวะรายการที่สามสิบสามของเราไปแล้ว

อาชีพหลายอย่างที่เดิมรู้จักกันอยู่ในวงแคบกลับกลายเป็นอาชีพที่รู้จักและเรียกใช้บริการกันทั่วไป เช่น อาชีพรับส่งอาหารหรือข้าวของต่างๆ ที่เรียกว่า ไรเดอร์ ซึ่งเวลานี้กลายเป็นเกลอของเราไปเสียแล้ว

เพราะพบกันวันละสามมื้อก่อนอาหาร

การประกอบสัมมาอาชีพบางอย่างต้องพบกับปัญหาจนกระทั่งก้าวเดินต่อไปไม่ไหว หรือซบเซาซวนเซไปอย่างน่าเห็นใจเป็นที่สุด เช่น คนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการบิน โรงแรม ร้านอาหาร หรือสถานบริการต่างๆ

ทุกอย่างและทุกคนต้องปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์และความท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ

จะยกตัวอย่างคนอื่นก็ไม่เห็นถนัดชัดเจนเท่ากับยกตัวอย่างจากตัวของเราเอง

 

ชีวิตชายวัยเกษียณของผมเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรครับ

ก่อนที่โควิด-19 จะมาถึง ชีวิตประจำวันของผมใช้เวลาส่วนใหญ่จะอยู่กับการเดินทางไปตามห้องประชุมต่างๆ ถ้าไม่เป็นที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็อาจเป็นที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ผมไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยของเขา

ในหนึ่งวัน ผมสามารถเดินทางไปตามที่ประชุมต่างๆ อย่างมากได้สองหรือสามแห่ง เพราะต้องเผื่อเวลาไว้สำหรับการจราจร ระบบการประชุมของเราเรียกร้องต้องการให้กรรมการทุกคนไปนั่งอยู่ในห้องเดียวกันเพื่อประชุมรุมความคิด

เมื่อสองปีก่อนถ้าใครพูดถึงเรื่องการประชุมออนไลน์ขึ้นมา คนฟังก็ต้องนึกว่าคนพูดเสียสติไปแล้ว ใครเขาจะมาประชุมออนไลน์กัน

เป็นเรื่องผิดผี ผิดธรรมเนียมที่ไม่เคยทำและไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง

แล้วดูสิครับ มาถึงวันนี้เกิดอะไรขึ้น

 

หลังจากอดทน ใช้โทรศัพท์มือถือหรือ iPad ซึ่งมีจอขนาดประมาณกระดานชนวนเมื่อครั้งผมเป็นเด็ก เป็นอุปกรณ์ในการประชุมมาได้พักใหญ่ ผมก็กำเริบซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่หนึ่งเครื่อง พร้อมกับติดตั้งกล้องแปะเอาไว้เหนือจอคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผมสามารถเข้าร่วมการประชุมแบบมีคุณภาพเสียงและคุณภาพหน้าตาของผมงดงามขึ้นจนใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน

นอกจากนั้น ยังซื้อเก้าอี้ใหม่อีกหนึ่งตัวมาแทนเก้าอี้เดิมที่นั่งแล้วหลังขดหลังแข็ง แต่เก้าอี้ตัวใหม่นี้เป็นเก้าอี้แบบที่ใช้ในสำนักงาน มีโค้งมีเว้าเหมาะกับสรีระ

ทำไมถึงตัดสินใจลงทุนอย่างนี้หรือครับ

เพราะจากเดิมที่ต้องเดินทางไปประชุมตามที่ต่างๆ และวันหนึ่งสามารถประชุมได้สองหรือสามเรื่องเป็นอย่างมาก มาถึงวันนี้การประชุมทั้งหลายถาโถมเข้ามาเพราะความสะดวกที่เกิดขึ้นจากการประชุมออนไลน์นี่แหละครับ

ความสะดวกที่เห็นได้ชัดเจนข้อแรกคือ ผมไม่เสียเวลาเดินทาง

ยกตัวอย่างเช่น ประชุมนัดแรกบ่ายโมงจนถึงบ่ายสามโมง ถ้าเป็นยุคก่อนโควิดใครจะนัดประชุมต่อจากนั้นผมก็จะปฏิเสธเสียง่ายๆ โดยให้เหตุผลว่าไปประชุมไม่ทันแล้ว เพราะรถติด

แต่มาถึงสมัยนี้ สบายมากครับ ออกจากห้องประชุมออนไลน์ห้องแรกตอนบ่ายสามโมง บ่ายสามโมงกับหนึ่งนาทีก็ไปเป็นประธานในที่ประชุมออนไลน์อีกเรื่องหนึ่งได้แล้ว

พอเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ในระบบเดิมที่การประชุมจะไม่ยืดเยื้อเกินไปกว่า 5 โมงเย็น เพราะนึกว่ากรรมการต้องเดินทางกลับบ้านไปกินข้าวตอนหนึ่งทุ่ม ความเกรงใจซึ่งเป็นสมบัติของผู้ดีมาแต่เดิมก็หายไปหมด ฮา!

