จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2564

จดหมาย

 

ความเห็นคนไทย

เรื่องกระทง

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “คนไทยกับเทศกาลลอยกระทงในยุคโควิด-19”

กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,139 คน สำรวจระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2564

พบว่า กรณีที่นายกฯ อนุมัติให้จัดงานลอยกระทงในปีนี้ได้ ประชาชนก็ยังรู้สึกกังวลเรื่องโควิด-19 กลัวเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ร้อยละ 60.04

ไม่สนใจไปร่วมเทศกาลลอยกระทง ร้อยละ 43.94 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 30.68

ถ้าได้ไปลอยกระทง จะลอยกระทงออนไลน์ ร้อยละ 33.50 รองลงมาคือ ใช้กระทงวัสดุธรรมชาติ ร้อยละ 26.99

ยังไม่ค่อยมั่นใจต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ร้อยละ 40.86

อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด ร้อยละ 86.82

สิ่งที่แตกต่างของการลอยกระทงในปีนี้กับปีที่ผ่านๆ มาคือ งดเว้นการไปสถานที่แออัด ร้อยละ 68.04

สิ่งที่อยากลอยไปกับกระทงในปีนี้ คือ โควิด-19 ร้อยละ 87.84

รองลงมาคือ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ร้อยละ 59.10

จากผลสำรวจพบว่าประชาชนก็ยังรู้สึกกังวลเรื่องโควิด-19 กลัวเกิดคลัสเตอร์ใหม่

เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมาประชาชนยังประสบปัญหากับการระบาดของโควิด-19 จึงกังวลการไปร่วมกิจกรรมในสถานที่ต่างๆ กิจกรรมการลอยกระทงรูปแบบออนไลน์จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ

โดยมีความคาดหวังอยากให้โรคระบาดในครั้งนี้ลอยไปกับกระทง

นางสาวพรพรรณ บัวทอง

นักวิจัย สวนดุสิตโพล

อาจารย์อัครพล ไวเชียงค้า

อาจารย์ประจำหลักสูตรคหกรรมศาสตร์

โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

แม้สิ่งที่คนไทยให้ความสำคัญ

จะเป็นเรื่อง โควิด-เศรษฐกิจ

อันเป็นความทุกข์

อยากจะจับใส่กระทงลอยไปกับสายน้ำ

กระนั้น อีเมลฉบับต่อไป

เชื่อว่าหลายคน

ก็คงอยากจะลอยไปกับกระทงเช่นกัน

โปรดพิจารณา

 

ความเห็นต่างชาติ

เรื่องคำวินิจฉัยศาล รธน.

กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเรียกร้องของนักกิจกรรมสามคนที่เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปสถาบันระหว่างการชุมนุมเมื่อปี 2563 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แม้คำวินิจฉัยนี้จะไม่มีบทลงโทษหรือค่าปรับ

แต่มีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับประชาชนชาวไทยหลายหมื่นคนที่แสดงความเห็นหรือวิจารณ์อย่างชอบธรรมต่อบุคคลสาธารณะหรือสถาบัน ทั้งโดยการแสดงความเห็นทางตรงหรือแสดงความเห็นทางออนไลน์

ซึ่งอาจนำไปสู่การดำเนินคดีข้อหาร้ายแรงต่อแกนนำทั้งสามคนและบุคคลอื่นๆ อีกมาก

โดยฐานความผิดล้มล้างการปกครองนี้มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิต

เป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่งที่คำวินิจฉัยนี้มีขึ้นในวันเดียวกันกับที่มีกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR รอบที่สามของประเทศไทย (วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564) ตามวาระขององค์การสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา

โดยในรอบก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ ในที่ประชุม UPR ที่เรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถือเป็นสัญญาณต่อประชาคมระหว่างประเทศว่าประเทศไทยไม่มีเจตนาใดๆ ที่จะดำเนินการเพื่อให้กฎหมายนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในแง่การคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก

คำวินิจฉัยนี้ฉายเงามืดหม่นทาบทับประเทศไทยที่เริ่มเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ

นับเป็นเรื่องน่ากังขาในเจตนาของรัฐบาลไทยที่แสดงท่าทีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาพักผ่อนในประเทศ แต่กลับจำกัดและกดขี่สิทธิของคนไทยเอง

เอ็มเมอร์ลีน จิล

รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

นี่เป็นอีกทุกข์หนึ่งของเมืองไทย

หลังจากนี้ ป้ายแขวน “ล้มล้าง”

คงเกลื่อนกลาด

จะเป็นเงามืดหม่นทาบทับประเทศไทย

ตามที่เอ็นจีโอต่างชาติ กล่าวหาหรือเปล่า

ช่วยกันคิด คนไทย!!