เราสามารถนัดประชุมตอนบ่าย 5 โมงเย็นและใช้เวลายืดยาว 2 ชั่วโมง จบการประชุมตอน 18:55 น.

ประชุมเสร็จแล้วยังมีเวลาให้ล้างหน้าล้างตาอีกตั้ง 5 นาทีก่อนจะนั่งโต๊ะกินข้าวเย็น

 

ถึงแม้ว่าเวลานี้สถานการณ์โรคโควิด-19 จะทุเลาเบาบางลงบ้าง และเรากำลังค่อยๆ เปิดประเทศแบบแง้มประตูทีละน้อย การประชุมที่เคยออนไลน์ทั้งหมดก็เริ่มกลับมาเป็นการประชุมแบบครึ่งๆ กลางๆ ใครจะไปที่ห้องประชุมก็ได้ ใครจะอยู่บ้านประชุมออนไลน์ก็ได้

ผมชักติดใจการประชุมแบบออนไลน์เสียแล้วสิครับ

ประชุมออนไลน์อยู่กับบ้านแต่งตัวสบายจะตายไป ใส่เสื้อเชิ้ตผูกเน็กไทนุ่งเกงขาสั้นก็ไม่มีใครเห็นครับ

ประหยัดค่าผงซักฟอกไปได้เดือนละหลายสตางค์อยู่

แต่ก็มีข้อควรคิดควรระวังอยู่เหมือนกันว่า ในขณะที่ได้รับความสะดวกบางอย่างจากการระบบประชุมออนไลน์ เช่น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง สามารถนัดประชุมได้ในเวลาต่างๆ ที่ไม่เคยนัดมาก่อน เราก็มีอะไรบางอย่างที่สูญหายไปเหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่น โอกาสที่จะล็อบบี้หรือพูดคุยกันนอกรอบก่อนหรือระหว่างการประชุม การได้สบตากันหรือสังเกตดูภาษากายของผู้เข้าร่วมประชุมว่าท่านเห็นด้วยหรือเห็นต่าง หนักแน่นหรือไม่หนักแน่น เพียงไรแค่ไหน เรื่องเหล่านี้การประชุมออนไลน์ไม่สามารถตอบโจทย์เราได้ครบถ้วน

ผมเห็นว่าเรื่องที่ขาดตกบกพร่องไปเหล่านี้มีความสำคัญที่ทำให้การประชุมเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและกลมกล่อม เมื่อต้องมาขาดหายไปก็น่าเสียดายครับ

นี่ยังไม่พูดถึงความเสียดายที่อดกินขนมหรือของว่างที่ฝ่ายเลขานุการจัดเอาไว้ให้ในห้องประชุมหรือกรรมการซื้อติดไม้ติดมือมาแลกกันกินนะครับ

 

ที่กล่าวมาเยิ่นเย้อยาวความทั้งหมดนี้ เพื่อยกเป็นตัวอย่างว่า ไม่มีใครแก่เกินกว่าที่จะปรับตัว

ผมไม่นึกหรอกครับว่าในวัย 66 ปี ผมจะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ รถยนต์ที่ผมนั่งจะต้องไปซื้ออุปกรณ์สำหรับแขวน iPad เอาไว้เวลานั่งอยู่ที่เบาะหลังและมีพนักงานช่วยขับรถให้อยู่ข้างหน้า ผมจะสามารถนั่งประชุมเรื่องต่างๆได้สบายใจเฉิบ ถ้ามีเวลาว่างจากการประชุมก็ดู Netflix ได้อีก

Zoom ก็ดี Microsoft Team ก็ดี Webex ก็ดี บรรดาที่เป็นชื่อระบบของการประชุมออนไลน์เหล่านี้ ล้วนเป็นญาติสนิทของผมทั้งสิ้น

ก็พบกันทุกวันนี่ครับ จะไม่สนิทกันได้อย่างไร

มาถึงตรงนี้แล้วผมสอนใจตัวเองว่า เราซึ่งใครต่อใครเขานิยามว่าเป็นผู้สูงวัยหรือคนแก่ ไม่จำเป็นต้องจมอยู่กับอดีตและความคุ้นเคยเก่าๆ แล้วปฏิเสธหรือต่อต้านเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกและในชีวิต

ถ้าเราจะใช้ชีวิตให้มีความสุข ก็ต้องอยู่ให้เป็น อยู่ให้ได้กับโลกปัจจุบันและอนาคตที่กำลังจะก้าวเดินมาถึง

อดีตอันหอมหวานนั้นคิดถึงได้ครับ คิดแล้วมีความสุขความทุกข์ หัวร่อบ้างร้องไห้บ้าง แบบนั้นก็ไม่ว่ากัน

แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครคิดไทม์แมชชีนที่พาเราย้อนเวลาไปหาอดีตได้จริงเลยสักคนเดียว

จริงไหมครับท่าน ส.ว.

ย่อมาจาก “สูงวัย” นะครับ โปรดอย่าเข้าใจเป็นอื่น อิอิ